♠ ลูกจะทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ
การสอนให้เด็กคิดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นจากการกระทำของเขาเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนแล้วจะสามารถทำได้ทุกอย่าง
อาจเป็นเพราะพ่อแม่หลายคนไม่มีเวลาหรือไม่รู้จะอธิบายกับลูกอย่างไร จึงสรุปทุกอย่างที่ควรสอนในชีวิตลูกให้เหลือแค่ประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวคือ “ทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ”
“มาสาย อ่านการ์ตูนขณะครูสอน กินขนมในห้อง แต่งตัวตามใจฉัน เล่นกับเพื่อนตอนเข้าแถว แล้วหนูไปทำให้ใครเดือดร้อนหรือไง” นี่คือตัวอย่างของเด็กที่พ่อแม่สอนว่า ทำอะไรก็ได้ แต่อย่าให้ใครเดือดร้อน ซึ่งการพูดหรือการแสดงออกที่สื่อให้เข้าใจได้แบบนี้ เมื่อพวกเขาถูกตักเตือนหรือถูกให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูความน่ารัก เด็กๆ ก็จะพูดราวกับว่าไม่ว่าเขาจะทำอะไร ที่ไหน กับใคร ในโลกนี้ก็ได้ ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ย่อมมีสิทธิทำได้ทั้งนั้น ตามที่พ่อแม่สอนมานั่นเอง
ซึ่งจริงแล้วเด็กๆ เหล่านี้มีจิตใจดีและมีนิสัยที่น่ารักหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันพวกเขาไม่เห็นความสำคัญของระเบียบ วินัย ชอบเอาอกเอาใจตัวเอง และเคารพกฎ กติกาเฉพาะข้อที่ถูกใจพวกเขา ซึ่งน่าเสียดายที่ความน่ารักต้องถูกลดทอนลงเพราะแนวความคิดนี้
พ่อแม่บางคนอาจแก้ตัวว่าไม่ได้หมายความอย่างนั้น ซึ่งถ้าไม่ใช่อย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนลูกเสียใหม่ว่า “เวลาที่จะทำอะไรหนูต้องคิดก่อนว่าจะทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนหรือเปล่า” “ถ้าคิดแล้วว่าสิ่งนั้นไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะทำได้เลยทันที ต้องคิดต่อด้วยว่ามันถูกต้องเหมาะสมมากแค่ไหน สิ่งที่จะทำมันขัดต่อกฎ ต่อความรู้สึก หรือธรรมเนียมปฏิบัติใดๆของสังคมที่นั้นหรือเปล่า” เพราะถ้าคุณพูดแค่ว่า “ลูกจะทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ” เด็กส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายแค่ตามนั้นจริงๆ
Must read : พ่อแม่รังแกฉัน ! บาป 14 ประการ จากท่าน ว.วชิรเมธี
♠ ลืมซะเถอะคิดซะว่าหนูไม่ได้ทำ , คิดซะว่าแค่ฝันไป
เมื่อเด็กทำผิดในเรื่องร้ายแรง หรือสิ่งที่เขาทำนั้นเกิดผลเสียหายอย่างเลวร้าย พ่อแม่หลายคนมักปลอบลูกด้วยประโยคที่ว่านี้ ซึ่งการสอนให้เด็กคิดว่าเรื่องไม่ดีที่เขาทำผิดนั้นไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่ได้ทำก็คือการสอนให้เด็กไม่มีความรับผิดชอบและขาดจิตสำนึกอย่างสิ้นเชิง
คุณเคยเล่นวิดีโอเกมที่ให้ยิงฝ่ายตรงข้ามให้ตายหรือเคยเล่นตำรวจจับผู้ร้ายตอนเด็กๆไหม คุณรู้สึกผิดไหมเวลาได้ฆ่าฝ่ายตรงข้าม ไม่เลยจริงไหมเพราะสามัญสำนึกบอกคุณว่านั่นเป็นแค่สิ่งสมมุติเป็นแค่การเล่นการแสดง และเมื่อเด็กโตขึ้นพวกเขาจะมีความสามารถแยกแยะสิ่งสมมุติ,ความฝันกับเรื่องจริงได้โดยอัตโนมัติ แต่เด็กที่ถูกสอนให้คิดว่าความจริงเป็นสิ่งสมมุตินั้น เป็นการทำลายกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก
ส่วนเด็กที่โตแล้วแม้จะไม่ถึงขนาดทำให้เด็กไม่รู้สึกผิดเลยแต่ถ้าเด็กเชื่อเช่นนี้เด็กจะรู้สึกผิดน้อยกว่าคนปกติธรรมดามากเวลาที่เขาทำผิด
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกฝังใจหรือรู้สึกผิดไปจนตายกับสิ่งที่เขาทำ คุณควรบอกลูกว่า “จริงอยู่ที่หนูทำผิด แต่การคิดโทษตัวเองซ้ำๆ ตลอดเวลามันมีประโยชน์อะไรละลูก เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียนจะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก และจากนี้ไปมองไปข้างหน้าดีกว่าไหม เพราะคนเราต้องมีชีวิตอยู่เพื่ออนาคตไม่ใช่อดีต”
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♠ ไม่เป็นไรหรอกลูกใครๆเขาก็ทำกัน
การบอกเด็กว่าเราทำผิดแค่เล็กน้อยไม่เห็นเป็นไรมีคนทำผิดมากกว่าเราตั้งเยอะ ก็เหมือนกับการบอกเด็กว่าการทำไม่ดีอะไรก็ตามเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เสมอถ้ายังมีคนที่ทำไม่ดีมากกว่า และนั่นเท่ากับสอนให้เด็กทำเรื่องเลวร้ายมากขึ้นไปเรื่อยๆในตัว เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นเขาย่อมต้องเห็นโลกมากขึ้นและเห็นด้านมืดของโลกมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าเขาซึมซับในความคิดนี้เขาก็จะยิ่งทำเรื่องเลวร้ายมากขึ้นๆเป็นลำดับ
Must read : สปอยล์ลูก มากไป ระวังลูกนิสัยเสีย!
หากสังคมที่มีแต่คนบอกว่า “ถึงฉันจะเลวแต่ฉันก็เลวน้อยกว่าคนอื่นนะ” แล้วก็มุ่งมั่นทำความเลวต่อไป คุณพ่อคุณแม่คิดว่าสังคมนี้น่าอยู่ไหม และถ้าคุณสอนจนลูกเชื่อแบบนี้ ถ้าสักวันลูกคุณถูกตำรวจจับเพราะไปขโมยของ แล้วเขาบอกคุณว่าทำไมผมต้องติดคุกทีบางคนทุจริตมากกว่าผมเป็นพันเท่ายังไม่ต้องติดคุกเลย คุณจะตอบลูกว่าอย่างไร?