เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์ ระวังลูกด้อยพัฒนา เสียสุขภาพจิต! - amarinbabyandkids

เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์ ระวังลูกด้อยพัฒนา เสียสุขภาพจิต!

event

เลี้ยงลูก….อย่าเว่อร์นะคะ ^^

ความรักอันบริสุทธิ์ คือ ความรักของพ่อแม่ที่ไม่หวังผลตอบแทน แต่ดูเหมือนความรักของผู้เป็น “พ่อแม่” ในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไป มีหลายครอบครัวที่เลี้ยงลูกด้วยความคาดหวัง หวังให้ลูกเป็นคนเก่งเทียบเท่าหรือมากกว่าคนอื่นๆ ในสังคม แต่สิ่งที่ตามมา คือความกดดันที่สะสมอยู่ในตัวผู้เป็นลูกนั่นเอง

 

เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์ คำว่า เว่อร์ นี้ย่อมาจาก โอเว่อร์ (over) แปลว่า “มากเกินไป” และอะไรก็ตามที่น้อยเกินไป หรือ มากเกินไป ย่อมส่งผลเสียได้ทั้งนั้นค่ะ

โดยสิ่งที่คุณหมอ พรพิมล จะเล่าให้ฟัง คือ ลักษณะการเลี้ยงลูกแบบ “มากเกินไป” ที่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูก คุณพ่อคุณแม่บางท่านที่เคยศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วนะคะ

เว่อร์ที่ 1 : Overinvolvement (เกี่ยวข้องกับลูกแบบโอเว่อร์)

หมายถึง คุณพ่อคุณแม่ที่เข้าไปจัดการ เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกแทบทุกย่างก้าว เป็นคนระเบียบจัดต้องการให้ทุกอย่าง เรียบร้อย เป็นระเบียบถูกต้อง ทุกอย่างไม่รู้จักผ่อนปรนให้ ต้องคอยชี้แจงซ้ำซาก ตลอดเวลา ถ้าลูกทำไม่ได้ดังใจก็จะโกรธและตำหนิรุนแรงและคอยจุกจิกจู้จี้กับลูก แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ  หรือบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องไม่สำคัญ หรือแม้ว่าเด็กบางคนจะอายุเข้าวัยรุ่น สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้แล้วก็ตาม

เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์

X ผลเสียก็คือ  การเลี้ยงลูกแบบนี้จะทำให้เด็กพัฒนาไปเป็นเด็กที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง และมีปมด้อย เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดี ไม่มีความสามารถเพราะทำอะไรไม่เคยถูกใจพ่อแม่เลย และนั่นจะเป็นสิ่งที่บั่นทอนความรู้สึกความเชื่อมั่นและความพยายามของลูก เพราะปกติลูกต้องการทำให้พ่อแม่พอใจ และต้องการกำลังใจจากพ่อแม่

√ วิธีแก้ไข ความ Overinvolvement

หัวใจสำคัญของการเลี้ยงดูนั้น อยู่ที่พ่อแม่ต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อให้ลูกปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ สามารถสอนให้ลูกอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการเลี้ยงดูจะเป็นไปตามลำดับ ตามวัย ว่าอายุเท่านี้ควรทำอะไรด้วยตัวเองได้บ้าง ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทำให้จนโต แล้วถ้าวันหนึ่งพ่อแม่เป็นอะไรไปลูกจะลำบาก

อีกทั้งในเรื่องของการเลี้ยงดู พ่อแม่ไม่ควรที่จะบังคับลูกมากมาย ควรถามและคุยกับลูกก่อนว่าต้องการอะไร แล้วสิ่งที่เขาต้องการเหมาะสมกับวัยหรือไม่ หากไม่เหมาะสมควรหาเหตุผลมาอธิบาย ไม่ใช่แค่บอกว่าไม่ดีแต่ไม่มีเหตุผล ลูกจะไม่เข้าใจว่าทำไม จึงอาจเกิดแรงต้านทานขึ้นได้ หากมีเหตุผลมาประกอบเขาจะเข้าใจว่าทำไมทำไม่ได้ ปัญหาความกดดันก็จะไม่เกิดขึ้น

เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์

เว่อร์ที่ 2 : Overprotection (ปกป้องลูกแบบโอเว่อร์)

หมายถึง คุณพ่อคุณแม่ที่ปกป้องลูกประหนึ่งไข่ในหิน มดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ด้วยความกลัวว่าลูกจะลำบาก คุณพ่อคุณแม่จะพยายามปกป้องไม่ให้ลูกเผชิญหน้ากับปัญหาใดๆ แม้ว่าจะเป็นปัญหาหรือความไม่สะดวกสบายเพียงเล็กน้อยก็ตาม

X ผลเสียก็คือ  การเลี้ยงดูลูกแบบนี้ ทำให้ทักษะในการช่วยเหลือตัวเองช้า การที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเองมีน้อยมาก เพราะไม่เคยตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองเลย ทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนเด็กคือเลี้ยงเท่าไรก็ไม่รู้จักโต และในที่สุด…พ่อแม่ก็รังแกฉัน

เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์

วิธีแก้ไข ความ Overprotection

ลองให้ลูกได้ฝึกคิดแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยที่เราคอยเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ ไม่ใช่ทิ้งให้ลูกแก้ปัญหาลำพัง แน่นอนว่าถ้าทำไม่ได้หรือเกินความสามารถเราก็ต้องเข้าไปดูไปช่วยเหลือ ยกตัวอย่าง เช่น ลูกบอกเราว่าหิวน้ำ อยากดื่มน้ำ ให้แม่ไปซื้อให้หน่อย แทนที่เราจะไปซื้อให้ลูกทันที เราลองให้ลูกฝึกไปซื้อเอง ถ้ายังเด็กก็อาจจะพาไป และให้ฝึกจ่ายเงินเอง พูดกับคนขายเอง เป็นต้น
ถ้าลูกทำได้ในเรื่องต่างๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็อย่าลืมที่จะชมเชย เป็นการให้กำลังใจที่ดีและสำคัญ เด็กจะรู้สึกประสบความสำเร็จแม้จะเป็นเรื่องที่ดูเล็กน้อย ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มมีความมั่นใจจะทำเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ และนอกจากนั้นก็เป็นภูมิต้านทานที่เขาจะรู้จักความผิดหวังเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เด็ก

เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์

เว่อร์ที่ 3 : Overindulgence (ตามใจแบบโอเว่อร์)

หมายถึง คุณพ่อคุณแม่ที่ตามใจลูกมาก ลูกอยากได้อะไร แม้จะเป็นเรื่องที่สุดโต่งในสายตาคนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ก็สามารถมีเหตุผลมาปลอบตัวเองให้สบายใจในการที่จะตามใจลูกต่อไปได้ในที่สุด โดยเฉพาะทางวัตถุ ลูกจะได้ทุกอย่างตามที่เขาต้องการเท่าที่ฐานะทางเศรษฐกิจของพ่อแม่จะอำนวย และไม่รู้จักอบรมลูกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก อะไรควรอะไรไม่ควรปฏิบัติ ปล่อยให้ลูกทำตามใจตัวเองตามความพอใจ

fea-overparenting1-m

X ผลเสียก็คือ เมื่อลูกออกสู่สังคมนอกบ้าน ก็จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ยาก ทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัว เอาแต่ใจตัวเองและ ขาดความอดทน มีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นที่ไม่ราบรื่น อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย

√ วิธีแก้ไข ความ Overindulgence

ควรให้ลูกได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง รู้จักแก้ปัญหา รู้จักการให้และการเสียสละ เพื่อให้ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้ รู้จักปรับตัวและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

ผลข้างเคียงของลักษณะการเลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์ทั้ง 3 แบบนี้ คือ

1.ลูกอาจมีปัญหาอารมณ์ ไม่ว่าจะ หงุดหงิด ขี้กังวล ขี้กลัว

2.ลูกอาจสูญเสียความมั่นใจในตนเอง

3.ลูกอาจเสียโอกาสในการฝึกฝนทักษะที่สำคัญในชีวิต เช่น การแก้ปัญหา การวางแผน การรับมือกับความผิดหวัง

4.ลูกอาจโตขึ้นเป็นคนที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือ เอาแต่ใจตนเอง นั่นแหละค่ะ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์ มักจะอยู่ในกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง เมื่อมีลูกจึงออกแบบชีวิตลูกให้มีความเข้มข้นอยากให้เก่งรอบด้าน ให้ลูกเรียนทุกอย่างที่เราอยากจะให้เรียน เมื่อไปเร่งเขามากๆ ตั้งแต่เด็กช่วงเป็นวัยรุ่นตอนต้น เครื่องก็ดับ การกระทำแบบนี้น่าจะเรียกว่าเป็นการฆ่าลูกด้วยรัก ดังนั้นถ้าพ่อแม่เข้าใจ ว่าชีวิตของลูกจะดี ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีก็หยุดฆ่าลูกด้วยรักซะตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าเลี้ยงลูกแบบผู้อำนวยการสร้าง คือ จัดฉากให้ลูกทุกฉากแบบนั้นเด็กจะไม่มีเวลาเป็นเด็กเลย

“เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตลูกแบบพอดีๆ ปกป้องลูกเท่าที่จำเป็น และรักลูกแบบมีขอบเขต” น่าจะเป็นทางสายกลางที่ไม่เว่อร์ และช่วยให้การเลี้ยงลูกของคุณพ่อคุณแม่เป็นไปในทิศทางที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการและสุขภาพจิตของลูกมากกว่าค่ะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจอื่นๆ คลิก!


ขอบคุณเรื่องจาก : พญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ”

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up