การ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ …หากความพยายามปั้นลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะทำให้ลูกเครียด กดดัน หรือหลงทางไปตามความฝันของพ่อแม่ ทั้งที่สิ่งนั้นไม่ใช่ฝันและความสามารถที่แท้จริงของเขาเอง
เราลองมาเปลี่ยนวิธีเลี้ยงลูกจากการมุ่งสู่อัจฉริยะมาเป็นเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติที่เติบโตอย่างรู้จักตัวเอง ภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และมีความสุขอยู่เสมอ แบบนี้ดีกว่าไหมคะ ซึ่งวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะเลี้ยงลูกให้ได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องเริ่มจากพัฒนาจิตใจของคุณพ่อคุณแม่เอง เมื่อพ่อแม่พร้อมจึงจะสามารถพัฒนาลูกไปสู่ความเป็นคนปกติได้ แต่พ่อแม่จะพัฒนาตัวเองอย่างไร และจะพัฒนาลูกไปในทิศทางไหนเพื่อให้เขาเป็นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขตลอดชีวิต คุณหมอตั้มและคุณหมอก้อยจากเพจดัง “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ” มีคำตอบมาฝากกันค่ะ
เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ ตามวัย คุณทำได้!
พัฒนาลูกเริ่มต้นที่ “ใจพ่อแม่”
“ประมาณสัก 20-30 ปีก่อน เป็นยุคที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูก ก็เลี้ยงกันไปตามมีตามเกิด แต่ประมาณสัก 20 ปีที่ผ่านมา พ่อแม่เริ่มมีความรู้มากขึ้น ทั้งด้านจิตวิทยาและการศึกษา เราก็คิดว่าพ่อแม่จะเลี้ยงลูกได้ดีต้องมีความรู้ แต่ในทุกวันนี้เราก็พบว่า ต่อให้พ่อแม่มีความรู้ เด็กของเราก็ยังมีปัญหา จนเริ่มมีคนค้นพบทีหลังว่า การเลี้ยงลูกแบบวิชาการมากไป ทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน ความรู้อย่างเดียวจึงยังไม่พอ”
คุณหมอตั้มกล่าวเปิดประเด็น เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นของพ่อแม่ในยุคปัจจุบัน
“ผมยกตัวอย่างเช่น…
พ่อแม่จำนวนหนึ่งอ่านหนังสือและทำตามคำแนะนำว่า ให้พูดชื่นชมลูกหรืออย่าคาดหวังกับลูกสูงนัก แต่หมอพบว่ามีเด็กหลาย ๆ คนที่รู้สึกแย่กับการที่พ่อแม่แสร้งชม พ่อแม่เพียงแค่ชมตามหนังสือแนะนำ แต่ไม่ได้รู้สึกชื่นชมลูกจากใจจริง หรือลูกเรียนไม่เก่ง ก็พูดกับลูกว่า ไม่เป็นไร แต่สีหน้าและแววตาที่แสดงออกมาตรงกันข้าม กลับทำให้ลูกรู้สึกแย่กว่าการที่พ่อแม่พูดตรง ๆ ตอนนี้จึงเป็นยุคที่พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเองและแสดงออกด้วยความจริงใจ เช่น ถ้าจะพูดชื่นชมลูกก็ต้องมาจากใจจริง หรือถ้าจะคาดหวังให้น้อยก็ต้องทำได้จริง ยุคนี้จึงเป็นยุคที่พ่อแม่ต้องพัฒนาตัวเองไปให้ถึงจุดที่แสดงออกได้อย่างจริงใจ หรือเป็นยุคที่พ่อแม่ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นพ่อแม่ไปพร้อมกับการเลี้ยงลูก การเลี้ยงลูกมันไม่ใช่แค่ว่าเราทำอะไรกับลูก แต่พ่อแม่ก็ต้องทำอะไรกับตัวเองเพื่อให้เป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นคนที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปพร้อมกับลูก ลูกถึงจะดีได้จริง ๆ”
คุณหมอก้อยเสริมว่า…
พ่อแม่ที่พัฒนาตนเองได้ จะสามารถยอมรับตัวตนของลูกได้อย่างจริงใจ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกไม่ชอบเรียนหนังสือ เราก็ยอมรับและปล่อยให้ลูกเล่นเกมตามสบาย แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรยอมรับให้ได้คือความชอบและศักยภาพที่แท้จริงของลูก
“การยอมรับที่ถูกต้อง คือ ยอมรับว่าลูกของเรามีศักยภาพประมาณนี้ ด้านที่ดีเราก็เสริมให้เขาเก่งขึ้นเรื่อยๆ ส่วนด้านที่เขาไม่ถนัดหรือเป็นจุดอ่อน พ่อแม่ก็ต้องยอมรับว่า ความเร็วในการก้าวเดินไปข้างหน้าของเขา ไม่มีทางเท่าเพื่อนที่โดดเด่นในด้านนั้น เพียงพ่อแม่เข้าช่วยค่อย ๆ ดัน โดยไม่เร่งจนเขาเกิดความเครียดและไม่ปล่อยให้เขาหยุดอยู่กับที่ เพียงเท่านี้ก็นับว่าดีที่สุดแล้ว”
“ใจ หัว มือ มันคนละส่วนกันครับ” คุณหมอตั้มอธิบาย “หัวเราอาจจะต้องคิดว่าเราจะช่วยลูกได้อย่างไร หรือถ้าลูกเราไม่เหมาะกับสิ่งนี้แล้วเราจะทำอย่างไร ส่วนมือก็โทรศัพท์ไปหาคนให้คำปรึกษา พาไปเรียนเสริมเท่าที่เขาเรียนไหว แต่ส่วนสำคัญที่สุด คือ ‘ใจ’ ลูกจะดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง ชอบแบบที่พ่อแม่เลือกหรือไม่ และคุณจะยอมรับลูกที่เป็นแบบนี้หรือไม่ยอมรับ ลูกเราก็คือคนนี้ เพราะฉะนั้นใจก็ต้องยอมรับให้ได้ว่านี่ลูกของฉัน ลูกของฉันก็เป็นแบบนี้ เขาไม่เหมือนลูกคนอื่น เขาไม่ได้เก่งเท่าลูกคนอื่น เขาไม่ได้ชอบคณิตศาสตร์เหมือนพี่ ไม่ได้เก่งเหมือนเด็กข้างบ้าน เพียงแต่ว่าฉันจะทำอย่างไร ฉันจะคิดหาทางอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาก็ค่อย ๆ ทำกันไป ซึ่งถ้าใจเราปล่อยวางได้ สิ่งที่เราทำกับลูกมันก็จะสอดคล้องกับเขา เราจะอ่อนโยนกับเขา เราจะเข้าใจเขา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราแสดงออกก็จะเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจจริง ๆ”
อ่านต่อ >> “เทคนิคการเลี้ยงลูกให้เป็น “คนปกติ” เหมะสมตามวัย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่