แข่งขัน คำที่เด็กยุคนี้ต้องพบเจอ กับโลกของการเปรียบเทียบ ชิงตำแหน่ง ที่ไม่ว่าอย่างไรลูกต้องเผชิญ เมื่อเขาพลาดพ่อแม่จะมีวิธีการช่วยอย่างไรดี
8 วิธีช่วยลูก เมื่อลูกกลัวผิดหวังจากการ แข่งขัน !!
การแข่งขัน กับวิถีชีวิตของมนุษย์ มีความเกี่ยวพันกันมาเสมอ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นการเปรียบเทียบ การแก่งแย่ง แข่งขัน กันจึงเป็นพฤติกรรมปกติของเรา ที่จะต้องพบเจอ แต่สำหรับลูกแล้ว เขาพร้อมสำหรับการแข่งขันในชีวิตหรือยัง??
เด็ก กับการแข่งขัน อาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้ว แม้ลูกยังเด็กเล็กอยู่ก็เกิดการแข่งขันกันขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างพี่น้อง เพื่อน หรือแม้แต่การแข่งขันระดับใหญ่ในชีวิตเด็ก นั่นคือ การสอบแข่งขันเข้าเรียน การสอบแข่งขันระหว่างชั้น เป็นต้น ในเมื่อเราไม่สามารถหลีกหนีจากการแข่งขันไปได้ แล้วจะมีวิธีรับมืออย่างไรเมื่อลูกกลัวการผิดหวัง มีชนะก็ย่อมมีแพ้ เรามาดูวิธีการ และเหตุแห่งการแข่งขันกันว่าเกิดจากอะไรเพื่อทำความเข้าใจ และพร้อมรับมือเมื่อลูกต้องเผชิญ
ทฤษฎีบุคลิกภาพของอิริคสัน
มีการศึกษาเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมของมนุษย์มากมาย ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของบุคลิกภาพในแง่มุมต่างๆ จนมีทฤษฎีบุคลิกภาพหลายทฤษฎีเกี่ยวกับจิตใจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ทุกทฤษฎีก็พยายามอธิบายเรื่องของความรู้สึกนึกคิด และการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ ทฤษฎีบุคลิกภาพของอีริคสัน (Erik Erikson) จำแนกพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็น 8 ระยะหรือ 8 ขั้น เริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่สามารถตอบได้ว่า เหตุใดมนุษย์จึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น
ขั้นที่ 1 ความไว้วางใจหรือความไม่ไว้วางใจ (TrustVS Mistrust)
ในช่วงขวบปีแรกของชีวิต ถ้าเด็กได้รับความรักความอบอุ่น ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ เด็กจะพัฒนาความรู้สึกไว้วางใจคนอื่น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กไม่ได้รับในสิ่งที่เขาต้องการ เด็กจะเกิดความสงสัย ความกลัว และความไม่ไว้วางใจคนอื่น
2. ความเป็นตัวของตัวเองหรือความสงสัย (Autonomy VS Doubt & Shame)
ในช่วงขวบปีที่ 2 ถ้าเด็กได้มีโอกาสสำรวจ และลงมือกระทำตามความอยากรู้อยากเห็น ความสามารถของตน เด็กก็จะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักควบคุมตนเอง แต่ถ้าเด็กถูกขัดขวางหรือไม่มีโอกาส เขาจะเกิดความไม่กล้าทำสิ่งใด เกิดความสงสัยในความสามารถของตัวเอง เกิดความละอายว่าไม่มีความสามารถแต่อย่างใด
ขั้นที่ 3 ความคิดริเริ่ม หรือความสำนึกผิด (Initiative VS Guilt)
ช่วง 3-5 ขวบ ถ้ามีการกระตุ้นให้เด็กได้แสดงความสามารถอย่างมีเป้าหมาย และทิศทางที่แน่นอน เด็กก็จะพัฒนาการมีความคิดริเริ่ม แต่ถ้าเด็กถูกตำหนิ ถูกห้ามก็จะรู้สึกผิดหวัง รู้สึกกลัวว่าตัวเองจะทำอะไรผิดๆลงไป ไม่กล้าตัดสินใจ
ขั้นที่ 4 ความเอาการเอางาน หรือความรู้สึกมีปมด้อย (Industry VS Inferiority)
ช่วง 6-11 ขวบ เด็กจะยุ่งอยู่กับการศึกษาเล่าเรียน การปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ต่างๆ การฝึกฝนระเบียบวินัย ทำให้เกิดความขยันขันแข็ง ความเอาการเอางานอย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กประสบความล้มเหลวในการเรียนหรือในการคบเพื่อน เด็กจะเกิดความรู้สึกมีปมด้อย ผลที่ตามมาอาจเป็นการหนีเรียน หรือไม่ตั้งใจเรียน
5. ความมีเอกลักษณ์แห่งตน หรือความไม่เข้าใจตนเอง (Identity VS Identity diffusion)
วัยรุ่นหรือ 12-19 ปี เป็นช่วงที่เด็กมีบทบาทต่างๆกับเพื่อน กับครูผู้ที่ตนชื่นชม เช่น ดารา เด็กจะเรียนรู้ที่จะมีแบบอย่างหรือเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย กิริยาท่าทางการพูดจา ถ้าเด็กไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์ให้ตนเองได้ก็จะทำให้เกิดความสับสน ความไม่เข้าใจ เกิดการเลียนแบบผู้อื่น
ขั้นที่ 6 ความสนิทชิดชอบหรือความเปล่าเปลี่ยว(IntimacyVS Isolation)
วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นระยะของการมีเพื่อนร่วมงาน เพื่อนต่างเพศ การแสดงความรัก ทำให้เกิดความสนิทชิดชอบ แต่ถ้าไม่มีเพื่อนสนิท หรือคนรักที่จะแต่งงานด้วย จะมีความรู้สึกว้าเหว่ หงอยเหงา เปล่าเปลี่ยว
7..ความเสียสละ หรือความเห็นแก่ตัว (Generativity VS Self Absorption)
ในช่วงวัยกลางคน ชีวิตจะผูกพันกับครอบครัว สังคม และทรัพย์สมบัติ การพัฒนาบุคลิกภาพจะเป็นไปในด้านใดด้านหนึ่ง คือการเห็นแก่ส่วนรวม การเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือในทางตรงกันข้าม คือ การคำนึงถึงแต่ตัวเองเป็นใหญ่ การเห็นแก่ตัว การไม่ร่วมมือกับคนอื่น
ขั้นที่ 8 ความมั่นคงทางจิตใจ หรือ ความสิ้นหวัง (Integrity VS Despair)
วัยสูงอายุตอนปลาย จะคิดถึงอดีตที่ผ่านมา ความสมหวังหรือความล้มเหลวในหลายๆด้าน ถ้ามีความสมหวังมากกว่าความล้มเหลว จะมีความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ แต่ถ้ามีความล้มเหลวมากกว่าจะมีความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจในวัยสูงอายุได้
จากทฤษฎีจึงจะเห็นได้ว่า ในทุกช่วงวัยของมนุษย์ จะมีพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพของตัวเอง แต่จะออกมาเป็นเช่นไรจะขึ้นไปตามแต่ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับมา โดยจะพบว่าแม้ว่าในวัยเด็กที่เรามักคิดว่าเป็นวัยที่ไม่มีอะไรให้เครียด หรือกังวล แต่เขาก็มีภาระงานที่จะต้องฟันฝ่าให้ผ่านพ้นไป หากทำได้ไม่สำเร็จ หรือไม่ดี ก็จะส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็กได้ด้วยเช่นกัน
สภาพจิตใจของเด็ก
ในที่นี้ เด็ก หมายถึง วัยแรกเกิดจนถึง 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเข้าสู่วัยรุ่น ทั้งนี้อาจจะพิจารณาเป็น 3 ระยะ คือ วัยทารก วัยก่อนเรียน และวัยเรียนในแต่ละวัยมนุษย์เรามีความต้องการตามธรรมชาติแตกต่างกันไป ถ้าได้บรรลุความต้องการก็จะเกิดความพึงพอใจ เชื่อมั่นในตนเอง มานะพยายาม และเกิดการพัฒนาบุคลิกภาพในทางที่เหมาะสมต่อไป ถ้าผิดหวังก็เกิดขัดเคือง หมดความมั่นใจ ท้อถอยรู้สึกเป็นผู้แพ้ 3 สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์
เด็กเล็กมีความต้องการทางร่างกาย ได้แก่อาหาร อากาศ น้ำ สัมผัส ฯลฯ เมื่อโตขึ้นมีการเรียนรู้มากขึ้นก็เกิดความต้องการทางอารมณ์ สังคม ความต้องการของเด็กเล็กแบ่งได้เป็น 4 อย่าง คือ
- ความต้องการความรัก (Need for Affection) เมื่อเด็กจำความได้จะรู้สึกว่าความรักความอบอุ่นนั้นเป็นของสำคัญอยากให้คนอื่นรักและได้รักคนอื่น เด็กที่มีความอบอุ่นได้รับความรักจากพ่อแม่ พี่น้อง จะมีอารมณ์แจ่มใสคงที่ ไม่มีการเอาเปรียบอิจฉาริษยา ซึ่งตรงข้ามกับเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น
- ความต้องการความปลอดภัย (Need for Security) เด็กต้องการความเสมอต้นเสมอปลาย หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในฐานะไม่ปลอดภัย
- ความต้องการสถานะในสังคม (Need for Status) เด็กทุกคนต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากให้คนอื่นเอาใจใส่ และชมเชย
- ความต้องการอิสรภาพ (Need for Independence) เด็กต้องการรับผิดชอบการงาน ต้องการทำงานเป็นอิสระตามความสามารถของตนความต้องการ
เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้เด็กเกิดมีการกระทำต่างๆหรือแสดงพฤติกรรมต่างๆออกมา เพื่อสนองความต้องการที่เกิดขึ้นอารมณ์ของเด็ก อารมณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และมีการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional maturity) ได้แก่ ความโกรธ ความกลัว ความรัก และความริษยา
ทำเข้าใจความกลัวของลูก
ความกลัวของเด็ก เกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองขาดความปลอดภัย (insecurity) ซึ่งจะเกิดต่อเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำให้เกิดขึ้น เด็กจะแสดงความกลัวโดยการร้อง และแสดงอาการกระเถิบหนีตามธรรมชาติ ความกลัวมักมีสาเหตุจากการที่เด็กต้องเผชิญกับสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ โดยทันทีทันใดหรือไม่คาดฝัน เด็กอายุ 1-3 ขวบ จะแสดงอาการกลัวความมืด กลัวฝันร้าย ความกลัวของเด็กอาจเนื่องมาจากผู้ใหญ่ก็ได้ถ้าผู้ใหญ่แสดงอาการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เด็กก็จะพลอยกลัวไปด้วย หรือ เกิดจากการที่ผู้ใหญ่หลอกให้เด็กกลัวสิ่งที่ไม่มีเหตุสมควร
โดยทั่วไปความกลัวของเด็กขึ้นกับอายุและการเรียนรู้ วัยทารกนั้นยังมีความกลัวไม่มาก แต่เมื่อโตขึ้น รับรู้แยกแยะได้มากขึ้น ความกลัวก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ยิ่งเริ่มจินตนาการได้บางทีเด็กก็จะมีความกลัวจากจินตนาการของตนเองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กก็จะสามารถใช้สติปัญญาความรู้ความเข้าใจต่างๆ ขจัดความกลัวในบางสิ่งบางอย่างที่เคยกลัวลงได้
ส่วนอิทธิพลของการเรียนรู้ที่มีต่อความกลัวของเด็กนั้น มองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน การเรียนรู้นี้อาจมาจากประสบการณ์ของเด็กโดยตรง เช่น เคยถูกสุนัขกัด ทำให้กลัวสุนัข หรือมาจากคำบอกเล่าของคนอื่น หรือมาจากจินตนาการของเด็กเอง เมื่อเด็กเกิดความกลัว ปฏิกิริยาตอบสนองโดยทั่วไป คือ พยายามหนีสิ่งที่กลัว หรือเผชิญหน้ากับมัน
ความกลัวเป็นพฤติกรรมปกติ แต่จะสอนลูกให้เผชิญหน้ากับความกลัวอย่างไร?
ในส่วนการเผชิญหน้า หรือกำจัดสิ่งที่กลัวนั้น เด็กไม่ค่อยจะทำ มักเลือกที่จะหนีสิ่งที่กลัวเสียมากกว่า หากไม่มีผู้ช่วย แต่ถ้าหนีทุกครั้งไป ก็ทำให้ขาดประสบการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการได้ การหนีสิ่งที่กลัวโดยไม่มีเหตุผลอันควรแสดงว่าเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจ ยิ่งหากพบเจอกับผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่บางคนที่ไม่สามารถสอนให้ลูกรับมือกับความกลัวได้ ตัดปัญหาด้วยการบอกให้เด็กหลบหลีกสิ่งที่กลัวเสีย เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นคนหวาดกลัวสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีเหตุผลอยู่เสมอ
ถ้าเด็กรู้จักสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น และมีแนวทางในการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น เด็กก็จะค่อย ๆ หายกลัว เด็กที่ขีกลัวต้องการคนปลอบใจมากกว่าการดุด่า เด็กต้องเอาชนะสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยตัวของเขาเอง และจะดียิ่งขึ้นหากมีคำแนะนำที่ดีจากพ่อแม่ ถ้าเด็กได้พบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ มาก และพ่อแม่คอยช่วยแนะนำอธิบาย เด็กก็จะมีเหตุผลเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และสามารถจัดการกับความกลัวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้ สามารถแปรเปลี่ยนความกลัวเป็นการเตรียมตัว เตรียมพร้อมรับมือได้ต่อไป
อ่านต่อ >> 8 วิธีช่วยลูก เมื่อลูกกลัวการผิดหวังจากการแข่งขัน คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่