วิจัยเผย!! พี่น้องที่ชอบ ทะเลาะกัน ช่วยให้ฉลาดมากยิ่งขึ้น - Page 2 of 2 - Amarin Baby & Kids
พี่น้อง ทะเลาะกัน ช่วยให้ฉลาด

วิจัยเผย!! พี่น้องที่ชอบ ทะเลาะกัน ช่วยให้ฉลาดมากยิ่งขึ้น

Alternative Textaccount_circle
event
พี่น้อง ทะเลาะกัน ช่วยให้ฉลาด
พี่น้อง ทะเลาะกัน ช่วยให้ฉลาด

วิจัยเผย!! พี่น้องทะเลาะกัน ช่วยให้ฉลาดมากยิ่งขึ้น

นักจิตวิทยาได้เผยถึงผลดีของการทะเลาะกันของพี่น้องว่า ส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะพวกเขาจะได้รับบทเรียนในการเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะทางด้านความฉลาดในการเข้าสังคม

ความฉลาดทางสังคม คืออะไร

ความฉลาดทางสังคม (Social intelligence หรือ SI) นั้นแตกต่างจากความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากความฉลาดทางสติปัญญานั้น เป็นสิ่งที่มาตั้งแต่กำเนิด และมีพันธุกรรมเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดค่าความฉลาดทางสติปัญญานั้น ในขณะที่ความฉลาดทางสังคม มักจะเกิดขึ้นจากการสังเกตประสบการณ์ และการเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวผ่านการใช้ชีวิตในสังคม โดยปกติแล้ว มักจะเรียกกันว่า “สามัญสำนึก” (Common sense)

ผู้ที่มีความฉลาดทางสังคม จะสามารถรับรู้ได้ว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร รู้ว่าควรจะพูดอะไรในสถานการณ์แบบไหน และดูมั่นใจในตัวเอง แม้ว่าจะอยู่ในคนกลุ่มใหญ่ หลายคนอาจจะมองว่าทักษะนี้เป็นทักษะการเข้าสังคม แต่จริงๆ แล้วพวกเขาแค่มีความฉลาดทางสังคมสูงเท่านั้น การอยู่ร่วมกับผู้อื่นนั้นมีความซับซ้อน เนื่องจากมนุษย์นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามนิสัยใจคอ ซ้ำยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การที่เราจะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะในเรื่องของความสัมพันธ์ การทำงาน หรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น จะต้องใช้ทักษะความสามารถในการสื่อสารและทำความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจะต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะพูด เมื่อไหร่ควรจะฟัง และเราจะสามารถตอบสนองกับผู้อื่นได้อย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งทักษะเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ก็ต้องการความฉลาดทางสังคมทั้งนั้น และที่สำคัญความฉลาดนี้ไม่สามารถหาอ่านจากหนังสือที่ไหนได้ นอกจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา

ให้เขาจัดการปัญหากันเอง จะเพิ่ม ความฉลาดทางสังคม ให้แก่ลูก ๆ
ให้เขาจัดการปัญหากันเอง จะเพิ่ม ความฉลาดทางสังคม ให้แก่ลูก ๆ

เมื่อทะเลาะกัน เด็ก ๆ ได้อะไร

จากผลการวิจัย ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเด็กทะเลาะกัน สิ่งที่เขาจะได้รับเมื่อ พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ปล่อยให้ลูก หรือเด็ก ๆ จัดการกันเอง หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้น คือพวกเขาจะได้เรียนรู้ทักษะที่จะเพิ่มความฉลาดทางสังคมและอารมณ์ของพวกเขา ดังนี้

  • เด็กได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

เมื่อเด็กอยู่กับผู้ใหญ่ หากมีเรื่องขัดแย้งกัน หรือเด็กต้องการของสิ่งไหน ผู้ใหญ่มักเป็นฝ่ายยอม หลีกทางให้กับเด็กเสมอ แต่เมื่อพวกเขาอยู่ด้วยกันเองมันมักไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้วิธีการเจรจา และวิธีที่จะทำให้พวกเขาสามารถตกลง ยอมรับกันได้ แม้ว่าในบางครั้งวิธีการที่พวกเด็ก ๆ เลือกอาจจะยังไม่ลงตัว ปัญหาก็จะเกิดซ้ำขึ้นอีก แต่พวกเขาจะจัดการกับสถานการณ์เหล่านั้น ได้ดีขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป เช่น หากเด็กแย่งของเล่นกัน แม้ว่าจะจบลงที่มีเด็กเพียงคนเดียวที่ได้ของชิ้นนั้นไปเล่น แต่เมื่อได้ของก็จะไม่ได้เล่นด้วยกัน เด็กที่ได้ของเล่นไปก็จะยอมกลับมาเข้ากลุ่มเพื่อแบ่งของเล่นชิ้นนั้นในที่สุด จึงกล่าวได้ว่าเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ว่า หากพวกเขาต้องการอะไร พวกเขาก็ต้องยอมเสียสละเช่นกัน

  • ได้เรียนรู้การเห็นอกเห็นใจกันและกัน

งานวิจัยพบว่า การเอาใจใส่ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการพัฒนาความฉลาดทางสังคม เมื่อเราแสดงออกให้เห็นถึงความเข้าใจในตัวผู้อื่น พวกเขาก็จะรู้สึกได้รับการสนับสนุน และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองเราได้มากกว่า ดังนั้นการเห็นอกเห็นใจ (Empathy) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เด็ก ๆ ควรมี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกกันมาตั้งแต่เด็ก และควรทำสม่ำเสมอจนเด็กโตขึ้นมา เมื่อเด็กมีความเห็นอกเห็นใจจะช่วยสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการรังแกกัน และเมื่อเด็กเติบโตไป เวลาไปทำงานร่วมกับผู้อื่นก็มีความราบรื่น เกิดความสามัคคี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการใช้ชีวิต แม้ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เต็มไปด้วยสิ่งล่อใจ เช่น สื่อต่างๆ ที่มักทำให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เด็กก็ยังสามารถจัดการกับความคิดได้

การทะเลาะกันนั้น จะเพิ่มโอกาสให้เด็กฝึกคิดในมุมมองของคนอื่น เช่น ถ้าเด็กไปตีน้องน้องเจ็บ ร้องไห้ พ่อแม่สามารถฝึกให้เขามีความคิดเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ด้วยการลองถามเค้าว่า “หนูคิดว่าตอนนี้น้องรู้สึกยังไง” “สมมติว่ามีคนมีตีหนูแบบนี้ หนูจะรู้สึกอย่างไร แล้วหนูจะทำแบบไหนคราวหน้า”

  • ช่วยให้ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น

การที่พี่น้องทะเลาะกัน เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ตนเองขณะโกรธ เพราะย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อเกิดความขัดแย้งจนทะเลาะกัน ทุกคนย่อมมีความโกรธ และพวกเขาจะได้เรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์โกรธของตนเองไม่ให้เป็นปัญหา ผ่านสายสัมพันธ์พี่น้องที่มีต่อกัน เพราะความเป็นพี่เป็นน้องจึงทำให้พวกเขาสามารถที่จะตกลง พูดคุย ยอมรับ และพร้อมแก้ปัญหานั้นไปได้ง่ายกว่าทะเลาะกับบุคคลอื่น

โดยพ่อแม่อาจทำการช่วยเหลือให้ลูกได้ฝึกการควบคุมอารมณ์เมื่อพวกเขาทะเลาะกันได้โดย การพาลูกแยกออกมาเมื่อสังเกตเห็นว่าเด็กเริ่มโกรธจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และมีกฎเหล็กในการจัดการปัญหาเมื่อลูกทะเลาะกันโดย ตกลงกันว่า ให้ลูกจัดการปัญหาการทะเลาะกันได้เอง โดยที่เราจะไม่ทำร้ายกัน เราจะไม่ด่ากันด้วยคำหยาบคาย และเราจะไม่ทำลายสิ่งของ

พี่น้องทะเลาะกัน จัดการอย่างไร
พี่น้องทะเลาะกัน จัดการอย่างไร
  • มีน้ำใจต่อกัน

พี่น้องที่ทะเลาะกัน เมื่อเขาจัดการปัญหาเหล่านั้นกันเอง พ่อแม่ไม่ได้เข้าไปยุ่ง เข้าไปตัดสินใครผิดใครถูก นั่นจะทำให้พวกเขาไม่รู้สึกน้อยใจ หรือมีอะไรติดค้างในใจระหว่างพี่น้อง นั่นทำให้เขาจะได้เปิดโอกาสในการเรียนรู้ว่า หากต้องการอยู่ร่วมกัน ต้องรู้จักแบ่งปันกัน มีน้ำใจต่อกัน

เด็กที่มีอายุมากกว่า 4-5 ปีขึ้นไป จะเริ่มเรียนรู้การเล่นแบบร่วมมือ หรือ “Coorporative play” การที่พวกเขาได้เล่นด้วยกัน ได้กิจกรรมร่วมกัน ได้เรียนรู้การตอบโต้พูดคุยกับเด็กคนอื่น การผลัดกันเล่น การแบ่งหน้าที่กันทำงาน และการแบ่งปันกัน ผ่านการให้ (เพื่อจะได้เล่นด้วยกัน)’ ‘การอดทนรอคอย (ให้ถึงตาตัวเอง)’ และ ‘การต่อรอง (เพื่อจะได้เล่นที่ตนและผู้อื่นอยากเล่นด้วย)’ นั่นคือทักษะความฉลาดทางสังคมที่จะถูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก ดังนั้นหากการรวมตัวกันจะเกิดการทะเลาะระหว่างพี่น้องกันไปบ้าง แต่พวกเขาจะได้รับสิ่งดี ๆ เหล่านี้กลับไปก็คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าหนักใจอีกต่อไปของพ่อแม่อีกแล้วใช่ไหม

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.altv.tv/www.mirror.co.uk/ hellokhunmor.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

พี่น้องต้องทะเลาะกันด้วยเหรอ?!

พี่น้อง แย่งของเล่น พ่อแม่ควรทำยังไง? ไม่ให้พี่น้อยใจที่ต้องเสียสละให้น้อง!

3 เทคนิคดีๆ แก้ปัญหา ลูกทะเลาะกัน ทุกวัน

เมื่อลูกชอบฟ้อง “เรื่องไม่เป็นเรื่อง”

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up