บุลลี่ รังแก กลั่นแกล้ง เป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ต้องให้ความใส่ใจไม่แค่เด็กที่ถูกรังแกเท่านั้น แต่เด็กที่รังแกก็นับว่ามีปัญหาไม่แพ้กัน อย่าปล่อยพวกเขาเผชิญลำพัง
อาม่าคุกเข่าอ้อนวอน! แก๊งวัยรุ่นหยุด บุลลี่ หลานชาย
บูลลี่ (Bully) คือ พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย หากเกิดในชีวิตจริงมักเป็นการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา สถานะทางสังคม รวมถึงการทำร้ายร่างกาย ส่วนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เกิดจากการประจานกันทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายครั้งการบูลลี่สร้างผลกระทบทางด้านความรู้สึกมากมายจนอาจเกิดเป็นแผลทางใจฝังลึกจนยากเยียวยา หรืออาจลุกลามไปจนเกิดการปะทะ และสร้างบาดแผลทางกายได้
การกลั่นแกล้งกัน การข่มขู่ หรือการบุลลี่ ในสังคมของการอยู่ร่วมกัน เราสามารถพบเจอปัญหานี้ได้อยู่เสมอ แต่ในปัจจุบันที่สังคมมีความเปิดกว้าง และเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างง่ายดาย การบุลลี่กันจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้น เพราะการแกล้งกันนั้นสามารถกระจายวงกว้างออกไปได้มาก และเร็วกว่าในสมัยก่อน ทำให้เรื่องราวบานปลาย และยากจะควบคุม ทุกคนสามารถใส่ข้อมูลต่าง ๆ ลงในสื่อโซเซียลโดนไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนทำการแชร์ ดังนั้นบางทีเราอาจจะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการกลั่นแกล้ง บุลลี่บุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ก็ได้ โดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และไม่รู้ตัวด้วยการกดแชร์ข้อมูลที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงก่อนเพียงปุ่มเดียว
การบุลลี่นั้นสามารถเกิดได้หลายแบบ ดังนี้
- บูลลี่ทางร่างกาย เป็นการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายให้เกิดการบาดเจ็บ มีบาดแผล ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก บางกรณีอาจส่งผลต่อจิตใจอีกด้วย
- บุลลี่ทางวาจา แม้ไม่มีบาดแผลทางกายให้เห็น แต่การพูดส่อเสียด ล้อเลียน ใส่ร้าย การประจานด้วยคำพูดให้ผู้อื่นได้ยิน นอกจากจะสร้างความอับอาย วิตกกังวล อาจสร้างความเครียด เก็บกด ส่งผลถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือหวาดกลัวสังคม ถือเป็นบาดแผลทางใจที่เจ็บปวดไม่น้อย
- บูลลี่ทางสังคม เป็นการสร้างกระแสสังคมรอบข้างให้โหมกระหน่ำมายังเหยื่อของการ บุลลี่ เสมือนการยืมมือคนรอบข้างให้ร่วมกันทำร้ายบุคคลเพียงคนเดียว เช่น การปล่อยคลิปของเหยื่อ หรือการสร้างข่าวลือ จนผู้เสพหลงเชื่อและพร้อมจะแชร์ และกระพือข่าวให้ไปในวงกว้างขึ้น จนกว่าผู้ถูกกระทำไม่มีที่ยืนทางสังคม
บุลลี่ ในโรงเรียน ผลกระทบไม่ได้เกิดแค่ตัวเด็ก!!
ภาพหดหู่! อาม่าคุกเข่าวอนแก๊งวัยรุ่นหยุดรังแกหลานชาย หลังโดนบูลลี่จนไม่กล้าไปเรียน
วิดีโอหนึ่งที่โพสต์บนเว่ยปั๋ว พบเห็นคุณย่ารายหนึ่งจากมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ถึงขั้นยอมลงทุนคุกเข่าต่อหน้ากลุ่มวัยรุ่นในที่สาธารณะ วิงวอนให้หยุดรังแกหลานชายของเธอเสียที
ในวิดีโอพบเห็น อาม่าผู้น่าสงสารกำลังคุกเข่าต่อหน้าพวกแก๊งอันธพาล วิงวอนร้องขอพวกเขาให้หยุดรังแกหลานชายของเธอ ซึ่งสร้างบาดแผลทางจิตใจแก่หลานชายของเธอ ถึงขั้นไม่กล้าไปโรงเรียน
ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่ง ชื่อว่าหลี่ เล่าว่า “หลานของอาม่าเพิ่งเข้าเรียนระดับมัธยม และมักถูกรังแกโดยกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16 ปี พวกเขาทุบตีทำร้ายเขา และตอนนี้เขากลัวมากจนไม่กล้าไปโรงเรียน อาม่าทราบเรื่องเข้าจึงคุกเข่าร้องขอพวกอันธพาล ให้หยุดบูลลี่หลานชายของเธอ”หลี่ เล่าต่อว่า กลุ่มแก๊งอันธพาลวางมาดคาบบุหรี่และนั่งมองอาม่าที่กำลังคุกเข่าอ้อนวอนด้วยสายตาเย็นชา “ผมยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องมาเห็นผู้หญิงวัยชราคุกเข่าอ้อนวอนขอพวกเขาหยุดรังแกหลานชาย”
ภาพในวิดีโอในเวลาต่อมา พบเห็นผู้สัญจรผ่านไปมาบางส่วนเริ่มไม่พอใจ และพยายามเข้าคลี่คลายสถานการณ์ เข้าพยุงให้อาม่าลุกขึ้น จากนั้นเหตุโต้เถียงระหว่างแก๊งอันธพาลกับผู้สัญจรผ่านไปมาก็ดูจะดุเดือดเลือดพล่านยิ่งขึ้น แต่เคราะห์ที่ดีสถานการณ์ไม่ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุกระทบกระทั่งใดๆ
ที่มา : https://mgronline.com
สถิติการแกล้งกันในโรงเรียนของประเทศไทยเมื่อปี 2561 พบว่าไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยทีเดียว โดยช่วงอายุที่โดนแกล้งมากและรุนแรงที่สุดคือช่วง 13 – 18 ปี ซึ่งเด็กที่ถูกแกล้งก็จะโดนสารพัดวิธีทั้งแกล้งต่อหน้า ลอบทำร้าย และ Cyber Bullying โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับบุคลิกของเด็กที่ถูกแกล้ง
ผลงานวิจัยของคุณครูกรกช ไชยวงค์ ครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เรื่องการกลั่นแกล้งในชั้นเรียน ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ซึ่งครูกรกชได้ทำการศึกษาในเด็กนักเรียนชั้น ม. 1 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ ได้รับผลกระทบด้านจิตใจมากที่สุด แล้วยังมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ เพราะทำให้เด็กเหล่านี้มีความวิตกกังวลสูง ไม่อยากมาโรงเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียน ซึ่งไปสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันสถิติศาสตร์ (UIS) ของ UNESCO ที่บอกว่าเด็ก ๆ ที่โดนแกล้งส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกไร้ค่า และมากกว่าครึ่งต้องลาออกจากโรงเรียน ทำให้เสียโอกาสทางการเรียนรู้
นอกจากนี้แล้วคุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ จิตแพทย์ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า เด็กที่โดนแกล้งอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีแนวโน้มสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งตรงกับผลงานวิจัยระยะยาวของมหาวิทยาลัย Duke ที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1993 ในการตามติดชีวิตเด็ก 1,420 คน ในรัฐนอร์ทเเคโรไลน่า สหรัฐอเมริการ เป็นเวลา 20 ปี พบว่า เด็กที่โดนแกล้งบ่อย ๆ และรุนแรง เมื่อโตจะมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้ามากกว่า 50% และในจำนวนนั้นมีแนวโน้มสูงว่าจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาการถูกแกล้ง
ที่มา : https://www.istrong.co
อ่านต่อ>> ทำไมเด็กถึงรังแกคนอื่น พร้อมแนะวิธีปรับพฤติกรรม คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่