bully ในเด็กเรื่องเครียดของเหยื่อ ทำอย่างไรให้ยุติการกลั่นแกล้งนี้ได้ มาส่องเคล็ดลับการคุยกับครูของลูกเรื่องลูกโดนแกล้ง คุยยังไงไม่เสียความรู้สึกยุติได้เร็ว
แนะวิธีคุยกับครู เมื่อลูกโดน bully แจ้งยังไงให้ยุติได้เร็ว!!
การกลั่นแกล้งกันในเด็ก การ bully ในโรงเรียน การที่ ลูกโดนแกล้ง นั้น คงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่อยากให้เกิดกับลูกเราอย่างแน่นอน แต่เราไม่สามารถไปบังคับคนอื่นได้ แม้ว่าเราอาจจะกำหนดปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ มาให้ลูกอย่างดีมากแค่ไหนก็ตาม การกลั่นแกล้ง การbully นั้นอาจจะมาจากสาเหตุใดก็ได้ หรือผู้ที่กลั่นแกล้งอาจเป็นใครก็ได้ ไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเด็กด้วยกัน เช่น การโดนครูล้อเลียนทำให้อับอาย การถูกครูเรียกด้วยฉายา หรือรุ่นพี่ที่โตกว่าชอบไถเงิน เป็นต้น
แนวทางในการับมือเมื่อลูกถูก bully !!
เมื่อเราผ่านขั้นตอนกระบวนการในการแน่ใจแล้วว่า ลูกเราตกเป็นเหยื่อของการ bully ลูกโดนแกล้ง สิ่งต่อไปที่พ่อแม่จะต้องทำ คือ การยุติการแกล้งนั้นให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกทุกข์ทรมาน โดยการยุติความรู้สึกแย่ ๆ ที่ลูกได้รับนั้น เรามีแนวทางปฎิบัติของพ่อแม่ในการรับมือเบื้องต้น ดังนี้
นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ หนึ่งในผู้ร่วมบรรยายในการอบรมหัวข้อ “คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่ ไม่บูลลี่ในเด็ก” ที่จัดโดยกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการโดนบูลลี่ของเด็กไทย ให้ความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถเข้าใจปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้อย่างชัดเจน และเข้าใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น โดยแนวทางในการดูแลเด็ก ดังนี้
1. พ่อแม่ทำความเข้าใจ “การบูลลี่” ให้จริงจัง
การทำความเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาของผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำมากขึ้น แท้จริงแล้วการกลั่นแกล้ง คือนิสัยที่เรียนรู้ และเลียนแบบมาจากการเห็นหรือได้ยิน เช่น การพบเจอปัญหาคนในครอบครัวทะเลาะกัน หรือพบเจอคนในชุมชนด่าทอกันด้วยคำพูดหยาบคายทุกวัน จนมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ผู้กระทำบางราย อาจจะเป็นบุคคลที่ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกอิจฉาริษยาผู้อื่น รวมถึงผู้กระทำบางรายอาจจะเคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน
2. สอนลูกให้กล้าแสดงความไม่พอใจต่อผู้กระทำ
หลายครั้งที่ปัญหาการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะพูด หรือแสดงความไม่พอใจออกมา ทำให้ผู้กระทำไม่รับรู้ว่าผู้ถูกกระทำนั้นมีความรู้สึกอย่างไร จึงกระทำการกลั่นแกล้งซ้ำๆ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ การแสดงออกหรือการพูดสื่อสารออกมาว่าผู้ถูกกระทำนั้นไม่พอใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้กระทำมีแนวโน้มที่จะกลั่นแกล้งลดน้อยลง หรือหยุดการกระทำนั้นๆ ลงได้ เนื่องจากผู้กระทำได้รับการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำว่า “ไม่พอใจ” และรับรู้ว่าการกระทำของตนนั้นสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง
3. บอกลูกว่า ถ้าโดนแกล้งต้องบอกครูและพ่อแม่
ส่วนใหญ่แล้วปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เกิดจากผู้ถูกกระทำไม่ได้บอกเล่าเรื่องถูกกลั่นแกล้งให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูได้ทราบ จึงทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งยังคงเกิดขึ้น และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องสอนเด็ก และลูกหลานของคุณ “ไม่ให้เงียบ” หรือ “เพิกเฉย” ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ให้กล้าที่จะบอกเล่าปัญหาของตนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูที่โรงเรียน เพราะปัญหาการถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนเพื่อหาวิธีการรับมือ และหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
4. การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
รู้หรือไม่? ในบางสถานการณ์การกลั่นแกล้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากว่าผู้ถูกกระทำถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายหรือทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดด่าทอเชื้อชาติหรือเพศสภาพ ใช้กำลัง และความรุนแรงรังแกผู้อื่น หรือแม้แต่การแชร์เรื่องส่วนตัวของผู้อื่นในอินเทอร์เน็ต ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น หากว่ามีการพบเจอการกลั่นแกล้งที่รุนแรงเช่นนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูสามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้
5. พยายามให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง อย่ามองว่าตัวเองเป็นปัญหา
การมีอัตลักษณ์ที่ต่างจากผู้อื่น เช่น เพศสภาพ เชื้อชาติ รูปร่างหน้าตา ที่ต่างจากผู้อื่นไม่ใช่ปัญหาของคนโดนแกล้งเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะทัศนคติของผู้กระทำ หรือคนแกล้งที่มีต่อผู้อื่นต่างหาก ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และมุมมองของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก หากลูกของคุณเป็นผู้ถูกกระทำ จงสอนเขาว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด และมันไม่ใช่ปัญหาของเขาเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวผู้กระทำเองทั้งสิ้น
6. หาวิธีจัดการกับความเครียด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การถูกบูลลี่สามารถสร้างความเครียดให้แก้ลูก หรือืผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก นอกจากการบอกเล่าปัญหาต่อผู้ที่ไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือครูแล้ว ควรลองมองหากิจกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ มาทำเพื่อช่วยลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปเที่ยว ลองชวนลูกออกไปทำกิจกรรมเหล่านั้น เพื่อจัดการกับความเครียดของตนเอง และทำให้สภาพจิตใจไม่หมกมุ่นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
7. อย่าแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว
การอยู่คนเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหา หรือทำให้จัดการกับการกลั่นแกล้งได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ การอยู่คนเดียวเงียบๆ จะทำให้ลดความมั่นใจ และความภาคภูมิใจของผู้ถูกกระทำได้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ที่จะคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรม และอารมณ์ของเด็กๆ ไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเงียบ หรือปลีกตัวมาอยู่คนเดียว
8. ดูแลสุขภาพกายและจิตใจสม่ำเสมอ
สุขภาพคือสิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจ การกลั่นแกล้งนั้นสามารถสร้างบาดแผล และปมในใจให้กับผู้ถูกกระทำ ซึ่งสามารถส่งผลต่อสภาพร่างกายได้ เช่น อาการเบื่ออาหาร เครียดจนนอนไม่หลับ เป็นต้น หากลูกหลานของคุณถูกกลั่นแกล้งมานานจนกระทบต่อสภาพร่างกาย และจิตใจ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและจิตวิทยา เพื่อช่วยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาได้อย่างดี และตรงจุด
9. มองหาบุคคลต้นแบบที่ดี
เมื่อลูกโดนบูลลี่ จะเกิดความสับสน และไม่ชอบในตัวเอง แต่ถ้าหากเขามีบุคคลต้นแบบที่ดี ก็จะสามารถทำให้เห็นได้ว่า มีอีกหลายคนที่เคยพบเจอกับปัญหาเดียวกัน แต่พวกเขาก็สามารถก้าวข้ามผ่านการโดนกลั่นแกล้งจนสามารถประสบความสำเร็จได้ การมีบุคคลต้นแบบที่ดีนั้น จะทำให้ลูกมองเห็นคุณค่าของตัวเอง และรักตัวเองมากขึ้น ประสบการณ์ของบุคคลต้นแบบนั้น จะทำให้ลูกมีแนวทางตัวอย่างในการคิด แก้ปัญหา
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเพียงคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เพียงบางส่วนเท่านั้น ที่ผู้ปกครองสามารถนำเอาไปปรับใช้ หรือสอนลูกหลานให้เข้าใจถึงปัญหาและการหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด แต่อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนเจอกับประสบการณ์การบูลลี่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ของเด็กแต่ละคนด้วย พ่อแม่ และครูในโรงเรียนจึงควรร่วมมือกันตรวจสอบ และหมั่นดูแลเด็กๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bangkokbiznews.com
เคล็ดลับ 7 ข้อ ในการพูดคุยกับโรงเรียนเมื่อลูกถูก bully !!
เมื่อลูกถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน คนแรกที่คุณคิดถึงว่าจะพูดด้วย คือ คุณครูของลูก แต่ในบางกรณีที่เป็นปัญหาที่อาจเกิดจากตัวคุณครูเอง หรือการกลั่นแกล้งจากเด็กนักเรียนรุ่นพี่ที่โตกว่า หรือในรถโรงเรียน หรือพ่อแม่รู้สึกว่าบอกกล่าวครูไปแล้วแต่ไม่ได้รับความสนใจ การจะพูดคุย หาทางแก้ปัญหาการที่ลูกโดนแกล้งในบางกรณีนั้น อาจเป็นที่ลำบากใจ และดูจะหนักใจไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ไม่จำเป็นต้องเครียด ทำตามเคล็ดลับ 9 ข้อนี้ในการพูดคุยกับครูใหญ่ คุยกับทางโรงเรียน แล้วทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่น ด้วยดี
นัดพูดคุยแบบเห็นหน้ากัน
เมื่อต้องรับมือกับบางสิ่งที่สำคัญพอๆ กับการกลั่นแกล้ง พ่อแม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพูดคุย โดยคุณจำเป็นต้องนัดพบกับอาจารย์ใหญ่เพื่อพูดคุยกันแบบเห็นหน้า พยายามหลีกเลี่ยงอีเมล การสื่อสารแบบไม่พบเจอกันจริง ๆ เช่น ทางโทรศัพท์ ทางไลน์ เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดการตีความผิดไปจากจุดประสงค์ของเราได้ง่ายเกินไป เพราะการพูดคุยจะมีกริยา ท่าทาง อวัจนภาษา ที่ทำให้คุณสามารถสื่อสารถึงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา ไม่ใช่การต้องการเอาชนะ หรือแก้แค้นกลับคืน
แนะนำว่า หากเป็นไปได้ให้นัดพูดคุยกันในตอนเช้า เพราะในช่วงเช้าทุกคนจะยังรู้สึกสดชื่น อารมณ์ดี ทำให้มักจะเห็นผลกว่า คุณควรหลีกเลี่ยงการนินทาเกี่ยวกับเด็กที่มาแกล้งลูก โพสต์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย หรือระบายในสื่อออนไลน์ เพราะการกระทำเหล่านี้นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นการทำไปเพียงแค่ทำให้เราสะใจ หรือรู้สึกว่าได้โต้ตอบ แต่มิได้เป็นการแก้ไขปัญหาให้ลูก บางครั้งอาจทำให้ลูกของคุณเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งมากขึ้น
มาคุยด้วยจิตใจเป็นพันธมิตร
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวจะเข้าพูดคุยตามที่นัดหมายแล้ว ขอให้เตรียมใจ และความคิดโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าอาจารย์ใหญ่ ทางโรงเรียนต้องการช่วยคุณและลูก แม้ว่าในความรู้สึกของเรา ผู้ถูกกระทำจะรู้สึกว่าไม่เห็นมาตราการใด ๆ ที่เป็นที่พอใจ ทำให้หลายครั้งที่ผู้ปกครองคิดว่าโรงเรียนเพิกเฉย ไม่สนใจ กลัวเสียชื่อเสีย แต่อย่าปล่อยให้ความโกรธ และความคับข้องใจของคุณกับการกลั่นแกล้งส่งผลกระทบต่อวิธีปฏิบัติที่ออกมาทางคำพูด ท่าทาง การแสดงออกได้ เพราะจะกลายเป็นการผลักมิตรให้เป็นศัตรู
แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยในบางแง่มุมของสถานการณ์ ให้หาวิธีสร้างแนวร่วมคนอื่นที่เห็นด้วย และต้องการป้องกันการเปิดปัญหาการกลั่นแกล้งกัน หากไปเกิดกับเด็กคนอื่น จะทำให้ลูกของคุณได้รับการคุ้มครองจากการกลั่นแกล้งได้เร็วขึ้น อย่าเน้นเพียงแค่บทลงโทษผู้ที่กระทำกับลูกเท่านั้น แต่ให้เน้นว่าทางโรงเรียนตั้งใจ มีมาตราการอย่างไรที่จะให้เด็กปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุไม่ว่ากับใครก็ตาม
หยุดตำหนิ และวิพากษ์วิจารณ์ด้วยอารมณ์ด้านลบ
หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตำหนิโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว พึงระลึกไว้เสมอว่าแม้การดูแลนักเรียนจะเป็นหน้าที่หนึ่งของโรงเรียน แต่พฤติกรรมการ bully นั้นเป็นเรื่องนิสัยใจคอของแต่ละบุคคล แม้ว่าโรงเรียนจะมีหน้าที่ดูแลให้บุตรหลานของคุณปลอดภัยแต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่มากเกินไป ไม่สมเหตุสมผล จะทำให้การสนทนาหยุดชะงัก หากคุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ คุณก็เสี่ยงที่ครูใหญ่ และทางโรงเรียนจะเน้นตอบโต้ที่น้ำเสียง และคำพูดของคุณมากกว่าที่จะสนใจในประเด็นการหามาตราการป้องกัน และดูแลการเกิด bully ในโรงเรียน
เตรียมข้อมูลให้พร้อม
จดบันทึกสิ่งที่คุณต้องการจะพูด เนื่องจากการกลั่นแกล้งเป็นหัวข้อทางอารมณ์ มันง่ายที่จะฟุ้งซ่าน คุมอารมณ์ไม่อยู่ หรือลืมสิ่งที่คุณต้องการพูด ดังนั้น อย่าลืมจดประเด็นสำคัญที่คุณต้องการกล่าวถึงกับอาจารย์ใหญ่ วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ได้ดีแล้ว ยังทำให้เข้าใจในสถานการณ์ได้ดีขึ้น จากการเตรียมข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะในเด็กเล็กพ่อแม่ควรจะสืบถาม และหาข้อมูลให้ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริง จะได้แก้ไขได้อย่างตรงจุด
ยิ่งคุณสามารถให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์มากเกินไปเมื่อแบ่งปันรายละเอียด สิ่งสำคัญคือครูใหญ่ต้องได้ยินสิ่งที่คุณพูดและไม่ถูกรบกวนจากการเผชิญหน้าทางอารมณ์
ฟังมุมมองของทางโรงเรียนอย่างใจเย็น
แม้การรับฟังสิ่งที่คุณต้องการจะทำจริงๆ กับสิ่งที่ทำได้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ตรงกันเพียงใดก็ตาม แต่ถ้ามันจะเป็นประโยชน์ต่อลูกของคุณ และเด็กอื่น ๆ ในระยะยาว ที่จะป้องกันก่อนเกิดเหตุก็ควรทำใจยอมรับ และหากข้อมูลที่ทางโรงเรียนได้รับมาไม่ตรงกับที่ลูกบอกคุณ โปรดถามคำถามให้เคลียร์ แต่พยายามทำอย่างให้เกียรติ เป้าหมายคือทั้งคุณและโรงเรียนสามารถหาจุดร่วมเกี่ยวกับสถานการณ์ได้
ถามเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไป
เมื่อการประชุม ปรึกษาหารือของคุณกับทางโรงเรียนได้ข้อสรุป จะต้องมีกำหนดขั้นตอนการแก้ปัญหาก่อนหลังอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น จะทำการพูดคุยหาข้อมูลกับเด็กทั้งสองฝ่ายก่อน หรือย้ายห้องให้ลูกชั่วคราว เป็นต้น จำไว้ว่าเป้าหมายคือให้ลูกของคุณได้รับการคุ้มครอง อย่ากลับไปโดยไม่เข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หรือไม่สามารถสรุปได้ว่าทางโรงเรียนจะทำอย่างไรต่อไป เพียงแค่รับฟังแต่ไร้มาตราการ
ในขณะเดียวกัน อย่าคาดหวังที่จะเห็นมาตราการการลงโทษเด็กที่กลั่นแกล้งผู้อื่น ข้อมูลประเภทนี้มักจะถูกเก็บเป็นความลับเนื่องจากเกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ ยิ่งไปกว่านั้น คุณไม่ควรให้ความสำคัญกับการได้รับความยุติธรรมจากการเห็นการลงโทษ แต่ให้มุ่งเน้นไปที่การรักษา และการป้องกันของลูกคุณแทน อย่าลืมบันทึกสิ่งที่พูด วันที่ เวลา และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
กำหนดเวลาติดตามผล
หลายครั้ง การกลั่นแกล้งจะไม่สิ้นสุดในทันที ที่จริงแล้ว เมื่อคุณแจ้งความ หรือดำเนินการใด ๆ แล้ว การกลั่นแกล้งอาจรุนแรงขึ้น และแย่ลงไปอีก เตรียมพร้อมสำหรับสิ่งนี้ และเปิดช่องทางการสื่อสารกับลูกของคุณ คอยซักถาม และสังเกตพฤติกรรมลูกว่าเหตุการณ์ดีขึ้น หรือเลวร้ายลง นอกจากนี้ในข้อสรุปที่ได้ปรึกษาไว้กับทางโรงเรียน พ่อแม่ควรให้ทางโรงเรียนร่วมกันกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่า ภายในกี่วันที่เราน่าจะเห็นผล และในระยะยาวเฝ้าติดตามว่าการกลั่นแกล้งนั้นจบลงจริง ๆ ด้วยวิธีนี้ คุณสามารถที่จะกลับไปสอบถามสถานะของสถานการณ์ และค้นหาว่าโรงเรียนกำลังทำอะไรเพื่อยุติการกลั่นแกล้งได้อย่างไม่ดูเป็นการจุกจิก น่ารำคาญมากเกินไป คุณยังสามารถแชร์ว่าลูกของคุณเป็นอย่างไร มีอาการดีขึ้นไหม และจะปรับเปลี่ยน ปรับปรุงแผนที่โรงเรียนได้วางไว้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่แท้จริงอย่างไรอีกด้วย
การจัดการกับสถานการณ์การกลั่นแกล้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เพื่อประโยชน์ และความปลอดภัยของลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่จะเข้ามาช่วยเหลือ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าทำไปโดยพละการ ต้องแน่ใจว่าลูกของคุณต้องการความช่วยเหลือจากคุณขนาดไหน บางครั้งเด็ก ๆ ก็อยากพยายามจัดการ แก้ไขสถานการณ์ของเขาด้วยตัวเองก่อน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะช่วยจัดการกับการกลั่นแกล้งนี้อย่างไร ควรปรึกษา และรับฟังความเห็นของลูก รวมทั้งบอกกล่าวลูกก่อนที่จะทำอะไรลงไป อย่ารีบเร่งที่จะพูดคุยกับครู หรือโรงเรียนก่อน โดยไม่ถามความต้องการ และความเห็นของลูกก่อน เป็นการดีที่สุดเสมอหากคุณก้าวไปตามจังหวะของพวกเขา เพราะบางทีมุมมองของผู้ใหญ่ก็ไม่อาจใช้ได้กับเด็กเสมอไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.verywellfamily.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่