เมื่อคุณแม่ญี่ปุ่นสุดเฟี้ยวช่วยลูกแก้ปัญหาการถูก bully ที่โรงเรียนด้วยวิธีน่ารัก ๆ แต่สามารถเอาชนะพฤติกรรมไม่น่ารักของคนชอบแกล้งได้อย่างไรต้องลองติดตาม
เมื่อลูกถูก bully ลองใช้เทคนิคสุดเฟี้ยวฉบับแม่ญี่ปุ่นกัน!!
วันหนึ่งได้บังเอิญไปอ่านเจอเรื่องราวสุดน่ารักของคู่แม่ลูกในเพจ ๆ หนึ่งที่ได้เล่าเรื่องราวสุดประทับใจของครอบครัวชาวญี่ปุ่น ประเทศที่รู้กันดีว่ามีการ bully กันในโรงเรียนมากเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว ในเรื่องราวนั้นได้เล่าถึงวิธีการของคุณแม่ที่ฟังแล้วดูจะประหลาดใจในวิธีการแหวกแนวอยู่เสียหน่อย จนแทบไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีพ่อแม่คนไหนที่จะใช้วิธีการแบบนี้ และยังบอกกล่าวถึงความรู้สึกของลูกที่มีต่อวิธีการดังกล่าวอีกด้วย เราลองไปดูกันว่าจะเป็นแบบไหนกันเลยดีกว่า
คุณแม่สุดเฟี้ยว พาลูก (ที่ถูกกลั่นแกล้ง) โดดเรียนไปเที่ยวผู้ใช้ทวิตเตอร์ @niwakasennpei01 เด็กที่เจอการถูกกลั่นแกล้ง มาเล่าว่า—————-ผมถูกแกล้งที่โรงเรียน เลือดไหลกลับบ้าน วันต่อมาผมรวบรวมความกล้าบอกแม่ออกไปว่า “ไม่อยากไปโรงเรียน…”พอแม่ได้ยิน ก็ตอบว่า “จริงอะ?! งั้นไปดูหนังกัน!!” แม่พาไปดูหนัง กินแมคโดนัลด์ ซื้อหนังสือ และซื้อของมากมายแม่พูดขึ้นว่า “ได้เที่ยวเล่นแบบนี้ สนุกเนอะ” ผมฟังแล้วก็รู้สึกว่า ผมสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แล้วเวลาเจอเรื่องร้ายๆ เรารับมือกับมันได้หลายวิธี จะหนีก็ได้ จะหาใครสักคนพึ่งพาก็ได้ และถ้าจะต้องพึ่งพาใครก็ต้องพึ่งพาคนที่แข็งแกร่ง ในท้ายที่สุดคนที่มีแรงสู้ก็จะชนะ นั่นคือสิ่งสำคัญในชีวิตที่ผมได้เรียนรู้ผมหยุดเรียน 2-3 วัน ในช่วงเวลานั้น แม่ได้พูดคุยกับผมแบบ “ผู้ใหญ่” ว่าจะแก้ปัญหาที่โรงเรียนอย่างไร ข้อดีข้อเสียของการไปโรงเรียนคืออะไร รวมถึงแผนชีวิตในอนาคต และเรื่องอื่นๆ เราคุยกันอย่างเป็นการเป็นงาน สุดท้ายแม่ก็ถามว่า “อะ แล้วจะเอาไงต่อ” ผมคิดคำนวณถึงสิ่งดีๆ ในชีวิตผม แล้วผมก็เลือกที่จะ ไปโรงเรียน ใครผ่านมาอ่านเรื่องนี้ อาจคิดว่าแม่ผมเป็นคนวิเศษ จริงๆ ไม่ใช่เลย เป็นคนร้ายกาจมาก ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับแม่ก็ดีอะนะ (ดีเพราะเรื่องนี้นี่แหละ)แต่เวลาทะเลาะกับแม่ ยังไงผมก็แพ้ทุกที เพราะแม่จะยกเรื่องหารายได้มาพูดเสมอ “แกหาเงินเลี้ยงตัวเองได้แล้วงั้นสิ หาได้เท่าไหร่กัน ไหนบอกมาซิ”—————-
เป็นเรื่องราวหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่บนโลกนี้คนเดียว ยังไงก็ยังมีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง คนที่มาคอมเมนต์ต่างเล่าเรื่องราวของตัวเอง มีทั้งคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ และคนที่เป็นลูก
- ลูกสาวถูกแกล้งตอนอยู่ประถม ลูกเครียดจนต้องพาไปหาหมอ วันนั้นเลยเลือกไปโรงพยาบาลที่อยู่ไกลๆ อยู่แถบที่มีทะเล หาหมอเสร็จก็พาลูกไปกินข้าว เดินชมใบไม้เปลี่ยนสี ภาพวิวของท้องฟ้าสีฟ้า ใบไม้สีส้มแดง และทะเล เราสองคนมองดูและพูดกันว่า สวยจัง แต่ในใจของฉันรู้สึกเจ็บปวดและเศร้า ฉันยังจำวันนั้นได้ดี
- ฉันก็เคยพูดออกไปว่าไม่อยากไปโรงเรียน แม่เข้ามากอดฉัน และบอกว่า ไม่ว่าอย่างไร แม่อยู่ข้างลูกเสมอ นั่นทำให้ฉันต่อสู้ผ่านพ้นมาได้ เพราะได้รู้ว่าฉันไม่ได้สู้เพียงลำพัง
- ลูกชายเคยถูกแกล้ง จนไม่ไปโรงเรียน ฉันเลยพาไปทะเล ไปช้อปปิ้งที่ห้างใหญ่ไกลๆ ไปกินสตาร์บัคส์ ลูกเล่าว่า พนักงานสตาร์บัคส์ ไม่ถามหรือแสดงท่าทางเป็นเชิงถามว่า “ไม่ไปโรงเรียนเหรอ” เลยแม้แต่นิดเดียว ทำให้รู้สึกว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย ลูกเลยกลายเป็นเด็กประถมที่ชอบไปร้านสตาร์บัคส์ไปซะงั้น
- ลูกชายของฉันเป็นเด็กที่เรียนเก่ง ตั้งใจเรียน แต่สนใจเรื่องรถไฟมาก เขาถูกแกล้งที่โรงเรียนเหมือนกัน ฉันเห็นกระเป๋าของลูกมีทรายเปื้อนบ้าง มีรอยเท้าบ้าง ฉันบอกลูกว่า เป็นคนที่เก่งเรื่องรถไฟที่สุดในญี่ปุ่นให้ได้นะ! ที่ผ่านมาไม่ว่าถามอะไรเกี่ยวกับรถไฟเขาก็รู้หมด วันนี้เขาได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เก่งมากๆ และทำฝันให้กลายเป็นจริงแล้ว เพราะทำงานในบริษัทรถไฟ JR
- ฉันเกลียดการไปโรงเรียน ฉันบอกพ่อว่าไม่อยากไป วันต่อมา พ่อหยุดงาน แล้วพาไปเที่ยว พ่อบอกว่า การหนีเป็นทางออกหนึ่ง ฉันยังจำได้ดี ว่าคำพูดนั้นทำให้ฉันรู้สึกหายกังวลไปเลย และทำให้ฉันสามารถใช้ชีวิตได้อย่างดีในตอนนี้
- ลูกสาวเคยบอกว่า ไม่อยากไปโรงเรียนตอน ม.3 เธอบอกและร้องไห้ “ถ้างั้นก็หยุด มาดู DVD ด้วยกันเถอะ” ฉันบอกและสั่งพิซซ่า ให้ลูกเล่นอยู่บ้านทั้งวัน ผ่านไป 3 วัน ลูกก็พูดขึ้นมาว่า “วันนี้จะไปโรงเรียน…..ขอบคุณนะคะที่ยอมให้หยุดอยู่บ้าน”
- การพูดคุยหาสาเหตุที่ถูกแกล้งและแก้ปัญหา เป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ก่อนอื่นเด็กคงต้องการที่จะได้ผ่อนคลาย อ่านแล้วก็นึกขึ้นมาได้เลย ฉันเองก็เคยทะเลาะกับเพื่อนและแบกความอึดอัดใจนั้นไว้ จนแม่พาโดดเรียนไปช้อปปิ้งในวันธรรมดาล่ะ
อ่านจากคอมเมนต์แล้วพบว่า เด็กญี่ปุ่นถูกแกล้งกันเยอะมากจริงๆ คนที่เจ็บปวดกว่าลูกคือพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่แต่ละคนต่างมีวิธีรับมือที่ต่างกันไป แต่ทุกคนล้วนทำให้ดีที่สุดเพื่อซัพพอร์ตลูกให้ผ่านพ้นเรื่องร้ายๆ ไปได้ ว่าแต่มีใครเคยโดดเรียนไปเที่ยวกับพ่อแม่บ้างขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก WA-Japan
จากหลากหลายประสบการณ์ข้างต้นที่ทางเพจต้นทางได้กรุณาแปลมาให้เราแม่ ๆ คนไทยได้รับฟังเรื่องราว และความคิดเห็นของเด็ก จะพบว่าเด็กส่วนมากกลับชอบใจ และรู้สึกดีกับวิธีการที่คุณแม่ญี่ปุ่นเหล่านั้น เลือกใช้วิธีง่าย ๆ เพียงแค่ปฎิบัติตัวโดยหลักการ คือการอยู่เคียงข้างลูก โดยไม่ได้ตัดสินถูกผิดต่อเหตุการณ์ที่ลูกได้เผชิญ แต่เป็นการอยู่เคียงข้าง รับฟัง และแสดงให้เห็นว่า “ไม่ว่าลูกจะเจอะเจอสิ่งใดมา มีแม่คนนี้คอยอยู่ใกล้ ๆ นอกจากไม่ไปไหนแล้ว ยังทำตัวเหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่เข้าใจ และคอยสนับสนุน และชี้แนะในการตัดสินแก้ปัญหาของลูก”
ปัญหาการ bully ในไทย
แล้วปัญหาการถูกแกล้งในโรงเรียนของเด็กไทยยังคงน่าไว้ใจ หรือละเลยหรือไม่นั้น เราลองมาดูสถิติของกรมสุขภาพจิต ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ในปี 2561 มีนักเรียนไทยโดยแกล้งในโรงเรียนสูงถึง 600,000 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 40% มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นทั้งระดับความรุนแรง และพฤติกรรมการ bully ก็เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกปีอีกด้วย นพ.กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการสูงพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพได้กล่าวให้ข้อคิดแก่พ่อแม่ไว้ว่า
“ในมุมของผู้ใหญ่เรามักคิดว่าการกลั่นแกล้งกันในเด็ก เป็นเรื่องเด็กเล่นกัน เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในมุมของเด็กที่ถูกบุลลี่ ถูกกระทำ ถูกกลั่นแกล้งในเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา เพราะเด็กต้องเจอปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทุก ๆ วัน เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กได้ในระยะยาว”
แม่คือเพื่อนที่ดีที่สุด
กระแสการเลี้ยงลูกโดยให้เขาได้รู้สึกว่า มีพ่อแม่เป็นเพื่อนนั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทกับครอบครัวสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ครอบครัวเป็นครอบครัวขนาดเล็ก นิยมมีลูกกันเพียงไม่กี่คน ทำให้การดูแลลูก การทุ่มเทเอาใจใส่นั้นทำได้ง่ายกว่าครอบครัวในสมัยก่อนมาก การที่พ่อแม่จะลองเลี้ยงดู ทำความเข้าใจกับลูกในแบบเพื่อนก็น่าจะเป็นวิธีการที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เหมือนดั่งวิธีการสุดเฟี้ยวของคุณแม่ญี่ปุ่นที่ยอมชวนลูกโดดเรียน ทำให้ลูกรู้สึกประหลาดใจ และรู้สึกอบอุ่นใจไม่น้อยเมื่อรู้ว่าเขาไม่ได้อยู่ลำพัง เหมือนดั่งที่เด็กคนหนึ่งกล่าวว่าแม่ทำให้เขารู้สึกมีที่พักใจ และมีกำลังใจพร้อมไปเผชิญปัญหาได้ เมื่อเวลาที่แม่ถามว่าจะทำยังไงต่อ เขาจึงเลือกที่จะไปโรงเรียนไปเผชิญกับปัญหาด้วยใจที่พร้อมเผชิญ ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่อย่างเรา ๆ อยากเห็นลูกสามารถจัดการปัญหาได้อย่างแข็งแกร่งด้วยตนเองใช่ไหมล่ะ
7 เช็กลิสต์ว่า…เราเป็นแม่แบบ “เพื่อนที่ดีที่สุดของลูก” หรือไม่
- ความสุขของลูกคือที่หนึ่ง หากคุณเป็นพ่อแม่ที่ตั้งเป้าหมายสูงสุดให้ลูกด้วย ขอแค่เห็นเขาความสุข แล้วละก็ไม่ว่าเขาจะเดินตามทางที่คุณวางต้องการหรือไม่นั้น ก็คงไม่เกิดปัญหากระทบความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกเป็นแน่ เพราะเราคงจะสนับสนุน และคอยเป็นที่ปรึกษาให้แก่แนวทางที่ลูกเลือก ซึ่งย่อมเป็นแนวทางที่เขามีความสุขเป็นแน่
- คอยรับฟังปัญหา และเรื่องราวของลูกอย่างตั้งใจ ในบางครั้งเราอาจจะพลั้งเผลอไม่ทันระวังเวลาที่ลูกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เจอในโรงเรียนโดยเฉพาะวัยเด็ก เพราะมัวแต่ยุ่งภาระกิจของตนเอง ทำให้ลูกไม่รับรู้ว่าพ่อแม่เป็นผู้รับฟังที่ดี เมื่อถึงเวลามีปัญหาเราจึงไม่ใช่คนแรกที่เขานึกถึง ดังนั้นจึงควรรับฟังเวลาลูกเล่าเรื่องราวไม่ว่าดีหรือร้ายอย่างตั้งใจ
- ให้ลูกร่วมตัดสินใจในปัญหาบ้างหรือไม่ หากเราจะยึดให้ตนเองเป็นแบบเพื่อนของลูก ดังนั้นลูกจึงไม่ใช่เพียงแค่ผู้รับฟัง และทำตามคำสั่ง คำแนะนำของพ่อแม่เท่านั้น แต่หากว่าเป็นเพื่อนกันก็ย่อมต้องร่วมกันแก้ปัญหา รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของลูกได้ด้วยเช่นกัน
- ยึดมั่นในความเป็นจริงเสมอ ไม่โกหกลูก เพื่อให้เขาไว้ใจว่าพ่อแม่จะไม่หลอกลวงเขา ซึ่งพ่อแม่ย่อมรู้ดีว่าควรพูดอะไร และรู้แม้กระทั่งว่าบางทีไม่ควรพูดอะไร ไม่พูดแต่ไม่โกหก นั่นคือหลักการ
- ลูกรับรู้ได้ว่าคุณรักเขา แม้ในยามที่เขาไม่รักตัวเองก็ตาม ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่พร้อมอยู่เคียงข้างไม่ว่าสุข หรือทุกข์ ช่วงเวลาที่ดี หรือช่วงเวลาที่เลวร้าย ให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถเห็นคุณได้เสมอเมื่อเขามองมา แล้วพอเจอปัญหาเขาจะรู้สึกอุ่นใจ และเข้ามาปรึกษาเราเอง ดีกว่าที่จะให้ลูกไปปรึกษากับคนอื่นที่พ่อแม่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาหวังดีกับลูกจริงหรือไม่
- สนุกไปพร้อมกับลูกได้ทุกรูปแบบ ข้อนี้อาจฟังดูเหมือนง่าย แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องลำบากใจสำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ อยู่เหมือนกันที่อาจจะต้องเข้าไปเรียนรู้โลกของลูกว่าเขาชอบ สนใจสิ่งใด เพื่อที่เราจะได้พูดคุยภาษาเดียวกันกับเขาได้บ้าง จะได้สนุกไปพร้อมกัน
- ลดทิฐิลง เด็กก็ย่อมคือเด็กวันยังค่ำ ในบ้างครั้งที่มีเรื่องผิดใจกัน ด้วยความเป็นเด็ก ลูกอาจไม่กล้าที่จะเป็นฝ่ายเขาหาเพื่อกล่าวขอโทษก่อน หรือเขาอาจจะไม่เข้าใจในความโกรธของพ่อแม่ว่าเขาทำผิดอะไร หากเราสามารถลดทิฐิลง เป็นฝ่ายเขาไปพูดคุยกับลูกด้วยใจที่สงบลง แล้วค่อย ๆ คุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกันด้วยเหตุผล อธิบายเป็นข้อ ๆ หากจำเป็นก็ช่วยให้ไม่เกิดรอยแผลในใจของทั้งสองฝ่าย
บางครั้งลูกก็ไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่มาแก้ปัญหาของเขาเสมอไป เขาอาจต้องการเพียงแค่คนที่เข้าใจ เป็นที่พักพิงใจ และคอยให้กำลังใจ เป็นแรงสนับสนุนเขาเมื่อยามที่เขาอ่อนแอให้มีแรง พลังเพื่อไปต่อ ใครจะไปนึกว่าเพียงแค่แม่พาโดดเรียน ไปเที่ยวเล่นด้วยกันจะสามารถเพิ่มพลังใจให้แก่ลูกในการแก้ปัญหาการโดนแกล้งในโรงเรียนได้ล่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก fininlove.com/ today.line.me
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ส่งลูก เรียนอนุบาล แต่พ่อแม่ไม่อยากให้รร. “เร่งอ่านเขียน” จะทำอย่างไรดี?
หมอเด็กแนะ 3 เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน ให้ลูกยอมเปิดใจ
3 วิธีดูแลและรับมือ เมื่อ ลูกถูกทำร้าย (ทั้งร่างกาย-จิตใจ) พ่อแม่คือคนสำคัญ!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่