โรคหลงตัวเอง บุคลิกภาพที่พ่อแม่สร้างสู่อาการทางจิต - Amarin Baby & Kids

โรคหลงตัวเอง บุคลิกภาพที่พ่อแม่สร้างสู่อาการทางจิต

Alternative Textaccount_circle
event

โรคหลงตัวเอง บุคลิภาพที่ส่งผลต่อความสุขในการดำเนินชีวิต จากแค่นิสัยอาจกลายมาเป็นปัญหาทางจิต ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูก่อนสาย อย่าให้ความรักทำให้ลูกทุกข์ใจ

โรคหลงตัวเอง บุคลิกภาพที่พ่อแม่สร้างสู่อาการทางจิต!!

บุคลิกภาพ ของแต่ละคนจะเป็นสิ่งประจำตัวของคนคนนั้น ที่ทำให้แตกต่างจาก คนอื่น และมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่จะประกอบกัน ทำให้คนแต่ละคนมี บุคลิกภาพ เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจาก การทำงานประสานกันของ สมอง ที่ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และประสบการณ์ ที่ได้รับจาก สิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดู

ฟิลลิป จี.ซิมบาร์โด และฟลอยด์ แอล.รูช (Zimbardo and Ruch 1980:292) อธิบายว่า บุคลิกภาพ เป็นผลรวมของลักษณะ เชิงจิตวิทยาของบุคคล แต่ละคน มีผลต่อการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมหลากหลายของบุคคลนั้น ทั้งส่วนที่เป็นลักษณะภายนอก ที่สังเกตได้ง่ายและพฤติกรรมภายในที่สังเกตได้ยาก ลักษณะที่หลากหลายดังกล่าว ส่งผลให้บุคคลแสดงออก ต่างกันใน แต่ละสถานการณ์ และช่วงเวลา

ที่มา : www.digitalschool.club
โรคหลงตัวเอง สามารถทำให้ลูกเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้
โรคหลงตัวเอง สามารถทำให้ลูกเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้

บุคลิกภาพที่ผิดปกติ!!

โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)

คือ โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีลักษณะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องการการยกยอชื่นชม และขาดความเห็นใจผู้อื่น มักหมกมุ่นอยู่กับการโอ้อวดตัวตนของตัวเอง เช่น ความสำเร็จ รูปร่างหน้าตา หรือฐานะทางการเงิน เชื่อว่าตัวเองนั้นเหนือกว่าผู้อื่น รวมทั้งมักคบค้าสมาคมกับบุคคลที่เห็นว่ามีความพิเศษหรือสำคัญมาก การกระทำดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและเคารพนับถือตัวเองให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มีความนับถือตัวเองต่ำ ไม่สามารถทนการวิพากษ์วิจารณ์ได้ และมักอับอายหรือรู้สึกอ้างว้างเมื่อถูกปฏิเสธหรือได้รับการวิจารณ์ข้อเสียของตัวเอง

อาการของโรคหลงตัวเอง

ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคหลงตัวเองจะปรากฏสัญญาณหรือพฤติกรรมของโรค 5 ลักษณะ หรือมากกว่านั้น ดังนี้

  • มักยึดตัวเองเป็นสำคัญมากเกินไป เช่น หวังว่าผู้อื่นจะเห็นว่าตัวเองพิเศษหรือเหนือกว่าในด้านต่าง ๆ
  • มักหมกหมุ่นกับการคิดถึงความสำเร็จ อำนาจ ความร่ำรวย ความงาม หรือความรักในอุดมคติของตัวเอง
  • เชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และบุคคลที่มีความพิเศษหรือสถานะทางสังคมที่สูงเทียบเท่ากันเท่านั้นถึงจะเข้าใจตน
  • ต้องการความสนใจ การยอมรับ และความชื่นชมจากผู้อื่น
  • คิดว่าสมควรได้รับอภิสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างไม่มีเหตุผล
  • แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
  • ขาดความเห็นใจและนึกถึงผู้อื่น
  • มักริษยาผู้อื่น หรือเชื่อว่าคนรอบข้างอิจฉาตนเอง
  • มีความคิดหรือพฤติกรรมที่เย่อหยิ่ง จองหอง
ที่มา : www.pobpad.com

ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก Rama Square  ให้ความรู้โดย รศ. พญ.สุวรรณี พุทธิศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เลี้ยงลูกอย่างไร ทำให้ลูกเป็นเด็กที่หลงตัวเอง??

พัฒนาการทางด้านจิตใจ หรือพัฒนาการทางบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลนั้น จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จะเรียนรู้ เติบโต พัฒนาการไปตามแต่ละช่วงวัย  การสร้างบุคลิกภาพเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีจิตใจปกติ สามารถมีความสุข มีความรับผิดชอบ ปรับตัวได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ พัฒนาการที่ดีต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางชีวภาพของเด็ก กับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา

พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก จึงมีความสำคัญ และมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทตนเองที่ส่งผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็ก เพราะจะช่วยป้องกันปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือหากว่าพ่อแม่สังเกตได้ว่าลูกมีความเบี่ยงเบน พบสัญญาณของปัญหาต่อบุคลิกภาพ ก็จะได้รีบแก้ไข หรือขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เด็ก หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญต่อไปได้

สังเกตอาการลูกมีความเสี่ยงเป็น โรคหลงตัวเอง หรือไม่??

  • ต้องการความสนใจมากเป็นพิเศษ แต่เมื่อได้รับแล้วกลับไม่รู้สึกปลาบปลื้ม หรือขอบคุณกับความรักที่ได้รับมา รู้สึกความรักนั้นไม่เพียงพอ
  • มีความคาดหวังกับตัวเองสูง เมื่อทำอะไรผิดพลาดจะรู้สึกแย่ และรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง ลดทอนคุณค่าของตัวเอง ไม่สามารถปรับตัวให้ยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่จะแสดงออกมาเป็นอาการโมโห เกรี้ยวกราด และหากต้องเผชิญกับความผิดหวังบ่อยครั้ง อาจนำไปสู่อาการของโรคซึมเศร้าได้ เพราะไม่สามารถยอมรับตัวเองได้
  • ไม่ชอบเล่นบทบาทสมมติ ตามปกติในวัยเด็กเล็กมักจะชื่นชอบต่อการเล่นบทบาทสมมติเป็นตัวฮีโร่ที่ตนเองชื่นชอบ แต่เด็กที่มีบุคลิกหลงตัวเองนั้น มักจะไม่เล่นบทบาทสมมติเป็นตัวละครอื่น แต่จะจินตนาการว่าตัวเองพิเศษ เหนือกว่าคนอื่น และจะรู้สึกอิจฉา จนอาจไปทำลายความสำเร็จของเพื่อนได้ เมื่อเห็นใครได้รับการยอมรับมากกว่า เช่น หากเห็นเพื่อนต่อบล็อกได้สูงกว่า หรือครูชมว่าของเพื่อนสวย แต่ไม่ได้รับคำชมบ้าง อาจไปทำลายบล็อกของเพื่อน เป็นต้น
  • มีเพื่อนน้อย เพราะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อคนรอบข้าง ไม่ฟังใคร ชอบออกคำสั่งมากกว่ารับฟังความเห็นผู้อื่น เพื่อนจึงไม่ค่อยเล่นด้วย
ต้องพยายามเป็นที่หนึ่งตลอด อาการ โรคหลงตัวเอง
ต้องพยายามเป็นที่หนึ่งตลอด อาการ โรคหลงตัวเอง

ครอบครัวแบบไหนเสี่ยงต่อการเกิดบุคลิกภาพหลงตัวเอง

ครอบครัวที่ชื่นชมแต่ผลสำเร็จ ชอบแข่งขัน

พ่อแม่บางคนอาจทำไปโดยไม่ตั้งใจ หรือไม่ทันระวัง กับพฤติกรรมการชมเชย ชื่นชม สนใจ หรือแสดงความรักเมื่อลูกได้รับรางวัล หรือทำอะไรบางอย่างสำเร็จเท่านั้น โดยลืมไปว่าความเป็นจริงแล้ว พ่อแม่ควรชื่นชมในความตั้งใจ การกระทำของลูกมากกว่า และมักพบว่าครอบครัวแบบนี้มักมี พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง เป็น โรคหลงตัวเอง เช่นกัน จึงมักจะกระตุ้นให้ลูก แสดงศักยภาพที่สูงที่สุด ดีที่สุด เพราะพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตัวเองก็ต้องการความเป็นที่หนึ่งเช่นกัน

เด็กเหล่านี้ จะได้รับความสนใจ หรือ ความรัก อย่างมีเงื่อนไข เช่น สอบได้ที่หนึ่ง ได้คะแนนดี ได้รางวัลต่าง ๆ จากโรงเรียน และเมื่อทำได้ พวกเขาก็จะได้รับคำชื่นชมยินดีอย่างมาก แต่เมื่อไรก็ตาม ที่เราไม่ได้รับรางวัลใด ๆ เด็กเหล่านั้นก็จะรู้สึกผิดหวัง และไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด ก็ไม่เคยสิ้นสุด ความกดดัน ที่จะต้องทำให้ดีขึ้นยังคงอยู่

สิ่งแวดล้อมทำให้เขารู้สึกว่า เขาจะไม่ได้รับความรัก และ ความสนใจ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ แทนที่พวกเขาจะมีความสุขในสิ่งที่ทำ พวกเขาวิ่งตามหาความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมเรื่อยๆ พ่อกับแม่ของพวกเขา ไม่ได้สนับสนุนในสิ่งที่เขาชอบ โดยไม่มีเงื่อนไข พวกเขาจะได้รับการสนับสนุน หรือ ชื่นชม ก็ต่อเมื่อเป็นความสำเร็จที่ครอบครัวยอมรับ ทำให้ครอบครัวดูดี เพื่อที่พ่อกับแม่ จะได้ไปคุยกับคนอื่น ถึงความสำเร็จของลูกได้

ครอบครัวที่ชอบเปรียบเทียบ
พ่อแม่ที่นำลูกไปเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับคนอื่น ญาติสนิทมิตรสหาย หรือเปรียบเทียบกับพี่น้องกันเองก็ตาม โดยความมุ่งหวังว่าเด็กจะได้มีแรงผลักดัน และมีตัวอย่างที่จะดำเนินรอยตาม แต่รู้หรือไม่ว่า การเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่า ดีกว่า จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออยู่เสมอ เด็กมักมีอารมณ์โกรธ อับอาย และรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออยู่เสมอ ๆ ทำให้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แตกต่างกันไป โดยอาจแบ่งได้ดังนี้
  • แสดงออกเป็นเด็กขี้แพ้

เมื่อลูกถูกเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่าบ่อยครั้ง จะทำให้เขารู้สึกว่า ตัวเองไม่ดีพอ ไม่มีทางทำได้ ทำให้รู้สึกไม่ชอบตัวเอง มีอาการของโรคซึมเศร้า และวิธีการที่เด็กกลุ่มนี้จะใช้ในการหนีความเจ็บปวด ได้แก่ การเสพติดบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด เหล้า บุหรี เกมส์ เป็นต้น ชีวิตของเด็กที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ด้วยการคิดว่า พวกเขาไม่มีความสามารถมากพอ จึงยอมแพ้ตั้งแต่ต้น

เมื่อไม่เป็นที่หนึ่ง จะผิดหวังรุนแรง ไม่สามารถปรับตัวได้
เมื่อไม่เป็นที่หนึ่ง จะผิดหวังรุนแรง ไม่สามารถปรับตัวได้
  • เด็กต่อต้าน

เด็กบางคนจะแสดงออกมาในรูปแบบต่อต้าน โกรธที่พ่อแม่มองไม่เห็นคุณค่า หากมีเหตุการณ์ใดก็ตามที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ถูกกระทำคล้าย ๆ กับที่พ่อกับแม่ทำกับเขา พวกเขาก็จะระบายความโกรธอย่างรุนแรงกับคนเหล่านั้น พวกเขาชอบที่จะทำลาย ทำร้ายคน

ครอบครัวที่ปกป้องมากเกินไป
พ่อแม่ที่ปกป้องลูก ย่อมเป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นการปกป้องที่ทำให้ลูกหมดทุกอย่าง ตามใจ ลูกไม่เคยผิด การชื่นชมลูกมากจนเกินความเป็นจริง ผลที่ได้ในทางกลับกันจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับลูก ทำให้เขารู้สึกว่า เขาจะไม่ได้ความรัก ถ้าพวกเขาไม่เป็นอย่างที่พ่อแม่ชื่นชม

เด็กที่ต้องพยายามทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้รับความรัก และ ความสนใจ ทำให้พวกเขาไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเอง ชอบ หรือ ไม่ชอบอะไร หรือ มีความสุขอย่างแท้จริงกับการทำอะไร เพราะพวกเขาพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะได้รับการยอมรับจากพ่อกับแม่

ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองอย่างแท้จริง (proper narcissist) มองภายนอกอาจดูเข้มแข็ง ไม่กลัวสิ่งใด ยึดถือภูมิใจในตนเอง แต่ความเป็นจริงกลับมีความรู้สึกผิดในเบื้องลึกของจิตใจ ทั้งยังนับถือตนเองต่ำ จึงแสดงการโอ้อวดตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ และสถานะทางสังคม

รักโดยไม่มีเงื่อนไข ช่วยได้
รักโดยไม่มีเงื่อนไข ช่วยได้

ดังนั้นผู้คนรอบข้างจึงควรทำความเข้าใจ โดยเฉพาะพ่อแม่สามารถปรับพฤติกรรม และความรู้สึกของลูกได้ด้วยการมอบความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขให้กับลูก อย่านำความรักที่ให้ไปผูกติดกับความสำเร็จ หรือการเป็นที่หนึ่ง ทำให้ลูกรับรู้ได้ว่าเรารักเขาที่เป็นตัวเขาเอง ให้ลูกค่อย ๆ ปรับความคิด และจะได้ไม่ต้องไขว้คว้าแสวงหาแต่การเป็นที่หนึ่งอยู่ตลอดเวลา จะทำให้การดำเนินชีวิตของลูกตลอดชีวิตพบแต่ความเหนื่อยใจ ไม่เต็มเติมเสียที จนอาจนำพาไปสู่อาการทางจิตที่รุนแรงขึ้นได้

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.istrong.co /www.bbc.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

อาการลองโควิด กระทบ 6 อวัยวะภายใน ดูแลยังไง

แก้ปัญหาลูกติดมือถือ ง่ายๆ ด้วย คู่มือตารางเวลา จากกรมสุขภาพจิต

120 ชื่ออังกฤษ สำหรับลูกสาว ลูกชาย เพราะๆ เก๋ๆ

ควร กินอะไรเสริมภูมิ บรรเทาอาการลูกน้อยจากลองโควิด

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up