ความกังวลหนึ่งเมื่อทราบว่าพ่อแม่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้อง กักตัว 14 วัน นั่นคือ ใครจะดูแลลูก จะบอกลูกดีไหม และจะบอกยังไง มาฟังกันหมอเด็กมีคำแนะนำดี ๆ ให้
หมอเด็กแนะ!! พ่อแม่ต้อง กักตัว 14 วัน จะบอกลูกยังไงดี?
เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเริ่มรุนแรง จนเข้าใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที การศึกษาวิธีการปฎิบัติตัวต่อเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตัวอย่างไรให้ห่างไกลการติดเชื้อ การดูแลรักษาตนเอง และคนใกล้ชิดอย่างถูกวิธี ล้วนเป็นหน้าที่ ที่เราพ่อแม่ต้องดูแลทุกคนในครอบครัวโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และเด็ก นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรทำการศึกษาไว้ก่อนล่วงหน้า หากคุณพ่อคุณแม่เกิดโชคร้ายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อจนอาจเป็นโรค COVID-19 ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการการกักตัว 14 วัน (Quarantine) แล้วเราควรทำตัวอย่างไร รวมถึงสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ห่วงที่สุดนั่นคือ ลูกจะอยู่อย่างไร เมื่อไม่ได้สามารถใกล้ชิดเขาได้ ใครจะเป็นคนเลี้ยงลูก และมีวิธีอย่างไรที่จะบอกให้ลูกรับทราบแบบไม่ให้เขาต้องกระทบกระเทือนจิตใจ วิธีปฎิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อต้องกักตัวทาง ทีมแม่ ABK ได้หาคำตอบมาฝากกันเพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้มีแนวทางปฎิบัติตัวเมื่อจำเป็น ไม่กระทันหันจนเกินไป

กักตัวคืออะไร
การกักตัว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Quarantine” ซึ่งแปลว่า กักบริเวณ, กักตัว โดยคำ ๆ นี้มีการปรากฏใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ที่มีการระบาดของกาฬโรค การกักตัวนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะการฟักตัวของโรค ผู้ที่มีความเสี่ยง COVID-19 จะต้องกัก หรือแยกตนเองออกจากชุมชนเป็นเวลา 14 วัน แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อยจะต้องกักเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น และยังเป็นการสังเกตอาการตนเองก่อนเข้าพบแพทย์อีกด้วย
ใครบ้างเข้าข่ายต้องกักตัว
แน่นอนอยู่แล้วว่าผู้ที่มีความเสี่ยงจะต้องกักตนเอง คือ ผู้ที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยมาก่อน หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เดินทางโดยใช้พาหนะเดียวกัน และผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของโรค
ถ้ามาจากพื้นที่เสี่ยง กักตัวเองในบ้านได้ไหม
การกักตัวเองในปัจจุบันถือได้ว่ามีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะอยู่บ้าน ก็ยังสามารถติดต่อโรคภายนอกได้อยู่ผ่านทาง Social ต่าง ๆ และอาจไม่จำเป็นต้องออกไปหาอาหารทานข้างนอกเนื่องจากในยุคนี้สามารถสั่งอาหารได้แม้อยู่ในบ้าน เมื่อความเป็นอยู่เหมือนจะไม่ใช่ปัญหาของการกักตนเองแล้ว เราจึงต้องมาเรียนรู้ต่อว่าเมื่อเรากักตนเองจะมีข้อปฏิบัติอย่างไรบ้าง

- แยกห้องนอนและห้องน้ำ ควรแยกการใช้ห้องนอน และห้องน้ำเพื่อป้องกันตัวเราเอง และลูกน้อย รวมถึงคนในครอบครัว ควรรักษาระยะห่างหากต้องอาศัยอยู่ร่วมกันระยะประมาณ 2 เมตร นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นด้วย
- ทำความสะอาดเสื้อผ้าและเครื่องนอน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนควรใช้น้ำยาในการทำความสะอาด หรือเลือกใช้แอลกอฮอล์ประมาณ 70 %ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้
- ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม หากใช้มือปิดควรล้างมือทุกครั้งเพื่อความสะอาด แต่หากใช้วัสดุปิด เช่น กระดาษทิชชู เป็นต้น ให้นำไปทิ้งในถุงขยะแล้วปิดปากถุงให้แน่นหนา
- คอยสังเกตอาการของตนเอง คอยวัดไข้ของตนเองทุกวันหากมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป ประกอบกับมีอาการไข้ และมีปัญหาทางเดินหายใจควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจต่อไป
- สวมหน้ากากอนามัย ถึงแม้ว่าจะอยู่ในบ้านของตัวเราเอง แต่เชื้อโรคอาจติดมากับผู้อื่น การใส่หน้ากากอนามัยจึงเป็นแนวทางการป้องกันที่ดีทางหนึ่ง
- รักษาระยะห่าง ระหว่างคนในบ้านประมาณ 2 เมตร
การกักตัว 14 วัน อยู่ในบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำหากเรารู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง และสงสัยว่าคุณพ่อคุณ แม่ติดโควิด-19 หรือไม่ การกักตัวเองในบ้านไว้ก่อนก็เป็นอีกทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไปสู่ลูก หรือบุคคลอื่นในบ้านได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.petcharavejhospital.com
Self-Quarantine กักตัวเองแล้วใครเลี้ยงลูก
จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในกรณีที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต้องทำ self-quarantine เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อ วันนี้ทีมแม่ ABK ได้นำคำแนะนำจากคุณหมอ พญ. ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว สาขาจิตเวชศาสตร์ จากรพ.สมิติเวช คุณหมอมีคำแนะนำดี ๆ มาฝากพ่อแม่ในการพูดคุยเรื่องนี้กับลูก ๆ เพื่อให้ลูกหลานของเราอยู่ได้ในระยะเวลาดังกล่าวกัน
วิธีอธิบายเรื่องการระบาดของโรค COVID-19 ให้ลูกฟัง
ก่อนจะ กักตัว 14 วัน ให้พูดอธิบายเหตุผลให้ลูกรับรู้ และเข้าใจโดยเนื้อหาการพูด ให้พิจารณาตามช่วงวัยของเด็กว่าเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต
- เด็กเล็กวัยก่อนวัยเรียน วัยอนุบาล ให้พ่อแม่พูดอธิบายสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า พ่อแม่อาจจะติดเชื้อโรคหวัด (อ้างถึงโรคที่ลูกเข้าใจได้ง่าย ๆ เช่น โรคหวัด เป็นโรคที่เด็กเคยเป็นกันมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เขาเข้าใจได้ง่ายกว่า และรับรู้ว่าเป็นแล้วก็หายได้ เหมือนที่ผ่าน ๆ มา โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดของโรคลงไปลึก ละเอียดเกินไปนัก) และพ่อแม่ต้องอยู่ห่างจากลูก และคนในครอบครัว 14 วัน เพื่อให้ทุกคนในบ้านปลอดภัย ไม่ต้องมีใครติดเชื้อจากพ่อแม่ได้
- เด็กโต วัยเรียน วัยรุ่น พ่อแม่สามารถพูดอธิบายถึงเหตุผลของการทำ self-quarantine ได้มากกว่านี้และบอกด้วยว่าสิ่งที่ทำอยู่คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม ถือเป็นตัวอย่างของการทำความดีต่อตัวเอง และผู้อื่น จะได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกได้อีกด้วย
เมื่อพ่อแม่ต้อง กักตัว 14 วัน ควรทำอย่างไรดี
ท่าทีของพ่อแม่สำคัญมาก อย่าแสดงสีหน้าท่าทางกังวลหรือเศร้าหมองมากจนเกินไป ให้บอกตัวเอง และลูกอย่างมั่นใจว่าการกักตัวเองแบบที่กำลังทำอยู่นี้เป็นการกระทำที่ดี และเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ในบางครั้งคนเราต้องอดทนอดกลั้นต่อความต้องการบางอย่าง ในที่นี้คือความต้องการของพ่อแม่ที่จะใกล้ชิด และดูแลลูก รวมถึงความต้องการของลูกที่จะเข้าหาพ่อแม่ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าในระยะยาว
ในกรณีทั่วไปเด็ก ๆ จะสามารถปรับตัวใช้ชีวิตอยู่กับการกักตัว 14 วัน ของพ่อแม่โดยที่มีผู้ใหญ่ใกล้ชิดคอยดูแลไปได้อย่างดีโดยที่ไม่มีปัญหาทางจิตใจ หรืออารมณ์กระทบกระเทือนจิตใจอะไร เพราะเป็นเพียงการแยกจากกันในระยะสั้น ๆ เมื่อพ่อแม่กลับจากกการกักตัว ครอบครัวก็อยู่ด้วยกันอย่างปกติได้เช่นเดิม
หาผู้ช่วยดูแลลูก แต่ต้องไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง
ในระหว่างนี้ถ้ามีผู้ใหญ่ใกล้ชิด เช่น คุณน้าคุณอา หรือคนที่คุณพ่อคุณแม่ไว้ใจสามารถมอบหมายให้อยู่ดูแลเด็ก ๆ แทนพ่อแม่ได้ ส่วนคุณลุงคุณป้า คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว กลุ่มนี้อาจต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ๆ เพราะผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่อายุ 70 ปีขึ้นไป หรือ กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการรุนแรงมากหากติดเชื้อขึ้นมา หากในระหว่างการกักตัวป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา ป้องกันการเกิดโรคโควิด-19 นี้ ถ้าเราคิดถึงกันเราก็ติดต่อกันได้ทาง social media สามารถ Video call หากันได้เสมอ ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลของลูกไปได้บ้าง เขาจะได้รับรู้ว่าเราไม่ได้หายไปไหน และยังคงสบายดี

ปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการ หรือจิตแพทย์เด็กช่วยได้
ในบางกรณี หากลูกของท่านมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำ เช่น แยกตัว ร้องไห้บ่อย กินอาหารน้อยลงมาก นอนหลับยาก หงุดหงิด งอแง อาละวาด จนผู้ใหญ่ใกล้ชิดรับมือไม่ไหว การปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการหรือจิตแพทย์เด็ก น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองหาสาเหตุ ว่ามีปัจจัยอะไรแทรกซ้อนเพิ่มเติม จึงทำให้เด็กเกิดปฏิกิริยามาก ต่อการ กักตัวอยู่บ้าน ของพ่อแม่ จะได้แนะนำให้ญาติ หรือผู้ปกครองดูแลลูก ๆ ได้อย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งในปัจจุบันมีการให้คำปรึกษาจากคุณหมอผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องออกไปพบ หรือปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้อื่น เมื่อต้องเข้าที่ชุมชน จึงเป็นการดีกว่าหากเราสามารถปรึกษาคุณหมอผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งเริ่มมีให้บริการในหลาย ๆ โรงพยาบาลแล้ว จึงไม่ต้องลังเลใจหากพบว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่ปกติ แม้เพียงเล็กน้อย เราก็สามารถปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการ หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อจะได้นำคำแนะนำของคุณหมอมาเป็นตัวช่วยให้ครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่สามารถผ่านพ้นเหตุการณ์อันจำเป็นนี้ ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
การดูแลป้องกันตนเอง และครอบครัวให้ห่างไกลจากการเป็นโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องใส่ใจ และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่เพียงแต่เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ แต่ยังหมายถึงการลดความเสี่ยงต่อคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย แต่หากว่าจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการกักตัว หรือโชคร้ายติดเชื้อขึ้นมา ก็ขออย่าพึ่งวิตกกังวลมากจนเกินไปนัก เพราะทุกปัญหามีทางแก้เสมอ ตั้งสติ ปฎิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากในระหว่างรักษาตัว หรือจำเป็นต้องกักตัว หากเกิดปัญหาก็สามารถหาคำแนะนำ และคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมาเป็นตัวช่วยก็เป็นวิธีการที่ดีเช่นกัน อย่างน้อยหากเราสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปได้ ลูก ๆ ของเราก็จะได้รับประสบการณ์อันมีค่าในการเรียนรู้ถึง 1 ใน 10 ความฉลาดที่เด็กยุคใหม่ควรมี (Power BQ) นั่นคือ ความฉลาดในการดูแลสุขภาพ (Health Quotient) ติดตัวเขาไปใช้ได้ตลอดชีวิตอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.samitivejhospitals.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
โควิดขยายวงจู่โจมทารก-เด็กเล็ก สหรัฐพบ เด็กติดโควิด19 แตะ 2 ล้านคน
ระวัง!! ภาวะ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด โรคอันตรายที่พ่อแม่ต้องรู้!!
สาวไทยรีวิวฉีด วัคซีนโควิด-19 ฟรีที่แคนาดา ผลข้างเคียงเป็นยังไง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่