งานวิจัยชี้เด็กที่มี critical thinking คือ เด็กที่มีทักษะจำเป็นแห่งโลกยุคใหม่เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตสูง มาร่วมสร้างทักษะนี้แก่ลูกด้วยเกมสนุก ๆ กัน
4 เกมสร้างทักษะ critical thinking คือ สิ่งที่แม่สร้างได้!!
ทักษะแห่งโลกยุคใหม่ ทักษะของโลกใบที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่มากมาย แถมรวดเร็ว จนแทบไม่ได้กลั่นกรอง ไม่ทันได้ตรวจสอบกัน แล้วแบบนี้คงทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดอาการเป็นห่วงต่อบุตรหลานของเรากันแล้วใช่ไหมว่า เขาจะแยกแยะข้อมูลที่มากมายเหล่านั้นได้ดีแค่ไหน จะรู้ไหมว่าสิ่งไหนควรเชื่อ หรือไม่เชื่อ แล้วเราจะไปช่วยเด็ก ๆ กลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้นได้ตลอดเวลาได้หรือไม่ หรือความจริงแม้แต่ตัวผู้ใหญ่เองก็กำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เหมือนกัน
Critical Thinking หรือ การคิดวิพากษ์ หมายถึง ความสามารถในการพิจารณา ประเมินและตัดสินสิ่งต่าง ๆ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ที่มีข้อสงสัยหรือ ข้อโต้แย้ง โดยการพยายามแสวงหาคำตอบที่มีความสมเหตุสมผล หรืออาจกล่าวได้ง่าย ๆ ว่า คือทักษะในการรู้คิด มีวิจารณญาณกับข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับเข้ามาอย่างมีเหตุมีผลนั่นเอง ยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในโลกโซเซียลที่การให้ข้อมูลสู่สาธารณะเป็นเรื่องง่ายดายเพียงปลายนิ้ว ใครใคร่จะใส่ความคิดเห็น หรือข้อมูลใด ๆ ลงไปนั้น ก็มิได้มีการกลั่นกรองถึงความถูกต้อง หรือแม้แต่กระทั่งความคิดเห็นส่วนตัวในสังคมใหญ่ก็ย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย หากเราไม่มีทักษะที่จำเป็นในการรับสารสื่อข้อมูลเหล่านั้น ก็อาจตกเป็นเหยื่อต่อข้อมูลที่บิดเบี้ยวเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย critical thinking จึงเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้น
ทักษะการรู้คิดดังกล่าว นอกจากจะสำคัญต่อชีวิตประจำวันในการรับข่าวสารอันมากมายแล้ว ยังมีผลงานวิจัยอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่า การที่คนเรามีทักษะในการคิดวิเคราะห์นั้น ยังนำมาซึ่งโอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
งานวิจัยของบัตเลอร์ (Butler et al., 2012) นักวิจัยด้านพฤติกรรมและศาสตร์ด้านองค์กรแห่งบัณฑิตวิทยาลัย Claremont สหรัฐอเมริกาที่รายงานว่า มีความเชื่อมโยงกันระหว่างทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณกับคุณภาพชีวิตด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal outcomes) อาชีพ และการเงินของแต่ละบุคคล
สิ่งที่พบคือ ผู้เข้าทดสอบที่คิดอย่างมีวิจารณญาณ มักไม่ค่อยก่อปัญหาเลวร้ายในชีวิตมากนัก ตั้งแต่ปัญหาในชีวิตขั้นต่ำสุดอย่าง“คืนซีดีหนังทุกเรื่องที่เช่าตรงเวลา ถึงจะยังไม่ได้แตะเลยแม้แต่น้อย” ไปจนถึงขั้นรุนแรงคือ “เมาแล้วขับจนได้ใบสั่ง”
หรือในงานวิจัยเรื่อง Redesigning a General Education Science Course to Promote Critical Thinking ของโรว์และคณะ (Rowe et al 2015) แห่ง Sam Houston State University สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำหลักวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ การสังเกต ค้นคว้า ทดลอง มาผนวกเข้ากับการเรียนรู้ในห้องเรียนเพื่อสร้างเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ พบข้อสรุปว่า นักเรียนที่ผ่านการฝึกฝนด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีแนวโน้มที่จะยอมรับความคิดที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้มากกว่า
ข้อมูลอ้างอิงจาก บุญชนก ธรรมวงศา thepotential.org
ความสำคัญของ critical thinking คือ
- ทุกสาขาอาชีพ ทุกลักษณะงานในองค์กร จำเป็นต้องใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในการแก้ปัญหาทั้งสิ้น การฝึกฝนเสียแต่เด็ก ๆ ก็จะทำให้ลูกได้พัฒนาตัวเองก่อน
- ผู้ที่มีทักษะการรู้คิด มีวิจารณญาณ สามารถเข้าใจเนื้อหาความรู้ที่ได้รับมาแบบเชื่อมโยงเหตุและผลได้ จึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จด้านการศึกษา การงาน และการใช้ชีวิต
- การที่เด็กมีวิจารณญาณกับสิ่งที่ได้ฟัง หรือรับรู้มา ทำให้ไม่หลงเชื่อสิ่งใด ๆ ง่าย ๆ ไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือเครื่องมือของผู้ที่ประสงค์ร้าย
- ผู้ที่มีทักษะการเรียนรู้มักไม่สร้างปัญหาให้ตนเอง และมีแนวโน้มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะจะทำตามเหตุและผลมากกว่าทำตามใจตัวเอง
ฝึกความคิดแบบมีวิจารณญาณได้ตั้งแต่เด็ก
คุณพ่อคุณแม่คงคิดว่า เรื่องยาก ๆ แบบนี้คงเป็นเรื่องสำหรับลูกเมื่อโตไปแล้วเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วรู้หรือไม่ว่า การฝึกให้ลูกรู้จักรู้คิด คิดอย่างมีวิจารณญาณนั้น เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนกันเสียตั้งแต่เด็ก เป็นการวางพื้นฐานทางความคิดให้แก่ลูก เป็นแนวทางว่าเมื่อเขาเผชิญกับปัญหา หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามา เขาจะต้องคิดแก้ปัญหา หรือข้อสงสัยเหล่านั้นในรูปแบบใด หากลูกได้เห็นกระบวนการคิดตั้งแต่ยังเด็ก เขาก็จะสามารถคิดอย่างมีระบบได้อย่างอัตโนมัติไปตลอดช่วงชีวิตของลูกเลยทีเดียว
4 เกมแสนสนุก กระตุ้นศักยภาพลูกน้อย
- เกมของเล่นซ่อนแอบ
เป็นเกมจากสิ่งของใกล้ตัวง่าย ๆ โดยคุณพ่อคุณแม่เลือกนำเอาของเล่นมา 3 ชิ้น วางไว้ แล้วคลุมด้วยผ้าห่มที่สามารถคลุมของเล่นทั้งสามชิ้นได้จนมิด สะบัดผ้าไปมาเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกไปทางอื่น หาจังหวะที่เขาเผลอหยิบของเล่นออกมาซ่อนไว้หนึ่งชิ้นโดยระวังไม่ให้ลูกเห็น เมื่อเปิดผ้าขึ้นมา ลองให้ลูกทายดูว่าของชิ้นไหนหายไป
สร้างทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างไร
นอกจากการฝึกให้ลูกสังเกตของเล่นที่หายไปแล้วนั้น เรายังสามารถเพิ่มเติมการฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบให้ลูกได้ด้วยคำถามต่อไปนี้
- ของเล่นชิ้นไหนหายไป โดยสังเกตจากอะไร เช่น ตำแหน่งที่เคยวางไว้ก่อนหายอยู่ที่ไหน ของเล่นชิ้นนี้วางอยู่ข้าง ๆ ของชิ้นใด โดยคุณพ่อคุณแม่อาจค่อย ๆ ชี้ให้ลูกเห็นทีละจุด เป็นขั้นเป็นตอนดังตัวอย่างในการคิดหาคำตอบ โดยไม่เฉลยตั้งแต่คำถามครั้งแรก
- คิดว่าหายไปได้อย่างไร ความเป็นไปได้ที่ของเล่นชิ้นนั้นจะหายไป หายไปในช่วงไหน ลองคิดทบทวนว่าในช่วงเวลาใดที่ลูกไม่ทันได้มอง โดยค่อย ๆ แนะนำไปทีละชุดความคิดเมื่อเห็นลูกไม่สามารถคิดเองได้ ให้เขาค่อย ๆ ขยับความคิดไปทีละตอน
- ลูกคิดว่าของเล่นน่าจะถูกซ่อนไว้ที่ใด ให้เขาลองคิดทบทวนเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่ม ลองคิดหาจุดที่น่าจะเป็นไปได้ พยายามกระตุ้นให้ลูกคิดและพูดบรรยายออกมาให้มากที่สุด
- นิทานจากกระเป๋า
ให้ลูกเลือกของ หรือของเล่นใส่ลงในกระเป๋า หรือถุง หรือที่ใส่ใด ๆ ก็ได้ตามสะดวก แล้วให้เขาลองจินตนาการเชื่อมโยงสิ่งของในกระเป๋าที่ลูกเลือก ออกมาเป็นนิทานแสนสนุกให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง
สร้างทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างไร
ประเด็นสำคัญของเกมนี้ คือ หลักการเชื่อมโยง โดยให้ลูกได้ฝึกการมองสิ่งต่าง ให้เชื่อมโยงเข้าหากันได้ จุดเชื่อมต่ออยู่ที่ไหน ซึ่งการที่เราให้เขาเป็นคนสร้างจุดเชื่อมต่อของสิ่งของนั้น ๆ เอง จะง่ายกว่าการที่เขาหาจุดเชื่อมต่อที่มีอยู่แล้ว เมื่อลูกสามารถเห็นภาพการเชื่อมโยงได้ดีแล้ว การจะหาจุดเชื่อมต่อในปัญหาอื่นใดก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยชี้แนะ ดังนี้
- อาจเป็นผู้เริ่มเรื่องนิทานให้ก่อน เช่น กาลครั้งหนึ่ง ณ ป่าอันเขียวชอุ่ม มีเจ้ากระต่ายน้อย ผู้โดดเดี่ยว…. จากนั้นก็ให้ลูกลงช่วยคิดว่าอยากให้นิทานออกมาในรูปแบบใดต่อไป
- การยกตัวอย่างเป็นเรื่องราวตรงกันข้ามให้ลูกได้เลือกใช้ ก็สามารถช่วยแนะนำลูกได้ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้กำหนดแนวทาง แต่เมื่อเห็นว่าลูกไม่สามารถไปต่อได้ พ่อแม่ก็สามารถยกรูปแบบเรื่องราวแบบตรงกันข้ามให้ลูกเลือกเพื่อไม่ให้กิจกรรมสะดุดได้ แต่ต้องให้เขาหาเหตุผลมาสนับสนุนได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เช่น เจ้ากระต่ายน้อยผู้เดียวดาย หรือเจ้ากระต่ายน้อยผู้ร่าเริงดีนะ? เมื่อลูกเลือกทางใดทางหนึ่งก็ถามเขาด้วยว่าเพราะอะไรถึงอยากให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งไม่มีคำตอบที่ถูกที่ผิดอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการกระตุ้นให้ลูกรู้จักคิดหาเหตุผลต่างหาก
- เกมตัดสินใจดี ๆ นะ
เป็นเกมที่ให้ลูกทายเหตุการณ์ที่จะเกิดต่อไปว่าจะเป็นแบบใด เมื่อเขาเลือกแล้วค่อยมาฟังเฉลยกันว่าหากเรื่องเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยนิทานนั้นจะต้องเป็นนิทานที่มีลักษณะทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะไปทางไหน? ซึ่งพ่อแม่จะต้องถามลูกก่อนว่าหากเขาเป็นตัวละครดังกล่าวจะเลือกอะไร จากนั้นค่อยเฉลยให้ลูกเห็นผลลัพธ์จากการเลือกทำแต่ละอย่าง
สร้างทักษะคิดวิเคราะห์อย่างไร
เป็นเกมทางเลือก ให้ลูกได้เข้าใจถึงวิธีการตัดสินใจหากเผชิญปัญหา หรือเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต โดยคุณพ่อคุณแม่อาจชี้เน้นให้เห็นถึงประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- นิทานที่จะนำมาเล่าไม่จำเป็นต้องเป็นนิทานตามท้องตลาด ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เราสามารถแต่งขึ้นเอง เพราะการเขียนเนื้อเรื่องเองจะดีตรงที่ สามารถสอดแทรกประเด็นที่เราต้องการจะสอนลูกลงไปในนิทานได้ เช่น หากต้องการสอนเรื่องการแปรงฟัน อาจมีคำถามถามลูกว่า หากลูกเป็นหนูนิดหลังกินข้าวเสร็จแล้ว หนูนิดควรไปแปรงฟัน หรือไปวิ่งเล่นดี เป็นต้น
- อาจสร้างเนื้อหานิทานสองแบบ หากเลือกกระทำอย่างนี้จะให้ผลลัพธ์อย่างไร แล้วถ้าหากทำอีกแบบผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าการตัดสินใจกระทำสิ่งใดลงไป ย่อมให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
- เกมจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้นะ
critical thinking คือ การคิดอย่างมีเหตุผล มีวิจารณญาณ เชื่อข้อมูล คำสอนต่าง ๆ จากการได้ลงมือทดลองมาแล้ว โดยเกมสุดท้ายนี้ ก็จะนำประเด็นการคิดโดยเชื่อให้หลักเหตุและผลมาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่อไป โดยคุณพ่อคุณแม่อาจร่วมกับลูกทำการทดลองที่เขาสนใจ โดยก่อนที่จะได้ผลการทดลอง ให้พ่อแม่ลองให้ลูกตั้งสมมติฐานก่อนการทดลองว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป เช่น ถ้าเรานำไข่ไปไว้ในอ่างน้ำ ไข่จะลอยหรือจม โดยให้ลูกลองคิดคำตอบคร่าว ๆ ก่อน จากนั้นถึงจะทำการทดลองดูผลลัพธ์ที่ได้ว่าตรงกับที่คิดไว้หรือไม่
สร้างทักษะคิดวิเคราะห์อย่างไร
จุดประสงค์ของเกมนี้ คือ การเชื่อให้หลักเหตุผล เชื่อจากการพิสูจน์หาเหตุผลแล้วเท่านั้น โดยการทดลองคือการหาเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ มาสนับสนุนในความคิดของตน ซึ่งประเด็นการคิดวิเคราะห์ที่ควรชี้ให้ลูกเห็น มีดังนี้
- ให้ลูกได้ตั้งสมมติฐานจากที่ยังไม่ได้ลงมือทดลอง คือ การวิเคราะห์ตัดสินจากการที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ ดังนั้นก็มีโอกาสที่เราจะตัดสินใจพลาดไปได้
- เมื่อคิดว่าเหตุการณ์ต่อไปน่าจะเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้ลูกเห็นว่าไม่ควรเชื่อโดยทันที โดยยังไม่ได้พิสูจน์ ในที่นี้คือ ยังไม่ได้ทดลองหาคำตอบนั่นเอง
- ควรเลือกเหตุการณ์สมมติให้สอดคล้องกับวุฒิภาวะของลูกด้วย เช่น หากลูกยังเด็กอาจตั้งเป็นคำถามจำลองเหตุการณ์ง่าย ๆ แบบ ลูกคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากพ่อวางแก้วน้ำไว้ขอบโต๊ะ เป็นการคาดเดาเหตุการณ์ที่ไม่ยาก ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ในเบื้องต้นก่อนจึงค่อยเขยิบความยากซับซ้อนเพิ่มขึ้นไป
เกมทั้ง 4 ที่ยกตัวอย่างมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปสอนลูกในการฝึกความคิด ทักษะการคิดแบบมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในโลกยุคปัจจุบันนั้น เป็นเพียงตัวอย่างการฝึกฝนทักษะ ซึ่งก็มิได้มีรูปแบบที่ตายตัวแน่นอน หากครอบครัวไหนจะใช้เกมที่แตกต่างไปจากเกมตัวอย่างดังกล่าว ก็ย่อมทำได้โดยให้คำนึงถึงใจความสำคัญของการฝึกทักษะความรู้คิดแก่ลูกในเรื่องที่ว่า ให้เขาได้คิดตัดสินใจ และรับทราบผลลัพธ์จากการกระทำของตนเอง รวมถึงกระบวนการคิดก่อนเชื่อ หรือทำตาม โดยใช้การค้นหาความจริงจากหลักเหตุและผล เพียงเท่านี้เราก็สามารถฝึกการเพิ่มทักษะสำคัญให้แก่ลูกของเราได้อย่างง่าย ๆ ผ่านเกมที่เป็นการละเล่นที่เด็ก ๆ ต่างชื่นชอบได้แล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก M.O.M
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่