น้ำตา ร้องไห้ ความเศร้าใช่ว่าอ่อนแอ ยิ้มเริงร่าใช่ว่าไม่เป็นไร เหตุใดพ่อแม่ควรอนุญาตให้ลูกร้องไห้ แสดงอารมณ์ไม่ว่าทางบวกหรือลบ เพราะน้ำตาก็มีประโยชน์นะ
เมื่อ น้ำตา ไม่ใช่ผู้ร้าย!!พ่อแม่ควรอนุญาตให้ลูกร้องไห้
“ผู้ใหญ่ควรอนุญาตให้เด็กมีอารมณ์โกรธและเสียใจได้
แต่สิ่งที่เราไม่อนุญาตคือการทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม”
Quote จากเพจตามใจนักจิตวิทยา
มนุษย์ร้องไห้…ทำไม?
- เพื่อขับของเสีย และอารมณ์ขุ่นมัวออกจากร่างกาย ดวงตาทำหน้าที่ผลิตน้ำตา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
- น้ำหล่อเลี้ยงตา เป็นน้ำที่อยู่ในดวงตาตลอดเวลา คอยสร้างความหล่อลื่น บำรุงและปกป้องกระจกตา ทั้งยังเป็นเกราะป้องกันดวงตาจากฝุ่นผงต่าง ๆ
- น้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก จะถูกสร้างขึ้นก็ต่อเมื่อดวงตาต้องการขจัดสารก่อความระคายเคืองที่เป็นอันตราย เช่น วัตถุแปลกปลอม ควัน หรือสารบางชนิดจากหัวหอม น้ำตาชนิดนี้ผลิตออกมาในปริมาณที่มากกว่าน้ำหล่อเลี้ยงตาปกติ และอาจประกอบด้วยสารภูมิต้านทานเพื่อใช้ช่วยต่อสู้กับแบคทีเรีย
- น้ำตาจากอารมณ์ น้ำตาที่ตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น เสียใจ ดีใจ หวาดกลัว เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดว่าน้ำตาจากอารมณ์อาจประกอบด้วยฮอร์โมนและโปรตีนชนิดอื่น ๆ ที่ไม่พบในน้ำหล่อเลี้ยงตาหรือน้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก
- เพื่อปลดปล่อยหรือผ่อนคลายอารมณ์อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะร้องไห้เพราะความเศร้า ความเครียด หรือความสะเทือนอารมณ์จากการดูภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวเอง และส่งผลดีต่อสุขภาพจิต
- การร้องไห้ช่วยให้ทารกหายใจครั้งแรกได้ การร้องไห้ครั้งแรกของเด็กแรกเกิด คือเสียงร้องที่สำคัญมาก ตอนอยู่ในท้องทารกได้รับออกซิเจนภายในมดลูกผ่านสายสะดือจากแม่ เมื่อคลอดออกมาแล้วต้องหายใจเอง เสียงร้องแรกของเด็กแรกเกิดเป็นการกระตุ้นการทำงานของปอด
- การร้องไห้ช่วยให้เด็กหลับดีขึ้นในเวลากลางคืน มีงานวิจัยที่ทดลองให้ปล่อยเด็กทารกร้องไห้บนเตียงไปสักระยะเวลาหนึ่ง ถึงค่อยให้พ่อแม่เข้ามาปลอบ และพาเข้านอน พบว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถนอนหลับได้ยาวขึ้น และลดจำนวนการตื่นระหว่างคืนได้อีกด้วย และยังศึกษาต่อไปพบว่าไม่ก่อให้เกิดความเครียด หรือส่งผลเสียต่อสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกด้วย
ทำไมจึงควรอนุญาตให้เด็กร้องไห้?
วัยอนุบาล เป็นวัยที่มีความกังวลต่อความพลัดพรากจากพ่อแม่สูง “เป็นธรรมดา”
เด็กหลายคนเจอคนแปลกหน้า ถูกแยกจากพ่อแม่ อาจจะมีความกังวล จนร้องไห้เด็กหลายคนร้องไห้ อาจจะเพราะ ง่วง หิว หนาว กลัว เสียใจ นอนไม่พอ ฯลฯการร้องไห้ เป็นการระบายความรู้สึกที่ท่วมท้น ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่ความผิดปกติการร้องไห้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับให้สมองเข้าสู่ภาวะปกติการร้องไห้ไม่ได้แปลว่าเป็นเด็กสุขภาพจิตเสีย
การร้องไห้เป็นรูปแบบของการสื่อสาร ที่ทำให้เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ได้เด็ก (และเราทุกคน) ควรได้รับอนุญาตให้ร้องไห้ได้การร้องไห้ เป็นการตอบสนองของร่างกายตามธรรมชาติการร้องไห้ไม่ได้ทำร้ายใคร ทั้งตัวเองและผู้อื่นอย่าทำให้ใครรู้สึกผิดตั้งแต่ยังเล็กที่เขาร้องไห้เพราะการเป็นผู้ใหญ่ที่ร้องไห้ออกมาไม่ได้… มันช่างเป็นเรื่องที่โหดร้ายและน่าเศร้า#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้านผู้อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการร้องไห้เป็นกลไกทำให้สมองเข้าสู่ภาวะสมดุลขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ข้อความบางส่วนจากเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน
น้ำตาจึงไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรารับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่ยังอยู่ในวัยเรียนรู้ การที่เขายังมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ไม่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ทั้งทางด้านร่างกาย และอารมณ์ เด็กในวัย 2-6 ปี วัยอนุบาลนั้นยังไม่ใช่วัยที่สามารถแยกจากพ่อแม่ได้อย่างสมบูรณ์ การวิตกกังวล การกลัวการแยกจาก การที่ไม่เห็นหน้าพ่อแม่แล้วร้องไห้จึงเป็นเรื่องปกติ การที่เด็กไม่สามารถเรียนรู้การจัดการอารมณ์ของเขาได้ต่างหาก ที่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรใส่ใจ มิใช่การห้ามไม่ให้ลูกแสดงออกมา เก็บกดไว้ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความอ่อนแอ แต่ควรสอนให้เขารับรู้อารมณ์ เข้าใจ ตอบสนอง และแสดงอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้อย่างเหมาะสมต่างหาก
น้ำตาไม่ใช่ผู้ร้าย!!
มีรายงานว่าคนเรามักรู้สึกดีขึ้นหลังจากที่ได้ร้องไห้ นั่นอาจเป็นเพราะการร้องไห้ทำให้เราได้สำรวจตรวจดูสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ของเราและหาทางก้าวผ่านอารมณ์ และความคิดเหล่านั้นไปได้ ในเด็กก็เช่นกัน การให้เขาได้รับรู้ว่าตอนนี้เขากำลังรู้สึกอย่างไร เพื่อให้เด็กได้ยอมรับกับอารมณ์ตัวเองเสียก่อน จากนั้นเมื่อยอมรับเขาก็จะสามารถพิจารณาได้ว่าสิ่งใดที่ไปกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ด้านลบ เช่น เสียใจ โกรธ เป็นต้น และเมื่อทราบที่มาที่ไปของอารมณ์แล้ว การจะจัดการกับอารมณ์ตนเองในครั้งถัด ๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
Lauren Bylsma ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์และจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กในรัฐเพนซิลวาเนียกล่าวว่าการร้องไห้อาจช่วยให้เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเรา โดยเฉพาะหากร้องไห้กับสิ่งที่ทำให้เสียใจโดยที่ไม่คาดคิด และว่าคนบางคนอาจรู้สึกดีกว่าเวลาที่ร้องไห้คนเดียวหรือในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มากกว่าในที่ที่อาจทำให้รู้สึกอาย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการสะกดกลั้นน้ำตาอาจส่งผลเสียต่อตัวเอง และความรู้สึกที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการจัดการนั้น และยังเป็นเส้นทางสำคัญที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าอีกด้วย
ร้องไห้ใช่อ่อนแอ ยิ้มให้ใช่มีความสุข!!
พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากเห็นลูกมีความสุข จึงทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกพอใจ ยิ้มแย้ม แต่ในโลกความเป็นจริงเราไม่สามารถกำหนดให้ลูกพบเจอแต่ความสมหวัง หรือมีความสุขตลอดเวลาได้ เมื่อลูกพบเจอเรื่องเศร้า เรื่องโกรธจนร้องไห้ หรืออาละวาด พ่อแม่จึงมักสั่งให้ลูกหยุด และเก็บกดอารมณ์ทางลบนั้นไว้ โดยที่เด็กยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์นั้นได้ แต่ในความเป็นจริงเด็กที่มีความสุข คือ เด็กที่สามารถจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งดี และไม่ดีได้อย่างเหมาะสม พ่อแม่มีหน้าที่สอนให้เขารับรู้ รับมือ และจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้ลูกมีความสุขอย่างแท้จริง
ช่วยลูกให้หยุดร้องไห้!!
ถึงแม้ว่าน้ำตาจะมีประโยชน์ช่วยเราในหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สังคมภายนอกยังมีค่านิยมในเรื่องนี้ เช่น น้ำตาเท่ากับอ่อนแอ เด็กผู้ชายไม่ควรร้องไห้ให้ใครเห็น เป็นต้น ดังนั้นแทนที่เราจะแก้ปัญหาให้ลูกด้วยการสั่งให้เขาหยุดร้อง เราสามารถช่วยลูกให้จัดการกับอารมณ์ทางด้านลบของเขาด้วยวิธีทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น โดยเราขอยกคำแนะนำดี ๆ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กับวิธีช่วยลูกเมื่อร้องไห้ ดังนี้
อยากให้ลูกหยุดร้องไห้ ไม่ได้ทำได้ด้วยการ “สั่ง”
แต่ทำได้ด้วยการทำให้ลูก “รู้สึกดีขึ้น”ช่วยลูกเมื่อร้องไห้…1. อย่าห้ามลูกเวลาร้องไห้ แต่ควรแสดงความเข้าใจในอารมณ์ที่เกิดขึ้น2. ประโยค “แม่เข้าใจเลยที่หนูจะเสียใจ” “มันน่าเสียใจจริงๆนะ” “หนูร้องไห้ได้นะ ถ้ารู้สึกแย่” เป็นประโยคที่พ่อแม่พูดได้ ถ้ารู้สึกเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆ3.หลีกเลี่ยง “ร้องทำไมเรื่องแค่นี้เอง” ความเจ็บปวดของใคร ก็เป็นเรื่องของใจ คนๆนั้น4. ขณะลูกร้องไห้ การกอดลูกแล้วบอกว่า “แม่อยู่ตรงนี้นะ” “มีอะไรให้แม่ช่วยให้หนูดีขึ้นมั้ย” คือของขวัญทางจิตใจที่มอบให้ลูก5. อย่าบอกลูก “ไม่ร้องไห้” แต่บอกลูกได้ “ดีขึ้นแล้ว หายเจ็บแล้ว เราหยุดร้องไห้กันได้นะ”6. มันคือเรื่องน่าเศร้าที่ใครสักคนต้องเติบโตมา กับการต้องคอยบอกกับตัวเอง ว่า “ฉันไม่เป็นไร”ทั้งๆที่ความเป็นจริงการยอมรับกับความรู้สึกตัวเอง คือการเริ่มต้นที่กล้าหาญ ของการเยียวยาจิตใจ #ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน7. การกล้าเผชิญและยอมรับกับความเศร้า เป็นสัญญาณว่าเราคือคนที่เข้าใจ รู้จัก และรักตัวเองดี8. การที่รู้สึกว่าเราก็แพ้ได้ ร้องไห้เป็น จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า เราต่างก็เป็นมนุษย์ธรรมดาดีๆนี่เอง #ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน9. การยอมรับและทำความเข้าใจกับความรู้สึก จะทำให้เราอยู่กับความรู้สึกได้ดี…ไปชั่วชีวิตรักลูก… เรามาช่วยเด็กๆ ให้เข้มแข็งในวิธีที่เป็นผลดีกับจิตใจกันนะคะคนที่เข้มแข็งไม่ใช่คนที่ไม่ร้องไห้
แต่เป็นคนที่ “กล้าร้องไห้…เพื่อให้ตัวเองดีขึ้น”ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ข้อความบางส่วนจากเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน
เมื่อวันที่เรารู้สึกแย่ เราอาจต้องการเพียงใครสักคนที่อยู่เคียงข้าง มอบพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เราให้ได้รู้สึกดีขึ้น พ่อแม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกได้เช่นกัน เมื่อเขาร้องไห้ รู้สึกไม่ดี เพียงแค่อ้อมกอดจากพ่อแม่ก็สามารถปลอบประโลมให้จิตใจ อารมณ์ของลูกให้สงบลงได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องเก็บกดความรู้สึกนั้นไว้ เพื่อรอวันระเบิด หรือทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมของลูกในอนาคตได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.pobpad.com/www.healthline.com/เพจตามใจนักจิตวิทยา
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ประโยชน์ของการ รักกันให้ลูกเห็น พ่อแม่ยิ่งรักกัน ยิ่งดีต่อใจลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่