ผิดหวัง อีกหนึ่งอารมณ์ที่ลูกต้องเผชิญในชีวิต พ่อแม่จะช่วยลูกให้จัดการอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่เฉพาะเด็กที่ต้องปรับพ่อแม่ต้องไม่คาดหวังเสียเองด้วย
วิธีช่วยลูกจัดการความ ผิดหวัง อย่าลืมลดความคาดหวังของคุณด้วย!!
ความผิดหวังสำหรับเด็กใช่ว่าจะไม่มี ผู้ใหญ่บางคนมักคิดว่า เด็กกับความผิดหวังนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กพบเจอกับความผิดหวังเช่นกัน ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ไม่ได้ของเล่นอย่างที่ต้องการ พ่อแม่ไม่ทำตามที่เขาอยากให้ทำ เป็นต้น พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นความผิดหวังเรื่องเรียน การสอบ ความรัก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับพ่อแม่ แต่เป็นความผิดหวังที่สำคัญสำหรับลูกเสมอ
ความผิดหวังในเด็ก จากวิถีชีวิตแบบ New Normal
การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือที่เรามักเรียกกันว่า วิถีชีวิตแบบ New Normal นั้น เป็นวิถีชีวิตที่มีผลต่อเด็ก ๆ ทำให้เกิดความทุกข์จากการสูญเสียโอกาสในการเข้าร่วมในกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การแข่งขันกีฬารอบตัดเชือก วันเกิดที่สำคัญ การแสดงของโรงเรียนและการสำเร็จการศึกษา หรือการเดินทางไปดิสนีย์เวิลด์กับครอบครัวใหญ่ เป็นต้น
เมื่อวิกฤตดำเนินไป แม้แต่การพลาดกิจกรรมประจำวันตามปกติ เช่น นอนค้างบ้านเพื่อน หรือออกไปกินพิซซ่า ก็ยังทำให้เด็ก ๆ หลายคนไม่สบายใจ ว่าต่อจากนี้จะได้ทำหรือไม่ ผู้ใหญ่กำลังเผชิญกับความยากลำบากแบบเดียวกัน แต่พวกเราก็มีประสบการณ์มากมายในการจัดการกับความผิดหวังดังกล่าว แต่ในทางกลับกัน เด็กอาจกำลังประสบกับอารมณ์รุนแรงเหล่านี้เป็นครั้งแรก
เมื่อลูกผิดหวัง เสียใจ ย่อมส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์และจิตใจ และด้วยระดับความเข้มแข็งของจิตใจที่แตกต่างกัน พ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจ และแนะแนวทางการรับมือกับความผิดหวังแก่ลูก เป็นการช่วยจัดการกับปัญหาที่กระทบต่อจิตใจของลูกได้
อ่านต่อ⇒ วิธีคลายปัญหา ลูกขี้กลัว ช่วยลูกปรับตัวในทุกเหตุการณ์
วิธีการสอนให้ลูกรับมือกับความผิดหวัง
1. ในเด็กเล็ก เด็กจะยังไม่สามารถรู้จักอารมณ์ตนเองว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เป็นอะไร และเมื่อพบกับความผิดหวังก็จะแสดงออกโดยการร้องไห้ กระสับกระส่าย โมโห ก้าวร้าวโดยที่ไม่รู้ว่าขณะนี้ตนเองรู้สึกผิดหวัง
ผู้ปกครองต้องรู้ก่อนว่าเด็กมีอารมณ์ไม่ปกติ ณ ขณะนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองรอจังหวะให้ลูกเงียบ สงบ จึงช่วยพูดสะท้อนถึงอารมณ์ของเด็กที่ผู้ปกครองเห็นให้เด็กฟัง โดยการบอกเด็กว่าตอนนี้หนูกำลังเสียใจ โกรธอยู่ใช่ไหม เพราะเหตุการณ์นี้ใช่ไหม และเด็กก็จะเข้าใจความรู้สึกของตัวเองจากการฟัง ผู้ปกครองพูดอธิบาย เพื่อให้เด็กรู้จักอารมณ์ตนเองมากยิ่งขึ้น และเด็กจะรู้ว่าพ่อแม่คือที่พึ่งเมื่อเวลาเสียใจ และรู้สึกอุ่นใจ ซึ่งจะช่วยให้เด็กรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้ง่ายขึ้น
2. การให้เด็กได้สงบ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่กระตุ้นหรือเร้าให้อารมณ์รุนแรงเพิ่มขึ้น สัก 10-15 นาที จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อารมณ์และรู้สภาวะผ่อนคลายของตนเองมากขึ้น เกิดเป็นประสบการณ์เรียนรู้วิธีผ่อนคลายอารมณ์ของตนเอง และรับมือกับตนเองในยามที่ผิดหวังได้ หลังจากที่ให้เวลากับลูกก็จะต้องมีการพูดคุยถึงสาเหตุของความผิดหวัง เพื่อช่วยหาแนวทางในการแก้ปัญหา
3. สำรวจความรู้สึก และผลกระทบที่เกิดกับเด็ก ว่าความผิดหวังจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอะไรกับเด็กบ้าง เพื่อให้เด็กได้ทบทวนว่าความผิดหวังมีผลกระทบอะไรในมุมมองของเด็ก และเด็กได้ประสบการณ์เรียนรู้อะไรจากความผิดหวังในครั้งนี้ และอะไรเป็นสาเหตุความผิดหวังนี้ ทั้งสาเหตุจากตัวเด็กเอง จากคนรอบข้าง จากสภาพแวดล้อม เช่น เมื่อลูกไม่ได้อ่านหนังสือ หรือไม่ได้ทำการบ้าน อาจมีส่วนให้ได้คะแนนน้อยลง สามารถสะท้อนได้ว่า การไม่ได้ทำบางอย่างก็มีผลกระทบได้ เพื่อให้เด็กมองปัญหารอบด้านได้ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่ตัวเด็กเองได้
4. การลดความคาดหวังหรือเป้าหมายของเด็ก ที่มากกว่าความสามารถหรือความเป็นจริงที่เด็กจะทำได้ในขณะนั้น เพราะผู้ปกครองย่อมทราบดีว่าเด็กไม่สามารถทำได้ แต่ให้ผู้ปกครองพูดคุยให้เด็กใช้ความสามารถ ศักยภาพด้านอื่นที่ถนัดทดแทน เพื่อแก้ปัญหา และชวนเด็กตั้งเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายและเด็กสามารถมีโอกาสทำสำเร็จได้
5. ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยผู้ปกครองตั้งคำถามให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้ลูกรู้ทิศทางตนเอง และเสริมพัฒนาการเด็กในด้านการใช้ความคิดได้ลึกซึ้งมากขึ้น มีความคิด และตัดสินใจในแบบผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น
พญ.ชนม์นิภา แก้วพูลศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2
“พ่อ(แม่)ผิดหวังในตัวลูก” คำที่สร้างรอยร้าวในใจลูก!!
ในฐานะพ่อแม่ เราอาจผิดหวังกับลูก ๆ ได้ ลูกอาจทำตัวไม่เป็นไปดั่งที่พ่อแม่หวัง หรือประพฤติตนในลักษณะที่ทำลายความคาดหวังของเราที่มีต่อพวกเขา เนื่องจาก เด็ก ๆ ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบซึ่งยังคงต้องเรียนรู้ และปรับตัว เด็กส่วนใหญ่มักทำตามที่พ่อแม่แนะนำ หรือทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ ไม่ใช่เพื่อผลลัพธ์ที่ดีสำหรับตนเอง แต่ทำเพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวัง เสียใจ วิธีที่เราตอบสนอง และแสดงออกถึงความผิดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูกอาจมีผลลัพธ์ที่มีผลต่อจิตใจลูก และอาจเป็นสิ่งทำลายความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองให้แก่ลูกได้
อ่านต่อ⇒ หยุดโรคแพ้ไม่เป็น โรคร้ายเด็กรุ่นใหม่ในยุคการแข่งขันสูง
เสียงในใจลูกที่คุณอาจไม่เคยได้ยิน!!
เพื่อนสนิทของฉันเคยเล่าให้ฉันฟังว่าพ่อของเธอไม่จำเป็นต้องลงโทษหรือลงมือกับเธอ เพียงแค่พ่อของเธอพูดว่า “ฉันผิดหวังในตัวเธอ” คำพูดเหล่านี้ เป็นเพียงคำง่าย ๆ แต่ทิ่มแทงความรู้สึกของเธอ และเป็นสาเหตุให้เธอยอมทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ได้ยินคำเหล่านั้น
เพื่อนคนนี้ไม่ได้ผลักดันตัวเองในทางบวก ไม่มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ได้ผลักดันตัวเองเพราะต้องการแสวงหาความท้าทายใหม่ และพยายามเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น ความพยายามของเธอขับเคลื่อนด้วยความวิตกกังวล ความวิตกกังวลที่เกิดจากการพยายามหลีกเลี่ยงความละอายที่ล้มเหลวตามความคาดหวังของพ่อ แม้ว่าเธอจะไม่ใช่เด็กอีกต่อไป และความผิดหวังของพ่อก็ไม่ใช่ภัยคุกคามที่เคยเป็นอีกต่อไป แต่ความวิตกกังวลนั้นติดตามเธอไปสู่วัยผู้ใหญ่ และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของความคิดอ่าน และการตัดสินใจของเธออยู่ตลอด
ความจริงแล้วพ่อของเธอมีเจตนาดี ในการที่เขาแสดงความผิดหวัง เขาไม่ได้โหดร้ายหรือหรือแสดงท่าทีที่ใจร้าย แต่เพียงแค่คำพูดเบา ๆ กับท่าทีภายนอกที่บางครั้งพ่อของเธออาจไม่รู้สึกตัวว่าทำลงไปเสียด้วยซ้ำ แต่กลับสร้างรอยแผลในใจลูกที่ยิ่งใหญ่นัก
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากประสบการณ์จริงใน www.theblackbeltparent.com
- การลดระดับความสูงลงให้เท่ากับส่วนสูงลูกด้วยการย่อตัวลง มองสบตาลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ใส่ใจ
- แววตาของพ่อแม่ต้องสื่อให้ตรงกับใจ อย่างที่มีคนกล่าวว่า แววตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ เราอยากให้ลูกรู้สึกมั่นใจ สายตาพ่อแม่ก็ต้องแสดงความหนักแน่น ให้กำลังใจจึงจะสื่อถึงลูก
- การสัมผัส หากพ่อแม่สัมผัสลูก เช่น เช็ดน้ำตาให้ลูก โอบบ่าลูก จับหัวให้กำลังใจ เป็นต้น การแสดงออกเหล่านี้จะทำให้ลูกรับรู้ได้ว่าเราใส่ใจ ไม่ใช่คุยกับลูกไปทำงานไปด้วยแบบนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจแม้เราจะนั่งฟังอยู่ก็ตาม
- น้ำเสียง เป็นส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่ง หากเราใช้คำพูดกับน้ำเสียงที่ไม่ตรงกัน ถึงแม้ว่าคำนั้นจะมีความหมายลึกซึ้งเพียงใด แต่ผู้ฟังก็จับน้ำเสียงได้ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่พูด ก็ไร้ความหมาย หรือหากเราต้องการให้ลูกมั่นใจ น้ำเสียงที่ใช้ก็ต้องแสดงความหนักแน่น ไม่ใช่พูดเบา ๆ
ในฐานะพ่อแม่ เราต้องการกระตุ้นให้ลูกๆ ของเราเติมเต็มศักยภาพในชีวิตอย่างเต็มที่ โดยวิธีการ หรือคำพูดที่ใช้ต้องไม่สร้างความรู้สึกละอายต่อการทำพลาด หรือรู้สึกผิดต่อการที่ลูกไม่สามารถทำให้พ่อแม่สมหวังจนไปบ่อนทำลายความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของพวกเขา เมื่อลูกของคุณรู้สึกไม่กดดัน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถทำตามสูตรง่ายๆ ในการช่วยลูกจัดการความผิดหวังได้โดยอาจมานั่งคุยกันถึงสาเหตุของความผิดพลาดในครั้งนี้อย่างเป็นกลาง จากนั้น กระตุ้นให้ลูกลองคิดสำรวจกลยุทธ์ หรือวิธีการอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในครั้งต่อไป โดยขอให้ลูกใช้ความคิดสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วม กระตุ้นให้พวกเขามองว่าความล้มเหลวเป็นส่วนสำคัญของการใช้ความพยายาม และเป็นส่วนช่วยในการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จ ทำให้ลูกรู้สึกถึงความปกติของการผิดหวัง แต่ไม่นิ่งเฉยและยอมแพ้ แต่ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังในการแสดงความผิดหวังของคุณออกมาด้วยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิงจาก หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก
“ความผิดหวังอาจจะทำให้ทางเดินชีวิตของเราขรุขระไปบ้าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะไปต่อไม่ได้”
“น้ำตาและความเจ็บปวดจากความผิดหวังจะเป็นบทเรียนบนเส้นทางชีวิต
ที่ทำให้เรามีภูมิต้านทาน พร้อมที่จะรับมือกับความผิดหวังในอนาคต”
“ขอบคุณความสมหวัง โอบกอดความผิดหวัง ทุกเรื่องคือส่วนหนึ่งของชีวิต
มันทำให้เราได้เรียนรู้ และผ่านพ้นไปได้” #เพราะกลัวพ่อแม่จะผิดหวัง
Qute ข้อความจากเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา
อ่านต่อ⇒ Self Esteem การเห็นคุณค่าในตนเองสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างในลูก
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
น่าเรียน! 8 วิชา สอนเด็ก ประยุกต์ใช้ชีวิต เอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่