7เทคนิคเลี้ยงลูกให้มั่นใจด้วยคำชมและ คำพูดให้กำลังใจ - Amarin Baby & Kids
คำพูดให้กำลังใจ

7เทคนิคเลี้ยงลูกให้มั่นใจด้วยคำชมและ คำพูดให้กำลังใจ

Alternative Textaccount_circle
event
คำพูดให้กำลังใจ
คำพูดให้กำลังใจ

คำพูดให้กำลังใจ คำชม ใครว่าพูดกับลูกไม่ได้ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแนะ ชม5 ดุ1 สร้างลูกที่มั่นใจ ภาคภูมิใจในตัวเอง พร้อมแนะวิธีพูดชมลูกที่ถูกหลักไม่ทำให้เหลิง

7 เทคนิคเลี้ยงลูกให้มั่นใจด้วยคำชมและ คำพูดให้กำลังใจ

“อย่าชมลูกมากเดี๋ยวเหลิง” คำพูดท่วงทำนองดังกล่าวคงเป็นคำที่คนเป็นพ่อเป็นแม่เคยได้ยินกันมาแล้วทั้งนั้น แล้วในยุคสมัยใหม่ ปัจจุบันยังคงเป็นเช่นนั้นหรือไม่

พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเทคนิคการเลี้ยงลูกให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองว่า ช่วง 3 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่เด็กอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากที่สุด ซึ่งช่วงวัยนี้เด็กจะมีวิวัฒนาการและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยเริ่มมีการทำสิ่งต่างๆ เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก และจะเริ่มเรียนรู้ถึงที่เกิดจากพฤติกรรมว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น ช่วงนี้หากพ่อแม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเอง ลองผิดลองถูกในการแก้ปัญหา และชมเชยให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดี จะยิ่งเพิ่มความสามารถและความภาคภูมิใจให้กับลูกได้ แต่จุดอ่อนที่แพทย์มักพบบ่อยๆ คือ การไม่ให้โอกาสแก่ลูกได้ช่วยเหลือตนเอง และไม่ค่อยได้ชื่นชมลูกจะคอยแต่ตำหนิติเตียน หรือเรียกว่าการจับผิดมากกว่าจับถูก ทำให้เด็กไม่มีการพัฒนาความมั่นใจในตนเอง

คำพูดให้กำลังใจ สร้างความมั่นใจให้ลูก
คำพูดให้กำลังใจ สร้างความมั่นใจให้ลูก

จากความเห็นข้างต้นของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นชี้ให้เห็นได้ว่า การชื่นชมลูก เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อบุคลิกภาพ และพัฒนาการของเขา แต่ต้องมาพร้อมกับการปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำสิ่งใด ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้คำชื่นชมนั้นเกิดจากความสามารถของลูก และจะแปลเปลี่ยนเป็นกำลังใจ และเป็นพลังใจให้แก่ลูกในหลาย ๆ ด้าน

อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าการชื่นชมลูกน้อยเป็นสิ่งที่ดี โดยเด็กจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้ด้วยการสร้างให้ลูกมีความรู้สึกภาคภูมิใจต่อตัวเอง ขณะที่หลายครอบครัวมักไม่นิยมชื่นชมลูกและมีความคิดว่าอย่าชมมากเดี๋ยวจะเหลิง แต่ทางจิตวิทยาได้แนะนำให้ผู้ปกครองหันมาชื่นชมลูกอย่างมีเทคนิค และมีหลักการที่ดีจะดีเสียกว่า แต่การชมต้องชมให้มีความถูกต้องเพราะถ้าชมไม่ถูกต้องหลาย ๆ ครั้งก็เกิดผลลบกับลูกมากว่าผลบวก

เทคนิคในการกล่าวชมลูก

  •  ควรชมจากสิ่งที่ลูกได้กระทำเองจริงในเหตุการณ์จริง และในเรื่องที่เหมาะสม
  • ไม่กล่าวคำชมลูกในเรื่องอะไรที่เป็นหน้าที่ที่เขาควรจะทำอยู่แล้ว หรือหากชมกับงานในหน้าที่ควรเป็นการชมในเรื่องที่เขาปรับปรุง พัฒนางานนั้น ๆ ได้ดีกว่าเดิม ก็ควรกล่าวคำชมในครั้งแรก ๆ ที่เห็นพัฒนาการของลูกที่ดีขึ้น แต่จะไม่ชมเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เรียกได้ว่าเป็นการชื่นชมเพื่อให้ลูกเกิดการพัฒนา ซึ่งการชื่นชมที่ดี คือ การชื่นชมอย่างเต็มที่เมื่อลูกกล้าที่ลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือ สิ่งที่ยากและท้าท้าย อย่างไรก็ตามการชื่นชมยังควรมีอยู่ แม้สิ่งนั้นลูกจะทำได้จนชำนาญ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสม ควรทำต่อไป
  • ชมแต่เรื่องสำคัญอย่าชมพร่ำเพรื่อ ให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการชม ว่าเราชมเขาเพื่อให้เขาก้าวหน้า และมีกำลังใจ การชมพร่ำเพรื่อยังทำให้ลูกรู้สึกถึงความไม่จริงใจต่อคำชมนั้น ๆ อีกด้วย

    ภาษากาย ก็เป็น คำพูดให้กำลังใจ แบบหนึ่ง
    ภาษากาย ก็เป็น คำพูดให้กำลังใจ แบบหนึ่ง
  • ชื่นชมด้วยความจริงใจ โดยใช้ภาษากายในการสื่อสาร เช่น สบตาชม ลูบหัว กอด ตบบ่า ชมด้วยการสัมผัสก็จะทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าเราจริงใจและคำชมก็จะเป็นพลังให้แก่ลูก
  • ในกรณีของเด็กเล็ก คำชมอาจจะเปลี่ยนเป็นเกมต่าง ๆ หรือการทำสติ๊กเกอร์ การให้ดาว การให้รางวัลที่ไม่ใช่การให้สินบน แต่เป็นการจูงใจให้เขาอยากทำในสิ่งที่ดี ๆ ที่พ่อแม่แนะนำ แล้วพอเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้เราก็จะไม่ต้องมีกติกาต่าง ๆ เพราะเขาจะปรับเปลี่ยนไปเองจนเกิดความเคยชิน และเป็นเด็กดีทำตามหน้าที่ไปโดยธรรมชาติ การให้รางวัลจะมีจุดมุ่งหมายทำให้เด็กเห็นความก้าวหน้าและพัฒนาเปลี่ยนนิสัย
  • เลือกชมที่ความพยายาม ความตั้งใจของลูก มากกว่าการชมที่ผลลัพธ์ เพราะในบางครั้งเขาอาจจะพลาดหวังจากสิ่งที่ตั้งใจ คำชมของคุณพ่อคุณแม่ก็จะช่วยเป็นกำลังใจให้เขาลุกขึ้นมาสู้ต่อได้ เช่น คะแนนสอบคราวนี้หนูพยายามได้ดีมากลูก แม่ชอบที่หนูตั้งใจอ่านหนังสือ เป็นการชี้บอกชัดเจนไปเลยว่าพ่อแม่ชอบพฤติกรรมไหน เขาจะได้เรียนรู้ที่จะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำ ๆ รักษาพฤติกรรที่พ่อแม่ชอบไว้ตลอดไป
  • อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ยังได้แนะนำเทคนิควิธีเฉพาะ โดยแนะนำให้ใช้วิธีนำลูกย้อนถึงความพยายามของตัวเอง อาจจะใช้วิธีตั้งคำถามทำให้เห็นความพยายามของเขาว่าทำอย่างไรถึงได้ผลที่ดี อาทิ ลูกภูมิใจไหม ที่สอบได้ที่ 1 หนูทำยังไงเนี่ย หรือบอกให้ลูกฟังว่าแม่ภูมิใจทำให้เขารู้ว่าคนที่เขารักภูมิใจในตัวเขา เช่น ประโยคง่าย ๆ หนูน่ารักจังเลยวันนี้หนูช่วยแม่เก็บจาน ทำให้เขารู้ว่าเขาจะต้องพัฒนาตัวเองไปในทางไหน

…ที่สุดในโลก คำติดปาก แต่อาจสร้างปัญหาให้ลูกได้

อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวให้ข้อคิดเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ไว้ว่า

“การชมลูกด้วยคำพูดปิดท้ายประโยคว่าที่สุดในโลก เช่น เก่งที่สุดในโลก หรือ ดีที่สุดในโลก หากชมนานๆ ครั้งก็คงไม่เกิดผลอะไร แต่หากติดปากพูดเป็นประจำก็อาจทำให้เด็กหลงคิดว่าตนเองเก่งและดีที่สุดในโลกจริงๆ จนยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรืออาจคิดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอ อาจทำให้เกิดปัญหาด้านทักษะการเข้าสังคมในอนาคตได้”

ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีปัญหาการเข้าสังคม
ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีปัญหาการเข้าสังคม

เพราะคำว่า “ที่สุดในโลก” นั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานคำชมจากความเป็นจริง ไม่มีใครจะเก่งไปทุกเรื่อง และเป็นที่สุด ทำให้ลูกอาจคิดเข้าใจไปได้ว่าความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อเขานั้นสูง จะเป็นการไปสร้างความกดดันต่อลูกเพิ่มเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ จึงอยากแนะนำให้ชื่นชมลูกที่หลักการง่าย ๆ เพียง 2 คำ คือ จริงใจ(ชมลูกและพ่อแม่ก็รู้สึกอย่างที่ชมจริง ๆ ) ชัดเจน(ไม่ชมแบบกว้าง ๆ บอกพฤติกรรมของลูกที่เราชอบไปพร้อมกับคำชมด้วย)

เด็กขาดคำชม จะเป็นอย่างไร?

  • ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง มักคิดแต่ว่าตัวเองไม่ดีพอ

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การสร้าง Self Esteem ให้แก่เด็กนั้นช่วยเสริมสร้างให้เขามีพัฒนาการที่ดี พร้อมเรียนรู้ก้าวหน้าในสิ่งใหม่ ๆ แต่การจะได้มาซึ่งการเห็นคุณค่าในตนเองนั้น ย่อมต้องได้รับพื้นฐานทางจิตใจที่มั่นคงจากคนสำคัญของลูก นั่นคือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเอง เมื่อพ่อแม่ไม่เคยแสดงความชื่นชมลูก เมื่อเขาทำสิ่งใดสำเร็จบ่อย ๆ ครั้งเข้า ลูกจะรู้สึกได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น ไม่เป็นที่สนใจ ไม่เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ หรือเขาอาจยังไม่ดีพอสำหรับพ่อแม่ของเขา ก็จะรู้สึกท้อ และไม่อยากคิดทำอะไรด้วยตนเองอีกเลย

  • ไม่มั่นใจ และคิดว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นเสมอ

เมื่อเขาคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่เก่ง ก็เป็นพฤติกรรมที่สืบเนื่องตามมา การไม่มั่นใจในตนเอง คิดว่าตัวเองไม่สามารถทำได้ ด้อยกว่าผู้อื่นเสมอ นั่นก็มาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การที่พ่อแม่ไม่เคยชื่นชมลูกนั่นเอง ยิ่งโดยเฉพาะบางบ้านที่นอกจากไม่ได้ชมลูกแล้ว ยังชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นเสมอ โดยหวังว่าจะเป็นการผลักดันให้ลูกพัฒนาตนเองให้เหมือนกับคนอื่น แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะไม่ว่าลูกจะพยายามมากแค่ไหน ก็มักจะได้ยินคำจากปากพ่อแม่ว่ามีคนที่ดีกว่าเขาเสมอ ทำให้ลูกหมดกำลังใจ และเป็นความคิดติดตัวว่าเขาด้อยกว่าคนอื่น และไม่มีวันที่จะเป็นที่หนึ่งในสายตาพ่อแม่ อาจทำให้กลายเป็นคนกลัวการแข่งขัน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นได้ในอนาคต

  • พ่อแม่ไม่รัก

เรามักจะได้ยินเด็กบางคนพูดว่า พ่อแม่ไม่รัก ซึ่งเราต่างก็รู้ดีว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่รักลูกดั่งดวงใจ การแสดงออกของผู้ใหญ่ที่มักคิดเอาเองว่าลูกต้องรับรู้ได้เองถึงความรักที่พ่อแม่มีให้ไม่ต้องบอกกล่าวใด ๆ แต่ในโลกสำหรับเด็กแล้ว เขาต้องการความรักที่สัมผัสได้ เป็นความรักที่มาจากคำพูด การกระทำ การสัมผัส การแสดงออกที่พ่อแม่มีต่อเขาบ้าง ไม่ใช่ความรู้สึกในใจเพียงเท่านั้น คงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายหากความรักที่พ่อแม่มีให้ส่งไปไม่ถึงลูก ดังนั้นเพียงแค่กล่าวชื่นชมเขาบ้างก็คงไม่ยากเกิน และไม่ต้องกลัวลูกจะเหลิง ซึ่งมันดีกว่าการเข้าใจผิดว่าพ่อแม่ไม่รักมากกว่าเป็นไหน ๆ

เด็กที่ไม่เคยได้ คำพูดให้กำลังใจ นึกว่าพ่อแม่ไม่รัก
เด็กที่ไม่เคยได้ คำพูดให้กำลังใจ นึกว่าพ่อแม่ไม่รัก
  • ไม่เป็นตัวของตัวเอง ชอบทำตามผู้อื่น

เมื่อลูกไม่เห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว เขาย่อมจะไม่เป็นผู้คิดริเริ่ม หรือแม้แต่การคิดแย้งแตกต่างจากผู้อื่น เพราะการทำตามคนส่วนมากย่อมจะทำให้เขารู้สึกปลอดภัยกว่า ในเมื่อตัวเองคิดว่าตนเองไม่เก่ง ไม่มีความสามารถพอ ก็จะคอยแต่ทำตาม และคล้อยตามคนอื่นไม่เป็นตัวของตัวเอง และคิดเองไม่เป็น การที่เด็กไม่ได้รับคำชมจากพฤติกรรมที่เหมาะสม ก็ยิ่งทำให้เขาไม่ได้เรียนรู้ว่าเขาควรทำตัวอย่างไร แบบไหนที่เรียกว่าดี แบบไหนที่ไม่ควรทำ การชมในพฤติกรรมที่ดี ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม ก็จะเป็นการเรียนรู้ แยกแยะต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับลูก ทำให้เขาเรียนรู้ว่าจะแก้ปัญหา และต้องทำตัวอย่างไรต่อสถานการณ์นั้น ๆ อีกด้วย

  • เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดี ลูกก็ชมผู้อื่นไม่เป็นเช่นกัน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เด็กที่ไม่เคยได้รับคำชมจากคุณพ่อคุณแม่ ก็ย่อมไม่มีตัวอย่างที่ดีในการเลียนแบบพฤติกรรมอยู่แล้ว และเมื่อถึงวัยที่เขาต้องเข้าสังคม การไม่รู้จักชื่นชมผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะที่ดีในการเข้าสังคม ก็จะทำให้ลูกเกิดปัญหาได้เช่นกัน และเมื่อเขาถูกเปรียบเทียบตลอดเวลา ก็จะก่อให้เกิดความอิจฉา ที่เป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม และคอยบั่นทอนชีวิตลูกได้

เป็นอย่างไรกันบ้าง กับข้อดีมากมายของการกล่าวคำชมลูกที่วันนี้ เราได้นำมาฝากกัน และอยากขอย้ำเตือนถึงประโยชน์ของการชมลูกอีกครั้งด้วยคำกล่าวของ อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่กล่าวเตือนใจพ่อแม่ในเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ให้ทุกคนดังนี้

“การชื่นชมลูก ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็จะใช้เทคนิคไม่ถูกต้อง หรือบางบ้านก็จะไม่นิยมชื่นชมอะไรกันเลย ทั้งนี้ลูกน้อยก็จะโตมาแบบไม่รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง หรือรู้สึกดีกับตัวเองพอ ถ้าโตมาแบบไม่เคยรับความชื่นชมเขาจะโตมาแบบแสวงหาความรู้สึกดีจากสิ่งอื่น พอโตมาเป็นวัยรุ่นก็จะอยากให้ชื่นชม กับการมีดี ทำให้รู้สึกว่าตัวเองก็มีดีนะ แต่ดีจากสิ่งที่เป็นภายนอกมากกว่าที่จะดีจากภายใน เช่น ถือกระเป๋าราคาสูงก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง ใช้ของแบรนด์แนมก็รู้สึกดี มีคนมากดไลค์ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คก็รู้สึกดี แต่การชื่นชมลูกจะทำให้ลูกชื่นชม นับถือตัวเองจากภายใน”

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก rama.mahidol.ac.th/ komchadluek.net/thepotential.org

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up