ยอมแพ้ ผิดหวัง แม้เป็นความโชคร้ายที่ผ่านเข้ามา แต่ในความโชคร้ายครั้งนี้กลับเป็นโชคดีที่ พ่อแม่ไว้ใช้สอนลูกให้รู้จักทักษะการฟื้นตัว ล้มแล้วลุกให้ไว
โชคดีที่โชคร้าย!!เมื่อลูกต้อง ยอมแพ้ จงสอนลูกให้ล้มแล้วลุกไว
เคยได้ยินคำว่า “โชคดีที่โชคร้าย” กันไหม ทำไมความโชคร้าย ถึงจะเป็นเรื่องดีไปได้…หากคุณกำลังตั้งคำถามเหล่านี้กับคำกล่าวข้างต้นอยู่ เราขอให้คุณลองนึกตามมาว่า ในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ไม่มีทางที่เราจะประสบพบเจอแต่ความสมหวัง โชคดี ไปได้ตลอดเวลา แล้วทำไมเราถึงไม่เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีกันไปเลยเสียล่ะ
อุปสรรค ความผิดหวัง และเมื่อถึงคราวต้อง ยอมแพ้ สิ่งใดที่จะมาแปรเปลี่ยนให้เรื่องร้าย ๆ เหล่านี้กลับกลายมาเป็นดีได้กันนะ…เมื่อกล่าวมาถึงตอนนี้ คุณคงพอเริ่มเดาออกกันแล้วใช่ไหม? ถูกต้องแล้ว เพราะฮีโร่ของเราวันนี้ คือ Resilience Quotient (RQ)
Resilience Quotient ( RQ ) คือ อะไร?
คือ ความสามารถในการฟื้นตัว หรือ ความยืดหยุ่นทางจิตใจ เมื่อเจออุปสรรคหรือความท้าทาย จะกล้าเผชิญและไม่ยอมแพ้ เด็กทุกคนควรจะมีทักษะ ความสามารถที่จะทำงานผ่านความท้าทาย และรับมือกับความเครียดได้ ความยืดหยุ่นคือความสามารถในการฟื้นตัวจากความเครียด ความทุกข์ยาก ความล้มเหลว ความท้าทาย หรือแม้แต่ความบอบช้ำทางจิตใจ ไม่ใช่สิ่งที่เด็กทุกคนจะมีได้ บางคนอาจมีหรือไม่มี เป็นทักษะที่เด็ก ๆ พัฒนาขึ้นเมื่อโตขึ้น หรือได้รับประสบการณ์ในชีวิต
เด็กที่มีความยืดหยุ่นมักจะพบว่าพวกเขาไม่กลัวที่จะคาดหวัง พวกเขาช่างสงสัย กล้าหาญ และเชื่อมั่นในสัญชาตญาณของพวกเขา พวกเขารู้ขีดจำกัดของตนเอง และผลักดันตัวเองให้ก้าวออกจากเขตสบาย พื้นที่ปลอดภัยของตนได้ ซึ่งช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายในระยะยาว และช่วยให้พวกเขาแก้ปัญหาได้อย่างอิสระ
ในทางตรงกันข้าม หากเด็กขาดทักษะความยืดหยุ่นทางจิตใจจะทำให้เขาไม่สามารถรับมือกับความ ผิดหวัง และ ยอมแพ้ ต่อปัญหาเสียตั้งแต่ยังไม่ได้เผชิญกับมันเลยด้วยซ้ำไป
ความเครียดและทักษะความยืดหยุ่นทางจิตใจ
เป็นที่รู้กันดีว่า ความเป็นจริงพ่อแม่ไม่สามารถปกป้องลูกจากการต้องเผชิญกับความเครียด ปัญหา อุปสรรค ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ตลอดไป เด็กทุกคนต้องเผชิญกับความเครียดในระดับต่าง ๆ เมื่อโตขึ้น ซึ่งผู้ใหญ่บางคนอาจมองไม่เห็นว่า เด็กจะมีความเครียดได้อย่างไร
ความเครียดแบบเด็ก ๆ
หลาย ๆ คนอาจมีความเชื่อที่ว่า วัยเด็กเป็นวัยแห่งความสุข จึงทำให้มีแนวคิดว่า เด็กคงไม่มีความเครียดในชีวิตเป็นแน่ แต่แท้จริงแล้ว ความเครียดในแบบเด็ก ๆ นั้นมีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว และที่สำคัญเป็นเรื่องใหญ่มากก…..ก.ไก่ล้านตัวสำหรับเด็กเสียด้วย เพราะขึ้นชื่อว่าเด็กแล้ว ประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา หรือรับมือต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบจิตใจนั้น มักเป็นเรื่องใหม่เสมอ ด้วยอายุที่ยังน้อยของพวกเขา ดังนั้นแล้วความเครียดสำหรับเด็กจึงไม่ใช่เรื่องเล็กเอาเสียเลย ตัวอย่างความเครียดในแบบเด็ก ๆ เช่น
- ป่วย
- ย้ายบ้านใหม่ เจอสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ
- ทะเลาะกับเพื่อน
- เจอคนบุลลี่ทั้งในโรงเรียน และในโลกโซเซียล
- เผชิญกับปัญหาหย่าร้างของพ่อแม่
และอีกมากมาย สารพันปัญหาที่ในสายตาของผู้ใหญ่ดูจะเล็กน้อย แต่สำหรับเด็กแล้วคงไม่ใช่ สิ่งที่จะช่วยให้เด็กก้าวผ่านอุปสรรค และปัญหาเหล่านี้ไปด้วย คงต้องใช้ทักษะความยืดหยุ่น ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจสถานการณ์ที่ตึงเครียดเหล่านี้ เมื่อเด็กๆ มีทักษะ และความมั่นใจในการเผชิญหน้า และแก้ไขปัญหา พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าพวกเขามีสิ่งที่จะเผชิญกับปัญหายากๆ ยิ่งพวกเขารับมือ จัดการกับปัญหานั้นได้ด้วยตัวเองมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งเข้าใจข้อความที่ว่าตนแข็งแกร่ง และมีความสามารถมากเท่านั้น
กลยุทธ์เพื่อสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ
พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูก ๆ สร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ และเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนได้ โดยการสอนให้แก้ปัญหาด้วยตนเอง แม้ว่าในใจของพ่อแม่แทบอยากจะกระโดดเข้าไปช่วยเพื่อที่ลูกจะได้ไม่ต้องรับมือกับความรู้สึกไม่สบาย แต่จริง ๆ แล้วสิ่งนี้กลับทำให้เป็นปัญหาต่อลูกได้มากกว่า ความยืดหยุ่นทางจิตใจของลูกก็จะลดลง เด็กจำเป็นต้องประสบกับความรู้สึกไม่สบายเพื่อที่จะได้เรียนรู้การทำงาน และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของตนเอง หากไม่มีทักษะนี้ เด็กๆ จะรู้สึกวิตกกังวล และปิดตัวลงเมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก
บันได 5 ขั้น ในการสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ ( RQ ) ให้ลูก
เรามักพบว่าเด็กที่สามารถมีความยืดหยุ่นทางจิตใจได้ดี มีสุขภาพจิตที่ดี เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามา หรือเมื่อพบกับความพ่ายแพ้ ผิดหวัง มักจะมาจากพื้นฐานครอบครัวที่มีบรรยากาศภายในครอบครัว ดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 มีสายสัมพันธ์ที่ดี : พ่อแม่มีอยู่จริง
“การใช้เวลากับลูกจะให้ประโยชน์ระยะยาว เช่นเดียวกับการทำตรงกันข้าม ก็จะสร้างผลสะท้อนกลับในระยะยาวเช่นกัน”
Quote ที่มา เพจ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ขั้นที่ 2 เปิดโอกาสให้ลูกได้ลงมือทำ
เมื่อลูกได้ลงมือทำ พ่อแม่ไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์ แต่เป็นวิธีคิดที่จะให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ต่างหาก ที่เราต้องการให้ลูกได้เรียนรู้ และนอกจากสิ่งเหล่านี้ ส่วนสำคัญที่สุดของขั้นตอนนี้ คือ การไว้ใจซึ่งกันและกัน ลูกจะรับรู้ได้ถึงความไว้ใจ ความเชื่อใจของพ่อแม่ที่มีต่อเขา และเขาจะส่งต่อความไว้ใจนั้นกลับมาที่พ่อแม่เช่นกัน ลูกจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่คือคนที่เขาไว้ใจได้ ไม่ซ้ำเติม คอยช่วยเหลือ
ขั้นที่ 3 สร้างการรับรู้คุณค่าในตนเองของลูก
การชมลูก สำหรับเด็กยังคงเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อพ่อแม่ชื่นชมเขา จะทำให้ลูกรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น เทคนิคชมลูกให้ได้ผลดี ง่ายๆ มีดังนี้
- ชมอย่างจริงใจ
- ชื่นชมจากภาษากาย เช่น กอด หอมแก้ม ลูบหัว
- ชมทันที่ที่ลูกทำ
- ชื่นชมที่การกระทำไม่เน้นชมที่ผลลัพธ์ เช่น ลูกวาดรูปสวยจัง ให้เปลี่ยนเป็น ลูกมีความพยายามวาดจนเสร็จ แม่ภูมิใจจัง
- ชมโดยไม่นำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
ขั้นที่ 4 สร้าง Self-control ฝึกลูกรู้จักควบคุมตนเอง : ฝึกลูกให้รู้จักลำบากก่อนสบายทีหลัง
ช่วงเวลาอายุ 4-7 ปี เป็นช่วงเวลาที่ควรใช้ในการฝึกให้ลูกรู้จักการ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน รู้จักลำบากก่อนสบายทีหลัง ความสามารถในการควบคุมตนเอง สามารถเกิดขึ้นได้จากการปลูกฝัง และฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์ ฝึกการรอคอย เพื่อให้ลูกรู้จักต่อการอดทนต่อสิ่งเร้า
ขั้นที่ 5 ล้มแล้วลุก
การปล่อยให้ลูกได้เผชิญกับ ความพ่ายแพ้ ให้เขารู้จัก ยอมแพ้ แม้จะดูเหมือนเป็นโชคร้าย แต่ความจริงแล้วเป็นโชคดีที่เราพ่อแม่จะได้ใช้โอกาสในการสอนลูกให้รู้จักการยอมรับ และพร้อมลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ล้มแล้วลุกให้ไว ทำให้ลูกเกิดทักษะด้าน Resilience Quotient ความยืดหยุ่นทางจิตใจ
หลักการประเมินว่าลูกมี RQ (Resilience Quotient) หรือไม่
การที่จะปลูกฝังบ่มเพาะเด็กให้เติบโตมาเป็นคนที่อดทน และรับมือกับวิกฤตได้ แถมยังสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นภายหลังเหตุการณ์ร้ายนั้นผ่านไป พ่อแม่สามารถพิจารณาตามเงื่อนไข ดังนี้
- เด็กที่มี RQ มักจะเป็นเด็กที่สามารถบอกเล่า ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ ชอบพูดคุย
- เด็กที่มี RQ มักเป็นเด็กที่เข้าใจ เห็นใจ และเห็นแก่คนอื่นบ้าง ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง
- พวกเขามักจะคิดและแก้ปัญหาที่ไม่ซับซ้อนได้ด้วยตนเอง
- เป็นเด็กที่ให้ความสนใจ มีความรับผิดชอบการเรียน
- เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ของโรงเรียน
- เป็นเด็กที่มีความหวัง มีภาพอนาคต เช่น โตขึ้นจะเป็นอะไร
- มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น มีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดไว้วางใจ อบอุ่นใจกับผู้ใหญ่ เช่น พ่อ แม่พี่ หรือปู่ย่าตายาย คนใดคนหนึ่ง อย่างน้อยหนึ่งคน หรืออาจกล่าวว่า มีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
ความยืดหยุ่นช่วยให้เด็ก ๆ สำรวจอุปสรรคที่พวกเขาพบเมื่อโตขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถหลีกเลี่ยงความเครียด แต่การมีความยืดหยุ่นทางจิตใจเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับมัน
ข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือเปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี / FB: ตามใจนักจิตวิทยา/www.psycom.net
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อ่าน! 3 เทคนิคเชิงบวกฝึกลูกเล็ก ควบคุมอารมณ์ โตไปไม่ก้าวร้าว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่