ลูกกตัญญู คือ แบบไหน แบบที่ให้เงินพ่อแม่ใช้ไม่ขาดตามใจไม่เกี่ยง หรือแบบที่ให้ความเคารพเชื่อฟัง ความกตัญญูในมุมเด็กรุ่นใหม่คือร่วมรับฟัง ปรับตัวก่อนเกิดวิกฤต
ลูกกตัญญู คือ แบบไหน ประเด็นดังสังคมที่ควรมีคำตอบ!!
ประเด็นสังคมเกี่ยวกับเรื่อง ลูกกตัญญู คือ แบบไหน เมื่อ “หมอของขวัญ” หรือแพทย์หญิงของขวัญ ฟูจิตนิรันดร์ วินธุพันธ์ ได้แสดงความคิดเห็นถึงพิมรี่พาย หรือ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ ว่ามีความกตัญญู เท่าที่ได้เคยสัมผัส บอกว่าเขาเคยเอาเงิน 5 ล้านไปกองให้พ่อแม่ นั่นคือกตัญญู คุณทำอย่างเขาได้ไหม? ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันถึงหัวข้อดังกล่าวว่า สรุปแล้วความกตัญญูวัดได้ด้วยเงิน…จริงหรือ?
ขณะที่ “ฟลุ๊คกะล่อน” เน็ตไอดอลชื่อดัง ก็ได้โพสต์ไอจีสตอรี่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีดังกล่าวว่า ทุกคนภาระไม่เท่ากัน ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน สิ่งที่คุณหมอพูดคือกำลังตอกย้ำความล้มเหลวของประเทศนี้มาก ๆ ที่โตมาต้องเอาเงินให้พ่อให้แม่ จะได้ถูกเรียกว่ากตัญญู ทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง อย่าเอาคำว่ากตัญญูมาพูดให้คนอื่นดูเป็นคนไม่รักพ่อแม่ …ปัจจุบันไม่ต้องพูดถึงเงินที่เอาไปกองให้พ่อแม่ แค่เอาชีวิตให้รอดในแต่ละวันให้ได้ก็ถือว่ายากแล้ว
ภายหลัง หมอของขวัญก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Doctorkatekate ระบุข้อความขอโทษต่อเรื่องดังกล่าวแล้ว และรับปากว่าจะในอนาคตจะคิดให้รอบด้านกว่านี้ก่อนสัมภาษณ์
ความกตัญญู คุณธรรมที่กำลังบิดเบี้ยวในยุคใหม่!
ในสมัยก่อนที่สังคมไทยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่อยู่ในจิตใจของคนไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยสภาพสังคมของการอยู่ร่วมกัน เช่น ลูกได้เห็นพ่อแม่แสดงความกตัญญูต่อปู่ย่า ตายาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงส่งต่อความคิดอ่าน คุณธรรมจากรุ่นมาสู่อีกรุ่นได้อย่างไม่ยากนัก
เมื่อยุคสมัย และวิวัฒนาการของโลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ค่านิยม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การแยกครอบครัวออกไปไม่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ การให้ความสำคัญกับวัตถุสิ่งของมากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมของความกตัญญู (Culture of gratitude) เริ่มลดความสำคัญลง หรือแปรเปลี่ยนยึดถือความกตัญญูจากวัตถุสิ่งของ หรือเงินทองที่มอบให้พ่อแม่เท่านั้น กระแสสังคมของคนรุ่นใหม่บางส่วนเห็นว่า ความกตัญญูเป็นภาระของชีวิต เราพบผู้สูงอายุที่ถูกละเลยจากคนในครอบครัว มีปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจ และถูกทอดทิ้ง ข้อมูลสถิติจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม ปี 2018 ระบุว่า มีผู้สูงอายุสูญหาย เร่ร่อน เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ในรอบ 3 ปี และถูกทำร้ายเพื่อเอาประโยชน์โดยคนในครอบครัวเพิ่มขึ้น 1,000 เท่า ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา
百善孝为先 – อันคุณธรรมทั้งปวง ความกตัญญูคืออันดับแรก
สำหรับชาวจีนแล้วนั้น ความกตัญญูเป็นหัวใจหลักของวัฒนธรรมชาวจีนมาโดยตลอด ในสมัยราชวงศ์ฮั่น การคัดเลือกข้าราชการในวัง ความกตัญญูถือเป็นคุณสมบัติที่จะทำให้ได้รับตำแหน่งข้าราชการใหญ่โต โดยเชื่อกันว่า กตัญญู คือ มาตรฐานวัดคน เพราะความกตัญญู คือ เครื่องมือที่สร้าง “แรงผลักดัน” ให้บุคคลที่ยึดถือไว้นั้นเกิดคุณธรรมในข้ออื่น ๆ ตามมา เช่น ความขยันหมั่นเพียร เสียสละ ซื่อสัตย์ เป็นต้น
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะความกตัญญูที่เรามีต่อพ่อแม่นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การเชื่อฟังคำสั่ง เป็นเด็กดี หรือให้เงินทองมากมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการที่ลูกอยากมีอนาคตที่ดี เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่ หรือจะเรียกได้ว่า ความกตัญญู ทำให้เกิดการลงมือทำ การพัฒนาตนเองให้ดีเพื่อตอบแทนพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรามานั่นเอง
กตัญญูเป็นเสมือนรักแรก และรักแท้ที่นําทางให้เราก้าวไปสู่การดําเนินชีวิตที่ถูกที่ควร เป็นจุดเริ่มต้นของคุณธรรมแห่งความดีทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด และทุกคนทำได้
ลูกกตัญญู คือ แบบไหน?
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้กัน เราลองมาทำความเข้าใจกับคำว่า “กตัญญู” กันเสียหน่อย ความกตัญญู คือ การตอบแทนให้กับพฤติกรรม ความดี ความปรารถนาดี และความรู้สึกดี ๆ ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีให้กับเรา โดยปราศจากการเรียกร้องใด ๆ จากเขา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะได้รับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จากพ่อแม่ แต่ก็มิได้หมายความคำว่า กตัญญู จะใช้แค่กับเพียงพ่อแม่เท่านั้น เราหมายรวมถึงทุกคนที่ทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้ต่างหาก
“ลูกเกิดจากความต้องการของพ่อแม่เพียงฝ่ายเดียว ลูกไม่ได้ขอเกิด เมื่อคุณสร้างเขาขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองในการให้การเลี้ยงดูลูก พ่อแม่ไม่ได้ถือว่ามีบุญคุณต่อกัน เข้าใจเสียใหม่ด้วย”
จากข้อคำถามข้างต้น จึงเป็นคำตอบได้ว่า ความกตัญญูรู้คุณนั้น เป็นคุณธรรมประจำใจของมนุษย์ หากเรารู้สึกรู้ในบุญคุณแล้ว การตอบแทน การกตัญญูรู้คุณแก่พ่อแม่ก็จะเป็นพฤติกรรมที่ตามมา ทำด้วยใจนั่นเอง ไม่ต้องมีรูปแบบ ไม่ต้องมีการประเมินค่า
10 วิธีสอนให้ลูกเป็นคนกตัญญู
การปลูกฝังให้เด็กรู้จักคุณธรรมในด้านความกตัญญูเสียตั้งแต่เล็ก ๆ เป็นอีกหนทางที่จะช่วยให้สังคมดำรงอยู่กันต่อไป ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และเจริญก้าวหน้า เพราะทุกคนต่างมีแรงผลักดันที่อยากทำให้ชีวิตของตัวเองเป็นชีวิตที่ดี เพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ดังนั้น ทีมแม่ ABK ขอยกตัวอย่างการสอนลูกให้เป็นคนกตัญญูมา 10 หัวข้อ ดังนี้
1.เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก
เมื่อเรากตัญญูลูกจะทำตาม หากพ่อแม่ยึดถือหลักธรรมใดเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตแล้ว ย่อมเกิดการประพฤติปฎิบัติออกมาเช่นนั้น การที่ลูกได้เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่นั่นคือ การสอน และปลูกฝังให้แก่ลูก ที่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว
2. เงินไม่ใช่ตัวแทนความกตัญญู
ปัจจัยภายนอกไม่สามารถทดแทนความต้องการด้านจิตใจได้ การดูแลพ่อแม่ไม่ใช่แค่การให้เงินกองโตมากองตรงหน้า หรือข้าวของเครื่องใช้แพง ๆ แต่การที่พ่อแม่ดีใจในสิ่งของเหล่านั้น เพราะมันเป็นตัวแทนความสำเร็จของลูกที่พ่อแม่ภาคภูมิใจต่างหาก แค่เราพูดจา ท่าทาง สีหน้าที่ดีต่อท่าน เมื่อลูกได้เห็นก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเขาเช่นกัน
3. ทำตัวให้เป็นคนดีของสังคม
เป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคม การที่เรามีประโยชน์ต่อสังคม ช่วยให้สังคมดีขึ้น ก็เป็นการสร้างชื่อเสียง และแสดงความกตัญญูให้กับพ่อแม่อีกทางหนึ่ง แถมยังเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตให้แก่ลูกได้อีกด้วย
4. สร้างโอกาสเพิ่มสายสัมพันธ์ในครอบครัว
ปัจจุบันค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ครอบครัวไม่ได้อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ แยกกันออกมา ดังนั้น เราควรพาลูก ๆ ไปพบปะ พูดคุย สร้างความคุ้นเคยกับปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง เพราะความกตัญญูจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากสายสัมพันธ์
5. ใช้หลักเหตุผล ประนีประนอมต่อพี่น้อง ญาติมิตร
ไม่ทะเลาะกัน เป็นตัวอย่างของการพูดคุยในหมู่พี่น้อง เครือญาติ แม้มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือไม่เข้าใจกันก็ใช้หลักเจรจาพูดคุยไม่ใช้อารมณ์
6. ให้อภัยกันและกัน
ไม่โกรธให้อภัยพ่อแม่ ไม่เก็บมาคิดน้อยใจ เสียใจ มนุษย์เรามักจะลืมให้ความสำคัญกับคนใกล้ตัว กับพ่อแม่ก็เช่นกัน ท่านเป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ย่อมมีการผิดพลาดไปบ้าง เราสามารถให้อภัยกับผู้อื่นได้ แล้วเหตุใดจะให้อภัยกับพ่อแม่ไม่ได้เล่า
7. สอนความกตัญญูผ่านประเพณีวัฒนธรรมของไทย
สังคมไทยเรามีประเพณีวัฒนธรรมมากมายที่เน้นเรื่องของความกตัญญูรู้คุณ เช่น วันสงกรานต์ หลักสำคัญของวันนี้ คือการกลับไปพบญาติผู้ใหญ่ รดน้ำดำหัวขอพร เราควรสืบสานประเพณีอย่างครบถ้วน ไม่ควรเลือกแต่ความสนุกเท่านั้น
8. ดูแลพ่อแม่ในยามที่มีชีวิตอยู่ ดีกว่าทำตอนท่านจากไป
บางคนอาจละเลยคิดว่าวันเวลาดังกล่าวยังอีกไกลมาไม่ถึง แต่โลกไม่แน่นอน ดังนั้นเราสามารถดูแลพ่อแม่ให้ท่านสุขใจได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ควรรอคอย อย่าให้ท่านจากไปแล้วค่อยคิดที่จะดูแลท่าน เอาของดี ๆ มาเซ่นไหว้ท่านก็จะช้าเกินไป ลูกจะได้เข้าใจด้วยว่ากตัญญูไม่ใช่รอวันพ่อแม่แก่เฒ่าเท่านั้น
9. สอนลูกให้กตัญญูไม่เพียงแค่พ่อแม่
ความกตัญญูไม่ได้ผูกขาดเพียงแค่การกระทำที่มีต่อพ่อแม่เท่านั้น สำหรับผู้ที่ให้ความปรารถนาดี ให้ความช่วยเหลือ แก่ลูก พ่อแม่ก็สามารถสอนให้เขารู้จักกตัญญูได้ด้วยเช่นกัน เช่น ครูบาอาจารย์ เป็นต้น
10. สอนความกตัญญูผ่านนิทาน
ปัจจุบันมีนิทานที่มีสีสันสวยงาม และมีแง่คิดคุณธรรมสอนใจมากมาย สำหรับเด็กเล็กเราสามารถสอนเรื่องหลักยาก ๆ ผ่านตัวละครในนิทาน จะทำให้เขาเห็นภาพ และเข้าใจได้ถ่องแท้มากขึ้น เวลาเกิดเหตุการณ์คล้ายในนิทานลูกจะจำตัวแบบจากตัวละครได้ทันที
คำว่า กตัญญู เป็นคำที่ใกล้ตัว แต่ก็ต้องกลับมาตีความหมายกันอยู่เสมอ ๆ ในสังคมมนุษย์ การตอบแทนบุญคุณ การแสดงความกตัญญูจึงปรากฎให้เห็นได้ในหลากหลายรูปแบบไม่ตายตัว ดังนั้น เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณลองถามตัวเองดูว่า ลูกกตัญญู คือ แบบไหน ในแบบของคุณ!!
ข้อมูลอ้างอิงจาก mgronline.com/www.relations.tu.ac.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
สอนลูกให้คิดเป็น ฝึกฝนการเจออุปสรรค เพื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่