หาก หมด passion ในชีวิตง่าย ๆ ทำอะไรก็ไม่สุดไปสักทาง คงไม่ดีแน่กับลูก ที่โตมาในยุคที่อะไรก็รวดเร็ว มาไวไปไว ชวนดูวิธีที่ทำให้ลูกไม่ย่อท้อ สู้แม้อุปสรรคขวาง
ไม่อยากให้ลูกเป็นคน หมด passion ง่าย ๆ พ่อแม่ต้องทำสิ่งนี้!!
ในโลกแห่งการทำงาน คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินคำว่า “หมด passion” กันมาหลายครั้ง แต่รู้ไหมว่าเด็กก็หมด passion กันได้เหมือนกันนะ
บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักจะเจอปัญหา ชวนลูกออกไปหากิจกรรมอื่น ๆ ทำกันนอกจากการที่วัน ๆ เอาแต่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน แล้วพบว่าลูกไม่เคยตอบรับ หรือให้ความสนใจที่จะออกไปหากิจกรรมอื่น ๆ ทำกันเลยใช่ไหมล่ะ? เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น…
Passion หมายถึงอะไร ?
Passion (แพชชั่น) เป็นคำภาษาอังกฤษที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Pati ซึ่งมีความหมายว่า To Suffer , Pain แปลความหมายได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับบริบทที่จะนำไปใช้ แต่หลักๆ ก็คือ ความเจ็บปวด ความทุกข์ ดังนั้นจึงแปลเป็นไทยได้ว่า ความกระตือรือร้นจากความเจ็บปวดหรือความเกลียด กลายเป็นแรงผลักดันจากภายใน ให้เราทำบางสิ่งบางอย่าง หรือในความหมายว่า ความหลงไหล Passion ก็คือ แรงผลักดันจากภายในให้เราทำบางอย่าง เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการหรือปราถนาเกิดขึ้น
ถ้าใช้ในเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน การมุ่งสู่ความสำเร็จ Passion ก็จะหมายถึง ความกระตือรือร้น การมีแรงผลักดันที่จะทำสิ่งที่ตั้งใจนั้นให้สำเร็จ
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.si-englishbkk.com
เมื่อลูกหมด Passion จะเป็นอย่างไร
- คิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ออก ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากสมองรู้สึกไม่สบายผ่อนคลาย ไม่มีความรู้สึกสนุก สมองรู้สึกถูกบีบบังคับ ไร้ทางออก มองเห็นอะไรก็เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ ไม่เห็นโอกาส ไม่สามารถคิดอะไรใหม่ ๆ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับเด็ก เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่ต้องได้รับการฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ เป็นวัยที่มีจินตนาการ เมื่อเขากลัว ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เข้ามาระหว่างทางทำให้ลูกไม่กล้าลองทำสิ่งแปลก ๆ แตกต่างที่อาจจะมีความสำเร็จรอเขาอยู่อีกไม่ไกล แต่เพราะเขาล้มเลิกไปเสียก่อน
- ทำงานแค่ให้เสร็จแต่ไม่สำเร็จ คนหมด Passion จะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เพียงงานจบ ปราศจากความใส่ใจ ปราศจากความพยายามความคิดที่อยากจะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเลิศ เป็นที่หนึ่ง หรือมักจะทำตาม ๆ กันมา (ลอกเพื่อน) ไม่มีความคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง
- เครียด เหน็ดเหนื่อย หมดพลัง คนหมด Passion จะรู้สึกหมดสนุก เบื่อหน่ายกับสิ่งที่ทำอยู่ ส่งผลทางร่างกายที่เกิดความรู้สึกไม่ผ่อนคลาย เครียด สร้างพลังและทัศนคติลบ รู้สึกว่างานที่รับผิดชอบอยู่นี้เยอะเกินไป ไม่สามารถรับมือกับการบ้าน หรือภาระงานที่เพิ่มขึ้นหลังจากนี้ได้อีกแล้ว จึงทำให้ไม่คิดที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา เพราะคิดว่าแค่หน้าที่ เช่น การเรียน ก็หนักหนาสำหรับเขาเสียแล้ว
ช่วยลูกค้นหา passion!!
แรงจูงใจ(Motives) คือ แรงผลักดันที่เกิดจากความต้องการมากระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรม เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางหรือเป้าหมาย
แรงจูงใจ มีลักษณะสำคัญ ดังต่อไปนี้
- เป็นพลังงานที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรม
- เป็นตัวกำหนดทิศทางและเป้าหมายของพฤติกรรม
- เป็นตัวกำหนดระดับของความพยายามในการแสดงพฤติกรรม
ดังนั้นแรงจูงใจจึงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิด passion ของลูกได้ ซึ่งแรงจูงใจของมนุษย์นั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ และก่อให้เกิดพฤติกรรมแตกต่างกันไป ดังนี้
- เป้าหมายอยู่ที่ผลงาน : แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Achievement Motive) หมายถึง แรงจูงใจที่เป็นแรงขับให้คนเราพยายามที่จะทำกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จตามมาตรฐานความเป็นเลิศ (Standard of Excellence) ที่ตนตั้งไว้ บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จะไม่ทำงานเพราะหวังรางวัลแต่ทำเพื่อจะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ก่อให้เกิดบุคลิกภาพ และพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้ เป็นผู้ที่ตั้งระดับความคาดหวังไว้สูง มีความรับผิดชอบ ทะเยอทะยาน อดทน รู้จักวางแผน เป็นต้น
- เน้นการเป็นที่ยอมรับ : แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ (Affiliative Motive) ผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ มักจะเป็นผู้ที่โอบอ้อมอารี เป็นที่รักของเพื่อน มีลักษณะเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเมื่อศึกษาจากสภาพครอบครัวแล้วผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์มักจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่น บรรยากาศในบ้านปราศจาก การแข่งขัน พ่อแม่ไม่มีลักษณะข่มขู่ พี่น้องมีความรักสามัคคีกันดี เมื่อทำสิ่งใด เป้าหมายก็เพื่อได้รับการยอมรับจากกลุ่ม
- ชอบเป็นผู้นำ : แรงจูงใจใฝ่อำนาจ (Power Motive) สำหรับผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่อำนาจนั้น พบว่า ผู้ที่มีแรงจูงใจแบบนี้ส่วนมากมักจะพัฒนามาจากความรู้สึกว่า ตนเอง “ขาด” ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องการ อาจจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ทำให้เกิดมีความรู้สึกเป็น “ปมด้อย” เมื่อมีปมด้วยจึงพยายามสร้าง “ปมเด่น” ขึ้นมาเพื่อชดเชยกับสิ่งที่ตนเองขาด ทำให้มีบุคลิกชอบเป็นผู้นำ แสวงหาชื่อเสียง
- ความคิดตนเป็นใหญ่ : แรงจูงใจใฝ่ก้าวร้าว (Aggression Motive) ผู้ที่มีลักษณะแรงจูงใจแบบนี้มักเป็นผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมากเกินไป บางครั้งพ่อแม่อาจจะใช้วิธีการลงโทษที่รุนแรงเกินไป ดังนั้นเด็กจึงหาทางระบายออกกับผู้อื่น หรืออาจจะเนื่องมาจากการเลียนแบบ บุคคลหรือจากสื่อต่าง ๆ ทำให้เป็นคนที่ถือความคิดเห็นหรือความสำคัญของตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังคนอื่น
- เป็นผู้ตาม ไม่มั่นใจตนเอง : แรงจูงใจใฝ่พึ่งพา (Dependency Motive) สาเหตุของการมีแรงจูงใจแบบนี้ก็เพราะการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ทะนุถนอมมากเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเอง ทำให้เกิดบุคลิกภาพชอบพึ่งพาคนอื่น ไม่มั่นใจ ลังเล
ทำอย่างไรให้ลูกไม่หมด passion ง่าย ๆ
การที่ลูกจะค้นพบตัวตน ค้นพบสิ่งที่เข้าชื่นชอบ ทำแล้วรู้สึกตื่นเต้น สนุกจนจบได้นั้น ลูกคงต้องได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย ได้พบเจอสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้มาก ๆ แล้วการค้นพบความชอบของตัวเองจะง่ายขึ้น เมื่อเขารู้จักสิ่งที่ตัวเองชอบแล้ว การที่ลูกจะมีแรงผลักดันในการทำกิจกรรมใด ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก พ่อแม่จึงควรพาลูกออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้ลูกเลือกทำกิจกรรมด้วยตัวเอง และคอยสังเกตว่า ลูกตื่นเต้น มุ่งมั่น และมีความสุขกับกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อเก็บเป็นลิสต์กิจกรรมที่ลูกชื่นชอบ และหาโอกาสส่งเสริมต่อไป
ความผิดหวังไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไป ในบางกิจกรรมแม้ว่าลูกจะชื่นชอบ แต่ก็ต้องใช้ความพยายามมากกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ ระหว่างทางอาจจะต้องเจอะเจอกับความผิดหวัง หรือเผชิญกับความรู้สึกว่าจะไปต่อดีไหม เช่น ชอบเล่นดนตรี แต่ฝึกเท่าไหร่ก็ไม่เก่งเท่าเพื่อนสักที พ่อแม่ควรให้รู้ได้รับรู้ความจริง และให้เขาเผชิญกับความผิดหวัง โดยคุณแม่ฝึกให้เขายอมรับ และให้เขาเป็นคนตัดสินใจว่าจะเลือกทางใด จะไปต่อ หรือพอแค่นี้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยชี้แนะแนวทางได้ เช่น หากยังชอบเล่นดนตรี เขาสามารถฝึกให้หนักขึ้น เพราะคนเราถนัดไม่เหมือนกัน จึงไม่จำเป็นที่เพื่อนฝึกเท่าลูก แล้วจะต้องเก่งเท่ากัน หรือ ลูกอาจจะเล่นดนตรีเพื่อความผ่อนคลาย ความชอบดังนั้นก็ไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เป็นต้น