เล่นกับลูกไม่เป็น ไม่ต้องกังวล เรามีกิจกรรมดี ๆ โดน ๆ เหมาะสมกับแต่ละวัยของลูก แถมสร้างสรรค์มาฝากกัน เพราะต่างรู้ดีว่าการเล่นเป็นบ่อเกิดแห่ง IQ EQ และ EF
เล่นกับลูกไม่เป็น เราช่วยได้!! กับกิจกรรมเล่นดี สมวัย สร้างสรรค์
งานของเด็ก คือ การเล่น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น??
การเล่น ไม่ใช่เป็นเรื่องไร้สาระสำหรับเด็ก เนื่องจากว่าการเล่นคือการเรียนรู้ตามวัยที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ เสริมสร้างจินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็น และกระตุ้นพัฒนาการครบทั้ง 4 ด้านให้แก่เขา นอกเสียจากประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว ประโยชน์อีกด้านของการเล่น ที่หากพ่อแม่หาเวลาลงมา เล่นกับลูก แล้ว ยังมีประโยชน์ที่สำคัญมากอยู่อีกสิ่งหนึ่ง คือ การเล่นทำให้เกิด พ่อแม่ที่มีอยู่จริง
พ่อแม่ที่มีอยู่จริง สำคัญอย่างไร?
พ่อแม่บอกรักลูกผ่านการเล่น กอด อุ้ม หอม เล่านิทาน และพูดคุยกับลูกแม้ในวันที่เขายังไม่รู้ภาษาก็ตาม การปรากฏตัวของพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอและตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของลูก ทำให้เด็กรับรู้ว่า ‘พ่อแม่มีอยู่จริง’ และเขาสามารถเชื่อใจพ่อแม่ได้ ซึ่งความเชื่อใจดังกล่าวจะพัฒนาไปสู่ความเชื่อใจที่มีต่อโลกภายนอกในเวลาต่อมา ในทางกลับกันหากพ่อแม่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของลูก หรือมีเวลาคุณภาพให้กับลูกในช่วงวัยดังกล่าวได้ เด็กจะพัฒนาความไม่เชื่อใจต่อบุคคลหรือโลก (Mistrust) ขึ้นมา
ทำอย่างไร…เมื่อ เล่นกับลูกไม่เป็น !!
การเล่นไม่ใช่เรื่องยาก หากเราสามารถย้อนจิตใจของเราให้กลับไปวัยเด็กได้ และคงไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหากเราเล่นเป็นเด็กซะบ้าง สำหรับพ่อแม่บางคน ที่ประสบปัญหากับการเล่นกับลูก เล่นแล้วลูกบอกไม่สนุก หรือดูไม่สนใจ นั่นอาจเป็นเพราะว่า เราไม่เคยให้เวลากับลูกมาก่อน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง การเล่นจึงเป็นกิจกรรมที่ดีในการสานสัมพันธ์ของพ่อแม่ และลูกให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต่อกันไม่ติดในช่วงแรก ๆ ก็ขอให้คุณพ่อคุณแม่ยังคงเล่นต่อไป เพียงแค่ลูกหยุดดู หยุดฟังที่เราเล่น หรืออ่านนิทาน นั่นก็แสดงถึงเปิดการเชื่อมต่อระหว่างกันในขั้นแรกแล้ว
5 ข้อแนะนำในการเล่นกับลูก
- การเล่นเกิดได้ทุกที่ ไม่จำเป็นว่าเมื่อจะเล่นต้องมีของเล่นราคาแพง เพราะใจความสำคัญของการเล่นกับลูก นั่นคือ การทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ขณะซักผ้า ทำกับข้าว ตากผ้า เป็นต้น เพียงแค่พ่อแม่ดึงลูกเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่เราต้องทำ ให้เขามีส่วนร่วมในกิจกรรมของเราบ้าง นอกจากสนุกแล้ว ลูกยังรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือพ่อแม่อีกด้วย
- พ่อแม่ทำงานไม่มีเวลา จะเล่นได้อย่างไร ระยะเวลาในการเล่น ไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของเวลาที่ใช้เล่นด้วยกัน แม้เพียงการอ่านนิทานก่อนนอน สัก 10-15 นาที ก็นับว่าเป็นการใช้กิจกรรมร่วมกันกับลูก แม้เป็นเวลาเพียงไม่มาก แต่หากคุณพ่อคุณแม่ทำด้วยความตั้งใจ ไม่อ่านแบบขอไปที่ เพราะเป็นหน้าที่ เวลาเพียงเล็กน้อยลูกก็รับรู้ได้ถึงความมีอยู่จริงของพ่อแม่แล้ว
- อย่าให้การเล่นเป็นเหมือนการเรียน พ่อแม่บางคนคิดว่าเราสามารถยัดความรู้ใส่ลงไปในการเล่นกับลูกเสียเลยดีกว่า จะได้ไม่เสียเที่ยว ความจริงแล้วก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่หากมากเกินไป เช่น ของเล่นที่มีการวัดผล หรือแม่มีเกณฑ์ที่เข้มงวดเป็นคะแนนเวลาเล่น ไม่พอใจเมื่อลูกทำไม่สำเร็จ เแบบนี้คงไม่ใช่การเล่น แต่เรียกว่าการเรียนน่าจะเหมาะกว่า
- พ่อแม่ต้องเล่นกับลูกตลอดเวลาที่เขาต้องการเลยหรือ คงเป็นคำถามที่พ่อแม่อยากทราบ เพื่อคลายความรู้สึกผิดต่อลูก เวลาที่เขาเรียกร้องให้เล่นแทบทั้งวัน แต่คุณมีเวลาให้ลูกไม่ได้ทั้งวัน ความจริงแล้วทักษะชีวิตที่ลูกควรได้รับการเรียนรู้ไม่เพียงแค่ความสุข ความสมหวังเพียงอย่างเดียว พ่อแม่สามารถปฎิเสธ และอธิบายถึงเหตุผลในการไม่มาเล่นให้แก่ลูกฟังตรง ๆ ได้ ลูกก็จะเรียนรู้ในการปรับตัว และยังได้ฝึกให้เขาเข้าใจเหตุและผลของคนอื่นอีกด้วย
- ควรมีจิตใจที่ปลอดโปร่ง พร้อมเล่นเสียก่อน มีการศึกษาว่า ความเครียด และความไม่มีความสุขของพ่อแม่นั้นส่งผลลบต่อพัฒนาการของลูก เขาสามารถรับรู้ได้ถึงอารมณ์เหล่านั้น ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้เวลากับตัวเอง เมื่อเราหายเหนื่อย ผ่อนคลาย จึงพร้อมที่จะมาเล่นกับลูก จะทำให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่มากกว่าการฝืน
การเล่นที่มีดีไม่ใช่เล่น ๆ
เด็กในวัย 3 ปีแรก ถือเป็นช่วงทองของการส่งเสริมพัฒนาการ ถ้าส่งเสริมดีในเรื่องอารมณ์ พฤติกรรมและพัฒนาการด้านต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเด็ก ๆ ในวันหน้า” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนทรี ทวีธนะลาภ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แนะนำการเล่นกับเด็กเล็กเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในแต่ละช่วง ตั้งแต่ต่ำกว่า 1 ขวบ ถึง 4 ขวบขึ้นไป ดังนี้
“จ๊ะเอ๋” เปิดโลกการเรียนรู้กับเด็กวัยต่ำกว่า 1 ขวบ
สำหรับเด็กวัยแรกเรียนรู้ แนะนำให้เลือกของเล่นที่มีหลากสีหลายรูปทรงที่น่าสนใจ ของเล่นที่มีเสียง หรือขยับเคลื่อนไหวได้ ของเล่นที่ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างสายตากับการเคลื่อนไหวของมือ หากเป็นหนังสือควรเป็นหนังสือภาพกระดาษแข็งที่เปิดง่ายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก
แม้ไม่มีของเล่น ผู้ปกครองก็สามารถชวนลูกเล่นได้อย่างง่ายๆ และเป็นธรรมชาติ อย่างเช่น การเล่นปิดแอบ
“การเล่น ‘จ๊ะเอ๋’ เป็นการสอนให้รู้จักการรอ การคงอยู่ และหายไป รวมทั้งการเดาเหตุการณ์ ซึ่งการเล่นแบบนี้จะตามมาด้วยเสียงหัวเราะของเด็ก หรือจะปรับใช้ของในบ้านมาเล่นซ่อนหาโดยเอาของไปซ่อนใต้ผ้าห่มแล้วชวนให้เด็กๆ ค้นหาก็จะเป็นการเล่นเพื่อกระตุ้นความจำของเด็กๆ” ผศ.ดร.สุนทรี กล่าว
นอกจากนี้ เด็กวัย 9-10 เดือน ที่เริ่มจะยืนเกาะได้แล้ว พ่อแม่อาจใช้เก้าอี้ในบ้านหรือรถเข็นที่ปลอดภัยให้ลูกได้ลองเกาะทรงตัวและเดิน
“สิ่งที่หลายบ้านชอบใช้กับเด็กวัยนี้คือรถหัดเดินที่มีล้อลากซึ่งไม่ขอแนะนำเลย นอกจากจะไม่ทำให้เด็กเดินได้เร็วขึ้นแล้วแต่จะทำให้เกิดปัญหาการเดิน เด็กจะติดการเดินเขย่งส้นเท้า ส่งผลให้กล้ามเนื้อขาตึง เอ็นร้อยหวายหดสั้น ทำให้มีปัญหาต่อลักษณะการเดินในอนาคต รวมทั้งรถหัดเดินนี้มีลูกล้อทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยด้วย” ผศ.ดร.สุนทรี กำชับ
เคลื่อนที่ไปกับเด็กวัยเตาะแตะ 1-2 ปี
วัยนี้คือวัยเตาะแตะ และเริ่มซนบ้างแล้ว เริ่มรื้อสิ่งของ ปืนป่ายขึ้นบันได ไม่อยู่นิ่ง เด็กๆ จะเริ่มออกสำรวจโลกรอบตัวซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ ของเล่นสำหรับวัยนี้จึงควรเกี่ยวกับการลากจูง พ่อแม่อาจเพิ่มความสนุกโดยทำทางเดินลากจูงให้แก่เด็กๆ อาจเป็นทางเดินคดโค้ง หรือซิกแซก มีทางเลี้ยวไปมาเพื่อเสริมประสบการณ์การทรงตัว นอกจากนี้อาจให้ลูกปีนป่ายหมอน หรือสร้างอุโมงค์กระดาษให้เด็กมีการเคลื่อนไหว รวมทั้งพาลูกวิ่งเล่นบนพื้นหญ้า หรือเล่นทราย
ผศ.ดร.สุนทรี แนะให้ผู้ปกครองพาเด็กๆ ออกกำลังกายเพื่อเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และความแข็งแรง รวมทั้งการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กในมือ เช่น การขีดเขียนด้วยมือด้านที่ถนัดและการใช้มือปั้นดินแป้ง หรือจับช้อนตักของก็สำคัญต่อการฝึกฝนทักษะ และความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ การทำงานของสมองกับการควบคุมอวัยวะในร่างกาย
สำหรับเด็กวัยนี้ การเล่นและการทำกิจกรรมในครอบครัวจำเป็นต่อพัฒนาการด้านภาษา และการสื่อสารของพวกเขา นอกจากการอ่านออกเสียงหนังสือนิทานที่มีภาพประกอบแล้ว การใช้เสียงขับร้องเพลงพร้อมท่าประกอบจังหวะยังมีส่วนกระตุ้นพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก ยิ่งเด็กมีคำถามระหว่างประกอบกิจกรรม พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยิ่งต้องชิงโอกาสเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นให้แก่พวกเขาผ่านคำอธิบายขยายความ และการเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงที่น่าสนุกชวนติดตาม
ผศ.ดร.สุนทรี กล่าวย้ำในเรื่องนี้ว่า “แม้เด็กวัยนี้จะพูดยังไม่คล่อง แต่การเล่นแบบนี้จะทำให้พัฒนาการด้านการพูดของเด็กเติบโตได้เร็วขึ้น มีความสามารถด้านการอ่านได้ดีขึ้น”
กิจกรรมใช้พลังงานสำหรับเด็กวัย 2-3 ปี
เด็กในวัยนี้ไม่อยู่นิ่งขั้นสุด เด็กมั่นใจในการเคลื่อนที่ของตนมากขึ้น เนื่องจากความพร้อมของกล้ามเนื้อ และการทรงตัวที่ดีขึ้นมาก ของเล่นเด็กจึงควรเป็นของเล่นที่เน้นการใช้พลังงาน เช่น จักรยานสามล้อ จักรยานทรงตัว การเตะลูกฟุตบอล การกระโดด และการโยนลูกบาสเก็ตบอล
“การเล่นโดยใช้พลังงานเป็นการกระตุ้นให้ออกกำลัง ยิ่งช่วงที่ทุกคนต้องอยู่ติดบ้าน ยิ่งต้องกระตุ้นเพื่อไม่ให้เด็กอ้วน และอาจเพิ่มกิจกรรมทางกายอีก เช่น การโยนรับส่งลูกบอล การใช้ตะกร้ารับลูกบอล การคลานพร้อมสิ่งของวางบนหลัง การเต้นประกอบเพลง ที่จริง นอกจากการเล่นจะควบคุมภาวะอ้วนได้แล้วยังช่วยดึงเด็กๆ วัยนี้ให้ถอยห่างจากหน้าจอ หรือเกมได้ด้วย” ผศ.ดร.สุนทรี กล่าว
นอกเหนือจากการเล่นที่ใช้พลังงานดังกล่าวแล้ว การปล่อยให้เด็กวัยนี้วาดเขียนบนผนังหรือกระดาษใหญ่ๆ ที่เตรียมไว้ให้ และการติดแผ่นสติกเกอร์ตามจุดต่างๆ ยังจำเป็นต่อเด็กวัย 2-3 ปีเช่นกัน เนื่องจากกล้ามเนื้อนิ้ว และมือมัดเล็ก ๆ ของพวกเขาต้องการการกระตุ้นพอ ๆ กับจินตนาการ การฝึกร้อยลูกปัดที่ต้องใช้สายตาและนิ้วมือที่แม่นยำจึงเป็นอีกกิจกรรมในบ้านที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา
บทบาทสมมติ การเล่นของเด็กวัย 3-4 ปี
การเล่นที่เหมาะสมกับวัยนี้คือบทบาทสมมติ เพื่อกระตุ้นจินตนาการผ่านบทบาทที่ได้รับและฝึกฝนทักษะกระบวนการสื่อสารกับคนอื่น ๆ
“จิ๊กซอว์หรือเลโก้” ก็เป็นอีกชิ้นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ เพื่อฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้การเล่นกิจกรรมเกี่ยวกับแสงเงา ไม่ว่าจะเป็นแสงจากดวงอาทิตย์ หรือแสงจากไฟฉาย จะช่วยเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ในเรื่องของการสังเกต การจำแนกระยะทาง ตำแหน่งและขนาดของเงา
เด็กวัยนี้เริ่มทำงานบ้านง่ายๆ ได้บ้างแล้ว พ่อแม่อาจเริ่มชวนลูกมาช่วยงานบ้านเพื่อฝึกความรับผิดชอบร่วมกันในครอบครัว เช่น การรดน้ำต้นไม้ การคัดแยกผ้าก่อนซัก การตากและเก็บผ้า การทำขนมอย่างง่ายๆ เป็นต้น
การเล่นเพื่อเตรียมพร้อมเข้าโรงเรียนของเด็ก 4 ปีขึ้นไป
วัยนี้เริ่มไปโรงเรียน พ่อแม่อาจจัดเวลาเล่นล้อกับแผนการเรียน เช่น ช่วงเช้าถึงเที่ยงเป็นเวลาเรียนรู้ มีพักระหว่างเรียน พักเที่ยง และเวลานอนกลางวัน ช่วงบ่ายจะเป็นเวลาสันทนาการ กิจกรรมกลุ่มฝึกงานฝีมือ ซึ่งน่าจะใช้กรอบนี้กำหนดแผนกิจกรรมในบ้าน ฝึกฝนเด็ก ๆ ให้รู้จักการแบ่งหรือจัดสรรเวลาประกอบกิจกรรมต่างๆ เมื่อไรเรียน ทำงานประดิษฐ์ เมื่อไรพักและเล่น ที่สำคัญกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังที่เน้นการใช้พลังงาน
ที่มาจาก www.chula.ac.th
มาถึงบทสรุปในจุดนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่ได้อ่านมา คงเริ่มมีความเข้าใจต่อการเล่นของลูกมากขึ้นกันแล้ว ว่าถึงแม้เด็กจะมีชีวิตประจำวันส่วนหนึ่งหมดไปกับการเล่น แต่หากพ่อแม่ใส่ใจเพิ่มอีกสักนิด ไม่ปล่อยให้การเล่นของลูกเป็นไปแบบไร้ทิศทาง เราก็สามารถส่งเสริมให้ลูกได้รับประโยชน์จากการเล่นได้มากเลยทีเดียว อ่านมาถึงจุดนี้คำว่า เล่นกับลูกไม่เป็น คงไม่ใช่ปัญหาของพ่อแม่อีกต่อไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.thaipbskids.com/ เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ / เพจนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
พ่อแม่ต้องรู้!! อาการโอไมครอนในเด็ก เจอสัญญาณต่อไปนี้ พบแพทย์ทันที
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่