และถึงแม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกเฉยๆ หรืออยากไปโรงเรียน แต่ก็มีเด็กบางส่วนที่งอแงไม่อยากไปโรงเรียน ถึงขั้นต้องลากเข้าประตูโรงเรียนกันเลยก็มี ….และนี่คือคัมภีร์แนะนำวิธีรับมือที่คุณแม่ควรรู้ นอกเหนือจากวิธีที่ให้บทเรียนชีวิตจริงไปจากที่ Amarin Baby & Kids นำมาให้ดูข้างต้นค่ะ
- โต้ตอบรุนแรงมักไม่ได้ประโยชน์เพราะอาการแบบนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กในวัยเปลี่ยนผ่าน จากชั้นอนุบาล เข้าสู่ชั้น ป.1 ลูกของคุณไม่รู้ว่าควรจะวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้เวลาค่อนข้างมากอยู่ในโรงเรียน ยังไม่รวมการต้องอยู่ห่างจากแม่ และต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย โลกของวัยประถมนั้น ยากกว่าที่คุณคิดนะคะ
- สร้างความสนุกของการไปโรงเรียนลองบันทึกภาพถ่ายของลูกที่โรงเรียน ทั้งตอนเล่นเครื่องเล่นที่สนาม อยู่กับคุณครูที่รัก การใช้ภาพเข้าช่วย จะทำให้ลูกรู้สึกสนุก และมองเห็นภาพรวมได้มากกว่าแค่คำพูดอธิบาย
- “กอด” สร้างความมั่นใจทุกเช้าก่อนเดินทางไปโรงเรียนหรือก่อนแยกกันเมื่อส่งลูกถึงโรงเรียนแล้ว แนะนำให้คุณกอดลูกแน่นๆ แบบกระชับ (ไม่ใช่กอดแน่นจนเจ็บ) การกอดช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกได้ไม่น้อย
- ลดความเครียดการต้องรีบเร่งตอนเช้าๆ จัดกระเป๋าหรือหาเสื้อผ้า อุปกรณ์ต่างๆ ก่อนออกจากบ้านไปโรงเรียน (ให้ทัน) อาจจะทำให้ลูกเครียด ไม่สบายใจ ดังนั้นการ เตรียมตัวก่อนนอน จะช่วยได้ไม่น้อย เช่น เตรียมเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า ตลอดจนกิ๊บที่จะติด หรือโบว์ผูกผมไว้ก่อน รุ่งขึ้น เด็กๆ ก็ไม่ต้องร้อนรนจนเกินไป
- หาของดูต่างหน้า เลือกของที่ลูกเห็นแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น การต้องอยู่โรงเรียนคนเดียว ลูกอาจจะมีช่วงเวลาเหงาบ้าง อาจจะเป็นภาพครอบครัว ใส่ไว้ในล็อกเก็ตสวยๆ ให้ลูกห้อยคอไว้ดูแก้เหงา
อย่างไรก็ตาม หากค้นพบว่าปัญหาการเรียนของลูกคือสิ่งใดและสามารถให้การช่วยเหลือแก้ไขแต่เนิ่นๆ สิ่งเหล่านั้นก็จะดีขึ้นทำให้เด็กสามารถปรับตัวดีขึ้น มีความสุขกับการไปโรงเรียน
ซึ่งสิ่งสำคัญ คือคุณพ่อคุณแม่ ควรมีความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาการตามวัย ซึ่งธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัยมีอารมณ์และความต้องการที่แตกต่างกัน อย่างเด็กเล็ก ๆ ที่จะซึมซับบทบาทของพ่อแม่ เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่คุณพ่อคุณแม่มักมีความกังวลถึงการร้องไห้งอแง ไม่อยากไปโรงเรียนซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้มีความกังวลกับการที่ต้องห่างจากพ่อแม่ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะเรียนรู้ปรับตัวปรับใจ
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองให้รางวัล ใจแข็ง แล้วยังไม่ได้ผล แนะนำให้มาพบจิตแพทย์ เพราะเรื่องนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางจิตเวชเด็กภาวะหนึ่ง เพราะการไม่ได้ไปโรงเรียนนาน ๆ จะมีผลเสียทำให้ยิ่งปรับตัวยากก่อให้เกิดปัญหาต่อทั้งตัวเด็กเองและครอบครัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
จิตแพทย์จะช่วยได้อย่างไร?
การดูแลแก้ไขปัญหานี้ต้องทำด้วยความรวดเร็ว ต้องมีการประเมินในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกายอย่างละเอียดในกรณีที่เด็กบอกว่ามีอาการทางกายว่าป่วยเรื่องใดหรือไม่อย่างใด ต้องประเมินสภาพจิตใจและระดับสติปัญญาของเด็ก ประเมินสภาพจิตใจของทั้งครอบครัวความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่หรือพี่น้อง รวมทั้งประเมินสภาพทางโรงเรียนในเรื่องความประพฤติ ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครู มีการประสานงานหลายฝ่ายนอกเหนือจากจิตแพทย์
อาจจะต้องให้นักสังคมสงเคราะห์ดูแลในเวลาที่จะนำเด็กกลับไปที่โรงเรียนเป็นคนประสานงานระหว่างที่โรงเรียนและที่บ้านติดต่อหาความร่วมมือกับทางโรงเรียนเพื่อเตรียมพร้อม เมื่อเด็กไปถึงโรงเรียนแล้ว ควรมีผู้ดูแลจัดการอย่างเหมาะสมให้เด็กอยู่โรงเรียนได้ต่อ
ส่วนการให้รางวัลนั้นทำได้เมื่อลูกยอมไปโรงเรียนบ้างแล้วเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็ก แต่ควรหลีกเลี่ยงการให้เงินทองสิ่งของ ของเล่น พยายามให้เป็นคำชม หรือคะแนน เช่น เป็นดาว แต้มสติ๊กเกอร์ สะสมแล้วค่อยไปแลกของรางวัลทีหลัง เพราะการให้ของทันทีจะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะต่อรองและคุมได้ยากขึ้นนั่นเองค่ะ
อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!