เมื่อ รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ใช้ไม่ได้กับสังคมปัจจุบัน การสั่งสอนลูกไม่ให้ทำผิดควรทำอย่างไรถ้าการตีเป็นผู้ร้ายในสังคมการลงโทษอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นคำตอบ
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เมื่อการตีเป็นผู้ร้ายพ่อแม่จะทำอย่างไร?
คำโบราณว่าไว้ให้พ่อแม่ใช้สอนลูกหลาน รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เป็นสุภาษิตหมายถึง การอบรมสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน หรือลงโทษลูก เมื่อลูกได้กระทำความผิด ทำในสิ่งไม่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกได้รับรู้ จดจำว่าสิ่งนั้นไม่ดี และจะไม่ควรจะทำอีก แต่การตีจะเป็นการลงโทษลูกเพื่อให้ได้ดีเพียงวิธีการเดียวจริงหรือ ในท่ามกลางค่านิยมยุคใหม่ที่เริ่มมีข้อโต้แย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่า การตี เป็นการลงโทษที่จะทิ้งรอยบาดแผลในจิตใจเด็กหรือไม่ เป็นเพียงการปิดกั้นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ไม่ให้แสดงออกมา หรือสามารถละลายพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเหล่านั้นลงไปได้จริง
ลงโทษหรือทำร้าย
เส้นแบ่งกั้นระหว่างการลงโทษกับการทำร้ายร่างกายดูจะเป็นเพียงเส้นบาง ๆ ไม่ชัดเจน บางคนลงโทษอย่างรุนแรงจนผู้รับโทษบาดเจ็บทั้งจิตใจและร่างกายระดับสาหัส ส่วนบางคนก็ได้รับโทษที่เบาไปเลยไม่รู้สำนึก ส่วนอีกกลุ่มไม่กล้าลงโทษเพราะกลัวผู้รับโทษโกรธและอาฆาต หรือบางทีคาดหวังว่าคนทำผิดจะรู้สำนึกเอง ซึ่งในที่สุดก็ไม่สำนึก เลยกลายเป็นเหมือนกำลังส่งเสริมคนทำผิด และคนไม่ดีให้ได้ใจเสียอีก ดังนั้นเรามาทบทวน วิเคราะห์ความหมายของคำว่า ลงโทษ กันสักหน่อยว่าควรมีหลักการ และวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสม ไม่รุนแรง และไม่หย่อนยานเกินไป
ความหมายของการลงโทษ
การลงโทษ แท้จริงแล้วมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขพฤติกรรม ประการแรกคือต้องการให้ผู้ที่กระทำผิดเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวได้ทำไปนั้นไม่เหมาะสม ผิดระเบียบ ผิดประเพณี ผิดข้อตกลงหรือผิดกฏหมายของบ้านเมือง กล่าวคือเพื่อสร้างสำนึกความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นการสร้างทัศนคติ (Attitude)ที่ถูกต้องในบริบทของสังคมนั้น ๆ ให้เกิดขึ้น ประการต่อมาคือ เพื่อต้องการแก้ไขพฤติกรรม (Behavior)ให้เลิกกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้เปลี่ยนไปทำในสิ่งที่ถูกต้อง
จากเป้าหมายของการลงโทษจะเห็นได้ว่านอกจากจะสอนให้รู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่เหมาะสมแล้ว ยังต้องเปลี่ยนให้กลับมาทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมอีกด้วย ดังนั้น การลงโทษไม่ใช่การระบายอารมณ์ ไม่ใช่การแสดงว่าใครมีอำนาจเหนือใคร ไม่ใช่เพื่อการแก้แค้น ไม่ใช่เพื่อให้สะใจ หากเป็นเช่นนั้นคงจัดว่าเป็นการทำร้ายเสียมากกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตระหนักว่ากระบวนการลงโทษเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน ต้องเข้าใจถึงวิธีการ และดูว่าสารที่สื่อไปกับบทลงโทษนั้น ๆ ถึงยังลูกผู้ที่ได้รับการลงโทษมากน้อยเพียงใด
ลงโทษอย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างไร?
พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ระบุว่า การตีอาจจะช่วยลดพฤติกรรมไม่ดีของเด็กให้เกิดขึ้นน้อยลง และมันก็หยุดเด็กที่ทำตัวไม่ดีได้รวดเร็วดี แต่ข้อไม่ดีก็คือ การตีเป็นการลงโทษที่ทำให้สัมพันธภาพของคนที่ตีและคนที่ถูกตีเสียไปได้ง่าย
การตีที่รุนแรง บ่อยครั้ง ตีโดยไม่รับฟังและไม่เห็นอกเห็นใจ ก็อาจจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ที่ตีเขา ไม่เข้าใจ ไม่รักเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นนาน ๆ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ สูญเสียคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนอารมณ์ไม่มั่นคง อาจมีการใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้าง เพราะเรียนรู้ซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว
การลงโทษที่ดี คือการทำเพื่อให้เด็กรู้ตัวว่าทำผิด และไม่ควรทำซ้ำอีก การลงโทษจึงไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงหรือพูดจาทำร้ายจิตใจลูก ซึ่งหากยึดหลักจิตวิทยานั่นคือ ต้องไม่เป็นการประจาน ไม่ใช้คำพูดที่ไม่ควรใช้กับลูก โดยสามารถแบ่งวิธีการปรับพฤติกรรมออกได้เป็นสองแบบ คือ
- การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement) การลงโทษด้วยการไม่ให้ของเล่น ไม่ให้ดูหนัง ไม่ให้ทานขนมที่ชอบ ไม่ให้ไปเที่ยวคือวิธีการลงโทษด้วยการงดให้รางวัลที่เด็กชอบ สามารถทำได้โดยไม่เป็นการทำร้ายสุขภาพร่างกายของเด็ก ทำให้เรียนรู้ว่าถ้าเขามีพฤติกรรมที่ไม่สมควร เขาจะไม่ได้ในสิ่งที่เขาชอบ
- การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) คือการส่งเสริมให้รางวัล ให้ในสิ่งที่เด็กชอบเมื่อเขาพัฒนาปรับปรุงตนเอง และแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ชอบที่จะลงโทษเมื่อลูกกระทำความผิด แต่มักไม่ให้รางวัลหรือคำชมเชยเวลาที่เขาทำดี
ในการปรับทัศนคติ และพฤติกรรมเราต้องใช้ทั้งวิธีเสริมแรงทางลบและบวกควบคู่กันไป การเสริมแรงทางลบทำให้เด็กเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เขาทำไปไม่ถูกต้อง ไม่เป็นที่ยอมรับ เขาจึงไม่ได้รับในสิ่งที่เขาชอบ และเมื่อลูกทำถูกต้อง เขาก็จะได้ในสิ่งที่เขาปรารถนา เพราะถ้าทำดีแล้วไม่มีรางวัล มนุษย์เราโดยส่วนมากก็จะหมดกำลังใจท้อถอย ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของการทำดี
4 บทลงโทษอย่างสร้างสรรค์แบบรักวัวให้ผูกรักลูก(ไม่)ตี
ในปัจจุบันเริ่มมีกระแสการวิจารณ์กับคำสุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี โดยเรียกร้องกันว่าน่าจะเปลี่ยนเป็น รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด ดูจะเหมาะสมกับแนวความคิดของคนยุคใหม่เสียมากกว่า แต่ไม่ว่าจะใช้คำใดก็ตาม อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าหากเรายังคงยึดมั่นในวัตถุประสงค์ของการลงโทษลูกในแบบสร้างสรรค์แล้วละก็ ต่อให้ไม่ต้องตีลูก เราก็สามารถสั่งสอนเขาให้เดินไปในแนวทางที่ถูกที่ควรได้ด้วยความเข้าใจ ซึ่งจะดีกว่าการบังคับขู่เข็ญด้วยกำลังเป็นแน่ ลองมาดูตัวอย่างวิธีการลงโทษแบบสร้างสรรค์ที่ทีมแม่ABK นำมาฝากกันเป็นไอเดียแก่คุณพ่อคุณแม่ ดังนี้
1. สมุดสะสมแต้มความดี
คุณแม่ที่เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับการสะสมแต้มต่าง ๆ จากการช้อปปิ้ง คะแนนที่เราต่างชื่นชอบนำมาใช้เป็นทั้งส่วนลด แลกของแถมต่าง ๆ ได้ ยิ่งอยากได้คะแนนสะสมก็ต้องยิ่งช้อป ยิ่งซื้อกันใช่ไหม วิธีการเหล่านี้เราสามารถนำมาปรับใช้กับการปรับพฤติกรรมของลูกได้เช่นกัน เชื่อเถอะว่าเราสนุกกับการสะสมแต้มแลกของตามห้างสรรพสินค้ายังไง ลูกก็จะสนุกสนานกับการสะสมแต้มการทำความดีด้วยเช่นกัน
วิธีการ
- กำหนดข้อตกลงกันไว้ว่าการให้ลูกช่วยงาน เอาที่ใกล้ตัวและทำได้ง่ายที่สุด คือ การช่วยทำงานบ้าน จะทำให้เขาได้รับคะแนนสะสม ซึ่งอาจมีการกำหนดคะแนนให้กับงานบ้านแต่ละอย่าง เช่น กวาดบ้าน 50 คะแนน เก็บผ้า 20 คะแนน เทขยะ 10 คะแนน เป็นต้น หรือใช้เป็นพฤติกรรมที่ต้องการ เช่น ทำการบ้านเสร็จทันได้ 40 คะแนน อ่านหนังสือทบทวน 20 คะแนน ให้ลูกได้เก็บคะแนนสะสมไว้
- ใช้สมุดสะสมคะแนนจดบันทึกไว้ตามข้อตกลงที่ทำร่วมกัน โดยถ้าลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น รังแกเพื่อน จะถูกหักคะแนนสะสมไป
- กำหนดรางวัลที่ลูกสามารถนำคะแนนมาแลกได้ โดยรางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นของมีราคาค่างวด อาจเป็นครบ 100 คะแนนได้ฟังนิทานก่อนนอนเพิ่มอีกเรื่อง เป็นต้น (การกำหนดรางวัลไม่มีข้อกำหนดตายตัวขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบ้านที่จะกำหนดเอาตามความเหมาะสม)
สิ่งที่ลูกจะได้ : การทำงานบ้านจะช่วยให้ลูกมีเวลาทบทวนความผิดพลาดของตัวเอง และยังช่วยให้ลูกได้เรียนรู้วิธีทำงานบ้าน และช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย การให้คะแนนเพิ่มเมื่อทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เป็นการเสริมแรงทางบวก ส่วนการเสริมแรงทางลบ คือ การตัดคะแนนเมื่อเขาทำผิดนั่นเอง
2. ใช้เวลาให้เป็นทั้งรางวัล และการลงโทษ
เด็กกับการบริหารเวลาให้เหมาะสมมักไม่สามารถมาคู่กันได้ แต่พ่อแม่สามารถสอนให้เขารู้จักการจัดการเวลาได้ เมื่อเราพบว่าลูกไม่ได้ทำการบ้าน เพราะมัวแต่เล่นเกม พ่อแม่สามารถนำเวลามาเป็นได้ทั้งรางวัล และบทลงโทษให้แก่ลูกได้ เช่น กำหนดเวลาเส้นตายให้แก่ลูกในการทำการบ้าน หากลูกไม่สามารถทำตามได้จะถูกลดเวลาในการทำกิจกรรมที่เขาชอบ เช่น วันพรุ่งนี้จะถูกลดเวลาเล่นเกมลง 30 นาที เป็นต้น
สิ่งที่ลูกจะได้ : นอกจากลูกจะเข้าใจในการบริหารเวลาแล้ว การลงโทษด้วยเงื่อนไขของเวลาเป็นการทำให้ลูกเข้าใจในหลักการที่ว่า หากเราบริหารเวลาในการทำงานได้ไม่ดีพอ ก็จะไปเบียดเบียนเวลาส่วนตัว เวลาที่เราจะได้ทำสิ่งที่ชอบน้อยลงไป ซึ่งเป็นเหตุและผลที่ลูกจะต้องเจอเมื่อเขาโตขึ้น ไม่ใช่การลงโทษแบบการตี เมื่อทำไม่ดี บริหารเวลาไม่ได้ เขาก็จะเรียนรู้แค่ว่าเจ็บตัวแล้วก็หายกัน ไม่เข้าใจถึงผลกระทบจากการจัดการเวลาที่ไม่ดีของตัวเอง เป็นการฝึกการสร้างวินัย ความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมอันพึงประสงค์ในสังคม
3. ตัดทอนสิทธิพิเศษที่เคยได้
เด็กทุกคนย่อมอยากเป็นผู้ใหญ่ นั่นไม่ได้หมายความถึงร่างกาย แต่หมายถึงการได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบดูแลได้เหมือนผู้ใหญ่ นั่นแสดงถึงความไว้ใจที่พ่อแม่มีต่อตน และนำความภาคภูมิใจมาสู่ตัวเขา ดังนั้นเมื่อลูกกระทำพฤติกรรมอันพึงประสงค์ได้ พ่อแม่ก็ควรมอบความไว้วางใจให้เขารับผิดชอบต่อหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง เช่น เมื่อลูกช่วยงานบ้านได้แล้ว อาจมอบหมายให้เขารับผิดชอบต่อห้องนอนของตนเอง ดูแลรักษาเก็บที่นอนเมื่อยามตื่นนอน หรืออาจเป็นหน้าที่ในการดูแลบริหารเวลาส่วนตัวของลูกเอง เช่น เมื่อทำการบ้านเสร็จก่อนเวลารับประทานข้าวเย็น จะได้รับอนุญาตให้เล่นเกมเป็นเวลา 2 ชม. เป็นต้น
เมื่อมีรางวัล ซึ่งเป็นการเสริมแรงทางบวกแล้ว หากลูกกระทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ พ่อแม่ก็สามารตัดทอนสิทธิ์ที่เขาเคยได้รับมอบหมายลง เช่น จากที่เคยอนุญาตให้เล่นเกมเป็นเวลา 2 ชม. ก็จะโดนลงโทษลดเวลาลงเหลือแค่ 1 ชม.ครึ่ง เป็นต้น
สิ่งที่ลูกจะได้ : การลงโทษด้วยการตัดทอนสิทธิ์ที่เขาเคยได้นั้น สำหรับเด็กแล้วนับว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขาทีเดียว การที่ถูกลดทอนความสำคัญลงนับเป็นการลงโทษที่ทำให้เด็กรู้สึกสำนึกได้ดีมากกว่าการตี เพราะเมื่อเขาถูกตีบ่อยครั้งเข้า ความเคยชินย่อมทำให้ลูกไม่รู้สึกกลัวต่อบทลงโทษนั้นอีกต่อไป แต่การลดความสำคัญต่อสายตาพ่อแม่อันเป็นที่รักลงนั้น เป็นสิ่งที่ลูกทุกคนย่อมกังวล แต่ควรมีการพูดคุยหลังจากเขาได้ปรับพฤติกรรมไม่ดีนั้นออกไปแล้วด้วย เพื่อมิให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ยังคงเห็นว่าเขาไม่เก่ง รับผิดชอบไม่ได้อยู่ เมื่อจบบทลงโทษนั้น ๆ ลงไปแล้วก็ไม่ควรพูดซ้ำอีกต่อไป
4. Time out ต้องมี Time in ต้องมา
คุณพ่อคุณแม่คงจะคุ้นเคยกับการลงโทษแบบ Time out กันดีอยู่แล้ว กล่าวคือ การหยุดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงด้วยการให้ไปนั่งสงบสติอารมณ์เพื่อเรียกสติกลับมาที่มุมใดมุมหนึ่งของห้อง เมื่อลูกเย็นลงถึงค่อยเข้าไปพูดคุยชี้แจงสั่งสอน แต่ในบางคน และในบางกรณี พ่อแม่อาจประสบปัญหาว่าลูกไม่สามารถสงบสติอารมณ์ได้ทันกับเวลาที่ให้ รวมถึงเวลาของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจมีจำกัดด้วยหน้าที่การงาน ดังนั้นการหาตัวช่วยเป็นกิจกรรมให้ลูกได้ทำระหว่างการ Time out ก็ช่วยให้เขาสงบลงได้เร็วขึ้น เช่น การหากระดาษมาให้ลูกวาดภาพในระหว่างที่โกรธ และถูก Time out อยู่ การได้ทำกิจกรรมจะช่วยให้อารมณ์เย็นลงได้เร็วกว่า เพราะในระหว่างที่ทำก็ให้เขาคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ความผิดพลาดของตัวเองไปด้วย
สิ่งที่ลูกจะได้ : แม้แต่ผู้ใหญ่แล้วก็เช่นกัน การคิดหมกมุ่นกับปัญหาเพียงอย่างเดียวไปมา อาจทำให้เราไม่สามารถเห็นทางออกได้ การได้ออกมาผ่อนคลาย ไม่จมอยู่กับปัญหาแล้วค่อยกลับไปคิดใหม่ ส่วนใหญ่มักจะได้ผลดีกว่าการนั่งจมอยู่กับตัวเองเป็นไหน ๆ เด็กก็เช่นกัน การที่เขามีกิจกรรมทำระหว่างนั่งสงบสติอารมณ์ไปด้วย จะช่วยให้เขาเรียกสติกลับมาได้เร็วกว่า และในบางครั้งหากพ่อแม่เลือกการวาดรูปเป็นกิจกรรมช่วยแก่ลูก เราอาจให้ลูกคุยแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เขาวาดขณะอารมณ์โกรธ บางทีเราอาจเข้าใจมุมมองของลูกในสิ่งที่เป็นประเด็นไม่เข้าใจกันก็เป็นได้ เพราะบางครั้งพ่อแม่ก็มักจะใช้เหตุผลแบบผู้ใหญ่ในการตัดสินการกระทำของเด็ก แม้บางทีถ้าเราได้ฟังเหตุผลแท้จริงของลูกอาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดก็เป็นได้
หลักการในการปรับพฤติกรรมเด็กด้วยการลงโทษนั้นหากจะทำให้ได้ผลดี ต้องทำด้วยพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เด็กจะต่อต้านน้อยกว่า เชื่อฟังและมีความเกรงใจมากกว่า และต้องเริ่มทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก สิ่งที่เด็กทำได้ดีก็ต้องชมเชยด้วย ใช่ว่าจะมองหาสิ่งที่เด็กทำผิดอย่างเดียวและผู้ใหญ่ต้องจัดการอารมณ์ให้ดี บางครั้งผู้ใหญ่ก็โกรธมากจนทำให้ปรับพฤติกรรมได้ไม่ดีเทำไหร่ เพราะความโกรธจนขาดสติ อย่าลืมว่า การปรับพฤติกรรมไม่ใช่การเอาชนะคะคานกัน ดังนั้น รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี อาจไม่จำเป็นเสมอไป
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก บทความของรศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข/ สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่