บทเรียนจริงของแม่ กับเหตุการณ์ ลูกหาย ที่ทำเอาใจหล่นไปถึงตาตุ่ม มาดูวิธีเอาตัวรอดที่แม่ได้สอนลูกไว้ ว่าในเหตุการณ์จริงจะได้ผลตามตำราหรือไม่ พร้อมวิธีป้องกัน
บทเรียนของแม่เมื่อทำ ลูกหาย !! ประสบการณ์จริงเตือนใจ
ประสบการณ์ อุทาหรณ์ เหตุการณ์จริงของใครคนหนึ่ง แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะเป็นเรื่องที่น่าตกใจ กังวล หรือแม้แต่อาจกลายเป็นข่าวเศร้า แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์อันมีค่าของเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ นั่นคือ การเป็นข้อควรระวัง ข้อเตือนใจแก่ผู้คนอีกมากมายที่จะได้ระมัดระวัง ไม่ประมาทกับเหตุการณ์แบบเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นกับเรา ครอบครัว หรือคนรู้จัก เมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK ได้รับโอกาสอันดีถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์จริงของคุณแม่ท่านหนึ่งที่ยินดีแชร์เรื่องราว อีกทั้งวิธีการดี ๆ ในการสอนลูกให้รับมือกับสถานการณ์เมื่อ ลูกหาย พลัดหลงกับแม่ควรทำอย่างไร
เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ เลยค่ะ …เราพลัดหลงกับลูกสาว วัย 7 ขวบ วันนี้เลยจะมาเล่าให้แม่ ๆ ฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้นและลูกของเราแก้ปัญหาอย่างไร เผื่อจะเป็นอุทาหรณ์ให้แม่ ๆในกลุ่มเรื่องการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันค่ะ
วันนั้นแม่พาลูกไปเดินตลาดเย็นแถวบ้านเพื่อซื้อกับข้าวตามปกติค่ะ (ตลาดกับบ้านห่างกันประมาณ 150 เมตร) แต่วันนั้นเพิ่มเติมคือมีตลาดนัดมาเปิดติดกัน ซึ่งตลาดนัดจะมาเฉพาะวันศุกร์ และก่อนที่เราสองแม่ลูกจะมาเดินตลาด คุณพ่อก็ได้ฝากซื้อหมี่กรอบที่ตลาดนัดเย็นวันนั้นลูกอยากกินสปาเก็ตตี้ เมื่อไปถึงร้านสเต๊กที่ขายสปาเก็ตตี้แม่ก็จัดการซื้อให้ แต่ขณะที่แม่กำลังสาละวนจ่ายเงินด้วยแอพเป๋าตัง ก็ได้ยินแม่บอกว่า “หนูจะไปซื้อหมี่กรอบให้ป๊าเอง เดี๋ยวม๊าค่อยตามไปนะ” แม่เออออ มือก็กดจ่ายเงิน แล้วก็นึกได้ว่าต้องถามเสียหน่อยว่าลูกรู้หรือเปล่าว่าร้านหมี่กรอบอยู่ไหน? แต่พอเงยหน้าขึ้นมา…ก็ไม่ทันแล้ว ลูกหายตัวไปแล้วมองซ้ายมองขวาไม่เห็นแม้แต่เงา แม่เริ่มใจไม่ดีรีบเดินตามหา แต่เพราะตลาดนัดมี 2 โซน คือ มีโซนอาหารกับโซนของใช้ ทำให้กินบริเวณกว้าง แม่จึงตั้งใจว่าจะไปหาร้านหมี่กรอบที่โซนของกินก่อนเพราะเมื่อวันศุกร์ก่อนโน้นลูกเคยมากับพ่อครั้งนึงแล้ว แม่เดาว่าเขาน่าจะจำทางได้ถึงบอกว่าจะมาคนเดียว เป้าหมายแรกของแม่จึงเป็นร้านหมี่กรอบแต่วันนั้นร้านหมี่กรอบไม่มาขาย และแม่หาลูกไม่เจอแม่เริ่มใจไม่ดี และเดินวนอยู่ 3-4 รอบก็ไม่เห็นลูกแม้แต่เงา แม่พยายามตั้งสติ และนึกได้ว่า เคยบอกเขาไว้ว่าถ้าหลงทางกับแม่ ให้กลับไปที่จุดล่าสุดที่เราอยู่ด้วยกัน (**) แม่จึงตั้งใจจะเดินกลับไปร้านสเต๊ก และระหว่างทางแม่ก็เจอลูกเดินนำอยู่ข้างหน้า ด้วยความอยากรู้ว่าลูกจะทำอะไร แม่จึงแอบเดินตามหลังลูกไปจนถึงร้านสเต๊กถึงได้แสดงตัวว่าแม่อยู่ข้างหลังลูกนี่เองลูกวิ่งมากอด น้ำตาคลอเบ้า ดูท่าทางใจเสียมาก ๆ แม่จึงกอดปลอบจนท่าทางดีขึ้นก็จูงมือกันกลับบ้าน
เขาเล่าว่า…ป๊าเคยพามาซื้อหมี่กรอบครั้งนึงแล้วแหละ แต่ป๊าพาไปที่ร้านโดยไม่ผ่านโซนของใช้เลย วันนี้ไปคนเดียวจึงตกใจมากเมื่อเห็นว่าที่แท้ตลาดนัดมันมี 2 โซน คือ โซนของใช้กับโซนอาหาร จะถามแม่ แม่ก็ไม่ตามมาสักที ตอนนั้นตัวเองเดินอยู่ที่โซนของใช้ ก็ไม่กล้าไปโซนอาหารเพราะกลัวว่าแม่จะตามมาไม่เจอ (ขณะที่แม่เริ่มจากโซนอาหาร ทำให้เราคลาดกัน) ก็เดินวนรอแม่และในที่สุดก็คิดได้ว่าตัวเองหลงกับแม่แน่นอนแล้ว และตัดสินใจกลับมารอแม่ที่ร้านสเต๊ก และถ้าแม่ยังไม่มาอีก แผน 2 คือจะขอยืมโทรศัพท์ของพี่ที่ร้านสเต๊กโทรหาแม่ แต่มาเจอแม่ที่ร้านสเต๊กก่อนก็เลยไม่ต้องไปถึงแผน 2ขอขอบคุณประสบการณ์จากคุณแม่ Wachiraphorn Srihinkong
วิธีสอนลูกน้อยรับมือกับสถานการณ์พลัดหลง…ฉบับสถานการณ์จริงจะได้ผลหรือไม่???
- สอนลูกให้ตั้งสติ และหยุดอยู่กับที่
การให้คำมั่นให้ลูกมั่นใจว่ายังไงเราต้องกลับมาหาเขาจนเจอแน่ จะช่วยให้ลูกอุ่นใจ และไม่ร้องไห้งอแง สติหลุด หากเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย ลองบอกให้ลูกหยุดอยู่กับที่เพื่อให้พ่อแม่เดินกลับมาหาได้ง่ายขึ้น จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ ลูกหาย
พอลูกโตได้สัก 4-5 ขวบ แม่ก็สอนว่าถ้าหลงกับแม่ ลูกต้องทำตามนี้
(1) เมื่อรู้ตัวว่าหลงให้หยุดเดินต่อทันที(2) หันซ้ายหันขวา-ถ้าจำได้ว่าจุดล่าสุดที่อยู่กับแม่คือตรงไหน ให้เดินกลับไป และรอแม่ที่นั่น-ถ้าจำไม่ได้ และไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ให้หยุดอยู่ตรงนั้น และมองหา “ตำรวจ หรือ ยาม หรือ พนักงานที่ใส่ชุดยูนิฟอร์ม” เพื่อขอความช่วยเหลือโดยการบอกว่าหนูหลงกับแม่ค่ะ พี่ช่วยโทรหาคุณแม่ให้หนูหน่อยนะคะ หนูจำเบอร์โทรศัพท์ได้หรือถ้าไม่ใช่ห้าง ให้ไปร้านค้าที่ใกล้ที่สุดและบอกแคชเชียร์ หรือคนคิดเงินของร้าน (เพราะเขาเป็นคนดูแลร้านแน่ๆ)
ในกรณีนี้ ลูกยังจำได้ว่าเจอแม่ล่าสุดที่ร้านสเต๊ก และรู้ว่าร้านสเต๊กอยู่ตรงไหนจึงตัดสินใจกลับมาเพื่อรอที่ร้านสเต๊ก
- เตรียมข้อมูลติดต่อให้พร้อมไว้ในกระเป๋าลูก
หากลูกยังเล็กควรเขียนข้อมูลที่สามารถติดต่อกับคุณพ่อคุณแม่ได้ใส่กระเป๋าให้ลูกติดตัวไว้ เช่น ชื่อลูก ชื่อคุณพ่อคุณแม่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เบอร์สำรอง โรคประจำตัวลูก เป็นต้น และสอนให้ลูกหยิบออกมาให้กับคนที่ลูกไปขอความช่วยเหลือ เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือพนักงานที่ดูแลพื้นที่นั้น ๆ เมื่อเกิดการพลัดหลง
ตอนที่ลูกยังอายุไม่ถึง 5 ขวบ เวลาออกจากบ้าน แม่จะให้ลูกสะพายกระเป๋าเป้ที่มีสายจูง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกวิ่งหนี ถ้าลูกไม่ยอมใส่ก็จะไม่ยอมให้ลูกออกจากบ้าน หรือลงจากรถ และในกระเป๋าเป้ที่ลูกสะพายจะมีกระดาษที่ระบุว่าเด็กคนนี้ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ หากผู้ใดพบเห็นเด็ก หรือกระเป๋านี้ รบกวนโทรหาที่เบอร์โทรศัพท์ของพ่อแม่ ก่อนออกจากบ้านไปห้างหรือสถานที่ท่องเที่ยว แม่จะบอกลูกว่าถ้าลูกหลงทางกับแม่ และจำเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ หรือไม่รู้จะบอกขอความช่วยเหลืออย่างไร ให้ลูกยื่นบัตรใบนี้ให้เขา เขาจะได้รู้ว่าลูกหลงทางกับแม่ และโทรหาแม่ได้
หากลูกโตพอที่จะสามารถจดจำเบอร์โทรศัทท์ของคุณพ่อหรือคุณแม่ได้จะยิ่งช่วยให้สะดวกในการติดต่อตามหามากยิ่งขึ้น
ตอนลูก 3 ขวบ แม่เริ่มสอนให้ลูก “ท่องเบอร์โทรศัพท์ของแม่กับพ่อ” ท่องแบบให้จำขึ้นใจเลย มีการแอบถามทุกเดือนว่าลูกยังจำได้ไหมว่าเบอร์อะไร และเขาก็ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้
- ให้ลูกได้ทดลองในสถานการณ์จริง แบบจำลองเหตุการณ์สมมติเพื่อทดสอบว่าเขาจะทำได้ไหม?
แม่เริ่มให้ลูกเดินจ่ายตลาดเอง แต่ละวันจะบอกจุดหมายว่าวันนี้จะซื้ออะไรบ้าง เช่น วันนี้จะซื้อหมูทอด สลัด และข้าวมันไก่ แม่จะให้เงินไป และให้ลูกเดินไปซื้อเองคนเดียว โดยเราจะนัดกันว่าซื้อเสร็จแล้วจะกลับมาเจอกันที่ไหน
จากวิธีของคุณแม่เจ้าของเรื่องเป็นการให้ลูกได้ทดลองทำด้วยตนเอง ในช่วงเวลาสั้น ๆ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด ที่ทั้งปลอดภัย และทำให้ลูกได้ตระหนัก และเรียนรู้วิธีที่จะดูแลตนเอง และการเอาตัวรอดเมื่อไม่มีแม่คอยดูแล นับว่าเป็นวิธีที่น่าเอามาเป็นแบบอย่างสอนลูกได้ดีอีกวิธีหนึ่งก็ว่าได้ โดยรูปแบบการทดลองเรียนรู้ดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนไปตามวิธีการของแต่ละบ้านตามความเหมาะสม
- สอนการป้องกันตนเองให้กับลูก
สอนการป้องกันตนเอง เมื่อถูกคนร้ายจับมือ ดึงแขน ดึงผม หรือล็อคคอ โดยการดูจากคลิปวิดีโอที่สอน และลองทดลองทำ โดยให้แม่เป็นคนร้าย เน้นแค่ให้ลูกดิ้นหลุด และวิ่งหนีได้
- สอนให้ลูกรู้จักปฎิเสธคนแปลกหน้า
สิ่งหนึ่งที่เป็นความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ในขณะที่ลูกหายไปนั้น คือกลัวว่าลูกจะไปเจอคนร้าย คนไม่หวังดีสวมรอยพาตัวลูกให้ห่างออกไปหรือไม่ ดังนั้นเราจึงควรสอนให้ลูกรู้จักการปฎิเสธคนแปลกหน้า เวลาเขาชวนไปด้วยกัน โดยวิธีการปฎิเสธมีทั้งส่ายหน้า วิ่งหนี หลีกเลี่ยงการสนทนา หรือมองหาผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ เช่น ตำรวจ ยาม เป็นต้น โดยบอกให้ลูกยืนรออยู่ตรงที่เดิม ไม่ตามใครไปจะดีกว่า
- แผนที่ และแผนผัง
แผนที่ และแผนผัง เป็นจุดสำคัญที่คุณแม่เจ้าของเรื่องได้กล่าวว่า ทำให้ลูกสามารถจัดการปัญหาเวลาพลัดหลงกับแม่ได้ เพราะคุณแม่ได้สอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องแผนผัง และแผนที่ โดยสอนลูกให้เขียน และอ่านแผนที่ สอนการระบุตำแหน่งตนเองจากสถานที่สำคัญที่ใกล้ที่สุด และระบุจุดที่ตนเองอยู่ในแผนที่ได้ แม่สอนเรื่องทิศทาง สอนและให้จดจำร้านค้าใกล้บ้าน หรือตรงทางแยก เผื่อว่าเมื่อต้องเดินทางกลับบ้านเองจะได้ทำได้ วิธีดังกล่าวจึงทำให้ถึงแม้ลูกจะไปหลงในโซนของใช้ที่ตนเองไม่เคยไป แต่ก็ยังหาทางกลับมาที่ร้านสเต๊กได้ถูก รวมถึงกลับมาเขียนแผนที่ได้ถูกว่าตนเองไปที่ไหนมาบ้างหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงว่าสิ่งที่แม่สอนไว้ มันมีประโยชน์ และลูกก็ได้ใช้ประโยชน์จากมันจริง ๆ
ว้าว…เห็นไหมละว่า วิธีการรับมือกับสถานการณ์พลัดหลงของคุณแม่ และคุณลูกคู่นี้สามารถทำให้ครอบครัวผ่านพ้นจากเหตุการณ์ร้าย แถมยังนำประสบการณ์มาเป็นข้อคิดเตือนใจให้กับอีกหลาย ๆ บ้าน ในการเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์พลัดหลง ลูกหาย ขึ้นจริง เพราะเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ วันไหน การเตรียมพร้อม สอนลูกให้รับมือจึงเป็นสิ่งจำเป็น
อ่านบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่