ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกมีติดตัว แต่คุณกำลังเป็น อุปสรรค ที่ทำลายโอกาสฝึกฝนของลูกอยู่หรือเปล่า มาสำรวจนิสัยของเราและแก้ไขก่อนสายไป
5 นิสัยพ่อแม่ที่เป็น อุปสรรค ทำร้ายสมองลูก!
ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง การที่เรามีความคิดที่ยืดหยุ่น รับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้จึงเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับคนในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นแนวคิดที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า นอกจากการมีชีวิตที่มั่นคง ดูแลตนเองและผู้อื่นได้ ยังไม่พอ หากเราต้องการเห็นลูกของเรามีความสุข เราต้องเพิ่มทักษะดังกล่าวแก่เขา
ทำความรู้จักกับความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ คือ ความคิดในมุมมองใหม่ แนวทางใหม่ ทัศนคติใหม่ ๆ ที่สามารถคิดเชื่อมโยงหาทางออกหลายทาง เป็นความคิดที่หลากหลาย แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และนอกกรอบ คัดสรรหาแนวทางใหม่ ๆ และพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
Creative Thinking หรือ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ เป็นทักษะความสามารถในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ และขยายขอบเขตความคิดใหม่ ๆ ออกไปจากกรอบความคิดเดิมในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็นความคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ
- New original ความคิดนั้นต้องไม่เคยมีมาก่อน แม้จะแตกแขนงมาจากสิ่งเก่า แต่ก็ต้องเป็นการแตกออกมาสู่ประเด็นใหม่ไม่เหมือนรูปแบบเดิมที่มีมา
- Workable สามารถใช้การได้ ใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ หากไม่ได้คงเป็นเพียงความคิดเพ้อฝัน
- Appropriate ความเหมาะสม แม้จะเป็นความคิดใหม่แต่ต้องตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง เหมาะสมด้วย
วิธีการคิดแบบสร้างสรรค์มี 6 ขั้นตอน ดังนี้
-
- แสวงหาข้อบกพร่อง (Mess Finding)
- รวบรวมข้อมูล(Data Finding)
- มองปัญหาทุกด้าน(Problem Finding)
- แสวงหาความคิดที่หลากหลาย(Idea Finding)
- หาคำตอบที่รอบด้าน (Solution Finding)
- หาข้อสรุปที่เหมาะสม (Acceptance Finding)
จากความหมายที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การที่คน ๆ หนึ่งจะมีทักษะในการคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ จะต้องได้รับการฝึกฝน ฝึกคิดอยู่เสมอ ไม่ได้ได้มาด้วยการท่องจำ หรือจำ ๆ และทำต่อ ๆ กันมา ซึ่งฟังแล้วอาจดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่แท้จริงแล้วเพียงแค่พ่อแม่รู้จักสร้างโอกาส ไม่ปิดกั้น เราก็สามารถมอบทักษะชีวิตที่ดีให้ลูกได้แล้ว แต่จะทำเช่นไรละ วันนี้ ทีมแม่ ABK ได้สรรหาแนวทางมาฝากคุณพ่อคุณแม่ที่มุ่งมั่นเพื่อลูกน้อยที่นี่แล้ว มาเริ่มกันเลย
5 นิสัยของพ่อแม่ที่เป็นอุปสรรคกั้นความคิดสร้างสรรค์ของลูก
ก่อนอื่นเรามาสำรวจตัวเองกันก่อนว่า เราเป็นพ่อแม่ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ พฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคในการคิดสร้างสรรค์ของลูกน้อย เพราะพ่อแม่คือผู้สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาของลูกในทุก ๆ ด้านรวมถึงความคิดอ่านด้วย
พ่อแม่นักห้าม
หรือลักษณะนิสัยของพ่อแม่ประเภทนี้เรียกได้อีกอย่างว่า เป็นพ่อแม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไป นั่นเอง คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเคยชินกับความคิดที่ว่าลูกยังเด็ก เชื่อว่าการคิดว่าลูกยังเป็นเด็กในสายตาพ่อแม่เสมอ แต่รู้หรือไม่ว่า การคิดแบบนี้เป็นการปิดกั้นความคิดของลูก เพราะเมื่อเราเห็นเขาเป็นเด็ก เรามักจะไม่เชื่อในความสามารถของลูก ไม่มั่นใจในการตัดสินใจของเขา ไม่คิดว่าลูกจะต้องเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก จึงเท่ากับเป็นนิสัยที่พ่อแม่อย่างเราที่คิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นการทำทุกอย่างเพื่อลูก แต่กลับกลายเป็นการทำร้าย ปิดทางไม่ให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ไปเสียหมด
พ่อแม่จอมบ่น
เข้าใจว่าการสั่งสอนลูกคงต้องใช้การพูดบอก แต่บางครั้งถ้ามากเกินไปอาจทำให้ลูกรู้สึกว่าการสอนนั้นเป็นการบ่นไปเสียได้ โดยเฉพาะกับลูกที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นด้วยแล้ว การสอนของคุณพ่อคุณแม่ควรต้องปรับเปลี่ยนแนวทางจากเดิมเล็กน้อย เหมือนดั่งที่นายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ให้แนวทางไว้ในการปฎิสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่นนั้นว่า “พูดให้น้อย สั้น ๆ ตรงประเด็น แล้วทำบ้านให้น่าอยู่”
เมื่อเราจะสอนให้ลูกคิดเป็น คิดสร้างสรรค์ พ่อแม่ก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลอง ได้คิด และถอยออกมาเป็นโค้ชแทน เพราะการเรียนรู้ใด ๆ ก็ไม่ดีเท่าการลงมือทำมิใช่หรือ
พ่อแม่เจ้าระเบียบ
สิ่งขัดขวางความคิดสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งเลย คือ การต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากจนเกินไป เมื่อพ่อแม่วางกรอบล้อมรอบตัวลูกจนเขาไม่สามารถออกนอกกรอบได้ ความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน กฏเกณฑ์ที่เคร่งครัด และข้อจำกัดมากมายจะเป็นตัวขัดขวางการรวบรวมข้อมูล และความคิดที่จะนำข้อมูลมาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสิ่งอื่น ๆ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญของการเกิดความคิดเชิงสร้างสรรค์
พ่อแม่ช่างตำหนิ
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี คำกล่าวนี้คงใช้ไม่ได้กับการฝึกฝนทักษะความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้ลูก การทำลายความมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ของลูกนั้น ไม่ว่าจะเป็นการค้าน การตัดกำลังใจ หรือคำตำหนิแบบใดก็ตาม นอกจากจะทำให้ลูกขาดความมั่นใจแล้ว ยังทำให้ลูกไม่กล้าทำอะไรเพราะยิ่งเราลงโทษ หรือตำหนิเมื่อลูกได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ก็จะทำให้เขาขาดความกล้าที่จะทดลองทำ ไม่เพียงแต่การตำหนิโดยตรง การพูดคุยกล่าวถึงลูกในเชิงไม่ชื่นชมต่อหน้าผู้อื่นให้ลูกได้ยิน ก็เปรียบเสมือนการทำลายความมั่นใจของลูกเช่นกัน ซึ่งนับเป็นอุปสรรคของความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งไม่ได้ลองทำความคิดเชิงสร้างสรรค์ก็จะค่อยๆ หายไป
พ่อแม่จอมชี้นำ
การแก้ปัญหา การเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้นั้น หนทางมิได้มีเพียงหนทางเดียวเสมอไป การที่พ่อแม่คอยแต่จะชี้นำให้ลูกเดินตามทางที่ตนคิด หรือชี้นำแนวทางให้ลูกเลือกคำตอบที่ตนเองคิดว่าถูกต้องแล้วนั้น คืออุปสรรคในการขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของลูก เพราะการมัวแต่ย้ำว่าคำตอบมีเพียงหนึ่งเดียวนั้น ทำให้ลูกเข้าใจว่าได้รับคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ก็จะไม่คิดถึงหนทางอื่นที่มันก็สามารถพาเราไปถึงที่หมายได้เช่นกัน ทำให้ลูกขาดแรงกระตุ้นที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ไปเสีย
มาสร้างบุคลิกภาพของคนมีความคิดสร้างสรรค์แก่ลูกกันเถอะ
กิลฟอร์ด Joy Paul Guilford เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่สร้างทฤษฎีที่รู้จักกันดีสำหรับการศึกษาด้านไซโครเมทริกซ์ของมนุษย์เกี่ยวกับความฉลาดของมนุษย์ ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ว่า จะต้องมีความฉับไวที่จะรู้ปัญหา และมองเห็นปัญหา มีความว่องไว และสามารถจะเปลี่ยนความคิดใหม่ ๆ ได้ง่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งของชีวิตที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วง จึงจะทำให้ชีวิตสามารถดำเนินไปได้อย่างมีความสุข ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักเลือกวิธีการที่จะเลี่ยงปัญหามากกว่าการเผชิญปัญหา ซึ่งถ้าคนเรารู้จักที่จะเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก็จะมีชีวิตที่สนุกสนานร่าเริง และมีความสุขมากยิ่งขึ้น
แบบฝึกฝนพัฒนาทัศนคติและนิสัยนักคิดสร้างสรรค์
- อย่าคิดแง่ลบ ให้คิดแง่บวก เพราะความคิดแง่บวกจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น โดยพ่อแม่อาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะช่วยให้ลูกฝึกการคิดในแง่บวก เพราะลูกมักเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่
- อย่าทำ เพราะเป็นการทำตามกันมา หรือแบบพวกมากลากไป จงเชื่อมั่นในตนเอง กล้าเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง หากลูกแสดงออก หรือมีความคิดเห็นที่แย้ง แตกต่างขึ้นมา พ่อแม่ไม่ควรว่ากล่าว แต่ควรหยุดรับฟังความคิดของเขา และไม่ยัดเยียดความคิดของตนเอง และส่วนรวมให้ลูกคิดตาม แต่ช่วยกันคิดว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ เป็นต้น
- อย่าปิดกั้นตนเอง ต้องเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เกิดมุมมองที่แตกต่าง และต่อยอดไปสู่ความคิดใหม่ ๆ ในบางครั้งเมื่อลูกเกิดแนวคิดที่แตกต่างจากพ่อแม่ เพื่อน หรือคนหมู่มาก ก็อาจทำให้เขารู้สึกผิด แปลกแยก ไม่กล้าที่จะแย้งจนปิดกั้นตนเองบ่อย ๆ เข้าก็จะกลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นเด็กที่คอยแต่ทำตามคำสั่ง ไม่มีความคิดเป็นของตนเองไปเสีย
- อย่ารักสบาย การทำตามรูปแบบเดิม ย่อมสบายและง่ายกว่าการลองทำสิ่งใหม่ คิดค้นหนทางที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนเป็นแน่ บอกให้ลูกเข้าใจว่าการริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ อาจไม่ได้สำเร็จในครั้งแรก และหนทางที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่เอง ไม่มีต้นแบบเดิมก็ไม่ได้สบาย หรือง่ายดาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจอย่างแน่นอน
- อย่ากลัว การฝึกตนเองให้เป็นคนท้าทายตนเอง คิดสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ สอนลูกว่าหากสามารถผ่านพ้นไปได้ก็จะช่วยลดความกลัวในครั้งต่อไปได้
- อย่าหมดกำลังใจ เวลาที่เห็นลูกเริ่มท้อ และลังเลที่จะก้าวเดินต่อไป พ่อแม่ควรช่วยประคับประคองจิตใจ ทำให้ลูกรับรู้ได้ว่ายังมีเราที่คอยให้กำลังใจเขาอยู่เสมอไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม
- อย่าท้อใจ เรียนรู้จากความผิดพลาด สอนลูกให้แยกแยะปัญหา และเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นำความผิดพลาดนั้นมาต่อยอดมิให้เกิดซ้ำ และไม่ล้มเลิกกลางคัน เพราะจะเป็นแผลที่ทำให้เขากลัวการลองคิดในสิ่งใหม่
- อย่าละทิ้งความคิดนั้น ๆ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ หรือยังใช้ไม่ได้ในตอนนี้ ก็ควรสอนลูกให้รู้จักการประเมินผลระหว่างทางด้วยว่าควรไปต่อ หรือพักไว้ก่อน สอนให้เขาเข้าใจว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เราอาจต้องจำเป็นทำก่อน การล้มเลิกไม่ได้หมายความว่าล้มเหลวเสมอไป เราสามารถชี้ให้ลูกเห็นถึงความรู้ที่เราได้เก็บเกี่ยวมาระหว่างทางนั้นก็มีค่ามากพอแล้ว
- อย่ากลัวที่เผยแพร่ผลงาน ในบางครั้งความคิดใหม่ ๆ มักจะแหวกแนว อาจจะทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจ รู้สึกว่าไม่เห็นเหมือนใครเขาเลย จนทำให้เก็บความคิดนั้นไว้กับตัว ไม่กล้าเปิดเผย พ่อแม่ต้องเป็นผู้ผลักดันความมั่นใจให้แก่ลูก ชี้ให้เห็นว่านวัตกรรม ก็มาจากความแหวกแนวนั่นเอง
เพราะสมบัติใด ๆ ก็ไม่สำคัญเท่าการสร้างทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตของลูกได้อย่างดี มีความสุขให้แก่เขาเป็นแน่แท้ พ่อแม่อย่างเราคงหมดห่วงหากลูกสามารถคิดเป็น แก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ และสนุกกับชีวิต พร้อมเรียนรู้คิดพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้ดั่งใจต้องการ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับคนเป็นพ่อแม่ ดังนั้นอย่าลืมหมั่นสำรวจนิสัยของเราเองว่า มีข้อไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของลูกหรือไม่ ยังไม่สายที่เราจะปรับเปลี่ยน และพร้อมเดินไปด้วยกันกับลูกให้เขาก้าวเข้าสู่ผลสำเร็จอย่างมีความสุข และมั่นใจกันเถอะ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก imdesign-studio.com/parentsone.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
วิจัยเผยข้อดี! ลูกติดตุ๊กตา ติดผ้าเน่า มีผลต่อพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่