เพราะการลงมือทำ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโอกาสต่างๆ ในชีวิต “น้องฟิจิ กฤตภาส ศิริพงศ์ปรีดา” 1 ใน 20 ผู้เข้าแข่งขันมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ซีซั่น 2 จึงได้ลองทำอาหารในวัย 3 ขวบ ได้ลองประกวดมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ในวัย 8 ขวบ และในวันนี้เขาได้ลองอีกครั้ง ก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว กับการเปิดร้านอาหาร “เนื้อแคมป์ไฟ” ของตัวเองในวัย 10 ขวบ
กว่าจะมาถึงวันนี้ ด้วยอายุเพียงเท่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากไม่ได้แรงสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว ทีมแม่ ABK ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อและแม่และน้องฟิจิ ถึงแนวทางการเลี้ยงลูกที่ทำให้น้องฟิจิสามารถค้นพบตัวเองได้เร็ว จนได้มีธุรกิจของตัวเองในที่สุด
คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกสไตล์ไหน?
“คุณพ่อหนุ่ม-มณเฑียร ศิริพงศ์ปรีดา” กล่าวว่า…ผมให้ความดีกับแฟนผมนะ ตอนฟิจิเด็กๆ ผมทำงานเยอะ มีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก คือเสาร์อาทิตย์ไม่เต็มวันด้วย แฟนผมเขาใส่ใจ เขาดูแล สนับสนุนให้ลูกลงมือทำ ลูกอยากทำอาหาร แฟนผมก็ให้ทำเลย ใช้มีดจริง เตาจริง กระทะจริง คนก็จะทักว่าไม่กลัวเหรอ แต่แฟนผมเขาก็บอกว่าให้ลอง แล้วก็คอยระวังให้กับเขา
“คุณแม่เจ-ปทิตตา เอมโอช” คุณแม่ของน้องฟิจิ เล่าว่า….เราอยากให้ลูกลงมือทำ ปล่อยให้เขาทดลอง แล้วเราคอยดูแลความปลอดภัยให้เขา ไม่ใช่ว่าไม่ห้ามอะไรเลย เราจะคุยกันด้วยเหตุผล บางอย่างยังไม่ถึงเวลา ตอนเด็กๆ 3 ขวบจะกินเป๊ปซี่แล้วก็ยังไม่ให้ ไปห้างไม่เคยร้องขอของเล่น เพราะคุยกันแล้วว่าถ้าอยากได้ของเล่นต้องทำทำความดีก่อนแล้วถึงจะได้
คุณพ่อเสริมว่า ถ้าจะกินขนมต้องกินข้าวให้หมดก่อน ถึงไปกินขนมหวานตามที่หลัง ไม่งั้นเรากินขนมหวานก่อนแล้วอิ่ม แล้วเราไม่ได้กินข้าว มันคือเหตุและผล
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ฟิจิอยากเป็นเชฟ?
น้องฟิจิเล่าว่า..ได้เริ่มลองทำอาหารครั้งแรกตอนอายุ 3 ขวบ เพราะแม่ทำกับข้าวอยู่ในครัวแล้วก็อยากลอง แม่ก็ให้ลองจับลองทำ ก็ทำได้ พอลองทำไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกชอบ รู้สึกว่าเราได้ครีเอทอะไรสักอย่างขึ้นมาแล้วเราก็สามารถกินมันได้ด้วย
พ่อแม่มีส่วนช่วยสนับสนุนอย่างไรบ้าง?
คุณพ่อเล่าว่า…ตอนที่มาสเตอร์เชฟเปิดรับสมัคร แฟนผมถามลูกว่าไปรายการมาสเตอร์เชฟไหม ได้ก็ได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ให้เขาได้ไปลอง ให้เขามีประสบการณ์ว่า ชีวิตมันต้องมีการแข่งขันนะ คนเรามันต้องมีผิดหวังอย่าคาดหวังว่าเราจะต้องได้ตลอดเวลา ก็เลยบอกให้เขารู้ไว้ก่อนว่ามันมีผิดหวังได้เขาจะได้ไม่เสียใจมาก แล้วพอได้เข้ารอบไปก็ดีใจว่า มาไกลเกินคาดแล้ว ก็อยากให้เขาแข่งด้วยความสนุก วันที่เขาพลาดแล้วก็คอยเป็นกำลังใจเสริมไม่ซ้ำเติม
ผมว่าเขาอึดมากนะช่วงนั้น เขาสอบไฟนอลด้วยแล้วก็ไปแข่งต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 กว่าจะได้กลับบ้าน ตี 1 ตี 2 เท่ากับเวลานอนคือแป๊บเดียว แล้วเขาไปโรงเรียนกลับมาก็ต้องมาซ้อม อีกวันนึงก็ต้องไปแข่ง ก็ต้องเอาหนังสือไปอ่าน ชีวิตช่วงนั้นตอนเราเป็นเด็ก 8 ขวบเราคงเหนื่อยมาก ขนาดพ่อแม่อย่างเราแค่ขับรถพาลูกไปส่งยังเหนื่อยเลย
ตอนที่เขาเดินออกมาจากสตูดิโอแล้วร้องไห้ เขาพยายามกลั้นที่จะไม่ร้อง เราก็กอดเขา เราก็บอกว่าทุกอย่างมันมีความผิดพลาดกันได้ ผมบอกลูกว่าไม่เป็นไรนะ เรามาถึงตรงนี้ก็สุดยอดแล้วไกลเกินฝันมากๆ
คุณแม่เสริมว่า…เราจะคอยบอกเขาว่าโอกาสมันจะมาได้ คือตัวเราต้องไปหาโอกาส ถ้าตัวเราไม่เริ่มต้นถ้าวันนั้นไม่ได้ไปสมัคร ไม่ได้ลองไปแข่ง อยู่กับบ้านเฉยๆ โอกาสมันก็จะไม่มีเดินมาหาเราได้ เพราะฉะนั้นอยากให้เด็กๆ ทุกคนได้ลองเปิดโอกาสตัวเองไปลองดูให้รู้ ได้ก็ได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ทำไมถึงเลือกขาย เนื้อแคมป์ไฟ เริ่มต้นอย่างไร
น้องฟิจิเล่าว่า..มีอยู่วันนึงครอบครัวเรากินเนื้อกัน เราก็เลยคิดว่าถ้าเราเปิดร้านอาหารเนื้อกันล่ะครับ เพราะว่าพวกเราก็ชอบกินเนื้อกันอยู่แล้ว ทำเป็นอยู่แล้ว เราก็มาปรับปรุงสูตรของเราให้มันดีขึ้น แล้วเราก็ไปขายได้ครับ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นครับ
และที่ผมได้คำว่า “เนื้อแคมป์ไฟ” มาเพราะตอนนั้นมีเทรนด์เรื่องแคมป์ปิ้ง ก็เลยมาคิดกับพ่อว่าเอาเนื้อไปแคมป์ปิ้ง แล้วก็เลยกลายเป็นคำว่าเนื้อแคมป์ไฟครับ
เนื้อแคมป์ไฟ ของเรามีจุดเด่นอะไรบ้าง?
น้องฟิจิพรีเซนต์ว่า..เนื้อแคมป์ไฟของเขาเป็นเนื้อพรีเมียมนะครับไม่ใช่เศษเนื้อ เนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อที่ยกมาทั้งชิ้นแล้วมาหั่นเต๋าไม่ใช่เศษเนื้อที่เอามาเสียบไม้ มันก็จะแตกต่างกว่าที่อื่น แล้วก็เป็นสูตรเฉพาะของเราเอง
คุณพ่อเสริมว่า…เราคิดสูตรขึ้นมาเยอะมาก ผมเลยอยากให้มีคนมาเทสต์ เมื่อปลายปีเลยเปิด Pre-Launch ให้เขาได้ทดลองขายเพื่อเอา Feedback กลับมาพัฒนาสูตรต่อ แต่สูตรเพิ่งมาชัดเจนเมื่อเดือนเมษายนนี้เอง กว่าสูตรจะลงตัว เราใช้เนื้อไปหลายร้อยกิโล เพราะว่าเนื้อที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ยังไม่สุกเราก็ชิมไม่ได้ ต้องทำออกมาก่อน พวกเราชิมเนื้อกันจนเบื่อ และสูตรที่ได้มาตอนนี้ มาจากความเป็นฟิจิเลย มันมีความเป็นเขาอยู่
ทำธุรกิจในช่วงโควิดเป็นอย่างไรบ้าง?
คุณพ่อเล่าว่า…ช่วงก่อนโควิดเราเคยไปดูที่กันว่าเราจะเปิดร้านที่ True Digital Park แต่พอมี covid เลยปรับมาเปิดขายแบบออนไลน์ ไม่ได้มีหน้าร้าน จริงๆ แล้วช่วง covid นี้ก็ดี เพราะเป็นช่วงที่เราได้เตรียมตัว เมื่อเศรษฐกิจดีแล้วเราพร้อมเราก็สามารถระเบิดมันออกมาได้เลย
ระหว่างนี้เราก็สอนเขาว่า วิธีการตั้งราคาตั้งยังไง ไม่ใช่เราซื้อของมา 5 บาทแล้วเราขาย 10 บาทคือได้กำไร 5 บาท แต่นอกจากต้นทุน 5 บาท มันมีค่ารถที่เราขับไปซื้อ ค่าน้ำค่าไฟ และค่าอื่นๆ ดังนั้นต้นทุน จริงอาจจะ 8 บาท กำไรจริงคือ 2 บาท นี่คือสิ่งที่เราค่อยๆ สอนเขาจนเขาก็จะเริ่มที่จะเข้าใจ วันก่อนเขาก็พูดขึ้นมาว่า เราต้องเช็คสต๊อกด้วยนะ ไม่งั้นแย่แน่ แสดงว่า mindset ของการขายเริ่มมาแล้ว
กว่าจะมาถึงวันนี้ มีอุปสรรคอะไรบ้าง และคุณพ่อคุณแม่มีส่วนช่วยให้ลูกผ่านมาได้อย่างไร?
น้องฟิจิเล่าว่า…คุณพ่อคุณแม่จะคอยตั้งคำถามให้เราคิดว่า เอ๊ะ อย่างนี้ดีกว่าไหม ช่วยปรับปรุงให้ผมดีขึ้น ทำให้ผมได้มีส่วนร่วมคิดด้วยครับ
คุณพ่อเสริมว่า เราปล่อยให้เขาคิดก่อน พอเขาคิดแล้ว ผู้ใหญ่มีหน้าที่ในการเอ๊ะว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ตั้งคำถาม เพราะเด็กส่วนใหญ่เขาไม่คิดว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง เราในฐานะผู้ใหญ่เราช่วยเขาได้ เราทำงานด้วยกันเหมือนเป็นงานกลุ่ม
สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการสร้างผู้ประกอบการเด็ก คือเรากำลังสร้างสถาบันครอบครัว ถ้าเรามุ่งเป้าไปที่การสร้างเด็ก แสดงว่าเรากำลังเอาความฝัน เอาภาระไปใส่ไว้ที่เขา เขาก็จะหนัก ถ้าสมมุติเขาไม่สำเร็จ เขาก็จะอกหัก แต่ถ้าเราอยู่กับเขาในทุกตอน มันเป็นการทำงานร่วมกัน เพราะเด็กไม่สามารถทำคนเดียวได้ มันเป็นการที่ครอบครัว ต้องมีเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้เยอะมาก เราเปิดเพจเนื้อแคมป์ไฟ เราก็มีแอดมินเพจในการช่วยตอบ เรามีคนช่วยจัดส่ง ส่วนฟิจิก็ทำหน้าที่ของเขา เราต้องทำงานกันเป็นทีม
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเปิดร้าน เนื้อแคมป์ไฟ
พอเปิดร้านจริง คือการเรียนรู้อีกสเต็ป คุณพ่อเล่าว่า น้องฟิจิทำหน้าที่รับออเดอร์และแนะนำอาหาร ทำให้เขาได้รู้จัก Service เอาใจใส่ มีปฏิสัมพันธ์กับคน ไม่กลัวคน รู้จัก Present เริ่มสนุกในการใช้ชีวิต ได้รู้จักความผิดหวัง ถ้าขายไม่ออกต้องทำยังไง หา Solution ในการแก้ปัญหา ได้รู้จักความอดทน นั่งรอคนมาสั่งอาหาร ได้รู้จักความรับผิดชอบ เพราะการเปิดร้านทำให้เขาไม่ได้ใช้ชีวิตปกติ แต่เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไร ซึ่งเขาก็ขอว่าสัปดาห์นึงขอหยุดวันนึง และอย่าลืมให้เงินเดือนฟิจิด้วยนะ
เชิญชวนเพื่อนๆ ค้นหาตัวเอง และลงมือทำตามความฝัน
น้องฟิจิฝากทิ้งท้ายไว้ว่า…การค้นหาตัวเองไม่ได้แป๊บเดียวเสร็จ เราต้องพยายามคิดว่า เราลองทำดูไหม อย่างนี้เราชอบไหม ลองทำดูว่าถ้าเราชอบ เราก็ลองไปพัฒนาตัวเอง ว่าเรื่องนี้เราสามารถพัฒนาให้มันดีขึ้นได้ยังไง เพื่อนๆ ลองคิดกันดู ลองไปคุยกับพ่อแม่ เผื่ออาจจะทำธุรกิจของตัวเองขึ้นมาก็ได้ครับ
คุณพ่อเสริมว่า…สิ่งสำคัญคือการลงมือครับ คิดเสร็จปุ๊บ มีผู้สนับสนุนแล้ว เขาต้องลงมือทำ ถูกผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเด็กวัยนี้ เราไม่ได้คาดหวังความสำเร็จจากเขา เราคาดหวังให้เขาลงมือทำและให้เขาเรียนรู้ พัฒนา และทำให้มันดีขึ้น มันจะต้องมีสักครั้งนึงที่มันสำเร็จ แต่ในวันนี้ความสำเร็จอาจจะยังไม่มาก็ได้ เราก็อยากให้เขาเริ่มตั้งแต่วันนี้ ยิ่งเด็กรู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้วทดลองทำเร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งล้มเร็วมากเท่าไหร่เขาจะยิ่งก้าวได้เร็วมากเท่านั้น ดีกว่าเขาไปล้มตอนมีอายุมากแล้ว
คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญอย่างไร ในการช่วยให้ลูกค้นพบตัวเองได้เร็ว?
คุณแม่กล่าวว่า…เราไม่ควรไปวางกรอบให้ลูก บางทีเด็กๆ เขามีไอเดียที่ดีกว่าเรา เพราะว่าเราอาจจะโดนกรอบเอาไว้เมื่อตอนเด็กๆ เราก็เลยปล่อยให้เขาคิด แต่เราคอยตบเขากลับมาว่าอะไรมันเกินไป ใช้วิธีตั้งคำถามว่า แบบนี้ดีกว่าไหม เหมือนเป็นการแนะนำ แต่ไม่ใช่บอกว่าให้ทำอย่างนี้ แล้วก็ถ้าเขาสนใจอะไรก็ปล่อยให้เขาได้ลองทำดู คือการเรียนน่ะสำคัญแต่ไม่ใช่สำคัญที่สุด สำคัญที่สุดคือ ให้เขาได้ลงมือทำไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่
อย่างตอนก่อนเข้าเรียนตอน 2-3 ขวบเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่สนุกที่สุด หาอะไรให้เขาทำ มีกิจกรรมให้ลองเล่นเขาก็มีพัฒนาการที่ดีมากตั้งแต่ตอนนั้น พอเข้าโรงเรียนก็ไปเรียนเพื่อความรู้ให้มีวิชาการ แต่ว่ากิจกรรมก็ควรมาด้วย แต่อย่าให้เขาเหนื่อยและหนักเกินไป แม่จะบอกเขาอยู่เสมอว่าไปโรงเรียนตั้งใจเรียนเราจะได้ไม่ต้องกลับมาเรียนพิเศษ แล้วเอาเวลาที่จะต้องเรียนพิเศษไปทำอย่างอื่นที่เราชอบ เพราะฉะนั้นเขาแทบจะไม่ต้องเรียนพิเศษเลย เขารับผิดชอบตัวเองในห้องเรียนตั้งใจฟังคุณครูคะแนนสอบออกมาโอเค แล้วก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่น อะไรที่เขาชอบเราก็คอย support
นอกจากการทำอาหารแล้ว เขาก็ชอบเรื่อง coding เรื่องลิฟท์ เรื่องเครื่องบินเราก็พาเขาไปดูลิฟท์ที่ห้างมีลิฟท์ยี่ห้อไหน แล้วเขาสามารถดูหน้าลิฟต์แล้วบอกยี่ห้อได้ มองเครื่องบินมองไปไกล ก็รู้แล้วว่าเป็นเครื่องบินแบบไหนแอร์บัส โบอิ้้ง รุ่นไหน อะไรที่เขาสนใจ เขาก็จะไป search หาข้อมูลเพิ่มเติมเอง
แม่บอกน้องว่าคนเราไม่ควรมีอาชีพเดียว ควรมีอาชีพหลักและมีอาชีพเสริม เผื่อวันใดมันเกิดอะไรขึ้นมาเราจะได้มีอีกอาชีพหนึ่ง เพื่อที่เราจะเลี้ยงตัวเองและหารายได้ได้ เพราะฉะนั้นเรื่อง coding อาจจะเป็นอีกอย่างนึงแล้วอีกอย่างนึงให้เขาลองว่าเขาจะไปทางไหน ให้เขาดูคิดแล้วเลือกเอง โดยเราคอยบอกแนะนำให้เขารู้จักอาชีพเพิ่มเติมมากขึ้น เช่น มีอาชีพสถาปนิกด้วยนะ เป็นคนที่คอยออกแบบตึก เขาก็ไม่เคยรู้มาก่อน
คุณพ่อเสริมว่า..สำหรับเด็กยุคดิจิทัล เราต้องให้เขารู้จักเรียนรู้อะนาล็อกด้วย ไม่ใช่จากศูนย์แล้วไปร้อยเลย ต้องสอนให้เขารู้จักมีขั้นมีตอน ทำซ้ำๆ รู้จักฝึกฝนและพัฒนา ต่อยอดไปเรื่อยๆ
ฝากร้าน “เนื้อแคมป์ไฟ” สุขุมวิท 23
แวะมาลองชิม “เนื้อแคมป์ไฟ” กันได้ที่สุขุมวิท 23 ร้านเราขายข้าวหน้าต่างๆ หมู เนื้อ ไก่ มีทั้งแบบเผ็ดและไม่เผ็ด ทานได้ทุกช่วงวัย เมนูแนะนำคือ “ไข่ดองคะนอง” จะเด่นอยู่ที่ ฟิจิเอาไข่ขาวไปทอดให้กรอบ แล้วเอาไข่ดองมาใส่ตรงกลาง ซึ่งปกติเวลาเอาไข่แดงไปดอง ก็จะเหลือไข่ขาวทิ้ง แต่ไอเดียของเด็กเขาก็รู้จักหาวิธีใหม่ๆ พ่อแม่แค่เปิดใจรับฟัง และให้เด็กได้ลงมือทำ
ข่องทางการติดต่อ
- เพจ FB เนื้อแคมป์ไฟ FB.me/fijicampfire
- Instagram : fijicampfire
- Line : @fijicampfire
- Tel 0988261662
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ให้ลูกช่วยงานบ้าน ฝึกทักษะ EF ติดตัวลูกไปตลอดชีวิต โดยพ่อเอก