10 เทคนิค สอนการบ้านลูก ให้สำเร็จ แบบไม่เสียน้ำตา - Amarin Baby & Kids
สอนการบ้านลูก

10 เทคนิค สอนการบ้านลูก ให้สำเร็จ แบบไม่เสียน้ำตา

Alternative Textaccount_circle
event
สอนการบ้านลูก
สอนการบ้านลูก

สอนการบ้านลูก – สำหรับบ้านที่มีลูกวัยเรียน เป็นธรรมดาที่ลูกต้องมีการบ้านจากคุณครู มาให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยสอน บางครั้งลูกอาจไม่เข้าใจในบางสิ่งบางอย่างในบทเรียน ลูกอาจถามเยอะ จนบางทีคุณพ่อคุณแม่เกิดความรู้สึกว่า เอ๊ะ! อันนี้เคยบอก แล้วสอนแล้ว ทำไมลืมอีกแล้วล่ะ  ลูกไม่จำบ้างเลยเหรอ  ทำไมยังคิดไม่ได้ ทำไมยังอ่านไม่ออก  จนบางทีอาจหงุดหงิด เผลอใช้อารมณ์กับลูก จนลูกมีน้ำตา แล้วเราก็มานึกเสียใจทีหลัง ตั้งสติให้ดีค่ะคุณพ่อคุณแม่ ก่อนจะหัวร้อนใส่ลูกจนเรื่องบานปลาย อย่างที่เห็นข่าวไปเมื่อเร็วๆ นี้ ที่คุณพ่อโมโหลูก เพราะทำการบ้านไม่ได้ โวยวายเสียงดัง หลังสอนการบ้านลูกสาวลูกชาย วัย 9 ขวบ และ 2 ขวบ แล้วลูกเขียนผิด โยนของเล่นใส่ลูก ทำให้ผู้เป็นแม่ต้องเข้ามากัน ท่ามกลางเสียงร้องไห้ดังลั่นของลูก

สอนการบ้านลูก
พ่อหัวร้อนสอนการบ้านลูก (ขอบคุณภาพจาก news.ch7.com)

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่าการ สอนการบ้านลูก ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ เพราะคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ หากเราจะปล่อยลูกให้ทำการบ้านเอง โดยไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองเอาใจใส่ดูแล ซึ่งอาจทำให้ลูกไม่เข้าใจบทเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็มีคุณพ่อคุณแม่ ที่อาจสอนลูกทำการบ้านไม่เก่ง หรือ อาจจะยัดเยียดบทเรียนต่างๆ ให้ลูก จนลูกคร่ำเครียดเกินไป พลอยเกิดเป็นนิสัย ไม่ชอบทำการบ้านได้ หรือคุณพ่อคุณแม่บางคนอาจไม่เข้าใจวิธีจัดการเรียนการสอนภายในบ้านที่เหมาะสม  ที่สำคัญอาจขาดจิตวิทยาในการพูดคุยจูงใจ เพื่อให้การทำการบ้านของลูกเป็นไปอย่างราบรื่นค่ะ

ดังนั้น วันนี้เรามาดูเทคนิคสอนลูกทำการบ้าน ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีคุณภาพ โดยที่ไม่ต้องมีใครหงุดหงิด หรือเสียน้ำตา กันดีกว่าค่ะ

10 เทคนิค สอนการบ้านลูก ให้สำเร็จ แบบไม่เสียน้ำตา

1. จัดสภาพแวดล้อม

หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำลายสมาธิ หรือสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของลูก ควรจัดหาสถานที่สงบ ๆ เหมาะแก่การทำการบ้านให้ลูก สร้างโซนทำการบ้าน ที่อยู่ห่างจากสิ่งรบกวน หรือบริเวณที่อาจมีสิ่งรบกวน เช่น สัตว์เลี้ยง เสียงดัง ผู้คนที่เดินไปมา  ที่สำคัญไม่ควรให้ลูกทำการบ้านหน้าจอโทรทัศน์ หน้าคอมพิวเตอร์ หรือ ทำไปฟังเพลงไป

2. จัดหาเครื่องมือ

ในบริเวณที่ลูกทำการบ้าน ควรมีแสงไฟสว่างพอเพียง มีอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นสำหรับลูก  ดินสอ ปากกา และอื่นๆ  คอยสอบถามลูกเป็นประจำ ว่ามีอะไรที่ลูกต้องใช้ในการทำการบ้านแต่ละวิชา เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ของลูกต้องสะดุด เมื่อต้องกลับมาทำงานที่คุณครูมอบหมายต่อที่บ้าน

สอนการบ้านลูก
สอนการบ้านลูก

3. จัดการเวลา

ควรจัดเวลาที่เหมาะสม ในการทำการบ้านให้ลูก และฝึกให้เป็นกิจวัตร เช่น ช่วงเวลาก่อน หรือ หลังอาหารเย็น  และ จัดเวลาในการอ่านหนังสือ เสริมความรู้ทบทวนบทเรียนเพิ่มเติมด้วย อย่าปล่อยเวลาให้ถึงช่วงดึก หรือ ก่อนนอน แล้วถึงให้ลูกทำการบ้าน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกจะไม่กระตือรือร้น และไม่มีสมาธิ รวมทั้งตัวเราด้วย

4. ใช้กฎใจลูกใจเรา อย่างเข้าใจ

หากลูกของคุณ รู้สึกหงุดหงิดกับการทำการบ้าน หรือเริ่มบ่นว่าการบ้านยาก แล้วเหมือนว่าจะไม่อยากทำต่อ ควรหลีกเลี่ยงการตำหนิลูกด้วยข้อความเชิงลบ  เช่น“ทำไมขี้เกียจแบบนี้ละลูก” หรือ“ แม่ไม่อยากเชื่อเลยว่าลูกจะใช้เวลานานขนาดนี้กับโจทย์ง่ายๆ!”  ข้อความที่ควรพูดกับลูก เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้  เช่น  “ลูกพูดถูก ข้อนี้เหมือนมันจะยากจริงๆนะ ลองทำดูก่อน ผิดไม่เป็นไรลูก เดี๋ยวเรามาช่วยกันตรวจดู” เห็นมั้ยคะว่าดูผ่อนคลายกว่ากันเยอะเลย

5. อารมณ์เสียให้ หยุดก่อน

จำไว้ค่ะ ว่าการใช้อารมณ์กับลูก ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะมันมักจะจบด้วยน้ำตาของลูกๆ และความเสียใจของพ่อแม่ในภายหลัง และยังทำให้บรรยากาศภายในบ้านเสียอีกด้วยค่ะ อย่าลืมว่า คุณเป็นแบบอย่างของลูก ลูกเรียนรู้จากคุณเกี่ยวกับวิธีจัดการกับความหงุดหงิดและอารมณ์โกรธ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกหงุดหงิดจากการสอนการบ้านลูก ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ให้ออกจากห้อง และให้เวลากับตัวเองสงบสติอารมณ์ หายใจเข้าลึก ๆ สองสามครั้ง หรือทำอะไรก็ได้ที่ช่วยให้ใจเย็นขึ้น แล้วค่อยกลับไปสอนการบ้านลูกต่อค่ะ

6. ทำการบ้านของคุณไปด้วย

แสดงทักษะต่างๆ ของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกเห็นบ้าง ระหว่างรอลูกทำการบ้าน เพื่อให้ลูกเรียนรู้และซึมซับในสิ่งที่คุณสามารถทำได้ดี และรู้สึกถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ ที่ให้ลูกรู้สึกอยากทำตามแบบเมื่อเขาโตขึ้น หากลูกของคุณกำลังอ่านหนังสือ คุณก็สามารถอ่านหนังสือของคุณได้เช่นกัน หากลูกกำลังทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์คุณก็สามารถคิดคำนวณรายรับรายจ่ายในสมุดบัญชีได้

7. สอนไม่ใช่บอก

การทำการบ้านให้เสร็จ เป็นความรับผิดชอบของลูก ไม่ใช่ของพ่อแม่ ควรส่งเสริมความเป็นอิสระ และความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกระหว่างทำการบ้าน อย่างไรก็ตามเมื่อลูกขอความช่วยเหลือเราค่อยให้คำชี้แนะ ที่นำไปสู่การคิดวิเคราะห์ อย่าเพิ่งให้คำตอบลูกในทันที  วิธีนี้คือการฝึกลูกให้คิดได้ คิดเป็น  นอกจากนี้ จำไว้ว่า การทำการบ้านให้ลูก ก็เป็นอีกความผิดพลาดของพ่อแม่ ที่จะทำให้เกิดผลเสียกับตัวลูกได้โดยตรงค่ะ เพราะลูกจะไม่ได้เรียนรู้ใดๆ เลยจากการบ้านในวันนั้น

8. ร่วมมือกับคุณครู

ยุคนี้คุณพ่อคุณแม่ และคุณครู ต้องทำงานกันเป็นทีมค่ะ โดยปกติคุณครูอาจจะขอให้คุณพ่อคุณแม่ มีบทบาทในการทำการบ้านกับลูกนอกเหนือไปจากการสนอ เช่น คุณพ่อคุณแม่ อาจแจ้งให้ครูทราบว่าลูก ถนัดในบทเรียนวิชาไหน หรือยังอ่อนในเรื่องอะไร  ระหว่างการสอนลูกทำการบ้านก็สามารถจดโน้ตไว้ เพื่อแจ้งให้ครูทราบรายละเอียดต่างๆ  เผื่อจะได้ขอความช่วยเหลือจากคุณครูเพิ่มเติมในเรื่องนั้นๆ ต่อไปได้ค่ะ

สอนการบ้านลูก
สอนการบ้านลูก

9. กำหนดเวลาพัก

เฝ้าดูลูกของคุณ เมื่อพบว่าลูกเริ่มขาดสมาธิ หรือดูอ่อนล้า ควรให้ลูกได้หยุดพักสักครู่  โดยกำหนดเวลาพัก ให้ลูกอย่างชัดเจน เช่น “พักก่อน 10 นาทีนะลูก เดี๋ยวค่อยมาลุยกันต่อ” ซึ่งเด็ก ส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการพักในช่วงสั้น ๆ เด็กบางคนชอบพักด้วยการ กระโดดโลดเต้น หรือ วิ่งไปมา หรือเด็กบางคน อาจชอบพักฟังเพลงโปรด เมื่อลูกหายเหนื่อยล้าแล้วค่อยเริ่มกันใหม่ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกไม่เหนื่อยล้า และรู้สึกเบื่อหน่ายค่ะ

10. ให้รางวัลกับความสำเร็จและความพยายาม

วิธีนี้จะช่วย สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้ลูกใส่ใจและอยากทำการบ้านได้ค่ะ  โดยให้คุณพ่อคุณแม่ นำสิ่งที่ลูกชอบมาเป็นตัวกระตุ้น เช่น “แม่รู้นะว่าลูกอยากขี่จักรยานเล่นหน้าบ้าน เดี๋ยวถ้าทำการบ้านเสร็จ ออกไปขี่จักรยานกันเลยนะ”  ถือเป็นการเสริมสร้างวินัยเชิงบวก ให้กับลูกอีกด้วยค่ะ

การสอนลูกทำการบ้าน ได้อย่างสำเร็จลุล่วง ถือว่าคุณพ่อคุณแม่ จำเป็นต้องใช้ทักษะด้าน EQ หรือรู้จักควบคุมอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเพื่อการแสดงออกกับลูกได้อย่างเหมาะสม ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกๆ เห็นเป็นตัวอย่างในเรื่องของการรู้เท่าทัน และจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ  แน่นอนว่าจะเป็นการปลูกฝังลูกให้เป็นเด็กที่มีความ ความฉลาดทางอารมณ์(EQ) ได้ไม่ยากค่ะ และลูกก็จะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทักษะในการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ด้านต่างๆ เพื่อการแสดงออกที่ดีและเหมาะสม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : everydayparenting.com,blog.mindresearch.org

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อคุณย่าสอนการบ้านให้หลาน

ทำการบ้านแทนลูก เตือน! ส่งผลกระทบต่อลูก

ต่างกันอย่างไรระหว่าง ลอกการบ้าน เพื่อนกับให้เพื่อนลอก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up