ผลเสียของการตีลูก
- สร้างความเจ็บปวดทางจิตใจ ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็คซัส ได้ทำการสำรวจข้อมูลกว่า 50 ปี ผลการศึกษากว่า 75 ชิ้น จากเด็กกว่า 160,000 คน ได้ผลสรุปออกมาอย่างชัดแจ้งแล้วว่า การตีลูกนั้น จะทำให้เด็กเจ็บปวด และทรมานใจ มากกว่า เด็กที่ไม่โดนตี
- ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เด็กมักมีพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะจากพ่อแม่ และการที่พ่อแม่ใช้ความรุนแรงให้กับลูกเห็น โดยการตีลงโทษเมื่อเขาทำผิด นั่นเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงให้แก่ลูกได้ โดยไม่รู้ตัว
- ทำลายความสัมพันธ์ การตีลูกเป็นการสร้างบาดแผลในใจเด็ก ด้วยเหตุที่ว่าหากการตีนั้น ไร้ซึ่งคำอธิบาย ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกหวาดกลัว มากกว่าเรียนรู้ และทำให้ห่างเหินกับครอบครัว พ่อแม่ นับเป็นการทำลายความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ลูก
- การตีจะเพิ่มความระดับความรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อย ๆ การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงยิ่งทำบ่อยๆ ก็จะได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเด็กจะ “ดื้อไม้เรียว” เมื่อการตีอย่างเดิมไม่ได้ผล พ่อแม่ก็จะเพิ่มความรุนแรงของการลงโทษมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเข้าขั้นทารุณกรรม ซึ่งอาจทำให้เด็กเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้
- ทำให้ลูกโตขึ้นมามีปัญหาซึมเศร้า คนที่เคยถูกลงโทษ ตีอย่างรุนแรง ผู้วิจัยพบว่าจะมีอาการซึมเศร้า มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย ติดสุรา ทารุณกรรมลูกของตนเอง และทุบตีหรือทำร้ายคู่สมรสของตนเอง (โดยเฉพาะผู้ชาย) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยถูกลงโทษด้วยความรุนแรง
ถ้าไม่ตี แล้วจะสอนอย่างไรให้ได้ดี !!
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ ลงโทษด้วยการ แยกให้อยู่ตามลำพัง
การแยกให้อยู่ตามลำพัง เรียกง่าย ๆ ว่าการเข้ามุม วิธีการนี้จะทำให้ลูกรู้ว่า เขากำลังถูกลงโทษโดยที่ลูกไม่ต้องเจ็บตัว เพียงแต่พ่อแม่ต้องเลือกมุมลงโทษให้ดี และมีวิธีการ ดังนี้
- บอกลูกว่าพฤติกรรมใดที่เขาต้องปรับเปลี่ยน หากไม่ยอมทำตามจะต้องต้องเข้ามุม
- หากลูกไม่ยอมเดินไปเอง ให้พ่อแม่จูงมือ หรืออุ้มลูกไปยังมุมสงบที่ได้เตรียมไว้ ในเด็กเล็กๆ อาจจะให้เด็กนั่งที่จุดเดิมก็ได้ แต่ควรเอาสิ่งของอื่นๆ หรือของเล่นออกไปจากบริเวณนั้นด้วย
- กำหนดเวลาให้ลูกรู้ว่านานเท่าไหร่ โดยมีหลักการจาก อายุ 1 ปี ต่อ เวลา 1 นาที เช่น เด็กอายุ 2 ปี ต้องใช้เวลาเข้ามุม 2 นาที เป็นต้น
- ไม่ควรให้ความสนใจ หรือพูดคุยโต้ตอบลูกในระหว่างที่เข้ามุม
- บริเวณที่จัดไว้ ให้ลูกเข้ามุม ไม่ควรมีของเล่น ทีวี หรือสิ่งเพลิดเพลินอื่น ๆ และไม่ใช่ที่ ๆ น่ากลัว เช่น ห้องน้ำ หรือห้องมืด ๆ เป็นต้น
- เมื่อหมดเวลาแล้ว ให้เข้าไปหาลูก ไม่ทิ้งลืม พูดคุยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สอนให้ลูกรู้ว่าคราวหน้าควรปฏิบัติอย่างไรแทน ไม่ควรใส่อารมณ์หรือพูดยั่วยุให้โมโหต่อ
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ ลงโทษด้วยการ งดกิจกรรม
การงดกิจกรรม อาจจะเป็นการขู่ด้วยเล็กน้อย คือ การลงโทษด้วยการที่เขาไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามกฎ ลูกจะไม่ได้ทำกิจกรรมที่เคยได้เล่น เคยได้สนุก ทำให้เขาเข้าใจด้วยตนเองได้ว่า ต้องแก้ไข ปรับปรุงพฤติกรรม เช่น ถ้าลูกทำการบ้านไม่เสร็จก็อดไปเล่นนอกบ้านกันเพื่อน วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเริ่มเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ และรู้จักต่อรองได้มากขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ควรหนักแน่น และสอนลูกให้ยึดตามกติกาที่ตั้งไว้ ให้เหตุและผลเพื่ออธิบายให้ลูกเข้าใจ การใช้วิธีทำโทษแบบนี้ จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่เข้าใจและใช้เหตุผล มีวินัย และไม่ใช่อารมณ์ในการแก้ปัญหาได้
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ ลงโทษด้วยการ ไม่ให้ความสนใจ
การไม่ให้ความสนใจ หรือการเมินลูก ใช้หยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ วิธีน้อาจใช้ในตอนที่ลูกพูดไม่ดี พูดหยาบคาย แล้วไม่ขอโทษ หรือเมื่อลูกร้องไห้อาละวาดอยู่ที่พื้นเพราะไม่ได้ดั่งใจ ไม่ควรตามใจ ควรปล่อยให้ร้องไปเรื่อยๆ และทำเป็นไม่สนใจ แต่อยู่ในสายตาว่าปลอดภัยดี สักพักลูกจะหยุดร้องไปเอง เมื่อหยุดร้องแล้วถึงจะเข้าไปหาเด็ก พูดคุยถึงวิธีแก้ปัญหาหรือชวนทำกิจกรรมอื่นต่อไป แต่ไม่ใช่เข้าไปโอ๋หรือต่อรองกับเด็ก เพื่อให้เด็กรับรู้ว่าถ้าดื้อหรืออาละวาด ไม่น่ารักจะไม่มีใครสนใจ
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ ลงโทษด้วยการ รับผิดชอบสิ่งที่ทำผิด
วิธีการนี้ใช้ได้ เมื่อลูกทำผิดในสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าผิด เช่น ทำของตกแตกเสียหาย ทำน้ำหก ก็ต้องเก็บ หรือเช็ดด้วยตนเอง
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ ลงโทษด้วยการจำกัดการเคลื่อนไหว
เป็นการลงโทษด้วยการจำกัดการเคลื่อนไหว เป็นวิธีที่ใช้ได้ในเด็กเล็ก คือ ดึงลูกเข้ามากอด หยุดให้เขาอยู่เฉย ๆ ธรรมชาติของเด็ก เขาจะอยูไม่นิ่ง เมื่อเขาถูกจำกัดไว้ เขาจะรู้ว่านี่คือ การลงโทษนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.matichon.co.th /th.rajanukul.go.th/กรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
จิตแพทย์แนะ! ขอบเขตการลงโทษเด็ก ป้องกัน “เด็กบอบช้ำหลังถูกลงโทษ”
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่