safe zone คือ พื้นที่ปลอดภัย บุคคลที่เราสามารถคุยได้ทุกเรื่องอย่างสบายใจ ในวัยเด็กพ่อแม่มักเป็น safe zone ของลูก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นได้!!
safe zone คือ พื้นที่ปลอดภัยที่พ่อแม่เป็นให้ลูกได้!!
พื้นที่ปลอดภัย ที่ไม่ใช่สถานที่ แต่คือความรู้สึกทางใจ พื้นที่ที่เราไม่ต้องสนใจใคร รู้สึกสบายใจ ที่ที่เราไม่ถูกตัดสิน กล้าที่จะพูดกับใครสักคน นั่นแหละ คือ safe zone
วัยเด็ก วัยที่ใคร ๆ ต่างมองว่าเป็นวัยแห่งความสุข ไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนใด ๆ นั่นอาจเป็นเพราะว่า ในวัยเด็ก เป็นวัยที่เขามี safe zone เป็นพ่อแม่ คนที่ใกล้ตัวเขาแทบตลอดเวลา ดังนั้นเวลาเกิดปัญหาใด ๆ เด็กจึงสามารถระบาย ปรึกษาปัญหานั้น ๆ ได้อย่างทันท่วงที ไม่สะสมคั่งค้างไว้ภายในใจ แต่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนจะเป็น safe zone ของลูกได้เสมอ
ทำไมพ่อแม่ถึงต้องเป็น safe zone ให้ลูก??
การทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ คือ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา นับว่าเป็นพื้นฐานชีวิตที่ดี เพราะลูกไม่ต้องไปหาความสบายใจนอกบ้าน ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเขาโตขึ้นเรื่อย ๆ เราไม่สามารถกำหนดสังคมภายนอกของลูกได้ 100% การที่พ่อแม่เป็นที่พึ่งทั้งทางร่างกาย และจิตใจให้แก่ลูก ให้เขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และไว้วางใจพ่อแม่มากกว่าคนอื่นก็ย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน
เทคนิคที่ทำให้ safe zone ของลูก คือ พ่อแม่ !!
พ่อแม่นักฟัง
การเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นคำที่ฟังดูเหมือนง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วทำได้ยาก เหตุเพราะ การรับฟังนั้น ต้องเป็นการรับฟังแบบนักฟังที่ดี ฟังตั้งแต่ต้นจนจบแบบตั้งใจ ไม่ตัดสินในสิ่งที่เขาพูด และนำเสนอความคิดของเราแทรกระหว่างการฟัง ต้องระวังให้มากในเรื่องการใช้อารมณ์ แม้ว่าสิ่งที่รับฟังนั้นจะเป็นสิ่งที่เราเห็นไม่ตรงกันก็ตาม หากเราขัดขึ้นเสียก่อนที่ลูกจะเล่าจนจบ คุณพ่อคุณแม่อาจพลาดใจความสำคัญ และความรู้สึกที่แท้จริงต่อปัญหานั้น ๆ ของลูกก็เป็นได้
เคล็ดลับนักฟังที่ดี
- พ่อแม่หลาย ๆ คนอาจเกิดคำถามขึ้นในใจได้ว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้ลูกยอมเล่าเรื่องปัญหาของตนเองให้กับพ่อแม่ฟัง เพราะเด็กทุกคนไม่ได้เป็นเด็กช่างพูดเสมอไป เคล็ดลับในการพูดคุยกับลูก คือ คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการหาเวลาให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน เช่น เวลารับประทานอาหารเย็น ควรตั้งกฎในการหยุดกิจกรรมทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน โทรทัศน์ หนังสือการ์ตูน แล้วให้ทุกคนนั่งรับประทานข้าวพร้อมหน้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการพูดคุย แบ่งปันเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวันของแต่ละคน โดยไม่ต้องรอให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องสำคัญถึงจะมาพูดคุยกันเสมอไปก็ได้ การทำเช่นนี้ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง เขาก็จะสบายใจเวลาเล่า
- คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องของตัวเอง เช่น เรื่องที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นถามว่าลูกได้ทำอะไรบ้างระหว่างอยู่ที่โรงเรียน บรรยากาศในการพูดคุยก็จะผ่อนคลาย เพราะไม่ได้ชี้เป้าเจาะจงไปเพียงแต่เรื่องของลูกเท่านั้น เมื่อทำเป็นกิจวัตร ลูกก็จะคุ้นเคย และสบายใจที่จะเล่าเรื่องของตัวเองออกมาด้วยตัวเองไม่ต้องคาดคั้น
- เห็นต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากหัวข้อการพูดคุยเป็นเรื่องที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันระหว่างพ่อแม่ กับลูก และเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เช่น ความเชื่อ ศาสนา การเมือง หรือหัวข้ออื่น ๆ เราก็ไม่ควรยัดเยียดความคิดของเราใส่หัวลูก และเมื่อลูกไม่เข้าใจในความคิดเห็นของพ่อแม่ เราก็สามารถกล่าวได้ว่า พ่อแม่ยังเคารพในความคิดของลูก ดังนั้นเขาก็ไม่ควรต้องให้พ่อแม่คล้อยตามความคิดของเขาเช่นกัน พ่อแม่เพียงแค่เสนอคำแนะนำในแบบตัวเอง จากนั้นรับฟัง และรอดูการตัดสินใจของลูก หากคำแนะนำนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งอารมณ์แล้ว เมื่อลูกเกิดปัญหาติดขัดขึ้นมารับรองว่าคำพูดเหล่านั้นจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของเขาอย่างแน่นอน
open minded
สังคมไทย มักมีกฏเกณฑ์ทางวัฒนธรรมที่อาจขัดแย้งต่อการเปิดโอกาสในการแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา เช่น เราไม่สามารถพูดว่าเรารู้สึกอย่างไร เพื่อรักษามารยาท เพื่อรักษาบรรยากาศ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ เพื่อความเคารพในผู้ใหญ่ เป็นต้น และการที่ไม่ได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมา โดยเฉพาะความรู้สึกทางลบ รู้หรือไม่ว่าเป็นการกดดัน การเก็บกดความเศร้า ความเครียด นับว่าเป็นการทำร้ายตัวเอง ส่งผลให้ป่วยทางใจโดยไม่รู้ตัว
การสอนให้ลูกกล้าเปิดเผยความรู้สึกนั้น พ่อแม่ก็ต้องเริ่มจากตัวเอง ไม่อายที่จะแสดงความรู้สึกเช่นกัน เราสามารถอธิบายความรู้สึกตัวเองให้ลูกฟังด้วยคำพูดง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ใส่อารมณ์ เช่น เมื่อเรากลับจากที่ทำงานที่วันนี้งานยุ่งทั้งวันทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจมีสีหน้าเครียด ก็อาจจะบอกลูกได้ว่า วันนี้เหนื่อยจังเลย แทนที่จะบอกว่าไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องที่ลูกต้องรู้ เป็นต้น
การแสดงความรู้สึกในด้านบวกก็เป็นสิ่งที่มีค่าเช่นกัน พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าการพูดชมลูกบ่อย ๆ จะทำให้เขาเหลิง ไม่เป็นผลดีกับลูก ทำให้พ่อแม่ปิดกั้นไม่ให้ลูกรู้ว่าเราภูมิใจในตัวเขา หรือเวลาลูกทำดีมักไม่กล้าชม การชื่นชมเขาบ้างในเวลาที่เหมาะสม ก็เป็นการทำให้ลูกมั่นใจทั้งต่อตนเอง และต่อความรักของคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน
ภาษากาย ตัวแทนหมื่นล้านคำพูด
ลูกไม่ใช่สิ่งของ ยอมรับ และให้เกียรติในสิ่งที่เด็กเป็น
- เราสามารถปลูกฝังให้ลูกคุ้นเคยกับการเคารพซึ่งกันและกัน และรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความรู้สึกออกมาให้พ่อแม่รับรู้ เพราะลูกรู้ว่าพ่อแม่เคารพในความคิดเห็นของเขาเสมอ ด้วยการปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เมื่อครอบครัวจะออกไปเที่ยวพร้อมหน้ากัน เราสามารถสอบถามทุกคนถึงความเห็นว่าอยากไปที่ไหน และลงความเห็นร่วมกัน นอกจากจะได้แสดงถึงการเคารพความคิดเห็นของกันและกันแล้ว ยังทำให้เขารู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมอีกด้วย
ให้กำลังใจในวันที่เขาผิดพลาด
ไม่เอาความคาดหวังของพ่อแม่มาใส่ในตัวลูก เมื่อเราคาดหวังมากเกินไป จะเป็นการกดดันลูกโดยไม่รู้ตัว และเมื่อคาดหวังก็จะต้องมีคำว่าผิดหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกกลัว ไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง หรือไม่พอใจ จึงพบว่าลูกมักจะไม่ยอมเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง โดยเฉพาะข้อผิดพลาด ดังนั้นพ่อแม่จึงควรระวังในเรื่องนี้ และทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมจะรับฟัง ให้กำลังใจ และไม่รู้สึกผิดหวัง เพราะคนเราพลาดกันได้ และเราพร้อมให้อภัย ช่วยหาทางแก้ไขก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน
การสร้างสายสัมพันธ์พ่อแม่ และลูกที่ดีมาตั้งแต่เด็กนั้น จะเป็นเกราะป้องกันลูกได้เป็นอย่างดี เหมือนดั่งคำกล่าวของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หัวข้อเรื่อง สายสัมพันธ์เป็นหางเสือ หัวเรือเป็น EF
“ในความเป็นจริง เมื่อเด็กเล็กเป็นเด็กโตเป็นวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ตอนต้นเรียนจบออกไปทำงาน เขาหันมาดูแม่เป็นระยะๆเสมอเพราะสายสัมพันธ์ที่ดี เพียงแต่เขาไม่จำเป็นต้องเหลียวคอจริงๆ เขาคิดจะทำอะไรที่เสี่ยงอันตรายเขาจะคิดถึงแม่ที่บ้าน นั่นก็เพราะสายสัมพันธ์
สายสัมพันธ์จึงเป็นหางเสือ คอยคัดท้ายและคอยระวังหลัง คอยฉุดรั้งและคอยตักเตือน โดยทั้งหมดนี้แม่ทำได้จากที่บ้านด้วยรีโมทคอนโทรลทางจิตใจเรือจะออกนอกเส้นทางเป็นครั้งๆนั้นแน่นอน ชีวิตเป็นเช่นนั้นเอง แต่หางเสือที่ดีจะคอยคัดท้ายและหัวเรือที่ดีจะไปต่อไปให้ถึงเป้าหมาย”ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก เพจ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หากพ่อแม่ สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกมาตั้งแต่เด็ก ก็เปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันให้แก่ลูกได้เสมอ safe zoneคือพ่อ และแม่ จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากเลย หากคุณพ่อคุณแม่ลองทำตามเคล็ดลับดี ๆ ข้างต้น ก็สามารถทำให้หัวใจที่บอบช้ำของลูกค่อย ๆ ได้รับการเยียวยาได้ทีละน้อย และพร้อมเผชิญโลกกว้างต่อไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก เพจตามใจนักจิตวิทยา /www.alljitblog.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ประโยชน์ของการ รักกันให้ลูกเห็น พ่อแม่ยิ่งรักกัน ยิ่งดีต่อใจลูก
ลูกชายติดแม่ ลูกสาวติดพ่อ เหตุเพราะ “ปมเอดิปัส” “ปมอิเลคตร้า” ?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่