ประสาทสัมผัส ไวกว่าปกติ(Sensory defensiveness) ความผิดปกติที่อาจไม่อันตราย แต่ส่งผลต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของลูกได้ มาทำความเข้าใจ และช่วยลูกกันเถอะ
ประสาทสัมผัส ไวกว่าปกติต้นเหตุลูกเก็บตัวหงุดหงิดง่าย!!
ภาวะที่ไวต่อการรับความรู้สึก หรือ Sensory defensiveness คืออะไร? คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงไม่เข้าใจว่า ภาวะดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับลูก หรือส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกได้อย่างไร ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับ Sensory Integration กันเสียก่อน
Sensory Integration (SI) คืออะไร?
SI ย่อมาจาก Sensory Integration แปลว่า การบูรณาการประสาทความรู้สึกจากอวัยวะรับสัมผัสต่างๆ ของร่างกาย เป็นกระบวนการที่ระบบประสาทส่วนกลางประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสทุกส่วนของร่างกาย แล้วตอบสนองออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวหากสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ จะเกิดการสร้างองค์ประกอบพื้นฐานในทำกิจกรรมอย่างสมบูรณ์ เกิดการรับรู้ตนเอง พัฒนาความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ให้ตอบสนองเพื่อการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม เช่น การมีสมาธิเขียนอ่าน การเคลื่อนไหว การร่วมกิจกรรมทางสังคม เป็นต้น
SI แบ่งออกเป็น 3 ระบบหลัก ได้แก่
- ความรู้สึกจากระบบการทรงตัว และการเคลื่อนไหว (Vestibular sensation)
- ความรู้สึกกายสัมผัส (Tactile sensation)
- ความรู้สึกจากกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ (Propioceptive sensation)
ในทางกลับกัน เมื่อระบบประสาทส่วนกลางมีปัญหาในการประมวลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัสใด ๆ การตอบสนองของร่างกายนั้นเกิดผิดปกติ เราจะสามารถสังเกตได้จากความยากลำบากในการเคลื่อนไหว ภาษา หรือทักษะทางพฤติกรรม นักกิจกรรมบำบัดจะวินิจฉัยความผิดปกติเหล่านี้ว่าเป็น ความผิดปกติของการประมวลผลทางประสาทสัมผัสหรือเอสพีดี (SPD)
ลูกคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้บ้างหรือไม่?
สัญญาณของการเกิดความผิดปกติของการประมวลผลทางประสาทสัมผัส หรือ การที่ ประสาทสัมผัส ไวเกินปกติ สามารถส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมในชีวิตของเด็ก เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงภาวะหลีกหนีประสาทความรู้สึก หรือการป้องกันประสาทสัมผัสที่ไวเกิน การที่สมองไม่สามารถทำหน้าที่ตามธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในส่วนของระบบการรับความรู้สึก สมองไม่สามารถจัดระเบียบความรู้สึกต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกายผ่านอวัยวะต่าง ๆ ได้ การที่สมองไม่สามารถบูรณาการข้อมูลความรู้สึกได้ดีจะส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังต่อไปนี้
- ไม่ชอบการสัมผัสที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น การกอด หอมแก้ม
- ไม่อยากให้มือเลอะ เปื้อน สกปรก โดยเฉพาะ มือ เท้า ใบหน้า
- ระคายเคืองต่อป้ายแท็กคอเสื้อ ป้ายขอบเองกางเกง ไม่ยอมสวมเสื้อผ้าใหม่ ต้องทำให้เสื้อผ้ามีเนื้อผ้าที่นิ่มก่อนใส่
- ไม่ชอบเล่นเครื่องเล่นที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ม้าหมุน ชิงช้า จะพยายามหลีกเลี่ยงการยืนเดินบนพื้นที่ไม่มั่นคง
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการลงน้ำหนัก เช่น การเล่นกีฬา การวิดพื้น การคลาน เป็นต้น
- ชอบอยู่ในที่มืด สลัว หรี่ตาเวลาเห็นแสง หรือสีมาก ไม่ชอบความไวของแสง
- ชอบรับประทานอาหารเดิมซ้ำ ๆ ไม่ชอบลองอาหารที่มีรสชาติหลากหลาย รสชาติใหม่ ๆ
- ต่อต้านการทำกิจกรรมประจำวัน เช่น การแปรงฟัน หวีผม ซักผ้า ตัดเล็บ ล้างหน้า เป็นต้น
- มักจะแสดงอาการรำคาญ หงุดหงิด ไม่ชอบเวลาได้ยินเสียงกระซิบ เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงดัง เสียงรบกวนต่าง ๆ
Sensory Defensiveness คืออะไร?
คือ ภาวะที่ไวต่อการรับความรู้สึกต่อกลิ่น แสง รสชาติ การรับสัมผัส การเคลื่อนไหว การได้ยิน หากลูกคุณมีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น เป็นสัญญาณเตือนว่าลูกอาจมีภาวะที่ไวต่อการรับความรู้สึกต่อสิ่งเร้าได้ อย่างไรก็ตามหากพฤติกรรมเหล่านี้มีบ้างเล็กน้อย ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต เด็กก็จะเรียนรู้ และปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ได้เองในที่สุด
แต่ในเด็กบางคนที่มีพฤติกรรมหลีกหนีต่อสิ่งเร้ามาก จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เด็กอาจต้องได้รับการช่วยเหลือจากนักกิจกรรมบำบัด เพื่อปรับกิจกรรม สิ่งแวดล้อม ให้เขาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ประสาทสัมผัส ที่ไวต่อความรู้สึก ส่งผลต่อลูกอย่างไร?
- ทำให้เป็นเด็กที่รู้สึกกังวล กลัว รู้สึกไม่ปลอดภัยต่อผู้คน และการทำกิจกรรม
- ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ หงุดหงิดง่าย
- ทำให้ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และการเข้าสังคม
- ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้จากปัญหา และการปรับตัวจากสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย
- เกิดแรงจูงใจอยากจะหนีจากสิ่งเร้า ทำให้เป็นเด็กเก็บตัว อยู่แต่ในบ้าน
- ดิสแพร็กเซีย (Dyspraxia) เช่น มีการวางแผนการเคลื่อนไหวที่ไม่ดีทำให้เกะกะ เก้งก้าง และไม่สัมพันธ์กัน ใส่เสื้อผ้าเองลำบาก เรียนรู้ต่อกิจกรรมใหม่ได้ช้า
การบำบัดเด็กที่มีปัญหาทำอย่างไร?
นักกิจกรรมบำบัดจะทำการประเมิน และให้การบำบัดตามความบกพร่องในแต่ละบุคคล คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองสามารถช่วยทำได้โดยการส่งเสริมการปรับสิ่งแวดล้อมที่บ้าน เช่น กระตุ้นให้เด็ก ได้รับสัมผัสที่หลากหลายมากขึ้นทั้งการใช้มือจับชนิดของอาหาร ผิวสัมผัสของเล่น เป็นต้น กระตุ้น ให้เด็กได้มีการปรับตัวในการเล่นที่หลากหลาย เช่น นั่งชิงช้า ปีนป่าย เล่นบนทราย บนหญ้า คลาดอุโมงค์ กลิ้งตัวบนพรม เดินทรงตัว เป็นต้น
โดยเราสามารถแบ่งการบำบัดตามขั้นตอนได้ ดังต่อไปนี้
- การปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดสิ่งเร้า
- จัดหาตัวที่ช่วยปรับเพื่อลด และจัดการกับสิ่งกระตุ้น
- การบำบัดเพื่อนเปลี่ยนแปลงทางประสาทวิทยา
- การเติมเต็มการรับความรู้สึก และจัดการระเบียบระบบประสาท
ตารางตัวอย่างการบำบัดด้วยการปรับสิ่งแวดล้อม และใช้อุปกรณ์ช่วย
สิ่งเร้า |
การปรับ |
อุปกรณ์ |
เสียง | ปรับลดระดับเสียง
จัดการเสียงรบกวน หลีกเลี่ยงบริเวณคนพลุกพล่านกิจกรรมที่เสียงดัง |
ใช้เครื่องเล่นเพลง หูฟัง
ใส่ที่อุดหู
|
สายตา | ใช้แสงไฟที่นุ่ม ไม่จ้าเกินไป
ลดการใช้สีสันสดใส |
เปลี่ยนเป็นกระจกสีตัดแสง ลดความจ้าของแสง
ใส่หมวก ใช้ร่ม ใส่แว่นกันแดด |
สัมผัส | หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบแผ่วเบา
ก่อนจะสัมผัสให้บอกเด็กก่อน ให้เด็กนั่งห่างจากคนอื่น ปรับให้ทำกิจกรรมที่ได้สัมผัส |
เลือกเนื้อผ้าที่นิ่ม เช่น ผ้าสแปนเด็กซ์ ให้ลูก |
ตัวอย่างวิธีการบำบัด
- การแปรงตัวเด็กด้วย Sensory brush โดยแปรงอย่างเร็วบริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ แขน ไหล่ หลัง ขา และเท้า ร่วมกับการทำ Joint compression ให้แรงกดบริเวณข้อต่ออย่างสม่ำเสมอ บริเวณนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ไหล่ สะโพก ข้อเท้า กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่กี่นาที ทำทุก ๆ 1.5-2 ชั่วโมง โดยนักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้ออกแบบโปรแกรมการฝึกให้เฉพาะแต่ละบุคคล วิธีการนี้ใช้สำหรับเด็กที่มีภาวะหลีกหนีการสัมผัส TD : Tactile Defensiveness
- AIT : Auditory Intergration Therapy เป็นการทำรายบุคคล ให้ความถี่ต่าง ๆ ผ่านหูฟังเพื่อช่วยปรับการรับความรู้สึกให้สมดุล
- Visaul Integration Therapy : Irlen Method ใช้เลนส์กรองแสง ใช้เลนส์พิเศษ ปรึซึม และการบำบัดทางสายตาเพื่อแก้ไขความผิดปกติ
- Sensory Integration Therapy ทำโดยนักกิจกรรมบำบัด กระตุ้นระบบรับความรู้สึก เพื่อให้เกิดการบูรณาการประสาทความรู้สึก ส่งผลให้ภาวะที่ไวต่อการรับรู้ความรู้สึกลดลง
พฤติกรรมไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น การเก็บตัว ไม่ยอมเข้าสังคม หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เป็นต้น เหล่านี้ บางครั้งอาจทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดคิดไปว่าเป็นจากนิสัยตัวเด็กเอง แต่ในบางครั้งเราอาจคาดไม่ถึงว่า พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ที่เด็กแสดงออกมา เพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกของความผิดปกติบางอย่างทางกาย ที่ลูกต้องการได้รับความช่วยเหลือ แม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากเขาได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมก็สามารถช่วยให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน อย่าปล่อยให้ลูกต้องรับมือความทุกข์เพียงลำพัง หมั่นสังเกตลูกสักนิดหากเขามีอาการที่กล่าวมาข้างต้นบ่อย ๆ ลองพาลูกไปปรึกษากับนักกิจกรรมบำบัด เพื่อชีวิตลูกที่ดีกว่า
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.facebook.com/Hugglory.th/harkla.co /www.phyathai-sriracha.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่