ขอความช่วยเหลือ ด้วยสัญญาณรูปแบบอื่น ๆ
“กะพริบตา” ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
เมื่อไม่สามารถส่งเสียง “ช่วยด้วย” ขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นได้ และในบางโอกาสก็ไม่สามารถส่งสัญญาณมือได้เช่นกัน อย่างในกรณีที่ถูกมัดมือ มัดเท้า ไว้ ตา จึงเป็นอวัยวะหนึ่งที่ยังสามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน การกระพริบตาด้วยสัญญาณ SOS ทำได้โดยกะพริบเร็ว ๆ สามครั้ง กะพริบช้า ๆ 3 ครั้ง แล้วกะพริบเร็วอีก 3 ครั้ง
กรณีตัวอย่างที่ใช้การกะพริบตาเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ : ในปีค.ศ. 1966 พลเรือเอก Jeremiah Denton Jr. ที่ถูกจองจำเป็นเชลยศึก เคยใช้การกะพริบตาเป็นรหัสมอร์สเพื่อสื่อสารกับสหรัฐอเมริกา ว่ากำลังถูกชาวเวียดนามเหนือทรมาน ทำให้เขาสามารถช่วยชีวิตตัวเองผ่านการกระพริบตาธรรมดา ๆ ได้
“เสียงเคาะและขูด” ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
การเคาะให้เกิดเสียง เป็นวิธีที่ดีในการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในพื้นที่จำกัด เมื่อคุณตกอยู่ในสถานการณ์ไม่คาดคิด ลองใช้มือเคาะบนหน้าต่างหรือท่อ ด้วยสัญญาณเสียง SOS คือ “เสียงสั้น 3 ครั้ง เสียงยาว 3 ครั้ง และเสียงสั้นอีก 3 ครั้ง”
สัญญาณ SOS คือรหัสมอร์ส (… – – – …) จุด 3 / ขีด 3/ จุด 3 ถูกใช้ให้เป็นสัญญาณ “แสดงภัยพิบัติสากล” ทางทะเล ตั้งแต่ปี ค.ศ.1908 ซึ่งชาวเรือจะใช้รหัสนี้ขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน ปัจจุบันสัญญาณ SOS เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในการใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแบบสากล
“กางแขนเป็นรูปตัว V” วิธีส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
หากเราเกิดความต้องการขอความช่วยเหลือในพื้นที่กว้าง การส่งสัญญาณมืออาจทำได้ไม่ชัดเจน ผู้รับสัญญาณอาจอยู่ไกลเกินกว่าจะมองเห็นได้ถนัด เราสามารถใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น เมื่อเราหลงป่า ขณะปีนเขา หากเราพบเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ที่ทีมค้นหาส่งมา หรือบินผ่านมาพอดี คุณสามารถยกแขนทั้งสองข้างเป็นอักษรรูปตัว V เพื่อบอกว่าคุณกำลังต้องการความช่วยเหลือ หรือแสดงให้เป็นจุดสังเกตได้
“วางก้อนหินเป็นรูปตัว X” ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
การวางก้อนหินมาเรียงกันเป็นรูปตัว X หรือ กากบาทขนาดใหญ่ เพื่อให้หน่วยกู้ชีพทางอากาศที่กำลังค้นหา สังเกตเห็นได้ง่าย ตัวอักษร V และ X เป็นหนึ่งใน “รหัสฉุกเฉินภาคพื้นดิน” เพื่อขอความช่วยเหลือทางอากาศ ซึ่งทีมกู้ภัยใช้กันทั่วโลก มีอยู่ 5 สัญลักษณ์ ได้แก่
- X = ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือเร่งด่วน ใช้สื่อสารว่าคุณหรือคนอื่นได้รับการบาดเจ็บหรืออาจหมดสติ ส่วนสัญลักษณ์ V ใช้การขอความช่วยเหลือโดยทั่วไป
- ลูกศร➡ ชี้ไปยังตำแหน่งที่คุณอยู่ เช่น เมื่อใช้สัญลักษณ์ X ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์แล้ว ให้ทำสัญลักษณ์ “ลูกศร” ชี้ไปยังบุคคลที่ต้องการให้หน่วยกู้ชีพช่วยชีวิต
- Y = Yes หรือ ใช่ เพื่อ “ยืนยัน” คำถามกับเจ้าหน้าที่ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ
- N = No เพื่อตอบคำถามว่า “ไม่”
“กระจกเงา” ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
นักผจญภัย หรือทางการทหาร จะแนะนำให้คุณพกกระจกเงาติดตัวเสมอ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการขอความช่วยเหลือได้ง่าย ลำแสงที่สะท้อนกับพระอาทิตย์ในตอนกลางวันสามารถส่องไปได้ไกลถึง 16 กิโลเมตร แต่อาจจะไม่ใช่อุปกรณ์ขอความช่วยเหลือที่ดีนักในเวลากลางคืน เมื่อยานพาหนะหรือเครื่องบินเห็นคุณแล้ว และกำลังเข้าไปรับคุณ ให้หยุดการสะท้อนแสงทันที เพื่อหลีกเลี่ยงลำแสงส่องเข้าดวงตาของผู้ช่วยเหลือ เพราะจะทำให้ตาพร่าชั่วขณะ และอาจเกิดอุบัติเหตุได้
วิธีใช้ “กระจกเงา” เพื่อขอความช่วยเหลือระยะไกล
- ถือกระจกเงาไว้ใต้ตา
- ชูนิ้ว 2 นิ้วไปข้างหน้าเป็นท่า “สู้ ๆ “ ให้ตรงกับเป้าหมาย
- เล็งลำแสงไปที่ระหว่างนิ้วที่ยื่นออกไป ส่องไปที่เป้าหมาย
- เอียงกระจกอย่างช้า ๆ จากซ้ายไปขวา และขึ้น-ลง
- ส่องลำแสงแบบนี้ 3 ครั้งแล้วหยุด
“การโบกมือขึ้น-ลง” วิธีส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
ในวิชาการเรือก็ได้สอนไว้ว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพลัดตกจากเรือ, พายุซัดเรือล่ม โดยที่ตัวคุณไม่มีเสื้อชูชีพ ให้พยายามเกาะวัตถุที่สามารถลอยน้ำได้เพื่อให้เอาตัวรอดได้นานที่สุด จากนั้นให้ “ส่งสัญญาณมือ ด้วยการโบกขึ้น-ลง อย่างช้า ๆ” จนกว่าจะมีใครมาเห็น และให้การช่วยเหลือ
สัญลักษณ์ง่าย ๆ ในการส่งสัญญาณเตือนภัย ขอความช่วยเหลือ แม้จะเป็นวิธีง่าย ๆ แต่ยิ่งใหญ่หากเราสามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้จริง เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ การสอนลูก และการหมั่นฝึกวิชาเอาตัวรอดต่าง ๆ เมื่อเผชิญปัญหานับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นทักษะชีวิตที่ควรค่าแก่การสอนลูกหลาน แต่ไม่ว่าเทคนิคใด ๆ ในการเอาตัวรอดก็ตาม ทุกเทคนิคหากเกิดปัญหาขึ้นมาจริง ๆ สิ่งสำคัญยิ่งกว่าอื่นใด คือ การมีสติ เมื่อพบเหตุร้ายควรตั้งสติ หมั่นสังเกต และใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบตัว เพื่อขอความช่วยเหลือ และเอาตัวรอดมาให้ได้อย่างปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.sikarin.com/https://www.bangkokbiznews.com/https://www.altv.tv
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่