ข่าวทำร้ายร่างกาย ใช้ความรุนแรงต่าง และคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นบ่อย จนคุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวลกับอนาคตของลูกน้อย ไม่ใช่แค่กลัวว่าจะ “ตกเป็นเหยื่อ” แต่จะทำอย่างไรหากลูกกลายเป็น “ฆาตกร” เสียเอง …ปัจจัยหนึ่งที่หลอมให้เด็กคนหนึ่งโตขึ้นเป็นอย่างไร มาจากครอบครัว และพ่อแม่คือคนทำหน้าที่ เลี้ยงลูกไม่ให้โตไปฆ่าใคร
ลูกเป็นคนแบบไหนเริ่มต้นที่พ่อแม่ เลี้ยงลูกไม่โตไปฆ่าใคร
เบื้องหลังของฆาตกรเลือดเย็นที่ก่อเหตุเลวร้ายได้อย่างสะทกสะท้าน กลับมาจากสภาพจิตใจที่เปราะบาง สิ่งแวดล้อมบีบคั้น และสภาพครอบครัว ที่ขาดความรัก นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่คนๆ หนึ่งจะฆ่าคนได้อย่างไม่รู้สึกผิดไว้ว่า
“ในเชิงจิตวิทยา โจรมี 2 แบบ คือ ทำร้ายคน กับไม่ทำร้ายคน ถึงความรุนแรงจะไม่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่โจรทั้งสองแบบนี้เหมือนกันคือ “ขาดความสามารถในการเข้าถึงความทุกข์ของผู้อื่น” (หรือขาดเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ) จึงไม่เข้าใจความรู้สึกของเหยื่อที่ว่าเจ็บปวด สูญเสียอย่างไร ผู้ร้ายที่ฆ่าคนได้เป็นตัวอย่างของการสูญเสียความสามารถนี้สมบูรณ์แบบ นั่นคือไม่รู้เลยว่าการกระทำของตนสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเหยื่ออย่างไร”
ข้อมูลวิชาการเชิงจิตวิทยา ระบุว่า 75 % ของฆาตกรไม่มีอารมณ์อาทรผู้อื่น ไม่รู้สึกรับผิดชอบใดๆจากการกระทำของตน จะคิดแต่ความต้องการของตัวเองเท่านั้น จากการทดสอบสภาพจิตใจเมื่อได้ยินเสียงดัง หรือได้ยินคำที่ส่ออารมณ์เชิงลึก เช่น “ฆ่า” “สังหาร” หรือ “ทำร้าย” คนร้ายจะไม่ตกใจ กระสับกระส่าย เหงื่อแตก หรือมีผลต่อจิตใจอย่างกับคนปกติทั่วไป
กระบวนการสร้าง ความเข้าใจถึงจิตใจผู้อื่น เป็นเรื่องควรปลูกฝังให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก เรื่องนี้ไม่เกิดจากการสั่งสอน หากเกิดจากการบ่มเพาะทางจริยธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ “ห้ามฆ่าสัตว์” เท่านั้น “ แต่เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆในบ้าน ว่าคุณพ่อคุณแม่จะ เลี้ยงลูกโตไปไม่ฆ่าใครได้อย่างไร
เลี้ยงลูกโตไปไม่ฆ่าใคร ทำอย่างไร
ปลูกฝังความเห็นใจผู้อื่นด้วย “งานบ้าน”
เด็กๆ จะเรียนรู้วิธีคิดว่า สิ่งใดถูกต้อง ไม่ถูกต้อง รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำ รู้วิธียับยั้บชั่งใจ ด้วยตัวเอง ไม่ได้มาจากคำพร่ำสอนของพ่อแม่เท่านั้น แต่เริ่มต้นด้วยให้ลูกดูแลร่างกายตัวเอง (ตามวัย) เช่น กินข้าวเอง อาบน้ำถูสบู่เอง ถัดมาก็ให้รับผิดชอบเรื่องรอบตัว อย่าง ใส่เสื้อผ้า รองเท้าเอง เก็บที่นอนเอง แล้วค่อยขยายวงให้กว้างขึ้นด้วยการรับผิดชอบเรื่องงานบ้าน ช่วยแม่ล้างจาน กรอกน้ำ กวาดถูบ้าน ซักตากถุงเท้า เป็นต้น
เมื่อเด็กทำได้แล้ว จึงค่อยสอนให้เคารพกติกาสาธารณะ เช่น ไม่ส่งเสียงดัง หรือ วิ่งเล่นในร้านอาการ ทิ้งขยะให้เป็นที่ ไม่แซงคิว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนเอง รู้วิธียับยั้งชั่งใจ (โดยไม่ต้องคอยบอก) และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น นี่เป็นขั้นตอนแรกในการ เลี้ยงลูกไม่ให้โตไปฆ่าใคร
ฝึกลูก “รักตัวเอง” จากคำชมมากกว่าคำติ
เด็กทุกคนต้องการ “คำชม” จากพ่อแม่ เพราะนั่นเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดี กลายเป็นความภาคภูมิใจ มีตัวตน เมื่อทำได้ลูกก็อยากทำอีก ซึ่งเป็นเกราะป้องกันไม่ให้หันไปทำเรื่องเลวร้าย ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่มีแต่คำติ ไม่เคยชม ไม่กอด ไม่แสดงความรัก ความภูมิใจในเรื่องดีจะค่อยๆหายไป และหันไปทำเรื่องแย่ๆแทน เพื่อได้รับความสนใจ จากพ่อแม่ หรือคนรอบตัว