หนังสือนิทาน ใช่แค่ตัวหนังสือแต่เป็นจินตนาการที่มีค่าที่ช่วยเสริมพัฒนาการให้แก่ลูกน้อย แล้วทุกเล่มเหมาะกับเด็กทุกคนหรือไม่ มาดูวิธีเลือกนิทานตามวัยให้ลูกกัน
3 วิธีเลือก หนังสือนิทาน ตามวัยให้ลูกอยากฟังได้ประโยชน์
“ได้เวลาอ่านนิทานกันแล้ว” เมื่อได้ยินเสียงนี้ เหล่าเจ้าตัวน้อยทั้งหลายคงหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่อย่างไม่ลังเล พร้อมวิ่งเข้ามาร่วมวงตั้งใจฟังกันอย่างพร้อมหน้า และตั้งตาคอย นั่นเป็นเพราะ หนังสือนิทาน เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ โปรดปราน มีผลการศึกษาวิจัยต่างประเทศเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก พบว่า เด็กวัย 3-8 ขวบ จำนวนมากกว่าครึ่งบอกว่า ช่วงเวลาที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ฟังนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่พวกเขาชอบมากที่สุด
นิทานที่ดีเป็นอย่างไร??
หนังสือนิทาน ที่ดี สำหรับเด็กนั้น ความเป็นจริงแล้วเพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูกแค่สั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทานแบบใด ก็ถือว่าเป็นหนังสือนิทานที่ดีสำหรับเด็กอยู่แล้ว แต่เราจะเพิ่มความมหัศจรรย์ให้กับหนังสือนิทานให้มากขึ้นไปอีก ให้นิทานเป็นมากกว่าแค่กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ นิทานสามารถเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็กได้อย่างไม่ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อ แถมยังสนุกสนานไปกับมันอีกด้วย หากพร้อมกันแล้วเรามาดูหลักการเลือกนิทานให้ลูกกันเลยดีกว่า
3 วิธีเลือกนิทานให้สนุกได้ประโยชน์
- เลือกนิทานตามความชอบของลูก คงไม่มีใครรู้จักลูกของคุณพ่อคุณแม่ได้ดีเท่าเราอีกแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ย่อมรู้ดีว่าลูกมีความชอบ มีความสนใจในเรื่องอะไรมากที่สุด เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความสนใจ ความหลงใหลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่เสมอ เช่น ชอบไดโนเสาร์ ชอบมนุษย์อวกาศ ชอบสิงสาราสัตว์ ชอบต้นไม้ เป็นต้น นิทานที่จะนำมาเล่าให้ลูกฟังหากมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ลูกชอบเหล่านี้ ก็ช่วยเป็นแรงดึงดูดให้ลูกยิ่งสนใจ หนังสือนิทาน นั้น ๆ มากขึ้นไปอีก
- หานิทานที่มีภาพสวย เหมาะสมกับวัย เด็กเล็ก เป็นวัยที่มักสนใจกับภาพที่มีสีสันสดใส ไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดเยอะ เข้าใจง่าย ซึ่งรูปภาพในเล่มนิทานมีผลต่อการทำความเข้าใจเรื่องราวของเด็ก และการจดจำ และหนังสือที่มีภาพเยอะ ตัวอักษรน้อยก็สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาเรื่องของการสื่อสารได้ เนื่องจากเด็กจะจำภาพในเรื่องเป็นลำดับขั้นตอน โดยเราจะกล่าวถึงการเลือกนิทานให้เหมาะสมกับวัย อย่างละเอียดเป็นลำดับต่อไป
- ใส่ใจในเนื้อหาสักนิด แม้จะขึ้นชื่อว่านิทานแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านเนื้อหาของนิทานในเรื่องนั้น ๆ เสียก่อน ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกหรือไม่ อีกทั้งเรายังจะได้เตรียมตัวในการเล่ามาได้ก่อน ว่าควรจะเสริมความรู้สอดแทรกจุดไหน และได้หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อลูกไว้ก่อนอีกด้วย ในขณะเดียวการภาษาในการเขียนก็ควรมีความสนุก เข้าใจง่าย ชวนให้คิด จินตนาการ และสามารถทำให้เด็กได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
การเลือกนิทานตามวัยของเด็ก
เด็กในแต่ละวัย ก็มีพัฒนาการในทุก ๆ ด้านที่แตกต่างกันไป การรับรู้ การเรียนรู้ของเด็กก็เช่นกัน เขาสามารถเรียนรู้ได้มากเท่าที่พัฒนาการของเขาไปถึง ดังนั้นการยัดเยียดทักษะที่มากเกินวัยของลูกจึงเป็นสิ่งไม่จำเป็น ซ้ำยังเป็นผลร้ายเสียมากกว่าผลดี เพราะอาจทำให้ลูกเกิดความเบื่อหน่าย หรืออาจไม่เห็นคุณค่าในตนเองไปเลยก็ได้ เพราะการที่ทำอะไรยากเกินความสามารถตามวัยของเด็กแล้วนั้น จะทำให้เขาต้องใช้ความพยายามมากจนบางครั้งรู้สึกว่าพยายามเท่าไหร่ก็ไม่ดีเสียที จนล้มเลิกบ่อยครั้งเข้ากลายเป็นนิสัยประจำตัวเด็กไปเสียอีก
การเลือกนิทานก็เช่นกัน แม้ว่าลูกจะเพียงแค่นั่งฟัง แต่หากเราเลือกนิทานไม่เหมาะสมกับวัยของลูก ยากเกินไปเขาก็เบื่อ และไม่รู้สึกที่ดีต่อการอ่านนิทาน และจะพาลไปถึงนิสัยการอ่านของลูกอีกด้วย ดังนั้นวันนี้เรามาดูกันว่า การเลือกหนังสือนิทานตามวัยนั้นมีหลักการอย่างไรกันบ้าง
วัยเด็กอายุ 0-1 ปี
แม้เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถพูดสื่อสารเป็นภาษาได้ แต่เขาสามารถเข้าใจ และเริ่มเรียนรู้ภาษาที่คุณพ่อคุณแม่พูดกับเขา โดยเด็กสามารถแสดงออกทางภาษาได้ ดังนี้
- แรกเกิด – 2 เดือน เป็นการส่งเสียงในลำคอ แต่ยังไม่มีความหมายที่จะสื่อสาร
- 3 เดือน -4 เดือน พยายามพูดสื่อสารกับพ่อแม่ หากเราพูดคุยด้วยเด็กจะเงียบฟัง และจะส่งเสียงโต้ตอบเมื่อพ่อแม่หยุดพูด
- 5-9 เดือน เริ่มเล่นเป่าน้ำลาย เพราะเป็นการฝึกการเล่นเสียงบริเวณริมฝีปาก จะส่งเสียงเป็นเสียงพยัญชนะ และสระ เป็นเสียงสูงต่ำ และใช้คำซ้ำ เช่น มามา บาบา เป็นต้น
- 1 ปี เริ่มเข้าใจความความ และสามารถพูดได้เป็นคำสั้น ๆ ประมาณ 6-20 คำ เช่น บ๊ายบาย เป็นต้น รู้จักชื่อตนเอง เมื่อถูกเรียกชื่อจะหันไปหาได้อย่างถูกต้อง
การเลือกหนังสือนิทานตามวัยนี้ ควรเป็นหนังสือ เพื่อเน้นย้ำถึงความรัก ความผูกพัน เป็นเรื่องราว หรือตัวละครที่พบเห็นได้รอบ ๆ ตัว เช่น สัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวัน ภาพเหมือนของจริง มีสีสันสวยงาม ขนาดใหญ่ชัดเจน รูปเล่มอาจทำด้วยผ้า หรือพลาสติก หนานุ่มเพื่อให้เด็กหยิบจับเล่นได้
ลูกอายุ 2-3 ปี
เด็กในวัยนี้จะพูดได้ประมาณ 50 คำ และบางทีก็พูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้ ลูกจะเริ่มนำคำศัพท์ที่มีความหมายแตกต่างกัน มาต่อกันได้ เช่น กินนม กินข้าว ไปเที่ยว เป็นต้น
การเลือกหนังสือนิทานตามวัยนี้ ควรเป็นหนังสือนิทานภาพ จะช่วยดึงดูดให้เด็กสนใจ เช่น หนังสือนิทานภาพเกี่ยวกับสัตว์ ชีวิตประจำวัน หรือเป็นตัวละครที่เด็กชื่นชอบ เป็นต้น เด็กในวัยนี้มีประสาทสัมผัสทางการได้ยินดีมาก หากคุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์ด้านภาษา และเสียงที่ดีในวัยนี้ จะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านภาษา และดนตรีได้ดีในอนาคต
เด็กวัย 4-5 ปี
พัฒนาการด้านภาษาของเด็กในวัยนี้
- เข้าใจรูปประโยคที่เป็นเหตุเป็นผลกัน
- เด็กสามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ดี นำคำขยายมาใช้มากขึ้น
- พูดคำศัพท์ได้ประมาณ 2,000 คำ
- ลักษณะประโยคที่พูดมีความยาวคล้ายผู้ใหญ่มากขึ้น
- สามารถบอกชื่อจริงของตนเองได้
- สามารถเล่าเรื่องได้โดยมีเนื้อหาต่อเนื่องกัน
- ตอบคำถามจากเรื่องที่ฟังหรือดูได้
- ชอบถามว่า ทำไม เมื่อไหร่ อย่างไร
เลือกหนังสือตามวัยนี้ ควรเป็นนิทานเรื่องที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย ส่งเสริมจินตนาการและอิงความจริงอยู่บ้าง มีภาพประกอบที่มีสีสันสวยงาม มีตัวอักษรบรรยาย และมีขนาดใหญ่พอสมควร ใช้ภาษาง่าย ๆ เด็กวัยนี้มีจินตนาการสร้างสรรค์เกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริงกับเรื่องสมมติ ช่วยสร้างจินตนาการซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพลังการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ
หนังสือนิทานที่ดีสำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องมีตัวหนังสือมาก อาจมีเพียงภาพประกอบชัดเจนสีสันสดใส สวยงาม ดึงดูดให้เด็กสนใจ และแม้ว่าการเลือกนิทานตามวัยจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับลูกแล้ว การมีเทคนิคในการเล่าเรื่องก็มีส่วนช่วยให้นิทานเรื่องนั้น ๆ น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก การเล่าหรืออ่านนิทานด้วยความสนุกสนาน จะช่วยให้ลูกมีความสุข ช่วยพัฒนาการด้านภาษาสร้างจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาสมอง และสติปัญญาของเด็ก แถมยังช่วยสร้างความรักความผูกพัน ให้เกิดขึ้นในครอบครัวด้วย
6 เทคนิคในการเล่านิทาน ให้ลูกฟังไม่รู้จักเบื่อ
- คุ้นเคยกับหนังสือ จุดเริ่มต้นของการรักการอ่าน พ่อแม่สามารถให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือได้ตั้งแต่ยังทารก โดยอาจซื้อเป็นหนังสือที่ทำจากผ้านุ่มนิ่ม หรือหนังสือลอยน้ำได้สำหรับเด็ก และหมั่นทำความสะอาดเพื่อความปลอดภัย ให้ลูกได้หยิบจับ คุ้นเคย
- มอบสิทธิในการเลือกนิทานให้แก่ลูก ให้เขาเป็นคนเลือกเรื่องที่ต้องการฟังเอง จะช่วยให้ลูกสนใจ และตั้งใจฟังนิทานมากขึ้นไปอีก
- จัดการอารมณ์ของพ่อแม่ให้พร้อม คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียดก่อนอ่านนิทานให้ลูกฟัง เพราะภาวะอารมณ์ที่มีในขณะนั้นจะส่งผลต่อความรู้สึกของลูก
- ควรกำหนดเวลาการอ่านนิทานให้ชัดเจน พ่อแม่ควรหาเวลาอ่านนิทานให้ลูกฟังอย่างน้อยวันละครั้ง และหากเป็นไปได้ควรกำหนดช่วงเวลาในการอ่านให้แน่นอน เพื่อที่ลูกจะได้รู้ว่านี่เป็นเวลาแห่งการฟังนิทาน เขาจะตั้งตารอคอย
- กระตุ้นความรู้สึกมีส่วนร่วมของลูก โดยใช้การประสานสายตากับลูก ๆ เป็นระยะ ๆ โอบกอดลูกในขณะที่เปิดหนังสือไปด้วย จะทำให้เด็กมองตามนิ้วมือของเราที่ชี้ไปตามตัวหนังสือ และภาพ นอกจากจะช่วยดึงความสนใจแล้วยังช่วยให้ลูกรู้จักเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้อีกด้วย
- น้ำเสียง ลีลา ท่าทาง สำคัญ หากพ่อแม่เล่านิทานด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนออกเสียงตามอักขระถูกต้อง ลูกก็จะเรียนรู้ภาษาที่ถูกต้อง หากพ่อแม่ทำเสียงเล็กเสียงน้อย มีลีลาท่าทางการเล่าที่สนุกสนานก็จะกระตุ้นความสนใจและเพิ่มความสนุกมากขึ้น
หนังสือนิทาน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่ช่วยเสริมสร้างสิ่งที่ดี ๆ หลายอย่างให้แก่ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่เห็นข้อดีมากมายขนาดนี้แล้ว คงจะไม่อ่านนิทานให้ลูกฟังไม่ได้เสียแล้วสิ
ข้อมูลอ้างอิงจาก multimedia.anamai.moph.go.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รวม 70 นิทานสำหรับเด็ก 4-7 ปี กระตุ้นจินตนาการ พัฒนาสมองลูกน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่