สังเกตลูกอย่างไรว่าลูกเข้าสู่ ภาวะเครียด
ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกให้ผู้ใหญ่ทราบได้ดีพอ หรือเด็กโตที่อาจไม่กล้าเล่าปัญหาที่เจอให้ผู้ปกครองฟัง ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้พ่อแม่ไม่ทราบว่าเด็กเกิดความเครียด แต่พ่อแม่อาจสังเกตจากอาการที่บ่งบอกความเครียดของลูกได้ดังนี้
อาการทางกาย
ความเครียดทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น หายใจเร็ว หัวใจเต้นแรงขึ้น เลือดสูบฉีด ความดันโลหิตสูงขึ้น และกล้ามเนื้อในร่างกายหดเกร็ง เด็กจึงอาจมีอาการปวดศีรษะและปวดท้อง หากเกิดความเครียดสะสมอาจทำให้นอนไม่หลับหรือหลับยาก ฝันร้าย นอนกัดฟัน อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ รู้สึกวิตกกังวล และเด็กผู้หญิงอาจมีรอบเดือนผิดปกติ
อาการทางอารมณ์และพฤติกรรม
ในเด็กเล็กมักร้องไห้โยเย ร้องอาละวาด (Tantrums) และไม่ยอมให้พ่อแม่ห่างจากสายตา ส่วนเด็กโตอาจควบคุมอารมณ์ไม่ได้ โมโหร้าย ดื้อรั้น ก้าวร้าว ร้องไห้บ่อย วิตกกังวล และอาจเกิดความกลัวต่าง ๆ เช่น กลัวความมืด กลัวคนแปลกหน้า และกลัวการอยู่ลำพัง เป็นต้น
นอกจากนี้ เด็กอาจนอนน้อยลงหรือนอนมากกว่าปกติ เบื่ออาหารหรือกินอาหารเพื่อระบายความเครียดและสร้างความสบายใจ (Comfort Foods) หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและเพื่อน และไม่อยากไปโรงเรียน
ความเครียดสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ
- ระดับที่ 1 เป็นลักษณะของเด็กที่มีความเครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ ซึ่งขึ้นนี้จะไม่เป็นความเครียดที่ไม่มีผลกระทบต่อการเรียนและไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของคนรอบๆ ข้าง เพียงแค่เป็นความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง
- เครียดระดับที่ 2 เป็นลักษณะที่เริ่มรุนแรงขึ้นมาอีกขั้น โดยขั้นนี้จะกระทบต่อการเรียน และการทำงาน รวมไปถึงกับคนรอบข้างอีกด้วย
- ระดับที่ 3 เป็นลักษณะที่มีความรุนแรงและมีผลกระทบอย่างมาก ขึ้นนี้จะทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ผลการเรียนตก ซึมเศร้า เหม่อลอย อยากตาย ร่างกายไม่มีกำลัง
อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก
เมื่อเกิดความเครียดขึ้น เด็กอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้พ้นจากความเครียดนั้นได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรหาทางป้องกันและวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดให้แก่เด็กๆ ดังนี้
- การยอมรับในความสามารถของเด็ก พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่เขายังไม่พร้อม หรือกดดันลูกจนเกินไปโดยเฉพาะเรื่องการเรียน เด็กเเต่ละคนมีความสามารถ มีสิ่งที่ชอบ และความถนัดที่แตกต่างกัน หากลูกได้เรียน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและมีความสนใจเป็นพิเศษ ก็จะทำให้เขาเกิดความกระตือรือร้น มีความเข้าใจ และมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
- พูดคุยสนทนากันอย่างสร้างสรรค์ พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยกันในทางบวก การชมเชยและการให้กำลังใจลูก พร้อมรับฟังความคิดเห็นของเขาด้วยความห่วงใยและเข้าใจ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี อีกทั้งยังช่วยให้รู้ว่าลูกมีปัญหาหรือมีเรื่องอะไรที่กังวลใจอยู่หรือไม่ เพื่อช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลายพร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันอย่างเหมาะสม
- ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว อย่าลืมที่จะใช้เวลากับลูกของคุณด้วยการทำกิจกรรมที่คุณและลูกชอบร่วมกันด้วยความสนิทสนม เช่น เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ท่องเที่ยว เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ ฯลฯ นอกจากช่วยสร้างความเพลิดเพลินและทำให้เด็กๆ มีความสุขจนลืมเรื่องเครียดๆ ได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวได้อีกด้วย
- เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ นอกจากการเรียน ควรให้ลูกได้เรียนรู้ปรับตัวด้านสังคมควบคู่กันไป โดยให้เขาได้ทำกิจกรรมอื่นและเล่นกับเพื่อนๆ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้และทดลองทำในสิ่งที่แปลกใหม่ เพื่อให้เขาได้ปรับตัวเข้ากับสังคมและรู้จักกับความผิดพลาดบ้าง เด็กๆจะได้เกิดการเรียนรู้ รู้จักปรับตัว หรืออาจมีสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา ฝึกความอดทนและยืดหยุ่นมากขึ้น
- การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การให้ลูกเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ไม่ควรตามใจเด็กมากเกินไป อาจให้เด็กร้องไห้บ้าง แล้วเมื่อเด็กหยุดร้องไห้ ก็อธิบายเหตุผลให้เด็กได้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย เพราะในบางครั้งการได้ร้องไห้ก็เป็นการระบายความเครียดได้ดีอีกอย่างหนึ่ง และเด็กจะได้ไม่เก็บความเครียดสั่งสมเอาไว้
แม้ความเครียดไม่ใช่โรค แต่หากเมื่อไรที่แวะเวียนเข้ามาจนกัดกินความสุขและส่งผลเสียกับลูกของคุณ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจพร้อมกับหมั่นคอยดูแล อย่าปล่อยปละละเลยและรีบหาวิธีขจัดออกไปให้เร็วที่สุด
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมสุขภาพจิต/ https://www.pobpad.com/สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่