เล่านิทาน ส่งเสริมพัฒนาการหลายด้านให้ลูก เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ทุกคน แต่วันนี้คุณเล่านิทานได้ถูกวิธีหรือยัง มาเรียนรู้วิธีเล่าที่ทำให้นิทานมีดีมากกว่าเดิม
วันนี้คุณ เล่านิทาน ให้ลูกฟังถูกวิธีแล้วหรือยัง?
หนังสือ หนังสือนิทาน หนังสือสำหรับเด็ก หรือหนังสือแนววิชาการ ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อผู้อ่านทั้งสิ้น แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ หนังสือสำหรับเด็กนอกจากจะให้ความรู้แล้ว หนังสือยังมีประโยชน์มากกว่านั้น
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า นิทานเป็นเรื่องเล่าที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การอบรมด้วยบรรยากาศที่มีความสุข และสนุกสนาน ทำให้เด็กไม่รู้สึกเหมือนถูกสอน และเด็กจะสัมผัสได้ว่าเป็นที่รักของพ่อแม่ เด็กจะชอบฟังนิทานเพราะนิทานมีเรื่องราวที่สร้างเสริมจินตนาการตอบสนองความต้องการของความรัก ต้องการให้คนอื่นสนใจ ประโยชน์ของการเล่านิทานจะเป็นการสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ต่อเด็ก
9 ข้อดีของนิทานที่ส่งผลถึงลูกคุณ!!
- เสริมปัญญาเด็ก นิทานจะช่วยให้เด็กฉลาด ทั้งทางปัญญา (IQ) และฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
- กระตุ้นให้เด็กช่างคิด ช่างถาม ช่างสังเกต ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับวิธี เล่านิทาน ของพ่อแม่ และลักษณะที่ดีของนิทานเล่มนั้น ๆ ด้วย
- ให้เด็กได้เรียนรู้ภาษา มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษา ข้อดีข้อนี้เป็นประโยชน์เบื้องต้นของการอ่าน หนังสือฝึกให้เด็กเป็นนักอ่าน และการอ่านช่วยสร้างทักษะด้านภาษา
- สอนให้ฝึกจับประเด็น การเล่าซ้ำ ๆ จะทำให้เด็กจำนิทานได้ทั้งเรื่อง สามารถมองภาพรวมเข้าใจเรื่องได้เร็ว หากพ่อแม่ใช้เคล็ดลับอีกเล็กน้อยช่วยให้ลูกสามารถฝึกจับประเด็นของเนื้อหานิทานได้ ก็เท่ากับเป็นการเสริมทักษะการฟัง และจับใจความ ที่จำเป็นต้องใช้ในตอนโต
- ฝึกสมาธิ การตั้งใจฟังนิทาน เป็นการฝึกสมาธิให้เด็ก ให้เขาได้หยุดนิ่ง และมีสมาธิจดจ่อกับการ เล่านิทาน ของพ่อแม่
- สร้างเสริมจินตนาการ การฟังนิทานเป็นการเสริมจินตนาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ และพัฒนาสมองของเด็ก จินตนาการเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดสร้างสรรค์
- เรียนรู้คุณธรรม เด็กจะได้รับการปลูกฝังคุณธรรมจากเนื้อหาในนิทาน ซึ่งหากเราให้ลูกได้เรียนรู้แต่เด็ก จะทำให้เขาจำและปรับใช้เป็นบุคลิกภาพประจำตัวของตัวเอง
- ฝึกนิสัยรักการอ่าน การอ่านนิทานให้เด็กฟังบ่อย ๆ ช่วยปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน แม้ในช่วงแรกจะเป็นพ่อแม่ที่ เล่านิทานให้ฟัง แต่เมื่อลูกมีทัศนคติที่ดีต่อหนังสือ ก็เป็นการง่ายที่เขาจะรักการอ่านหนังสือเมื่อโตขึ้น
- สร้างความเพลิดเพลิน มีความสุข บรรยากาศในการเล่านิทาน ทำให้บรรยากาศของครอบครัวมีความสุข กิจกรรมที่ทุกคนล้อมวงกันเข้ามาฟัง ร่วมจินตนาการเข้าไปสู่โลกแห่งนิทานนั้น ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีต่อสายสัมพันธ์ของครอบครัว
ทำให้หนังสือมอบ “ความสุข”
ถึงอย่างไรหนังสือก็มีประโยชน์ และหน้าที่ของมันในตัวอยู่แล้ว แต่การที่ลูก หรือคนอ่านจะได้รับประโยชน์จากหนังสือหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ผู้อ่าน ยังมีผู้ใหญ่หลาย ๆ คนคิดว่า การที่เด็กอ่านหนังสือมาก ๆ หลายเล่มจะทำให้ได้รับประโยชน์ยิ่งเยอะ จึงมักจะบังคับให้ลูกอ่านหนังสือ หรือนับจำนวนหนังสือที่อ่านเป็นคะแนน แต่ความจริงแล้วการอ่านหนังสือด้วยความสนุกต่างหาก ที่จะทำให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเด็ก หนังสือ นิทานที่มีเรื่องราวสนุก ตลก น่าติดตาม ลุ้นระทึก และภาพที่สวยงาม ทำให้เด็กมีความสุขเมื่อได้อ่าน
การที่เด็กมีความสุขเมื่ออ่านหนังสือนี้ เป็นสภาวะที่สมองจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด และหากการอ่านนั้นแวดล้อมไปด้วยพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน จะทำให้ทัศนคติของการอ่านหนังสือของเด็กเป็นไปในทางที่ดี หนังสือ = ความสุข ทำให้ลูกเกิดความอยากอ่านเอง จนพัฒนาทักษะการอ่านได้ดีกว่าการบังคับ หรือทำแต้ม เมื่อเขาโตขึ้น ก็สามารถอ่านหนังสือเล่มหนา ๆ ยาก ๆ ได้อย่างเต็มใจจากทักษะในการอ่านที่โตขึ้นตามวัยของลูก
EF กับ หนังสือเด็ก
เมื่อกล่าวมาถึงจุดนี้ ทุกคนคงยอมรับแล้วว่าการอ่านหนังสือ การ เล่านิทานให้ลูกฟังนั้นไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ให้ความรู้เท่านั้น และเชื่่อหรือไม่ในเด็กเล็ก หนังสือ หรือนิทานมีหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการ กระตุ้นให้สมองได้ฝึกกระบวนการทำงานอย่างเป็นองค์รวมขั้นสูง นั่นคือ กระบวนการตีความ
กระบวนการตีความ ประกอบขึ้นจาก กระบวนการคิดที่สลับซับซ้อนแต่เป็นระบบ รวมไปถึงทักษะ EF อันเป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการทางภาษา และทักษะสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เมม ฟ็อกซ์(ผู้เชียวชาญเกี่ยวกับการรู้หนังสือ และนักแต่ง นักเล่านิทาน)ระบุลักษณะของหนังสือที่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมได้ ดังนี้ มีพล็อตเรื่อง มีปัญหาให้แก้ไข มีความซับซ้อนเชิงนามธรรม มีรูปแบบการซ้ำ(เด็กเล็ก) เหนือความคาดหมาย ใช้ภาษาธรรมชาติ ตัวละครที่เด็กสามารถผูกพันได้อย่างลึกซึ้ง ห้ามสั่งสอน สอดแทรกคุณค่าอย่างแนบเนียน และให้ความสุขในช่วง 7 ปีแรก เด็กที่ได้สะสมประสบการณ์ และทักษะการตีความผ่านการฟัง/อ่านนิทานที่พอเหมาะกับวัยมาอย่างสม่ำเสมอ จะมีความพร้อมในการเรียนรู้สูงมาก เมื่อได้สะสมประสบการณ์มามากพอจะสามารถอ่าน และเขียนได้แบบก้าวกระโดดอย่างน่าอัศจรรย์ และมีกระบวนการคิดที่แหลมคม รวมไปถึงพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี
ตรงกันข้าม เด็กที่สะสมทักษะการตีความมาน้อย จะใช้สมองได้ไม่เต็มศักยภาพ มีปัญหาในการเรียน รวมไปถึงขาดทักษะการคิดในการทำความเข้าใจตนเอง/ผู้อื่นในสถาณการณ์ต่างๆ ทำให้ไม่เห็นคุณค่าแท้ของตนเอง/ผู้อื่น ไม่ยืดหยุ่น จัดการอารมณ์ไม่ได้ มองปัญหาไม่ขาด หาทางแก้ปัญหาไม่เป็น จัดการชีวิตได้ยาก ฯลฯ เป็นปัญหาที่เราเห็นแนวโน้มในการเพิ่มขึ้นทุกปี
5 วิธีเล่านิทาน ให้สร้างสรรค์ ดึงศักยภาพลูก
ในความเป็นจริง การเล่านิทานไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวใด ๆ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจเพิ่มรายละเอียดอีกสักนิด เราจะพบว่า การเล่านิทานนั้นสามารถดึงศักยภาพของลูกออกมาได้มากกว่าการให้เขานั่งฟังเฉย ๆ ค่านิยมของสังคมไทยที่ชอบการสอน ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนมักเข้าใจว่า การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เด็กควรนั่งนิ่ง ๆ รับฟัง และไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมมากพอ ทำให้เขาไม่ได้รับการฝึกใช้ระบบคิดที่นำไปสู่ปัญญา การไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วม เป็นการไม่ส่งเสริมการสะสมประสบการณ์การตีความเพื่อพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง
การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง และเพิ่มวิธีการเล่าดังต่อไปนี้ เพียงวันละ 15 -30 นาที จะส่งผลที่ดี และเป็นเครื่องมือทุ่นแรงพ่อแม่ในการสร้างศักยภาพ และทักษะที่จำเป็นที่ดีแก่ลูกต่อไปในอนาคต
1.ใช้น้ำเสียงดึงดูดความสนใจ
การเล่านิทานนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ใช้เทคนิคในการพูดด้วยน้ำเสียงสูง ต่ำ หรือเปลี่ยนความเร็วในการพูด ก็เป็นส่วนช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กได้ รับรองคุณต้องได้ยินเสียงหัวเราะลั่นจากพวกเขาแน่ ๆ
2.ให้เด็กเลือกหนังสือนิทานที่อยากฟัง
คุณพ่อคุณแม่ต้องใจกว้าง เปิดอิสระให้ลูกเป็นคนเลือกเรื่องที่อยากฟัง หรืออยากอ่าน ถึงแม้บ่อยครั้งที่เราจะพบว่า เด็กเลือกนิทานซ้ำเล่มเดิม ๆ ไม่มีเบื่อ แต่ถึงอย่างไรหากเป็นสิ่งที่ลูกต้องการ ความใส่ใจ และการตั้งใจฟังพร้อมเรียนรู้ของลูกก็ย่อมมีมากกว่าการบังคับฟังเป็นแน่ แต่หากพ่อแม่อยากให้เขาเปลี่ยนเรื่องบ้าง ลองพูดเป็นเชิงเกริ่นนำเนื้อเรื่องของนิทานเรื่องใหม่ให้ลูกฟัง เชื้อเชิญให้เขารับฟังนิทานเรื่องใหม่ ๆ บ้าง
3.หาวัสดุง่าย ๆ จินตนาการร่วมกันเป็นตัวละคร หรืออุปกรณ์ประกอบฉาก
การใช้หุ่นนิ้วมือ หรืออุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมให้ลูกเห็น และเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้น ในปัจจุบันหนังสือนิทานมีลูกเล่นให้พ่อแม่ได้นำมาใช้เป็นเคล็ดลับในการเล่านิทานมากมาย เช่น มีหุ่นนิ้วภายในเล่ม รูปเล่มนิทานแปลกตาน่าดึงดูด เป็นต้น
4. เติมคำในช่องว่าง
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เล่านิทาน อาจสามารถเล่าแบบให้ลูกช่วยเติมเนื้อเรื่องในช่องว่างคำพูดที่เราเว้นไว้ ซึ่งหนังสือนิทานที่ดีจะไม่เล่าเสียทั้งหมด โดยจะทำให้เด็ก ๆ ค่อย ๆ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง ให้เขาได้จินตนาการ คิดว่าเรื่องจะดำเนินต่อไปอย่างไรล่วงหน้า ก่อนที่จะเปิดเผยต่อไป เช่น หากลูกเป็นสโนวไวท์จะกินแอปเปิ้ลผลนั้นไหม?… เป็นต้น
5.สอดแทรกเรื่องราวประสบการณ์จริงของพ่อแม่
การเล่านิทานไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด บางครั้งคุณพ่อคุณแม่สามารถเล่าเรื่องราวที่เราเคยทำมา เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่มีเนื้อหาตรงกับเนื้อเรื่องในนิทาน สอดแทรกในระหว่างเล่านิทานก็ได้เช่นกัน เพราะรู้หรือไม่ว่า เด็ก ๆ ชอบฟังเรื่องราวของคุณไม่แพ้การชอบฟังนิทาน และการที่คุณเล่าเรื่องในวัยเด็ก ทำให้ลูกรับรู้ และตระหนักถึงได้ว่าคำสอนในหนังสือนิทานนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราวแต่ในหนังสือ แต่สามารถเกิดขึ้นจริงได้
ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะใช้เทคนิคในการเล่านิทานให้ลูกฟังด้วยวิธีการไหน มีเคล็ดลับมากมายต่าง ๆ นานาให้เลือกใช้ แต่จงจำไว้ว่าการเล่านิทานให้ถูกต้อง เล่าแบบวิธีที่ดีที่จะสามารถดึงศักยภาพของลูกออกมา พัฒนาทักษะที่จำเป็นนั้น ความจริงไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนใด ๆ เพียงแค่คุณเล่า ให้สนุก เสมือนหนึ่งว่าคุณเป็นเด็กคนหนึ่ง เท่านี้นิทานของคุณก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลูกพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีแล้ว
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bangkokbiznews.com/wunder-mom.com/saanaksornbook
รวม 70 นิทานสำหรับเด็ก 4-7 ปี กระตุ้นจินตนาการ พัฒนาสมองลูกน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่