เปิดเทอม แล้วลูกต้องไปเจออะไรบ้าง อยากรู้ชีวิตภายในโรงเรียนของลูก ไม่ต้องยืนเกาะรั้วส่องอีกต่อไป กับ 10 คำถามหลังเลิกเรียนที่จะช่วยให้เข้าใจลูกมากกว่าที่เคย
เปิดเทอม นี้มาส่องลูกด้วย 10 คำถามหลังเลิกเรียนกันเถอะ!!
ต้อนรับเปิดเทอม หลังจากหยุดกันย๊าว…ยาว มาแล้ว วันนี้พ่อแม่หลายคนคงมีหลากหลายความรู้สึกกับการ เปิดเทอม ของลูกในคราวนี้กันใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นโล่งโปร่งอิสระ มีเวลาส่วนตัวบ้างแล้ว หรือเป็นห่วง กังวลว่าลูกจะเป็นอย่างไรบ้างที่โรงเรียน มีใครแกล้งลูกหรือเปล่า สารพันคำถาม และความรู้สึกกับการ เปิดเทอม วันแรก ที่พ่อแม่อยากรู้เกี่ยวกับชีวิตภายในรั้วโรงเรียนของลูก เมื่อห่างสายตาไป
สำหรับพ่อแม่คนไหนที่มีลูกเล็ก เด็กอนุบาล สารภาพมาเสียดี ๆ ว่า เมื่อเช้าใครแอบไปยืนเกาะรั้ว เกาะหน้าต่าง แอบดูลูกมาบ้าง???
วันนี้เรามีวิธีดี ๆ ที่จะช่วยให้พ่อแม่คลายกังวล และเข้าถึง เข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องไปยืนส่องให้เสียเวลา ด้วย 10 คำถามหลังเลิกเรียน คำถามวิเศษที่พ่อแม่ควรถามลูก แล้วจะทำให้เราได้รู้ว่าที่โรงเรียนเขาไปเจออะไรมาบ้าง ได้รู้จักลูกในมุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน อีกทั้งยังทำให้เรารู้และสามารถช่วยเหลือลูกได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับเขาอีกด้วย
10 คำถามหลังเลิกเรียน ที่พ่อแม่ควรถามลูก!!
เคยไหมที่หลังกลับจากโรงเรียนแล้ว พ่อแม่ตั้งคำถามกับลูก “วันนี้ไปโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง?” แต่กลับไม่ได้คำตอบจากลูกกลับมา เป็นเพราะอะไรกันนะ บางทีคำถามที่พ่อแม่ใช้ ควรเป็นคำถามที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกด้วย เพราะความสามารถในการใช้ภาษาของเด็กจะพัฒนาไปตามช่วงวัย คำถามที่กว้างเกินไป อาจทำให้เด็กในวัยอนุบาล หรือเด็กที่ไม่ช่างพูด ช่างเจรจา ไม่สามารถนึกคำตอบให้แก่เราได้ ลองมาดู 10 คำถามวิเศษที่พ่อแม่ควรถามลูก ในช่วง เปิดเทอม เมื่อลูกเลิกเรียนแล้วกัน
1. วันนี้ลูกชอบอะไรที่สุด อะไรดีที่สุดที่ลูกเจอในวันนี้ วันนี้เรียนเรื่องอะไรที่ชอบที่สุด??
คำถามนี้เป็นคำถามปลายเปิด แต่มีคำที่เฉพาะเจาะจงให้ลูกได้ได้หาคำตอบได้ไม่ยาก เพราะเรามุ่งตรงไปในเรื่องที่ลูกชอบ เด็ก ๆ จะชอบตอบคำถามนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เขาชอบ สังเกตได้ว่าลูกจะมีความสุข ตื่นเต้น แววตาเป็นประกายดูมีชีวิตชีวาเมื่อตอบ
ได้อะไรจากคำถามนี้ : เราจะรู้ถึงสิ่งที่ลูกชอบ ยิ่งหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาเรียน จะทำให้เราได้รู้ถึงความถนัดของเขา ความชอบของลูก ทำให้เราสามารถส่งเสริมต่อยอดความฉลาด และพัฒนาศักยภาพในด้านนั้น ๆ ให้แก่ลูกได้ เมื่อเขาทำได้ดีเขาจะมีความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตนเอง เพิ่ม Self Esteem ให้แก่ลูก
2. อะไรที่ลูกไม่ชอบเลยในวันนี้ ลูกไม่ชอบวิชา หรือกิจกรรมอะไร เกิดปัญหาอะไรขึ้น แล้วลูกทำยังไง??
คำถามนี้เป็นคำถามตรงกันข้ามกับคำถามแรก ซึ่งเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง ทำให้ลูกมีเหตุการณ์เปรียบเทียบ เทียบสิ่งที่ชอบ กับสิ่งที่ไม่ชอบ ดังนั้น จึงไม่ยากเกินไปนักที่เขาจะตอบเรา แม้จะเป็นคำถามเชิงลบ แต่ก็เป็นคำถามที่สำคัญที่จะช่วยให้พ่อแม่รู้ และเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนได้ แต่ถ้าหากลูกตอบว่าไม่มี พ่อแม่ก็ไม่ควรเซ้าซี้ มุ่งหาคำตอบให้ได้ และเป็นคำถามที่ไม่จำเป็นต้องถามในทุกวันก็ได้ ถามบ้างเป็นครั้งคราว จะได้ไม่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด
ได้อะไรจากคำถามนี้ : ทำให้รู้ปัญหาของลูก และพ่อแม่สามารถช่วยเหลือ และช่วยแนะแนวทางให้ลูกรับมือกับปัญหานั้น ๆ ได้ และที่สำคัญพ่อแม่ยังได้รู้วิธีแก้ปัญหาของลูกด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่เด็กยุคใหม่ควรมี (AQ : Adversity Quotient คือ ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา ทักษะแห่งการเอาตัวรอด)
3. วันนี้ลูกเล่นกับใคร วันนี้ลูกนั่งกินข้าวกับใคร??
เป็นคำถามที่ทำให้พ่อแม่ได้ทราบถึง ทักษะการเข้าสังคมของลูก หรือความสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อน หรือคนรอบข้างของลูกว่า การที่ลูกเปลี่ยนคนนั่งไปเรื่อย ๆ หรือนั่งกับคนเดิมตลอด เพราะเหตุผลอะไร ถ้าเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยที่ลูกเป็นคนเลือกที่นั่งเอง เราก็อาจจะถามถึงคนเก่า ๆ บ้า
ได้อะไรจากคำถามนี้ : ได้เห็นทักษะการเข้าสังคมของลูก ดูว่าลูกโดนบุลลี่ไหม
4. วันนี้ครูพาทำอะไรบ้าง ครูสอนอะไรบ้าง กิจกรรมที่โรงเรียนลูกรู้สึกว่ามันง่าย หรือยาก??
คำถามนี้เป็นคำถามที่จะทำให้ได้รู้ว่าลูกเรียนเป็นอย่างไร ทันเพื่อนหรือไม่ ลูกอ่อนวิชาไหน เพื่อที่พ่อแม่จะได้เข้ามาช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยในขณะที่ถาม ให้พ่อแม่สังเกตอาการ ให้ดูท่าทางตอนลูกเล่าว่าเป็นอย่างไร เช่น สบตา ร่าเริง หรือหลบตา ไม่กล้าเล่า เป็นต้น มาช่วยประกอบกับคำตอบที่ได้รับว่า ลูกพูดตรงกับใจเขาหรือไม่ เพราะเด็กบางคนจับอาการของพ่อแม่ได้เก่ง ทำให้มักเลือกคำตอบที่คิดว่าพ่อแม่จะชอบ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงกับที่ใจลูกอยากบอกได้
ได้อะไรจากคำถามนี้ : สังเกตปัญหาเกี่ยวกับการเรียนที่ลูกเจอ แ่ละจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุดก่อนสาย ให้พ่อแม่ทำความเข้าใจว่าการที่ลูกไม่ชอบวิชาใด ๆ อาจไม่ได้เกิดจากตัวลูกเพียงอย่างเดียว ลองหาคำตอบดูว่า อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ทัศนคติของครูผู้สอน ท่าทาง หรือคำพูดบางคำที่ไปทำให้ลูกรู้สึกไม่ชอบ จนคิดว่าตัวเองไม่เก่งวิชานั้น ๆ เป็นต้น
5. ชอบเพื่อนคนไหน ชอบครูคนไหน??
นอกจากจะได้คำตอบ แล้วพ่อแม่จะได้รู้ถึงทัศนคติของลูกด้วยว่า เขาเลือกที่จะชอบใคร จากอะไร
ได้อะไรจากคำถามนี้ : หาต้นแบบที่ดีให้ลูกเลียนแบบ ซึ่งเป็นการให้ลูกทำตามได้ดี และได้ผลกว่าสั่งให้ลูกทำ
6. ไม่ชอบเพื่อนคนไหน เพราะอะไร??
การไม่ชอบมักจะเป็นปัญหาเฉพาะเรื่อง การที่ให้ลูกได้เล่า ได้ระบาย และดูวิธีการจัดการปัญหาของลูกในเรื่องการเข้าสังคม จะได้ช่วยชี้แนะแนวทางให้แก่ลูกได้
ได้อะไรจากคำถามนี้ : ได้ใช้โอกาสที่ลูกไม่เข้าใจ ผิดใจกับคนอื่นในการสอนเรื่องศีลธรรมลูก เช่น การให้อภัย การมีสติระงับความโกรธ เป็นต้น และยังได้สอดส่องดูว่าลูกถูกเพื่อนบุลลี่ที่โรงเรียนหรือไม่
7. วันนี้เล่นอะไรกับเพื่อนบ้าง??
ได้รู้ว่าลูกชอบเล่นแบบไหน ชอบทำกิจกรรมอะไร และเมื่อเวลาเล่นเป็นกลุ่มเขาเลือกวิธีไหน ในการตัดสินใจเลือกเล่น เช่น เล่นตามเพื่อน หรือเป็นผู้นำในการเลือกกิจกรรมเล่น เป็นต้น
ได้อะไรจากคำถามนี้ : ได้เห็นความชอบ ความถนัดของลูก ได้รู้วิธีการเข้าสังคมของลูก
8. วันนี้มีคนแปลกหน้า คนไม่รู้จัก มาชวนคุย มาให้ขนม มาชวนไปเที่ยวข้างนอกไหม??
เป็นคำถามที่ทำให้เราได้เช็กเรื่องความปลอดภัยของลูก และยังไม่เช็กถึงความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับคนแปลกหน้า ว่าลูกจะเข้าใจถูกไหม ลูกมีการสังเกต และระมัดระวังตัวเอง เหมือนดั่งที่เราเคยสอนเรื่องความปลอดภัย ไม่ให้คุยกับคนแปลกหน้าหรือไม่
ได้อะไรจากคำถามนี้ : ช่วยระวังภัยลูกในเรื่องการลักพาตัว หรือคนร้ายที่คิดไม่ดีกับเด็ก เพราะคนร้ายมักจะเข้ามาตีสนิทกับเด็กก่อนกระทำพฤติกรรมไม่ดี เป็นการรีเช็กว่าลูกเข้าในคำว่าคนแปลกหน้า และระวังตัวมากแค่ไหน
9. ลูกว่าวันนี้ลูกได้ทำความดี ได้ทำอะไรดี ๆ มาบ้าง หรือเห็นเรื่องดี ๆ อะไร อยากขอบคุณอะไร??
คุยเรื่องที่ปลื้มใจ เรื่องที่ทำความดี ไม่ว่าจะเป็นลูกทำเอง หรือเจอคนอื่นทำ เช่น แบ่งขนมให้เพื่อน ช่วยครูถือของ ช่วยครูทำหน้าที่ที่ครูสั่งได้สำเร็จ เพื่อนแบ่งของเล่นให้ เป็นต้น
ได้อะไรจากคำถามนี้ : ให้ลูกได้รู้จัก มองเห็น คุณค่าแห่งการทำความดีในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ได้เห็นสิ่งดี ๆ สิ่งที่งดงาม เพื่อให้เวลาเจอเรื่องทุกข์ใจจะได้ไม่ว้าวุ่น มองโลกแง่ร้ายด้านเดียว
10. มีเพื่อนไม่สบาย ไอ จาม แล้วป้องกันตัวอย่างไร??
ในยุคปัจจุบันที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้เลยกับการสอนลูกให้รู้จักสุขอนามัย และการป้องกันตัวให้ห่างไกลจากเชื้อโรค การตั้งคำถามถึงเรื่องดังกล่าว พ่อแม่เพียงแค่โฟกัสไปถึงวิธีการปฎิบัติตัวเมื่อเจอผู้ป่วย แต่ไม่ควรโทษเด็กคนอื่นที่มีอาการว่าเป็นต้นเหตุของโรคติดต่อ เพราะไม่ว่าใครก็ไม่อยากป่วยทั้งนั้น และจะไปทำให้ลูกเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนโดยไม่จำเป็น
ได้อะไรจากคำถามนี้ :ได้เห็นทักษะการดูแลตัวเองของลูก และวิธีปฎิบัติ แนวทางการควบคุมโรคของโรงเรียน
9 เคล็ดลับดี ๆ ในการตั้งคำถาม ให้ลูกตอบ
มาดูเทคนิค เคล็ดลับดี ๆ ในการใช้คำถามกับเด็ก ถามอย่างไรให้ลูกอยากตอบ เพราะเราเชื่อว่าหากคุณพ่อคุณแม่รู้เทคนิค วิธีการตั้งคำถามเหล่านี้แล้ว จะสามารถหาเรื่องพูดคุยกับลูกได้มากขึ้น การที่ได้พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ จะช่วยให้เพิ่มพูนความสัมพันธ์ การเข้าใจกันและกัน และการไว้เนื้อเชื่อใจที่ลูกจะมีให้กับพ่อแม่ได้ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าเขาจะเข้าสู่วัยใด วัยเด็ก หรือวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ พ่อแม่ก็สามารถเป็น safe zone พื้นที่ปลอดภัยให้กับลูกได้เสมอ
- การเปิดโอกาสให้เด็กตอบและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ไม่ควรรุกเร้า หรือเร่งรัดที่จะเอาคำตอบ ควรให้เวลาเด็กคิดก่อนตอบ และให้เด็กตอบด้วยความสมัครใจ
- การสร้างทางเลือก ควรหลีกเลี่ยงการบังคับหรือใช้คำสั่งให้เด็กทำตาม โดยควรใช้เทคนิคการสร้างทางเลือกให้กับเด็ก เพื่อเป็นการลดความหงุดหงิด ความอึดอัดและการต่อต้าน โดยเปิดโอกาสให้เด็กเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่ภายในขอบเขตที่เราจะให้กับเด็กได้ เช่น ถึงเวลาเข้านอนแล้ว หนูจะพาน้องหมีไปนอนด้วยหรือจะฟังแม่เล่านิทานดีคะ เป็นต้น
- ควรสร้างบรรยากาศให้อบอุ่น ผ่อนคลายขณะใช้คำถาม หรือทำกิจกรรมที่ต้องการให้เด็กตอบ
- จัดลำดับคำถามเริ่มจากง่าย ๆ ก่อน เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จนเด็กเริ่มคุ้นเคยกับการถามตอบ เเละกล้าพูดโต้ตอบแล้วจึงเริ่มใช้คำถามอย่างไร ทำไม เพราะเหตุใดต่อไปอีกขั้น
- สบสายตาขณะพูดคุยกัน โดยผู้ใหญ่อาจย่อตัวลง หรือนั่ง ให้มีความสูงระดับเดียวกับเด็ก และมองสบสายตากับเด็ก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราฟังลูกพูด หรือซักถามด้วยความตั้งใจ และโต้ตอบกับเด็กอย่างเป็นกันเอง
- การเสริมแรง ขณะที่เด็กตอบคำถาม ผู้ใหญ่ควรตั้งใจฟัง และพูดชมเชย เช่น ยอดเยี่ยมมาก, มีความคิดดีจัง, หนูคิดได้อย่างไรเนี่ย, หนูตอบได้ชัดเจนดีจริง, หรือใช้การโอบกอด, แตะบ่า, จับมือ, ชูหัวแม่มือ, พยักหน้า, ยิ้มรับ, ตบมือ โดยเลือกวิธีการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ เหตุการณ์และการกระทำของเด็กแต่ละคน ไม่ใช้วิธีเดียวซ้ำซากจำเจ
- ตอบคำถามเด็กด้วยการโยนคำถามในบางครั้ง เช่นเด็กถามว่า “ทำไมทะเลจึงเค็ม” ผู้ใหญ่อาจใช้วิธีย้อนถามว่า “นั่นซิ แล้วหนูคิดอย่างไรล่ะ” เมื่อฟังความคิดจากเด็กแล้วเราค่อยขยายความพอสังเขป จะทำให้เด็กได้แสดงความคิด และได้ความภาคภูมิใจ สุขใจ ที่ผู้ใหญ่ยอมรับในความคิด และให้ความสำคัญต่อเขา
- หลีกเลี่ยงการที่จะทำให้เด็กอับอาย เสียหน้า เช่น แสดงอาการหัวเราะ ทักท้วงหรือล้อเลียนเพราะจะทำให้เด็กไม่กล้าพูด ไม่กล้าตอบในครั้งต่อ ๆ ไปได้
- การเปิดโอกาสให้เด็กได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นทั้งผู้ตั้งคำถาม และผู้ตอบคำถาม เพื่อสร้างบรรยากาศการสนทนา โต้ตอบให้มีแปลกใหม่ น่าสนใจ เเละกระตุ้นสิ่งที่เด็กสนใจได้ดียิ่งขึ้น
เครดิตข้อมูล จากหนังสือ “คำถามพัฒนาสมอง” /www.kombinery.com/www.happymommydiary.net/เพจเฟสบุ๊ก : เรื่องเด็ก ๆ by หมอแอม
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่