การสร้างวินัยเชิงบวกอย่างการสอนให้ลูก เก็บของเล่น เล่นของเล่นเสร็จแล้วเก็บให้เรียบร้อยด้วย ประเด็นนี้เหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
หากอยากฝึกให้ลูกเก็บของเล่นที่ตัวเองเล่น จะต้องใช้เวลาและการฝึกฝนให้ลูกเรียนรู้จนเป็นนิสัย การให้เด็กๆได้ทำอะไรด้วยตัวเองคือการฝึกเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งมีส่วนช่วยให้พวกเขารู้จักจัดการชีวิตของตัวเองอย่างเป็นระบบ รวมถึงฝึกทักษะจัดการอารมณ์ การสร้างวินัยเหล่านี้ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กจะเป็นเกราะชั้นดีให้ลูกน้อยเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
สอนลูกอย่างไรให้ เก็บของเล่น เล่นแล้วเก็บ
1. ใครเล่น คนนั้นเก็บ
สร้างกฎเล็กๆ ในครอบครัวว่าถ้าใครเป็นคนเริ่มหยิบออกมาเล่น ก็ต้องเก็บเอง แม้เริ่มแรกอาจยากสักหน่อย พ่อแม่อาจต้องอดทนและฝึกรอคอยไปด้วยกันกับลูก ไม่ควรอารมณ์เสียหรือหงุดหงิดใส่ลูกเมื่อเขาอาจเก็บของช้าไม่ทันใจ แต่ควรให้กำลังใจ และรอชื่นชมเมื่อลูกทำสำเร็จ
2. ใครเก็บ คนนั้นได้เล่น
การที่ลูกเอาของเล่นออกมาเล่นแล้วไม่ยอมเก็บ ถือเป็นหนึ่งในวิธีแสดงอำนาจเหนือกว่าพ่อแม่ ครูหม่อม – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า พ่อแม่สามารถเก็บของเล่นแทนลูกได้ แต่ให้เก็บไว้ในที่สูงที่ลูกหยิบไม่ถึง และเมื่อลูกร้องขอจะเล่นอีก ก็ให้ใช้วิธีถามลูกว่าครั้งที่แล้วใครเป็นคนเก็บ ถ้าลูกอยากเล่น ก็ยอมให้เล่นด้วย แต่ต้องช่วยกันเก็บก่อน เพราะครั้งที่แล้วลูกไม่ได้เก็บ เป็นการให้ลูกยอมทำตามกฎที่เราตั้งไว้ ถ้าลูกไม่ยอมเล่น ก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าลูกได้รับการสอนแล้ว ลูกก็จะจดจำได้ว่าการจะเล่นของเล่นได้ ต้องอยู่ในกฎกติกาตามนี้
3. เก็บของเล่น เก็บที่ไหน เก็บอย่างไร
ควรกำหนดพื้นที่ใช้งานให้ชัดเจน เด็กจะเรียนรู้ว่าหากเล่นคือพื้นที่นี้ หากจะรับประทานอาหารต้องไปห้องครัว หรืออยากนอนต้องไปห้องนอน พ่อแม่สามารถสร้างกฎเบาๆ ให้ลูกเรียนรู้ได้ตั้งแต่ยังเล็ก
หากบ้านมีพื้นที่จำกัด ลองมองหาสักมุมไว้เป็นพื้นที่กิจกรรม อาจกั้นคอกเป็นพื้นที่ของลูก หรือแบบง่ายๆเลยคือปูพรมหรือเสื่อรองคลานสักผืน ก็จัดมุมให้ลูกได้แล้ว สำคัญที่สุดคือการจัดพื้นที่จัดเก็บ โดยหากล่องหรือลังมาสักใบแล้วอาจชวนเด็กๆ ลงมือแยกประเภทของเล่น ด้วยการแปะกระดาษหรือทำสัญลักษณ์แยกประเภทไว้ ให้เขาสามารถแยกหมวดหมู่ของเล่นด้วยตัวเอง
ไอเดียจัดพื้นที่จัด เก็บของเล่น ให้ลูก
ตู้ลิ้นชักแบ่งช่อง เป็นของต้องมีในบ้านที่มีเด็กเล็ก นอกจากช่วยจัดระเบียบให้บ้านดูเรียบร้อยแล้ว ตู้แบบนี้ยังช่วยให้เด็กๆ สามารถคิดต่อยอดได้เองว่าจะเอาอะไรวางไว้ตรงไหนในแต่ละช่อง ช่วยฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์เรื่องรูปทรง ขนาด และพื้นผิวสัมผัสของของเล่นที่เขามี โดยพ่อแม่ไม่ควรไปกดดันหรือบังคับ ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าการเก็บของเป็นเรื่องสนุก
สร้างพื้นที่ส่วนตัว ผู้ใหญ่อย่างเราชอบการมีพื้นที่ส่วนตัว เด็กๆ ก็ไม่ต่างกัน แต่พื้นที่ส่วนตัวนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย และยังอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ด้วย พื้นที่ส่วนตัวสำหรับเด็กช่วยสร้างจินตนาการ และช่วยสร้างความมั่นใจหากในอนาคตลูกต้องอยู่ห่างผู้ปกครองบ้างหรืออยู่คนเดียว เขาจะได้ฝึกทักษะการพึ่งพาตนเอง ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องสร้างห้องใหม่ เราชอบไอเดียการทำมินิเต็นท์ โดยหาเต็นท์เล็กๆ ของเด็กมาวางในห้องนอน หรือเลือกซื้อที่ครอบเตียงขนาดเล็กๆ ให้เด็กๆได้เล่นในโลกส่วนตัวแบบที่ยังอยู่ในสายตาพ่อแม่
เต็นท์คลุมเตียงลวดลายสัตว์ทะเล รุ่น คูร่า จาก IKEA
เก็บของแบบเคลื่อนย้ายได้ บางครั้งเด็กๆ ยังรู้สึกอยากเล่นของเล่นบางชิ้นอยู่ ไม่อยากเก็บเข้าที่ในทันที ลองหาชั้นวางหรือกล่องเก็บแบบที่เคลื่อนย้ายได้ ให้ลูกสามารถเก็บของและยกย้ายไปกับเขาได้ ก็จะสะดวกและไม่ต้องคอยตามหาของ หรือเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยหยิบให้ หากเลือกแบบที่สวยๆ หน่อยก็วางตกแต่งห้องได้ในตัวด้วย
ที่เก็บของแบ่งช่องบุผ้าตาข่าย รุ่น ทิเกร์ฟินก์
บ้านคุณนัยนารถ โอปนายิกุล – คุณยอด ตันติอนุนานนท์
ลิ้นชักเก็บของหลากสีสัน ใช้สีเป็นตัวแบ่งประเภทของที่จัดเก็บด้านใน ฝึกให้เด็กๆได้แยกของแบบเป็น หมวดหมู่
บ้านคุณภาคภูมิ หอมสุวรรณ-คุณธันยวดี วะสีนนท์
กระโจมน้อยๆ ที่กลายเป็นโลกส่วนตัวของเด็กๆ แบ่งมุมจัดวางชั้นให้ลูกได้เรียนรู้การจัดเก็บหนังสือ
บ้านคุณวิฑูรย์ พูลไชย และคุณสุกัญญา ลิมปิษเฐียร
มุมทำการบ้านริมหน้าต่างที่แอบซ่อนการจัดเก็บไว้ด้านล่าง
บ้านคุณอาชวี ณ นคร และดร.พิพัฒน์ เหลืองนถมิตชัย
จัดเก็บของเล่นใส่กล่องอีกที หากลูกเล่นแล้วไม่ยอมเก็บ ให้ยกกล่องของเล่นขึ้นไว้ที่สูงๆ ถ้าลูกอยากเล่นต้องทำข้อตกลงกันก่อน
เรื่อง : Pete-Prim’s Mom
ภาพ : IKEA, คลังภาพบ้านและสวน