สอนลูกให้รู้จักความแตกต่าง วิธีเลี้ยงลูกสไตล์คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว แอนนี่ บรู๊ค เมื่อลูกโดนล้อว่าแปลก แต่สำหรับคนเป็นแม่แปลกคือลูกพิเศษกว่าใคร ทำไมต้องเหมือนคนอื่น
สอนลูกให้รู้จักความแตกต่าง แปลกแปลว่าพิเศษ
สิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่พอจะทำได้ คือการสอนลูกไม่ให้เหยียดคนอื่น ยอมรับความแตกต่างในสังคม พร้อมกับอยู่เคียงข้างและสอนให้ลูกเข้มแข็งอยู่เสมอในยามที่ถูกคนอื่นล้อเลียน เช่นเดียวกับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่าง แอนนี่ บรู๊ค ที่สอนลูกให้เข้าใจและยอมรับถึงความแตกต่าง เมื่อโดนเพื่อนล้อว่า แปลกประหลาด
เรื่องนี้คุณแม่แอนนี่ ได้โพสต์ในเพจ แอนนี่ ฑีฆายุ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ลูกชายวัย 10 ขวบ ถูกเพื่อนบอกว่า เขาแตกต่าง ซึ่งเป็นบทสนทนาก่อนนอนระหว่างแม่ลูก โดยน้องฑีฆายุเล่าให้คุณแม่ฟังว่า “แม่ครับผมโดนล้อ เพื่อนผมล้อว่าผมแปลกประหลาด ล้อว่าผม ชอบทำตัวเด็กชอบจินตนาการเกินไป (My friends said I’m weird)”
หลังจากได้ยินสิ่งที่ลูกชายพูดขึ้นมาว่าถูกเพื่อนล้อว่า แปลกประหลาด คุณแม่แอนนี่จึงได้อธิบายให้ลูกชายฟังว่า “คนที่เป็นคน weird หรือแปลกประหลาดคือคนที่พิเศษ คนที่ไม่ต้องทำตัวเหมือนคนอื่น” พร้อมทั้งเปิดใจยอมรับกับลูกว่าแม่แอนนี่เองก็เคยโดนมากกว่าล้ออีก
แม่แอนนี่โดนล้อเพราะความต่าง
เมื่อลูกชายถามแม่ว่า “ตอนเด็ก ๆ แม่เคยโดนไหมครับ” แม่แอนนี่จึงเล่าเรื่องย้อนวันวานว่า แม่แปลกในระดับอำเภอเลยนะ เพราะเป็นลูกครึ่งตาสีเขียว ผมสีน้ำตาล ตัวสูง ๆ ผอม ๆ คนเดียว ทุกคนบอกว่าแม่ไม่สวยและเพื่อนชอบแกล้งแม่มาก สำหรับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในตอนเด็กมีทั้ง
- เพื่อนแม่เขียนจดหมายด่าครูแล้วบอกว่า แม่เป็นคนเขียน จนแม่โดนตี
- เพื่อนฟ้องครูว่าแม่ขโมยจอบ! ทั้ง ๆ ที่มันเป็นของแม่
- แม่โดนตีหน้าเสาธงเพียงเพราะแม่ได้แปลงผักที่เป็นหินไม่ใช่ดิน และผักแม่ไม่ขึ้นในแปลงหินของแม่!
- แม่ไม่ได้เป็นดรัมเมเยอร์เพียงเพราะครูบอกว่า แม่ไม่สวย
- แม่ไม่ค่อยมีเพื่อนผู้หญิงเพราะแม่ชอบเตะบอล
- และยังมีอีกมาก ที่แม่โดนเพราะความแตกต่างของแม่
เล่ามาถึงขนาดนี้ ลูกชายถึงกับเอ่ยปากถามแม่แอนนี่ว่า “โห แล้วแม่รอดมาได้ไงอ่ะคับ”
แม่แอนนี่บอกว่า ตอนแรกก็ร้องไห้กลับจากโรงเรียนทุกวันตอนหลังเหนื่อยร้อง แม่เลยเอาเวลาหลังเลิกเรียน ไปรับจ้างรีดผ้า ทำความสะอาดบ้านครูได้เงินทุกวัน เสาร์อาทิตย์ แม่อ่านหนังสือ แม่ฝึกวิ่ง ฝึกดีดจะเข้เล่นซอ จนตั้งแต่ ป.1-ป.6 แม่สอบได้ที่ 1 ทุกปี (มีที่ 2 บ้างบางเทอม) แม่เป็นนักกีฬาและนักดนตรี โดยไม่เกี่ยวกับความสวยแต่คือความสามารถ!
ถ้าเราเหมือนกันหมดคงไม่มีคำว่า อดทนและพยายาม
“ฑีลองคิดสิว่า ถ้าคนเราเหมือนกันหมด ก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ และคงไม่มีคำว่า “อดทน”และ“พยายาม” เพราะทุกคนถูกออกแบบมาให้เหมือน ๆ กันหมด”
และอันที่สำคัญมาก ๆ และอย่าให้ใครแม้แต่ “แม่” พรากไปจากลูกคือ “จินตนาการ” เพราะวันหนึ่ง เมื่อลูกโตขึ้นมันจะหายไปโดยอัตโนมัติ และผู้ใหญ่หลายคนเสียใจที่เสียมันไปตลอดกาล เพราะความเป็นจริงในชีวิตที่โตขึ้น คนที่ยังเก็บจินตนาการได้คือคนที่พิเศษที่สุด
คุณแม่แอนนี่ยังทิ้งท้ายบทสนทนาก่อนนอนด้วยว่า หนังสือดี ๆ อย่าง แฮรรี่พอร์ตเตอร์ หนังและแอนิเมชั่นดี ๆ อย่างบริษัท
วอลต์ ดิสนีย์ และพิกซาร์ ทุกอย่างเหล่านี้ล้วนใช้คนที่มีจินตนาการ และเป็น Weird มาก่อนทั้งนั้นแหละ …..สู้ๆนะ ฑีฆา
การสอนให้ลูกรู้จักความแตกต่าง และอยู่เคียงข้างลูกในวันที่ถูกคนล้อเรื่องความแตกต่าง เป็นสิ่งที่สำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะใส่ใจ เพราะเด็กในทุกช่วงวัยหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่เผชิญกับการถูกล้อ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนลูกเรื่องความแตกต่างได้ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้ลูกเข้าใจในความต่าง ไม่ไปล้อเลียนคนอื่น หรือยอมรับความต่างในตัวเอง และเติบโตไปเป็นคนพิเศษ
วิธีสอนลูกให้รู้จักความแตกต่าง
ก่อนที่ลูกจะเติบใหญ่ หน้าที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในครอบครัว ต้องเตรียมพร้อมให้เด็กเปิดใจยอมรับความแตกต่าง เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเข้าใจ ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ความแตกต่างจะเพิ่มขึ้นจนต้องอาศัยทัศนคติที่เปิดกว้าง เรียนรู้จากผู้ที่แตกต่าง ให้เกียรติและให้คุณค่ากับความต่าง เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
-
โลกใบนี้มีแต่คนที่แตกต่างกัน
สอนให้ลูกรู้จักความแตกต่างของเชื้อชาติ วัฒนธรรม เพศ วัย ศาสนาและความเชื่อ การศึกษา อาชีพ ฐานะ รวมถึงทัศนคติ เพราะเราทุกคนต้องอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร แต่ทุกคนพิเศษได้ในแบบฉบับของตัวเอง การสอนลูกให้รู้จักความแตกต่างและการยอมรับในความต่างของตัวเอง จะช่วยให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
-
พ่อแม่คือต้นแบบ
หากพ่อแม่ทำสิ่งใด ลูกย่อมเลียนแบบสิ่งนั้น พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกเป็นอย่างนั้น หัวใจสำคัญของการสอนลูกเรื่องความแตกต่างจึงต้องประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยการไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องคนอื่น ไม่ล้อเลียนในความต่างเรื่องรูปลักษณ์คนอื่นที่ไม่เหมือนเรา พร้อมกันนั้นต้องไม่ให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าจิตใจ โดยพ่อแม่สามารถฝึกฝนตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกได้ ดังนี้
- พ่อแม่ต้องสังเกตทัศนคติของตน พยายามอย่าใช้ทัศนคติแบบเหมารวม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นในเรื่องการเคารพความแตกต่างหลากหลายในสังคม เพราะคนในสังคมมีหลากหลายรูปแบบ
- ย้ำเตือนตัวเองว่า ลูกมองเราอยู่เสมอ ให้ระลึกว่าลูกคอยฟังสิ่งที่พ่อแม่ คนรอบตัว พูดอยู่ทุกครั้ง แม้ว่าไม่ได้พูดกับเด็กโดยตรง จึงต้องระวังถ้อยคำและน้ำเสียง โดยเฉพาะเวลาที่ใช้พูดถึงคนที่แตกต่าง ไม่ควรล้อเลียนภาพลักษณ์ของคนอื่นเพียงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องตลก ยิ่งทำต่อหน้าลูกจะยิ่งซึมซับเข้าไปในจิตใจเด็ก และอาจมองว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาในการล้อเลียนหรือเหยียดผู้อื่น
- ให้ระวังในการเลือกหนังสือ เพลง หรือเรื่องราวตามสื่อต่าง ๆ มาให้ลูกรับรู้ เพราะอิทธิพลของสื่อหล่อหลอมทัศนคติได้มากกว่าที่คาดคิด ถ้าเปิดรับสื่อที่ล้อเลียนหรือเหยียดคนอื่น ลูกก็จะเคยชินกับพฤติกรรมนั้น
- สอนและอธิบายให้ลูกฟังว่าการล้อเลียนคนอื่นที่แตกต่าง ถือเป็นการไม่ให้เกียรติและไม่สุภาพ ซ้ำร้ายยังเป็นการทำร้ายความรู้สึกของคนที่ถูกล้อเลียน
- สร้างสังคมแห่งการให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกันในครอบครัว ยอมรับความทักษะ ความชื่นชอบและสไตล์ที่ต่างกัน ให้คุณค่ากับความเป็นตัวของตัวเองของสมาชิกในครอบครัว
- พาลูกไปพบปะผู้คน สังคมที่หลากหลาย ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อน ๆ เช่น การเข้าค่ายฤดูร้อน หรือเป็นอาสาสมัครกิจกรรมเพื่อสังคม
- อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการยอมรับความแตกต่างนั้น ไม่ได้หมายถึงการยอมรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น คนที่รังแกคนอื่น แต่การยอมรับความต่าง คือการเข้าใจว่าคนทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับ ปฏิบัติและให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน
หากลูกได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายในโลกใบนี้ตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยหลีกเลี่ยงการรังแกผู้อื่น ล้อเลียนผู้อื่น หรือเหยียดผู้อื่น
อ้างอิงข้อมูล : แอนนี่ ฑีฆายุ และ bangkokbiznews.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ลูกเลียนแบบพ่อแม่ พฤติกรรมเลียนแบบของเด็กสั่งจากสมอง! หนูรู้ หนูจำได้