รักลูก ≠ ตามใจ ≠ เข้มงวดเกินไป
ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก RamachannelTV
ปรับตัวอย่างไร หากคุณเข้าข่าย Toxic Parent !!
- มีสติ การมีสติใช้กับเรื่องทุกเรื่องในชีวิตได้ การเลี้ยงลูกก็เช่นกัน หากคุณกำลังลืมความตั้งใจดีในตอนแรกของการเลี้ยงลูกไปเสียแล้ว ลองดึงสติกลับมาว่า การเข้มงวดเกินไป การตามใจลูกเกินไป โดยกลัวว่าลูกจะไม่รัก ลูกจะไม่ได้ดีนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมา ที่ลูกแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องการ ที่เราตั้งใจไว้จริงหรือ การเลี้ยงลูกไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นขอให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกต ใชัสติ พิจารณาว่าการเลี้ยงลูกที่เราทำอยู่นั้น ทำให้ลูกดีขึ้น พร้อมทั้งมีความสุขจริงหรือไม่
- ยอมรับว่า พ่อแม่ก็เป็นคนธรรมดา มีความรู้สึก มีอารมณ์ และมีนิสัยใจคอแตกต่างกันไป เราต้องเข้าใจ และรู้ตัวเองว่าเป็นคนที่มีบุคลิก และนิสัยอย่างไร เข้าใจในธรรมชาติของตัวเองก่อน เช่น เราอาจเป็นคนอารมณ์ร้อน ปากไว หรือเก็บความรู้สึกจนไม่ค่อยพูดให้คนอื่นรู้ เมื่อเราเข้าใจในธรรมชาตินิสัยของตนเองแล้ว ก็ขอให้พึงระวังว่านิสัยเหล่านั้นจะไม่ไปทำร้ายความรู้สึกของลูก เช่น หากเป็นคนอารมณ์ร้อนก็รอให้อารมณ์เย็นลงเสียก่อนที่จะไปสอน หรือพูดคุยกับลูก หรือหากเราเป็นคนเก็บอารมณ์เก่ง ก็ต้องฝึกที่จะถ่ายทอดความรู้สึก ความต้องการของเราให้ลูกได้รับลูก และเข้าใจตรงกันบ้าง
- EQ ของพ่อแม่ก็สำคัญนะ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ตนเองรู้ทันอารมณ์ การจะเลี้ยงลูกให้ดีนั้น จำเป็นต้องมี EQ ที่แข็งแรง และมั่นคง เพราะเราต้องรับมือกับทั้งอารมณ์ของลูกที่เขายังเป็นวัยแห่งการเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ตนเอง และยังต้องรับมือกับความต้องการของสังคม ที่มีต่อลูก ที่พ่อแม่ต้องมีส่วนช่วยจัดการให้ทั้งสองสิ่งไปพร้อมกันได้อย่างลงตัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องมี EQ ที่ดีในการรับมือ เพื่อไม่ให้เราเองต่างหากที่หลุดจนกลายเป็นตัวปัญหาของลูกเสียเอง
- ใส่ใจลูกมากขึ้น ใส่ใจทั้งสิ่งที่ลูกพูด และรู้สึก ไม่คิดเอาเองว่าเด็กไม่รู้เรื่องหรอก เด็กมีหน้าที่แค่ทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่าดีเท่านั้น จงยอมรับในความคิดเห็นของเขาบ้าง
- เข้าใจสัจจะธรรมว่า ชีวิตเป็นของลูก ไม่ใช่ของพ่อแม่ เรามีหน้าที่ดูแล และให้ในสิ่งที่จำเป็น ทักษะที่เขาต้องนำไปใช้ในการดูแลตัวเองเมื่อเขาโตขึ้น เพราะพ่อแม่ไม่สามารถเข้าไปปกป้องลูกตลอดชีวิตได้
- ยอมรับข้อบกพร่องของลูก หากคุณพ่อคุณแม่ลองเปิดใจจะพบว่า ขนาดตัวเราเองยังมีข้อบกพร่อง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบทุกเรื่อง ดังนั้น ไม่ควรไปใส่ความคาดหวังให้ลูกต้องทำได้ดีทุกเรื่อง
- รู้จักขอโทษ ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำถูกทุกเรื่องเสมอไป เราเชื่อว่าเมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำพลาดไป ตัวเราเองก็รับรู้ และรู้สึกเสียใจเช่นเดียวกัน แต่ขอเพิ่มอีกสักนิด หากเรารู้จักยอมรับกับลูก และกล่าวคำขอโทษ เชื่อเถอะว่า เขาไม่คิดว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่แย่หรอก หากแต่ว่าเขาจะรู้สึกเข้าใจในตัวคุณ และเข้าใจด้วยว่าการทำผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขนาดพ่อแม่ยังผิดพลาดได้ จะทำให้ลูกเรียนรู้ทักษะในการปรับตัวจัดการอารมณ์ตัวเองเมื่อเขาเจอปัญหาต่อไปในอนาคตอีกด้วย
- ระวังความคาดหวังของคุณ ความหวังเปรียบเหมือนเป้าหมายให้เราต้องไปถึง แต่ความคาดหวังที่มากเกินไปก็จะกลายเป็นโซ่ล่ามไว้ไม่ให้เราไปได้ไกล ดังนั้นพ่อแม่ควรระมัดระวังความคาดหวังที่มีต่อลูก อย่าให้มากจนกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกกดดัน
- อยากให้ลูกเป็นแบบไหนก็แสดงกิริยาแบบนั้นกับลูก อยากให้ลูกอ่อนโยน คุณก็ต้องอ่อนโยนกับลูก อยากให้ลูกจริงใจคุณก็ต้องจริงใจกับลูก
พ่อแม่ควรเป็นที่พึ่งพิงให้แก่ลูก เป็นเหมือนโค้ชคอยช่วยเหลือ สนับสนุนให้เขาสามารถก้าวเดินไปบนโลกใบนี้ อย่างประสบความสำเร็จ และต้องมาพร้อมด้วยความสุขในชีวิต ดังนั้นกำลังใจจากพ่อแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา อย่าให้ความรัก ความหวังดีที่มากเกินไปมาทำให้เรากลายเป็น พ่อแม่ที่เป็นพิษ กับลูก เพราะนั่นเท่ากับเป็นการผลักให้ลูกเราเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ซึ่ง safe zone ทำให้ที่ ๆ ปลอดภัยทางใจของเขาก็จะหายไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.istrong.co/https://awarenessact.com/https://health.clevelandclinic.org
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เป็นภัยต่อพัฒนาการลูกลงโทษแบบไหนถึงดี
อ้วน รังสิตเตือนพ่อแม่ ลำไส้กลืนกัน สาเหตุ น้องโรฮาเกือบต้องผ่าตัด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่