บาดแผล ทางใจที่พ่อแม่สร้างให้ลูกในวัยเด็ก ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ ได้สร้างมากกว่าปัญหาทางใจแก่ลูก เพราะปัจจุบันเราพบว่าโรคทางกายบางอย่างเป็นผลมาจากวัยเด็ก
บาดแผล ทางใจในวัยเด็ก ส่งผลกระทบกับลูกมากกว่าที่คิด!!
เด็กจะมีปัญหาอะไรในชีวิตมากมาย นั่นเป็นความคิดของผู้ใหญ่บางคนที่มักมองว่าเด็ก เป็นวัยที่มีแต่ความสุข ความร่าเริง แต่รู้หรือไม่ว่า เด็กก็มีอารมณ์เหมือนกันนะ ปัญหาของเด็กใช่เป็นเรื่องไร้สาระเสมอไป เมื่อปัจจุบันเราพบว่าโรคทางกายหลาย ๆ โรค เป็นผลพวงมาจาก บาดแผล ทางใจในวัยเด็ก
บาดแผล ทางใจ อาจทำให้สมองลูกทำงานได้แย่ลง!
อย่างที่เราทราบกันว่าวัยเด็กเป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาทอย่างมาก มีการสร้างการเชื่อมโยงของใยประสาทมหาศาลซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ในเด็กที่ประสบเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดออกมา และหากในร่างกายมีฮอร์โมนนี้อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลให้สมองมีการเชื่อมโยงใยประสาทลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองในส่วนการเรียนรู้และการใช้เหตุผล ส่วนใยประสาทที่พัฒนาไปแล้ว ก็จะกลับทำงานได้แย่ลงเช่นกัน โดยเฉพาะสมองส่วนความคิดและเหตุผล แต่ในทางกลับกันใยสมองส่วนการเอาชีวิตอยู่รอด จะกลับทำงานได้แข็งแรงขึ้นส่งผลให้การจัดการเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตไม่ผ่านสมองส่วนการใช้เหตุผล (หรือการมีสตินั่นเอง) แต่กลับใช้สมองส่วนสัญชาตญาณจัดการ (ซึ่งก็คือการใช้ความรุนแรงหรือหลีกหนี)
ฮอร์โมนความเครียด กระทบมากกว่าที่คิด
นอกจากส่งผลกระทบต่อสมองแล้ว การมีฮอร์โมนความเครียดในร่างกายเป็นเวลาต่อเนื่อง ยังทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายทำงานแย่ลง เกิดปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เมื่ออายุมากขึ้นได้ เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง รวมถึงโรคทางจิตเวช เป็นต้น ดังนั้นดีที่สุด เราจึงควรปกป้องเด็กๆ ไม่ให้พบเจอเหตุการณ์ที่ร้ายแรงในชีวิตของเค้า
Fight or Flight สู้หรือหนี
โหมด Fight or Flight สู้หรือหนี เป็นสภาวะของร่างกายที่เวลามนุษย์เราเจอสถานการณ์ที่เครียด ไม่ปลอดภัย สมองจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ออกมา แต่เมื่อเหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ โหมด fight or flight ก็จะปิดเองโดยอัตโนมัติ ฮอร์โมนก็จะลดลงกลับสู่ภาวะปกติ เช่น เมื่อเด็กเกิดปัญหาในชีวิต ถูกเพื่อนแกล้ง หากเขาได้รับการจัดการจากครู หรือพ่อแม่จนเด็กรู้สึกปลอดภัย ร่างกายของเขาก็จะเข้าสู่โหมดปกติ
แต่หากปัญหานั้นไม่ได้รับการแก้ไข เด็กยังคงรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย โหมด fight or flight ก็ยังคงไม่ถูกปิด ฮอร์โมนคอร์ติซอลก็ยังคงหลั่งออกมาอ่อน ๆ ตลอดเวลา เพราะร่างกายต้องหลั่งเพื่อตั้งรับกับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เมื่อสมองถูกอาบด้วยคอร์ติซอลตลอดเวลามันจะส่งผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกัน มันจะค่อยๆ ทำลายระบบภูมิคุ้มกันลงทีละนิด
มารู้จัก ฮอร์โมนคอร์ติซอล กัน!!
คอร์ติซอล คือ สเตียรอยด์ฮอร์โมน (Steroid hormone) จัดเป็นฮอร์โมนกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) ที่ผลิตจากต่อมหมวกไตชั้นนอก และส่งผ่านไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านกระแสเลือด เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมา เพื่อตอบสนองต่อสภาวะเครียดหรือกดดันต่างๆ จึงมักเรียกกันว่า “ฮอร์โมนความเครียด”
หากมีคอร์ติซอลมากเกินไป
การมีคอร์ติซอลในเลือดมากเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s disease) ซึ่งมีลักษณะ หรืออาการดังต่อไปนี้
- น้ำหนักขึ้นฮวบฮาบ โดยเฉพาะที่ใบหน้า หน้าอก ช่วงท้อง แต่แขนขากลับเรียวลีบ
- หน้ากลม แก้มแดง
- ความดันโลหิตสูง
- กระดูกพรุน
- ผิวหนังเปลี่ยนแปลง ผิวบางลง ทำให้มีรอยช้ำและรอยแตก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง
- อารมณ์แปรปรวน เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฉุนเฉียวง่าย
- หิวน้ำและปัสสาวะบ่อย
นอกจากนี้ ระดับคอร์ติซอลที่สูงเกินไปยังอาจส่งผลให้ไม่มีความต้องการทางเพศ ผู้หญิงมีประจำเดือนไม่ปกติ ประจำเดือนมาน้อยลง จนอาจถึงขั้นไม่มีประจำเดือน หรือที่เรียกว่า ภาวะขาดระดู (amenorrhoea)
หากมีคอร์ติซอลน้อยเกินไป
หากร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลน้อยเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคแอดดิสัน (Addison’s disease) หรือเกิดภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง (adrenal insufficiency) ซึ่งมีอาการดังนี้
- อ่อนเพลียรุนแรงและเหนื่อยง่าย
- น้ำหนักตัวลด
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด โดยเฉพาะเวลายืน
- ความดันโลหิตต่ำ
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ผิวหนังบริเวณใบหน้า ลำคอ และหลังมือคล้ำขึ้น
บาดแผลทางใจในวัยเด็ก ส่งผลกระทบต่อลูกในอนาคต
จะเห็นได้ว่าเมื่อเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลอ่อน ๆ ออกมา หากมันเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานเกินไป ทำให้เกิดผลเสียต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายในระยะยาว นั่นเป็นเหตุว่าทำไมมันยังไม่ส่งผลทันทีแต่ไปส่งผลตอนโต จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ใหญ่จึงไม่ค่อยตระหนักถึงผลเสียเวลาเด็กเจอเรื่องแย่ๆ อะไรมาระหว่างวัน และมักมองข้ามไป
บทความ : บาดแผลทางใจที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย โดย ดร. เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย (ครูเคท)
ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนเอาใจใส่สุขภาพกายกันมากขึ้น ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการล้างพิษด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย แต่ผู้คนสมัยนี้กลับดูเหมือนว่าจะมีความเจ็บป่วยทางกายมากยิ่งขึ้น เรามักพบว่าอายุของผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง และเนื้องอก จะมีอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ คนหนุ่มสาวเริ่มมีปัญหาปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือ office syndrome และปวดศีรษะไมเกรนกันจนเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ก็ดูแลสุขภาพของตัวเองดี
เมื่อได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อหาคำอธิบาย ก็ได้พบงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีผู้คนให้ความสนใจสูงมากของเฟลิติและอันดา (1998) ที่พบว่าประสบการณ์เลวร้ายหรือชอกช้ำในวัยเด็ก เช่น การถูกดุด่าตำหนิ หรือถูกเปรียบเทียบ การถูกทอดทิ้ง ห่างเหินจากพ่อแม่ พ่อแม่ทะเลาะตบตีกัน พ่อแม่เสียชีวิต ไปจนถึงการถูกทุบตีทารุณกรรม ฯลฯ ล้วนส่งผลต่อปัญหาทางกายของคนเราเมื่อโตขึ้น โดยมีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ปวดศีรษะ โรคลูปัส มะเร็ง ซึมเศร้า มากกว่าคนทั่วไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่พ่อแม่หย่าร้างมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตในอนาคตเพิ่มขึ้นสองเท่า ทั้งนี้เพราะความเครียดสะสมและคาดเดาไม่ได้ในวัยเด็กส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับชีวเคมีของเซลล์ในร่างกาย และแม้แต่ดีเอ็นเอของเรา และเมื่อความไม่สมดุลถึงจุดที่ล้น เซลล์ต่างๆ จึงพยายามปรับตัวและแสดงความผิดปกติไม่สมดุลนั้นออกมาทางกาย นอกจากนี้ความไม่สมดุลระดับดีเอ็นเอของคนเรานั้นสามารถส่งต่อมายังรุ่นลูกหลานได้ ดังจะเห็นได้จากหลายๆ โรคที่ส่งต่อทางพันธุกรรมได้ เช่น เบาหวาน มะเร็ง รวมทั้งโรคทางจิตบางอย่าง เช่น ซึมเศร้า ไบโพลาร์ จิตเภท ฯลฯ
ดังนั้นหากมนุษย์ต้องการมีชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการได้รับการเลี้ยงดูที่สมดุลทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ และเมื่อเติบใหญ่และเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยทางกาย ก็อย่ามองข้ามรากของปัญหาทางกายที่อาจเกิดจากปัญหาทางใจที่ถูกสะสมมาตั้งแต่วัยเด็กด้วยนะคะ
ที่มาบทความจาก www.facebook.com/kateinspirer / www.thairath.co.th
สรุป บาดแผลทางใจในวัยเด็ก ส่งผลกระทบต่อลูกในอนาคตทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย และจิตใจ ดังนั้น หากพ่อแม่หันมาใส่ใจ และทำความเข้าใจกับความรู้สึกของลูก เราจะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย Safe zone ให้กับเขาได้ เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัย ไม่เครียด เขาก็สามารถปิดโหมด fight or flight ของตนเองลงได้ ฮอร์โมนแห่งความเครียดจะได้ไม่ไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวของลูกอีกต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง www.phyathai.com/www.facebook.com/heartpsychotherapy/hellokhunmor.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่