คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!! - Amarin Baby & Kids

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!!

Alternative Textaccount_circle
event

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ! สั่งสอน หรือซ้ำเติม จนเกิดบาดแผลในใจลูก จากคำเพียงแค่ไม่กี่คำจากคุณแม่คุณพ่อ…ถึงเวลาต้องเปลี่ยน

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!!

ได้มีโอกาสอ่านบทความดี ๆ จากเพจ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจจากคุณหมอ ให้เราได้กลับมาคิดทบทวนถึงท่าทีของตัวเองต่อบทบาทความเป็นแม่ที่เราอาจจะรู้สึกว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่แค่เพียงคำพูดง่าย ๆ เพียงไม่กี่คำของคนเป็นแม่อาจก่อให้เกิดรอยร้าว บาดแผลในใจแก่ลูกของเราได้โดยที่ตัวคุณแม่เองอาจจะไม่ได้ตั้งใจ และรู้ไหมว่ามันอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคุณกับลูก ความมั่นคงในจิตใจของลูกได้ในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลร้ายจนถึงเขาโตเลยทีเดียว

เห็นไหมแม่บอกแล้ว คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก
เห็นไหมแม่บอกแล้ว คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก

#เห็นไหมแม่บอกแล้ว

“ถือดี ๆ นะลูก อย่าวิ่ง ชามจะหล่นแตกเอา”

“เดินระวังหน่อยนะ ตรงนั้นพื้นมันลื่น”

“ทำการบ้านก่อนไหมลูก วันนี้การบ้านเยอะ มัวแต่เล่น จะทำไม่ทันนะ”

เวลาที่เราสั่งห้าม เตือนอะไรไว้ แล้วลูกละเมิด ฝ่าฝืน

จนเกิดผลลัพธ์ทางลบตามมา อย่างที่เราบอก

มันอดไม่ได้เลยใช่ไหมครับ ที่จะพูดว่า

“เห็นไหม แม่บอกแล้ว!!”

แล้วจะตามมาด้วยชุดประโยคเชิงตำหนิ อีกกระบวนใหญ่

“ทำไมถึงไม่เชื่อกันบ้าง”

“ทำไมถึงดื้อแบบนี้”

“อย่างนี้มันน่าตีซ้ำ”

“น่าเบื่อจริง ๆ ที่ต้องพูดซ้ำพูดซาก” ฯลฯ

บางรายพ่อแม่เครื่องติดแล้ว ก็จะตามด้วยการตีเป็นการปิดท้าย

แล้วบอกลูกด้วยประโยคคลาสสิคว่า

พ่อแม่ต้องสอน ลูกจะได้หลาบจำ ไม่ทำอีก

:::::::::::::::::::::::::::::::::::

หลังเหตุการณ์ผ่านไป อารมณ์สงบ ๆ

เรามาทบทวนกันดูครับ ว่าเหตุการณ์เหล่านี้

มันคือการสอนจริง ๆ หรือ

มันเป็นการ “ระบายอารมณ์” หรือ

มันเป็นการ “ซ้ำเติม” ความผิดพลาด มากกว่าการสอนหรือไม่

การซ้ำเติมที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นในตัวเองของเด็ก

และที่แย่กว่านั้น เขาอาจรู้สึกไม่มั่นคงกับความรักของพ่อแม่

เพราะคิดว่าพ่อแม่เป็นห่วงความเสียหายมากกว่าความรู้สึกของเขาหรือ?

หมอคิดว่า เด็กๆส่วนใหญ่ เรียนรู้จากเรื่องนี้ ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร

ตั้งแต่ได้ยินเสียงชามแตก

ตั้งแต่ลื่นก้นกระแทกพื้น

หรือพบว่าตัวเองอาจจะปั่นการบ้านไม่ทันแล้ว

เวลานั้น เป็นช่วงที่เขา รู้สึกผิด รู้สึกกลัว รู้สึกเจ็บตัว รู้สึกลนลาน

แม้ว่าเราจะยังไม่ทันได้พูดอะไรเลยด้วยซ้ำ

หมอคิดว่าจึงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะต้องไปซ้ำเติมลูกให้รู้สึกแย่กว่าเดิม

#หมอไปป์_แฮปปี้คิดส์

ซ้ำเติม หรือ สอนสั่ง

คุณแม่เชื่อไหมว่า คำพูดสามารถทำร้ายจิตใจของลูกน้อยเราได้ เป็นการอ้างอิงจากแบบสำรวจความคิดเห็น 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่าคำที่คนในครอบครัวไม่อยากได้ยิน คือ

อันดับ 1 ไปตายซะ/จะไปตายที่ไหนก็ไป ร้อยละ 20.4

อันดับ 2 คำด่า (เลว/ชั่ว) ร้อยละ 19

อันดับ 3 แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย ร้อยละ 16.5

และคำอื่น ๆ อีกที่เด็กไม่ต้องการได้ยินจากคนในครอบครัว เช่น ตัวปัญหา ดูลูกบ้านอื่นสิ น่ารำคาญ ตัวซวย น่าเบื่อ ไม่ต้องมายุ่ง และเชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง คำเหล่านี้ล้วนเป็นคำที่ผู้ฟังจะได้รับความรู้สึกในทางลบ ถึงแม้ว่าบริบทในคำพูดอาจแตกต่างกัน แต่ถ้าความหมายที่สื่อออกมานั้นเป็นความหมายในเชิงเดียวกันก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง ถ้าเราจะสื่อคำเหล่านั้นไปถึงลูกน้อยของเราด้วยความหวังดี แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเลือกใช้คำสักนิด เพื่อให้ความหวังดีของเราไม่กลับกลายเป็นบั่นทอนจิตใจไปเสีย

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก
คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก

แต่คุณแม่อย่าพึ่งกังวลจนทำอะไรไม่ถูกจนเกินไปนะคะ  วันนี้ ทีมแม่ABK ได้รวบรวม คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก คำพูดที่เราอาจพลั้งเผลอไม่ทันยั้งคิดมาฝากกัน เพื่อเวลาต้องเผชิญกับเหตุการณ์จะได้เลือกใช้คำได้ถูก เหมาะสมกันมากกว่าเดิมอีกสักนิด

แม่จ๋า..หนูไม่อยากฟังคำนี้  “เห็นไหมแม่บอกแล้วว่า…”

ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นในตัวเองของลูก และที่แย่กว่านั้น เขาอาจรู้สึกไม่มั่นคงกับความรักของพ่อแม่ที่มีต่อเขา เพราะคิดว่าพ่อแม่เป็นห่วงความเสียหายมากกว่าความรู้สึกของเขาหรือเปล่า? ลองเปลี่ยน เป็นหยุดอารมณ์ของคุณแม่ แล้วปลอบใจลูกกับเหตุการณ์ที่เขาทำพลาดเสียก่อน จากนั้นค่อยให้เขาได้รับผิดชอบจากผลของการกระทำของเขาเอง โดยมีคุณแม่คอยช่วยชี้แนะหาทางออกแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง และคุณแม่อาจคอยกระตุ้นให้ลูกพัฒนาหาแนวทางที่จะแก้ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นได้อีกในอนาคต

แม่จ๋า..หนูไม่อยากฟังคำนี้ หนูต้องทำตาม เพราะแม่สั่งไง”

เมื่อลูกโตขึ้น ความคิดอ่านเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เขาก็จะมีเหตุผลเป็นของตนเอง เมื่อคุณแม่มีคำสั่งให้เขากระทำในสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย พอเขาจะอธิบายถึงเหตุผลของตนเอง แต่เรามักจะไม่ให้ความสำคัญกับเหตุผลของเขาเพียงเพราะว่าเขายังเด็กในสายตาคุณแม่ จึงมักตัดบทด้วยคำพูดที่ว่า เพราะนี่เป็นคำสั่งของแม่ไง นานวันเข้า เขาจะเรียนรู้ได้ว่าความคิดเห็นของเขาไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์ อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่คอยแต่จะทำตามคำสั่งเท่านั้น หรือไม่กล้าบอกความต้องการของตัวเองให้แก่คุณแม่ฟัง ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกก็จะห่างออกไปโดยเฉพาะเมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่น ลองเปลี่ยน เป็นใจเย็นรับฟังความเห็นของลูกบ้าง แล้วคุยกับลูกด้วยเหตุและผล เพื่อให้เขารู้สึกอยากทำตาม เพราะมันดีจริง ๆ ไม่ใช่เพราะตามใจ ตามคำสั่งคุณแม่เท่านั้น

แม่จ๋า..หนูไม่อยากฟังคำนี้ ออกไปไกล ๆ แม่กำลังยุ่ง”

ยิ่งลูกได้ยินประโยคนี้มากเท่าไหร่ เท่ากับเขากำลังรู้สึกว่าถูกผลักไสไปจากคุณมากเท่านั้น เพราะเขาจะคิดว่าแม่ไม่อยากคุยด้วย เมื่อไม่ได้คุยกันบ่อย ๆ เรื่องที่จะคุยก็น้อยลงยิ่งโตขึ้นจะยิ่งห่างกันออกไป ทีนี้เวลามีเรื่องอะไรเขาก็จะไม่คิดจะปรึกษาหรือขอความเห็นจากคุณแม่อีกแน่ ลองเปลี่ยน มาเป็นการกำหนดเวลาให้เขารอ เช่น บอกลูกว่ากำลังทำงานใกล้เสร็จแล้ว ให้ลูกวาดรูปรอแม่สักครู่นะจ๊ะ  เพื่อที่คุณแม่จะได้จัดการกับงานของตัวเองให้เรียบร้อยก่อน แล้วจะได้มีเวลามาเล่นกับเขาได้อย่างเต็มที่ ลูกจะเข้าใจกว่าการที่ต้องรอโดยที่ไม่รู้แน่นอนว่าแม่จะมาเมื่อไหร่

อย่าร้องนะ คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก
อย่าร้องนะ คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก

แม่จ๋า..หนูไม่อยากฟังคำนี้อย่าร้องนะ!!”

คุณแม่มักจะตีความหมายของการร้องไห้ของลูกว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ เรียกร้องความสนใจ แต่แท้จริงแล้วลูกคิดเช่นนั้นหรือไม่ ความเป็นจริงแล้วการร้องไห้ของเด็กเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกความคับข้องใจ ความกังวลภายในใจของลูก การที่คุณแม่ไปห้าม หรือสั่งในหยุดการกระทำนั้น ยิ่งเป็นผลเสียต่อลูกอย่างมาก ลองเปลี่ยน เป็นโอบกอดลูกวลาร้องไห้ แล้วค่อย ๆ ให้เขาบอกความรู้สึกในขณะนั้นออกมา แล้วคุณแม่ก็ช่วยชี้แนะแก้ปัญหาการจัดการกับความรู้สึกของลูก จะช่วยทำให้เขาผ่อนคลาย แล้วต่อไปจะได้รู้วิธีที่จะรับมือกับความรู้สึกของตัวเองในครั้งต่อไป

แม่จ๋า..หนูไม่อยากฟังคำนี้ “ดูอย่างพี่ (ลูกบ้านอื่น) สิ”

การถูกเปรียบเทียบเป็นใครก็คงไม่ชอบกันทั้งนั้น เจ้าตัวเล็กของคุณพ่อคุณแม่ก็เช่นกัน ไม่ว่าคุณจะเปรียบเทียบกับพี่น้องในครอบครัวกันเอง หรือเอาไป เปรียบเทียบกับคนอื่น บ้านอื่น ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อลูกรักเหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะเปรียบเทียบลูกเพื่อหวังให้เขามีตัวอย่างที่ดีในการนำไปพัฒนาตนเอง แต่ผลที่ได้กลับกลายเป็นว่าคุณจะทำให้ลูก รู้สึกว่าตัวเองแย่ ไม่เก่งถ้าเราไปเปรียบกับคนที่เก่งมากเกินระดับอายุของลูก อาจกลายเป็นว่าไปทำลายความพยายามของลูกไปเสีย หรือในบางครั้งอาจไปทำให้เกิดความอิจฉากันระหว่างพี่น้อง เพียงเพราะคำพูดเปรียบเทียบของคุณพ่อคุณแม่ ลองเปลี่ยน ความเข้าใจของเราซะใหม่ว่า คนเราแตกต่างกัน เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันแม้ว่าจะเป็นพี่น้องคลานตามกันมาก็ตามที แล้วปรับคำพูดของคุณแม่เป็นการชื่นชมในสิ่งที่ลูกแต่ละคนทำดี ให้เขามีกำลังใจ และอยากแข่งขันกันให้คุณแม่ชื่นชมจะดีกว่าไหม

กฎ 3 ข้อ ที่พ่อแม่ควรยึดเป็นแนวทางก่อนพูด

คำพูดที่ดีสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้น
คำพูดที่ดีสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้น
แล้วถ้าคิดในทางกลับกัน
ถ้าเราเป็นลูก เราอยากให้พ่อแม่พูดหรือปฏิบัติต่อเราอย่างไรในสถานการณ์นี้
“ว้าย ลูกกกก” (อันนี้ มาจากสัญชาตญาณ เข้าใจได้ครับ)
✅ตั้งสติ สูดลมหายใจลึกๆ แล้วประคองความรู้สึกลูกก่อน
“ระวังนะลูก อยู่เฉย ๆ ก่อนเดี๋ยวแก้วบาด”
“เจ็บตรงไหนรึเปล่าลูก”
“โอ้โห การบ้านอีกเพียบเลย ลูกคงกลัวที่จะไม่ทันนะเนี่ย”
✅สอนให้ลูกรับผิดชอบจากผลของการกระทำตนเอง
“ลูกจะทำยังไงต่อไปดีจ๊ะ”
“มาช่วยกันเก็บเศษชามแตกกัน”
“ลูกเอาผ้าเช็ดพื้นที่เปียกด้วยนะคะ”
“ยังไงลูกก็ทำการบ้านเท่าที่ทำไหว แค่ไหนแค่นั้น
บอกครูไปตามตรงนะลูกว่าไม่ทันจริงๆ”
✅สอนถึงแนวทางการพัฒนาในอนาคต
“ลูกคิดยังไงกับเรื่องที่เกิดขึ้น”
“ต่อไประวังให้มากขึ้นนะลูก”
“ต่อไปลูกจะวางแผนการทำการบ้านยังไง”
ขั้นสุดท้ายคือ
✅ติดตามผล และชมความพยายามของเขา
เพื่อให้พฤติกรรมบวกเกิดขึ้นต่อไปอย่างยั่งยืน
“ช่วงหลังลูกมีความระมัดระวังดีมากเลยนะ”
“ลูกแบ่งเวลาเล่น กับทำการบ้านได้ดีขึ้นมาก เก่งมากเลยลูก”
นอกจากคุณหมอจะมาให้ข้อคิดสะกิดใจกับคุณพ่อคุณแม่ในเรื่อง คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก แล้ว คุณหมอยังได้เสนอแนวทางดี ๆ เป็นกฎหลักไว้ 3 ข้อ ให้เราได้ยึดเป็นหลักปฎิบัติในการเลือกใช้คำพูดเพื่อจะสอนลูก ให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตรงตามวัตถุประสงค์ ความตั้งใจดีของคุณพ่อคุณแม่อย่างแท้จริง

กฎหลักข้อที่ 1 สอนหลักแห่งความรับผิดชอบ

ลูกจะทำยังไงต่อไปดีจ๊ะ…เรามาช่วยกันเก็บเศษชามแตกกัน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ลูกทำพลาดเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดตำหนิ แล้วเริ่มจากการหาคำพูดที่ให้ลูกรับรู้ถึง ความรับผิดชอบที่เขาจะต้องรับจากผลของการกระทำของตนเองเสียก่อน โดยอาจจะกล่าวเป็นคำถามให้เขาได้คิด หรืออาจช่วยบอกว่าเขาต้องทำยังไงต่อไปเพื่อแก้ปัญหานั้นถ้าลูกยังไม่สามารถคิดต่อไปเองได้ แต่เขาต้องเป็นคนที่ลงมือทำ แก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยอยู่ห่าง ๆ

กฎหลักข้อที่ 2 สอนถึงแนวทางการป้องกันในอนาคต

ต่อไปลูกจะวางแผนทำการบ้านยังไงให้ทันดี

เมื่อลูกสามารถผ่านพ้นปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้แล้ว เพื่อเป็นการสอนให้เขาพัฒนาตนเองจากเหตุการณ์ผิดพลาดที่เกิดขึ้น เราควรชี้ให้ลูกได้คิดต่อไปว่า จะวางแนวทางปฎิบัติตัวอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีกได้ โดยมีคุณพ่อคุณแม่รับฟังและช่วยคิด ไม่ได้ว่ากล่าวซ้ำเตฺิม ซึ่งก็เป็นการช่วยให้ลูกรู้จักคิดได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย

กฎหลักข้อที่ 3 ให้รางวัลกับความพยายามของลูก

ลูกแบ่งเวลาเล่นกับทำการบ้านได้ดีขึ้นมาก เก่งมากเลย

รางวัลเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพในการปรับพฤติกรรมของมนุษย์มากกว่าการลงโทษ แต่รางวัลมิจำเป็นต้องเป็นสิ่งของมีค่าเสมอไป เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่เอ่ยปากชมลูก เวลาเห็นเขาได้พยายามไม่ทำในสิ่งที่เขาเคยทำพลาด โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ ขอเพียงแค่เขาได้พยายามกว่าเดิมที่เคยเป็นมา ก็คุ้มค่ามากพอที่เราคนเป็นพ่อเป็นแม่ควรเอ่ยปากชมให้เป็นรางวัลแก่ลูก

เห็นไหมละว่า…คำพูดของพ่อแม่ แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่น่ามีปัญหาใด ๆ แต่ก็ก่อให้เกิดแผลในใจแก่ลูกน้อยของเราได้โดยไม่รู้ตัว คุณพ่อคุณแม่ลองมาสังเกตพฤติกรรมของตนเองกันดูสักนิดว่าได้เผลอพูดโดยไม่ทันได้ยั้งคิดไปบ้างหรือไม่ ยังไม่สายที่จะหันกลับมาเปลี่ยนเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกของเราจะได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นตัวช่วยยึดเหนี่ยวให้แก่ลูกเวลาที่เขาเกิดปัญหาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อ่านบทความอื่นน่าสนใจ คลิก

รวม 20 คําสอนของแม่ ที่ควรสอนลูกสาว!

How to สอนลูกให้มีระเบียบวินัย ต้องไม่ตี ไม่ขู่ ไม่เกิดผลเสียในระยะยาว

[สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ

นี่คือ 12 สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำกับลูก!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up