เทคนิค สร้างวินัยเชิงบวก
ฝึก EF ให้ลูก แข็งแกร่งและถาวร
Positive Discipline หรือ สร้างวินัยเชิงบวก คือการสร้างวินัยหรือการสอนและฝึกฝนเด็กให้ใช้ทักษะสมอง EF ในการดำเนินชีวิตประจำวันจนติดเป็นนิสัย โดยที่ไม่ใช้คำสั่งห้ามและไม่มีการดุด่าว่ากล่าว เนื่องจากการสั่งห้ามและการดุด่าไม่กระตุ้นให้เกิดทักษะ EF แต่ไปกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ให้ทำงาน ทำให้เด็กเกิดการต่อต้านเนื่องจากเมื่อสมองเกิดความขัดแย้งระหว่างความอยากกับคำสั่งฝ่ายความอยากมักจะเอาชนะเป้าหมายที่แท้จริงเสมอ วิธีที่จะจัดการกับความอยากของเด็ก เราจึงต้องใส่ภาษาที่เขาเข้าใจพร้อมกับใส่ประสบการณ์ลงไปให้เด็กด้วย เพราะอะไรก็ตามที่เราพูดในวันนี้จะกลายเป็นประสบการณ์ของเขาในวันพรุ่งนี้
สร้างวินัยเชิงบวก จึงยึดหลักว่า พ่อแม่จะไม่ใช้คำว่า “ห้าม” “ไม่” “อย่า” “หยุด” เราจะใช้แต่คำว่า “ได้” เพียงแต่ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ “ได้อย่างไร” และ “ได้เมื่อไร” เท่านั้น!!
Good you know: “คนที่มี EF คือคนที่ครีเอทีฟ ยืดหยุ่นได้ ควบคุมตนเองได้ มีวินัยในตนเอง EF ทำงานสะสมได้ตั้งแต่เด็ก แต่ที่สำคัญพ่อแม่ควรมี EF ก่อน เพราะ EF เป็นเรื่องที่ฝึกได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม”
ความท้าทายที่พ่อแม่ต้องทำใจไว้ก่อน√
ความท้าทายในการปลูกฝังทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อยไม่ได้มาจากการที่เขาเป็นเด็กดื้อหรือเด็กเอาแต่ใจ แต่มาจาก 2 สาเหตุสำคัญ ได้แก่
-
ความท้าทายที่ 1 : ประสบการณ์ที่แตกต่าง
คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่า… ทำไมเวลาพูดกับเด็กจึงรู้สึกเหมือนพูดกันคนละภาษา พูดกันไม่รู้เรื่อง เตือนก็แล้วพร่ำสอนก็แล้ว ดุก็แล้ว ขู่ก็แล้ว ทำไมเขายังไม่เชื่อฟังเสียที นั่นเพราะเขามีประสบการณ์เพียงน้อยนิด ถึงจะข่มขู่ดุด่าอย่างไรเขาก็ยังนึกไม่ออกว่าสิ่งที่เขาทำจะส่งผลเสียอย่างไรในอนาคต ตัวอย่างเช่น คุณแม่เตือนลูกน้อยว่า “อย่ากินลูกอมนะ เดี๋ยวฟันผุ” แต่เขาไม่เคยมีประสบการณ์ฟันผุกินวันนี้… พรุ่งนี้… อาทิตย์นี้… เดือนนี้… ฟันก็ยังไม่ผุ สิ่งที่เขาเรียนรู้จึงกลายเป็น “ลูกอมไม่ได้ทำให้ฟันผุเสียหน่อย กินก็ไม่เห็นเป็นอะไร” คุณแม่อาจแก้ปัญหาโดยเอารูปฟันผุมาให้ดู วิธีนี้จะทำให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานแทนสมองส่วนหน้า ก่อให้เกิดความรู้สึกกลัว เด็กอาจเริ่มไม่กล้ากินลูกอมในช่วงแรก
แต่อย่าลืมนะคะว่าเด็กก็ยังมีความอยากอยู่ เพราะเขาเคยลิ้มรสลูกอมมาก่อนแล้ว ประสบการณ์เดิมที่เขาได้เรียนรู้มีเพียงความหอมหวานจากลูกอมไม่มีความเจ็บปวดจากอาการฟันผุสักนิด!หลังจากความอยากเอาชนะความกลัว เขาก็จะกลับไปกินลูกอมเช่นเดิม
-
ความท้าทายที่ 2 :พัฒนาการสวนทางกับความคิด
โครงสร้างสมองของมนุษย์มี 3 ส่วนได้แก่ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
⇒ สมองส่วนหน้า = EF : ทำหน้าที่ควบคุมสมองส่วนอื่น ยับยั้งอารมณ์ ยับยั้งพฤติกรรมที่ขัดขวางความสำเร็จ ยับยั้งความอยาก ยับยั้งความต้องการ ช่วยให้เรามีสติคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ และสามารถใช้เหตุผลในการวางแผนและแก้ไขปัญหาได้
⇒ สมองส่วนกลาง = สมองส่วนอารมณ์ : ในสมองส่วนกลางจะมีส่วนที่เรียกว่า “ลิมบิก”(Limbic) เป็นส่วนที่ทำงานเพื่อให้เราเกิดการปรับตัวเอาชีวิตรอดตามแรงอารมณ์ที่เกิดขึ้นและอารมณ์ที่เร็วและแรงมากที่สุดของมนุษย์คือ ความกลัวและความโกรธ ซึ่งเป็นอารมณ์ด้านลบที่จะทำให้เราหลั่งสารบางอย่าง ส่งผลให้เราแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อความอยู่รอดออกมาโดยอัตโนมัติ
⇒ สมองส่วนท้าย = สัญชาตญาณของชีวิต : เป็นสมองส่วนที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทำงานเป็นอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องสั่งหรือควบคุม เพื่อให้ร่างกายของมนุษย์มีชีวิตรอดปลอดภัย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร ฯลฯ
การทำงานของทักษะสมอง EF เป็นการใช้ความคิดระดับสูง จึงเป็นการใช้สมองจากบนลงล่าง กล่าวคือ สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุด คอยควบคุมและสั่งการสมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย แต่!!!…พัฒนาการทางสมองของเด็กกลับเริ่มพัฒนาจากสมองส่วนล่างย้อนขึ้นไปยังสมองส่วนหน้าในขณะที่สมองส่วนท้ายและสมองส่วนกลางพัฒนาจนสมบูรณ์และพร้อมใช้งานตั้งแต่แรกเกิด สมองส่วนหน้ากลับใช้ระยะเวลาในการพัฒนายาวนานกว่ามาก กว่าจะพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ก็เมื่อลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 20 – 25 ปี
ดังนั้น การใช้ความคิดเชิงบริหารจึงสวนทางกับพัฒนาการของเขา โดยเฉพาะระบบลิมบิกหรือสมองส่วนอารมณ์ซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่ตั้งแต่แรกคลอด สมองส่วนอารมณ์จึงทำงานได้เต็มที่นับแต่นั้น การจะให้เด็กใช้ทักษะสมอง EF ไปควบคุมอารมณ์ทั้งที่สมองส่วนหน้าหรือทักษะสมอง EF ยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง
ทักษะสมอง EF ของเด็ก อาจถูกกระตุ้นในบางช่วง
แม้ทักษะสมอง EF ของเด็ก อาจจะถูกกระตุ้นขึ้นในบางช่วง แต่ก็มักจะถูกขัดขวางด้วยอารมณ์ความรู้สึกจากสมองส่วนอารมณ์เช่น หิว อยากได้ความรักความอบอุ่นอยากได้รับความสนใจ และอยากรู้สึกปลอดภัย ซึ่งล้วนเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานตามสัญชาตญาณการอยู่รอดปลอดภัยของมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมชาติของสมองเมื่อเด็กรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ หรือรู้สึกแปลกแยก พฤติกรรมและอารมณ์ด้านลบในสมองส่วนอารมณ์จะแสดงออกมาให้เขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนเห็น ซึ่งเด็กรู้ดีว่าการทำดีหรือทำตัวตามปกติจะเรียกร้องความสนใจได้ยาก แต่ถ้าเขาตะโกนโหวกเหวกขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่จะให้ความสนใจทันที โดยไม่สนใจว่าการให้ความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบที่ดีหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้มีตัวตน เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเมื่อเราเจอเด็กเกเร เราไม่ควรโมโห เพราะมีแต่จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าวิธีนี้ใช้เรียกร้องความสนใจได้ แถมเขายังรู้สึกฟินอีกต่างหาก!
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าการดุด่าเด็กไม่ก่อให้เกิดผลดี เช่น คุณครูที่ยืนขู่เด็กร้องไห้เมื่อไปโรงเรียนครั้งแรกว่า “ถ้าไม่เงียบจะบอกพ่อแม่ว่าไม่ต้องมารับ” หรือ “เดี๋ยวเรียกตำรวจมาจับ” คุณครูกลุ่มนี้ใช้สมองส่วนอารมณ์ในการจัดการเด็ก เนื่องจากความโมโหทำให้ควบคุมสติไม่ได้ จึงเลือกใช้การขู่มาควบคุม แต่สำหรับเด็กซึ่งมาโรงเรียนวันแรกย่อมมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย แล้วยิ่งบอกว่าพ่อแม่จะไม่มารับ ตำรวจก็จะมาจับอีก นี่คือตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่ไปเขย่าสมอง
ส่วนอารมณ์ของเด็กให้ทำงาน ซึ่งคุณครูหรือผู้ใหญ่เช่นนี้เปรียบเสมือนคนบ้าเพราะการดุด่าเด็กเปรียบเหมือนเราไปยืนด่าฟ้าฝน เนื่องจากฟ้าฝนหรือเด็กร้องไห้คือเรื่องธรรมชาติเช่นเดียวกัน ธรรมชาติของเด็กเป็นแบบนี้ คนที่จะโมโหธรรมชาติจึงมีแต่คนบ้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่เด็กจะร้องไห้งอแง แสดงพฤติกรรมเรียกร้องเอาแต่ใจก้าวร้าว ด่าทอ ทำร้ายตัวเอง ขว้างปาข้าวของ หรือโกรธโมโหง่าย จึงไม่ใช่เรื่องน่าโมโห แต่เป็นธรรมชาติของสมองที่กำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ว่า เขากำลังรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยเขาอยากได้รับความรัก ความอบอุ่น และความปลอดภัย เมื่อเขาต้องการคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องให้ หากไม่ให้จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าชีวิตนี้ไม่มีการให้ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดปมในใจของเขาอย่างแน่นอน เพียงแต่การให้ความรักกับเขาไม่ได้หมายถึงการตามใจจนเสียคน แต่ต้องเป็นการให้ทักษะสมอง EF ซึ่งจะช่วยให้เขาเกิดความมั่นคงทางอารมณ์และใช้สมองคิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ในอนาคตต่างหาก
สงบก่อนจึงสอนได้!! √
หากเด็กกำลังร้องไห้งอแงหรืออาละวาดหนักมากแม้คุณพ่อคุณแม่จะพยายามใช้ทักษะสมอง EF กับเขาเท่าไร ลูกก็คงไม่ฟัง เพราะอารมณ์กำลังขึ้นสุดลงสุด สมองส่วนอารมณ์ก็กำลังทำงานอย่างหนักจนเบียดบังการทำงานของสมองส่วนหน้าจนหมด ก่อนจะฝึกทักษะสมอง EF ได้จึงต้องทำให้สมองส่วนกลางสงบลงเสียก่อนด้วยวิธีง่าย ๆ (แต่อาศัยความอดทนสูงมาก) ด้วยการบอกให้รู้ว่า “หนูรู้สึกอย่างไร” โดยใช้คำศัพท์บอกอารมณ์เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจเขา และเพื่อให้เขาเข้าใจอารมณ์ของตนเองเช่น เมื่อเด็กร้องไห้เนื่องจากต้องมาโรงเรียนวันแรก
“ครูเข้าใจว่าหนูคิดถึงคุณพ่อคุณแม่” หรือบอกเมื่อเด็กร้องไห้อยากได้ของเล่นว่า “แม่รู้ว่าหนูเสียใจที่ไม่ได้ของเล่นชิ้นที่ชอบ” เมื่อเขาเริ่มสงบลงแล้วจึงค่อย ๆใส่ประสบการณ์ที่เขาสามารถทำได้เพื่อบรรเทาอารมณ์เหล่านั้นเข้าไป เช่น “เมื่อหนูคิดถึงคุณพ่อคุณแม่อีกหนูมาบอกให้คุณครูช่วยปลอบได้” หรือ “หนูสามารถนำของเล่นชิ้นเก่ามาดัดแปลงให้กลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ได้นะ ถ้าหนูไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร หนูขอให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยคิดและช่วยกันทำได้จ้ะ” แม้วิธีนี้จะใช้เวลาในการฝึกฝนและทำความเข้าใจ แถมต้องอาศัยความใจเย็นของคุณพ่อคุณแม่สูงมาก แต่วิธีนี้จะช่วยให้ลูกน้อยได้ฝึกทักษะสมอง EF ส่งผลให้เขาควบคุมอารมณ์และแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองต่อไปในอนาคต
ขอเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์ และมีลูกวัย 0-6 ปี ร่วมฟังเสวนาฟรี! “เลี้ยงลูกเชิงบวก กระตุ้นทักษะสมอง พิชิตความสำเร็จ” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 สมัครด่วนจำนวนจำกัด!! อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งล่วงหน้า ได้ที่ https://bit.ly/2Sek03w
อ่านต่อ “บทความอื่นน่าสนใจ” คลิก!
- เลี้ยงลูกวินัยเชิงลบ ส่งผลต่อพัฒนาการสมอง
- เทคนิค “จับ-จด” เปลี่ยนชีวิต สร้างนิสัยรู้จักคิด หยุดวิกฤติลูกงอแงร้องซื้อของเล่นได้ผลชะงัด!
- จิตแพทย์แนะ เลี้ยงลูกให้สตรอง!! ต้องใช้ “หน้าต่างแห่งโอกาส 9 บาน”
ขอบคุณบทความจากคอลัมน์ family scoop : Executive Functions ทักษะที่เด็กยุคใหม่ต้องมี นิตยสาร Amarin Baby & Kids