ปัญหาของครอบครัวที่มีพี่ และกำลังจะมีน้องเป็นสมาชิกใหม่
ลูกคนแรกจะปรับตัวอย่างไรเมื่อกำลังจะมีน้อง ทำให้พี่คิดว่าน้องจะมาดึงความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ไป จะต้องแบ่งสิ่งต่างๆให้กับน้อง ทั้งสิ่งของและเวลาของคุณพ่อคุณแม่ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องรู้จักวิธีดูแลจิตใจพี่คนโต โดยมีการตกลงร่วมกันในครอบครัวว่าจะปฏิบัติตัวและพูดอย่างไรกับพี่คนโตเพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยและยินดีต้อนรับน้องใหม่เข้ามาในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเด็กไม่ควรพูดเล่นในสิ่งที่จะทำให้เด็กจดใจไปตลอด เช่น ดื้อแบบนี้ไม่รักแล้วไปรักน้องดีกว่า หรือเดี่ยวน้องมาก็ตกกระป๋อง คำพูดล้อเล่นของผู้ใหญ่ แต่กลับเป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่และสำคัญในความคิดของเด็ก ยิ่งหากเป็นคำพูดของคุณพ่อคุณแม่จะยิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะเด็กในวัย 2-3 ขวบ ซึ่งเป็นวัยแห่งจินตนาการ ความเฟ้อฝัน เด็กจะคิดว่าเขากำลังจะถูกถอดทิ้ง จะไม่ได้รับความรักอีกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับพี่คนโต โดยอาจอธิบายให้เข้าใจว่าน้องต้องการการดูแลเหมือนที่หนูเป็น ในตอนเด็กๆพ่อแม่ก็ให้เวลาดูแลหนูเช่นกัน ให้เขาดูรูปในตอนเด็ก อาจอธิบายว่าตอนที่หนูเกิดพ่อแม่ไม่รู้เรื่องเลยว่าต้องเลี้ยงดูหนูอย่างไร ฉะนั้นพ่อแม่ทุ่มเทกับหนู 100% เลย แต่น้องไม่ได้เท่าหนูหรอกเพราะพ่อแม่รู้แล้วว่าจะต้องเลี้ยงดูอย่างไร ไม่มีทางที่น้องจะมาแย่งความรักที่พ่อแม่มีต่อหนู ให้เขาเห็นภาพว่าเขาได้รับความรักมานานกว่าน้องมาก น้องเพิ่งจะเกิดมาพ่อแม่เพิ่งจะรักน้องได้ไม่กี่วัน น้อยกว่าหนูอีก
ในกรณีของญาติเมื่อมีการมาเยี่ยมหลังคลอด นัดแนะกับญาติว่าขอของให้พี่คนโตด้วย โดยเมื่อมาถึงให้ญาติไปหาพี่ไปคุยกับพี่ก่อน แล้วค่อยมาดูน้องคนเล็ก เป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ว่าพี่คือคนสำคัญอยู่ และยังมีหน้าที่เพิ่มขึ้นคือเป็นผู้ช่วยของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของพี่คนโตและเค้ามีความสำคัญในบ้าน
หากครอบครัวไหนคุยกับลูก เล่นกับลูกไม่เก่ง ให้พยายามค่อยๆทำ ทำบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเทคนิคหรือ จิตวิทยาการเลี้ยงลูก อาจหาหนังสือนิทานที่เหมาะกับสถาณการณ์ของครอบครัวมาอ่านให้ลูกฟัง เช่น นิทานเรื่องพี่กำลังจะมีน้อง ลูกก็เกิดความเข้าใจในสถาณการณ์ของตนเองที่กำลังเกิดขึ้นได้ง่ายผ่านตัวละครในนิทาน เป็นการอธิบายทางอ้อมให้ลูกเข้าใจ การสอนโดยผ่านตัวละครในนิทาน เมื่อลูกไปเจอสถาณการณ์เหมือนในนิทาน ลูกก็จะมีตัวอย่างที่เก็บไว้ในความทรงจำแล้วดึงออกมาใช้ ฝึกเล่นและพูดคุยกับลูก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ เมื่อมีการพูดคุยกับลูกจะได้ง่าย ลูกจะเข้าใจเรา สังเกตว่าลูกชอบอะไร นำสิ่งที่ลูกชอบมาเล่นกับเขา หรือพูดกับลูกถึงสิ่งนั้น จะช่วยสร้างความใกล้ชิดกับลูกได้ หากเล่นกับลูกไม่เป็น อย่างน้อยอยู่ข้างๆลูกเวลาเขาเล่น ดูลูกเล่นไปเรื่อยๆเราก็จะเข้าใจเขามากขึ้น อยู่ข้างๆคอยช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการอะไร นอกจากนี้เด็กยังต้องการอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีความสุข ความสุขสามารถส่งผ่านมาถึงลูก ลูกสามารถรับรู้ได้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
ทำอย่างไรให้ลูกดื่มนมได้มากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่อาจวิตกว่าลูกดื่มนมน้อย ให้ดูว่าลูกได้รับนมในปริมาณที่เพียงพอที่ร่างกายต้องการต่อวันแล้วหรือยัง ดูว่าน้ำหนักของลูกอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติก็ไม่ต้องกังวล นอกจากนี้อาจดูว่าลูกได้รับสารอาหารจากอาหารหลัก คือ ไขมัน กากใย คาร์โบไฮเครต โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ เพียงพอไหม หากเพียงพอแล้ว นมเป็นเพียงอาหารเสริมสำหรับเด็กโต ความวิตกกังวลของคุณพ่อคุณแม่อาจเกิดจากความคาดหวัง เพราะเห็นลูกคนอื่นจ่ำม่ำเพราะดื่มนมเยอะ มีการเปรียบเทียบ แต่ก็ควรระวังหากเด็กมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ อาจเป็นโรคอ้วนได้เมื่อโตขึ้น ฉะนั้นตราบใดที่ลูกไม่ได้ป่วยเพราะขาดสารอาหาร หรือมีน้ำหนักที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็ไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ ดูโภชนาการและความแข็งแรงของลูกเป็นหลัก ทั้งนี้เด็กวัย 2-3 ขวบเป็นวัยเล่น จะไม่ค่อยสนใจอาหาร จะเริ่มสนใจอาหารในวัย 4-5 ขวบ
เด็กไม่ทำตามที่ครูบอก
เด็กไม่ทำตามที่ครูบอกอาจเป็นเพราะ ต่อท้านครูเพราะพูดแล้วครูไม่เข้าใจ ไม่ตอบสนองตามที่เขาต้องการ จึงไม่อยากสื่อสารกับครูคนนี้ เมื่อครูคนนี้มาสั่งให้ทำอะไรก็จะไม่อยากทำ หรืออาจจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารซึ่งเกิดจากคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์ หรือแท็บเล็ต
เด็กที่มีปัญหาทางการพูดและการสื่อสารจะเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ เมื่อเด็กที่ยังสื่อสารได้ไม่ดี ยังพูดเป็นประโยคยาวๆไม่ได้ บอกความต้องการของตัวเองไม่ได้ จึงเกิดอารมณ์หงุดหงิดง่าย แสดงอารมณ์ง่าย หรือตี เพราะการตีเป็นการสื่อสารที่เร็ว เมื่อไม่อยากให้เราทำอะไรก็ตีเลยเนื่องจากยังสื่อสารได้ไม่ดี
ทำอย่างไรหากลูกร้องเมื่อทำกิจวัตรเดิมทุกครั้ง
ลูกร้องเมื่อทำกิจวัตรนั้นทุกครั้ง เช่น การเช็ดทำความสะอาดจมูกเพราะมีน้ำมูก การแปรงฟัง หรือเมื่อใช้ผ้าก๊อตทำความสะอาดปาก คุณแม่อาจช่วยให้การกระทำนั้นมีความน่ากลัวสำหรับลูกน้อยยลง โดยทำบรรยากาศให้มีความสนุก อย่าทำหน้าเครียด ขึงขังเอาจริงเอาจัง ทำให้ดูน่ากลัว อาจใช้การร้องเพลง การเล่านิทาน หรือการเล่นเกมส์ ช่วยให้ลูกเพลิดเพลิน เช่น การเช็ดจมูก อาจคิดเกมส์ เล่นจับหนอน เมื่อจะเช็ดจมูกก็บอกลูกมาเล่นเกมส์จับหนอนกัน ดูซิวันนี้จะจับได้กี่ตัว เมื่อเช็คน้ำมูกออกมาแล้วก็ให้ลูกดูว่าวันนี้จับได้กี่ตัว ลูกก็จะสนุกและไม่ร้องไห้
การได้ร่วมฟังสัมมนาของ ทีมกองบรรณาธิการ ABK เรื่อง “จิตวิทยาการเลี้ยงลูกน้อยอย่างมีความสุข” ในวันนี้ ได้รับความรู้มากมาย หากคุณแม่อยากร่วมฟังสัมนาดี ๆ แบบนี้ แถมยังได้ช๊อปสินค้าดี ๆ มีคุณภาพ ในราคาพิเศษ ให้ตัวเองและลูกน้อยไปด้วย สามารถเข้าร่วมฟังได้ภายในงาน Amarin Baby & Kids Fair ซึ่งในครั้งถัดไปจะจัดในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีสัมมนาที่มีความรู้ดี ๆ สำหรับแม่ ๆ ให้นำไปปรับใช้กับลูกน้อยอย่างได้ผล คุณแม่สามารถอัพเดทหัวข้อสัมมนาได้ที่เพจ Amarin Baby & Kids นะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
จดหมายถึงผู้ปกครอง ผลการเรียน ลูกไม่ใช่ทุกสิ่งคนแห่ชื่นชมรร.
เมื่อ กตัญญูหมายถึง สิ่งกดดันลูก”ไม่ได้ขอมาเกิด”จึงอุบัติขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน นักจิตวิทยาพัฒนาการเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากคู่รักสู่การเป็นพ่อแม่ ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี นักจิตวิทยาพัฒนาการด้านการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่