สิ่งที่ควรสอนลูก ข้อที่ 4 ที่คุณครูเม เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา แนะนำ คือ ⇓
4. เมื่อลูกทำผิดให้สอนเขา ไม่ใช่ทำให้เขากลัว
แทนที่จะบ่นเขา และทำให้เขากลัวด้วยการลงโทษที่รุนแรง เพราะนอกจากความกลัวที่ทำให้เขาหยุดทำสิ่งนั้นต่อหน้าเรา (เขาอาจจะไปแอบทำที่อื่นในภายหลัง) เด็กไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการลงโทษ
เด็กทำผิด เพราะเขาไม่รู้ว่าที่ถูกคืออะไร และต้องทำอย่างไร
ดังนั้นเมื่อลูกทำผิด พ่อแม่ควรสอนเขาว่า “เขาต้องทำอย่างไรถึงจะถูก”
เราสอนเขาไปเลยว่าเขาทำอย่างไรดี เด็กจะเรียนรู้ แม้จะทำผิดอีกหลายหน แต่สุดท้ายเด็กจะเรียนรู้แล้วทำได้ถูกต้องแน่นอน
ผู้ใหญ่ต้องอดทน และสอนเขาอย่างสม่ำเสมอ อย่ายอมแพ้ถ้าลูกยังไม่เรียนรู้ในครั้งแรก เพราะเขาอาจจะเรียนรู้ในครั้งที่ 100 ก็เป็นได้
5. ให้ลูกเรียนรู้ความผิดหวัง และความไม่สมบูรณ์แบบบ้าง
พ่อแม่ที่ดีไม่จำเป็นต้องทำให้ลูกสมหวังในทุกๆ ประการที่เขาหวังไว้ เพราะชีวิตจริงที่ลูกต้องไปเผชิญ ไม่มีใครสมหวังในทุกๆ สิ่ง
และพ่อแม่ที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ เพราะลูกต้องเรียนรู้อีกเช่นกันว่า “พ่อแม่ก็คือมนุษย์ธรรมดาๆ” ที่ผิดและพลาดได้ เพื่อตัวเขาเองจะไม่ไขว้คว้าหาความสมบูรณ์ และเรียนรู้ที่จะยอมรับและพัฒนาตนเองจากข้อผิดพลาดดังกล่าว
สิ่งที่ควรให้ลูกเรียนรู้จากความผิดหวังและความไม่สมบูรณ์แบบ คือ ชีวิตที่มีความสุขไม่ได้เกิดจากการมีทุกอย่างดังหวัง แต่เกิดจากการที่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี
6. แสดงความรักอย่างไม่เขินอาย รวมทั้งการเล่นเป็นตัวอะไรก็ตาม หากลูกอยากเล่นบทบาทสมมติเป็นสิ่งนั้น
การแสดงออกว่าเรารักลูก ทำบ่อยแค่ไหนก็ได้ ไม่มีผลเสียอะไร
“กอด หอม บอกรัก” ในวันที่ลูกยังไม่เขินอายกับเรา
เพราะเมื่อเขาโตเขาจะแสดงออกเช่นนั้นได้ง่ายขึ้น แม้จะน้อยลง
ที่สำคัญเมื่อลูกอยากเล่นบทบาทสมมติ แล้วอยากให้เราเล่นเป็นอะไรก็ตาม พ่อแม่ควรยอมเล่นตามน้ำไป เพราะลูกเราคงอยากเล่นกับเราเพียงแค่ช่วงวัยนี้ของชีวิตเท่านั้นแหละ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สิ่งที่ควรสอนลูก ข้อที่ 7 แยกแยะระหว่าง “พฤติกรรมที่ลูกทำ” กับ “ตัวตนที่ลูกเป็น”
บางวันลูกเราอาจจะทำพฤติกรรมที่แย่มากๆ กับเรา อย่าว่าเขาแบบเหมารวม
เช่น เมื่อลูกขว้างของลงพื้น พ่อแม่ไม่ควรว่าเขาว่า “เด็กไม่ดี เด็กอะไรนิสัยเสีย” แต่พ่อแม่ควรพูดเขาว่า “ไม่ขว้างของลงพื้น” แล้วสอนให้เขาทำความสะอาดพื้น
ไม่มีเด็กคนไหนอยากเป็นเด็กไม่ดี แต่เขาเป็นเด็กคนๆ หนึ่ง เขาจึงควบคุมตัวเองไม่ได้ในบางครั้ง แล้วทำพฤติกรรมไม่ดี
เพราะ “คำพูด” คือ สิ่งที่เอากลับคืนมาไม่ได้ พ่อแม่เวลาจะสอนลูก ควรใช้ประโยค “ประธาน+กริยา+กรรม” เพื่อบอกอย่างชัดเจนว่า เราต้องการให้ลูกทำอะไร ไม่ใช่พูดว่าลูกในสิ่งที่ไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นแล้วยังทำให้แย่ลงด้วย
อย่าลืมว่า ทุกพฤติกรรมที่เด็กทำมีสาเหตุเสมอ และหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นคือแนวทางการเลี้ยงดูเขานั่นเอง
8. อย่าสอนวินัยเมื่อลูกไม่พร้อม (หรือพ่อแม่ไม่พร้อม)
เวลาลูกหิว ลูกเหนื่อย แล้วอาละวาด พ่อแม่ไม่ควรสอนอะไรเด็กทั้งสิ้น เพราะนอกจากจะไม่เข้าไปในสมองส่วนเหตุและผล (Rational brain) ของเด็กแล้ว ยังทำให้พ่อแม่เกิดอารมณ์ทางลบเปล่าๆ
รอเด็กสงบ หรือ สอนเขาในสภาวะปกติ แล้วจึงสอน
ในเด็กเล็กบางครั้ง เวลาเขาเหนื่อย ป่วย หิว ง่วงนอน เขาจะหงุดหงิดโดยที่ตัวเด็กไม่รู้ตัว ดังนั้นสังเกตลูกเราด้วยว่า เราพาเขาไปตะลอนทั้งวัน เขาอาจจะเกิดพฤติกรรมงอแงเป็นธรรมดา
9. เมื่อจะสอนลูก ให้ใช้หลัก 3 ประการ
(1) ฝึกฝนเรียนรู้ (สิ่งใหม่)
(2) อดทน (กับอุปสรรค)
(3) สม่ำเสมอ (ทำทุกวัน)
พ่อแม่ที่สอนลูกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่เก่ง แต่ต้องเป็นพ่อแม่ที่ฝึกฝนเรียนรู้ไปพร้อมลูก อดทน แม้วันนี้ยังทำไม่ได้ พรุ่งนี้ยังมีให้ฝึกฝน อย่ายอมแพ้ และสุดท้ายทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ จะสร้างพฤติกรรมใดในตัวลูก พ่อแม่ต้องสร้างพฤติกรรมนั้นไปพร้อมกันกับเขาในตัวเราเอง
10. ให้ลูกเรียนรู้และยอมรับความรู้สึกของตัวเองอย่างจริงใจ และเลือกที่จะแสดงออกอย่างเหมาะสม
พ่อแม่ควรอนุญาตให้ลูกรู้สึกอย่างที่เขาอยากรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่ดีและไม่ดี เพราะการห้ามไม่ให้ลูกรู้สึกไม่ดีนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่เมื่อพ่อแม่ห้ามลูกแสดงออกถึงความรู้สึกไม่ได้ ลูกจะเลือกเก็บความรู้สึกนั้นเข้าไปข้างใน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ความรู้สึกทางลบอาจจะกัดกินทำลายลูกจากข้างในรอวันระเบิดออกมา
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การอนุญาตให้ลูกรู้สึกและแสดงออกถึงสิ่งที่รู้สึกอย่างเหมาะสมตามวัย เช่น
- ในวัยเล็กมากเมื่อเด็กรู้สึกไม่ดีเขามักจะร้องไห้ พ่อแม่ไม่ควรให้เขาหยุดร้อง แต่สามารถพาเขาไปมุมสงบ รอเขาสงบด้วยตัวเขาเอง แล้วสอนเขาถึงสิ่งที่เขาควรทำ
- ในวัยที่เริ่มสื่อสารได้ ให้ลูกเลือกใช้การพูดระบายออกมา แทนการอาละวาดทำลายข้าวของ เมื่อพ่อแม่รับฟังเขา ลูกจะเลือกการพูดกับเราแทนการระบายอารมณ์ในรูปแบบอื่น
- ในวัยที่เริ่มโตพอที่จะจัดการอารมณ์ เราให้ลูกเลือกวิธีการจัดการอารมณ์ของเขาได้ เช่น จะขอเวลานอกไปสงบสติ ขอไปอาบน้ำ ไปวิ่ง เราช่วยกันคิดได้ถึงวิธีที่เขาสามารถแสดงออกอย่างเหมาะสมมากขึ้น แต่อย่าไปห้ามเขาโกรธ หรือ แสดงอารมณ์ทางลบ เพราะแม้แต่พ่อแม่อย่างเรา เวลาเราโกรธ สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงเราก็เปลี่ยนเช่นกัน
11* ข้อสุดท้าย อยากให้ลูกมีความสุข อย่าลืมเป็นพ่อแม่ที่มีความสุข เพราะลูกทุกคนต้องการพ่อแม่ที่มีความสุข ไม่ใช่พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ
ด้วยรักจากใจ
เม
เพจตามใจนักจิตวิทยา
อ่านต่อบททความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- เผย! 5 โอกาสทอง พัฒนา สมองลูก ให้ถูกเวลา..ฉลาดสมวัย
- วิธีเลี้ยงลูก 4 แบบ พาลูกล้มเหลวในอนาคต
- 5 วิธีง่ายๆ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ!
- 4 ความต่างของ พ่อแม่เลี้ยงลูก อยากให้ลูกเป็นแบบไหน
- 9 วิธี เลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ บอกเลยทำง่ายไม่ยาก
ขอบคุณบทความดีๆ เกี่ยวกับ สิ่งที่ควรสอนลูก จาก คุณครูเมนักจิตวิทยา จาก เพจตามใจนักจิตวิทยา
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่