“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
3. สอนลูกรักรู้จักใช้เงิน
ว่าด้วยเรื่องการสอนลูกให้รู้คุณค่าของเงิน และการรู้จักใช้เงินนั้น อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่จะว่าไปแล้ว การใช้เงินเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา หากเราหาโอกาสที่เหมาะสมในการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างและค่อยสอนสอดแทรกแนวคิดเรื่องการใช้เงินไปในชีวิตประจำวันเด็กก็จะซึมซับได้เองโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่คำนึงถึงวัยของลูกในการสอนเรื่องการใช้เงินเพื่อให้เจ้าตัวน้อยเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นดังนี้ค่ะ
สอนลูกวัย 2-3 ปี สำหรับเจ้าตัวน้อยวัยนี้อาจยังไม่เข้าใจเรื่องคุณค่าของเงินเท่าใดนัก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนให้ลูกรู้จักชื่อเรียกและมูลค่าของเหรียญและธนบัตรชนิดต่างๆ ได้แล้ว โดยใช้วิธีเล่นสนุกๆ อย่างการนำเหรียญวางไว้ใต้แผ่นกระดาษแล้วใช้ดินสอระบายบนรอยนูนของเหรียญเพื่อให้ลวดลายของเหรียญชนิดนั้นๆ ปรากฏขึ้นบนกระดาษ แล้วให้ลูกสังเกตว่าแต่ละเหรียญต่างกันอย่างไร พร้อมบอกมูลค่าของเหรียญชนิดนั้นๆ ก่อนจะให้ลูกหยิบเหรียญมาจับคู่กับรูปที่ปรากฏบนกระดาษ สำหรับธนบัตร อาจใช้กระดาษสีมาตัดและเขียนมูลค่าที่เท่ากับธนบัตรจริงๆ แล้วให้ลูกได้จับคู่ของจริงกับกระดาษสีที่ตัดไว้ เช่น ใช้กระดาษสีเขียวแทนแบงค์ยี่สิบ สีแดงแทนแบงค์ร้อย เป็นต้น
สอนลูกวัย 4-5 ปี หนูน้อยวัยนี้ชื่นชอบการเล่นบทบาทสมมติและโตพอที่จะเข้าใจเรื่องมูลค่าของเงินบ้างแล้ว ชวนลูกเล่นซื้อของขายของ โดยสลับให้ลูกเป็นทั้งคนขายและคนซื้อ ใช้เงินของเล่นในการจับจ่าย เปิดโอกาสให้ลูกได้ตั้งราคาสินค้าและเลือกซื้อของในงบที่กำหนด นอกจากนี้ เวลาที่ออกไปซุปเปอร์มาร์เก็ตซื้อของเข้าบ้าน ลองเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยจดรายการของที่จะซื้อ และให้ลูกได้ลองดูป้ายราคา เพื่อเปรียบเทียบซื้อสินค้าที่คุ้มค่ามากที่สุดคุณพ่อคุณแม่อาจต้องเหนื่อยในการพูดอธิบาย แต่ลูกจะได้ซึมซับเรื่องการรู้จักใช้เงินและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้เมื่อเขาโตขึ้น
สอนลูกวัย 6 ปีขึ้นไป นอกจากจะชวนลูกไปซื้อของด้วยกันเหมือนกับการสอนลูกวัย 4-5 ปีแล้ว คุณควรเริ่มปลูกฝังนิสัยรักการออม และฝึกให้ลูกรู้จักวางแผนการใช้เงินด้วยตัวเอง โดยให้เงินค่าขนมลูกในจำนวนที่แน่นอน ไม่ว่าจะให้เป็นรายวัน หรือรายสัปดาห์ สอนให้ลูกลองวางแผนเพื่อใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บ เมื่อครบเดือนแรก ลองนั่งคุยกับลูกว่าลูกวางแผนอย่างไร และมีเงินเก็บเท่าไร คอยให้คำแนะนำ และกำลังใจ ระวังที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินการกระทำของลูกด้วยคำพูดในแง่ลบ เมื่อลูกออมเงินได้จำนวนหนึ่ง ชวนลูกนำเงินไปฝากธนาคารอธิบายถึงความสำคัญของการออม เปิดบัญชีในชื่อลูก ให้เขาเก็บรักษาสมุดบัญชีของตัวเอง ลูกจะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
อ่านต่อ >> “แนวทางการเลี้ยงลูกให้ดีงาม เดินตามคำสอนพ่อ”
(สอนลูกยอมรับความแตกต่าง อยู่อย่างเข้าใจ ) คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่