3.ผื่นผ้าอ้อม
เป็นผื่นที่พบได้บ่อยในเด็กทารกอายุ 3 – 18 เดือน โดยพบถึงร้อยละ 20 ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยสาเหตุหลักที่พบบ่อยคือ ผิวหนังสัมผัสสารระคายเคือง โดยเฉพาะการสัมผัสกับปัสสาวะ และ / หรืออุจจาระเป็นเวลานาน ร่วมกับมีภาวะเปียกชื้น ทำให้ผิวหนังถูกทำลายได้ง่ายเมื่อมีการเสียดสีจากการใส่ผ้าอ้อม
อาการ ลักษณะของผื่นในระยะแรกจะมีสีแดงตามส่วนนูนที่สัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกชื้น คือบริเวณต้นขาด้านใน ก้น ท้องน้อยช่วงล่าง และบริเวณอวัยวะเพศ โดยผิวหนังในซอกลึกหรือตามรอยพับจะไม่มีผื่น แต่ถ้าผื่นเป็นมากขึ้นจะมีอาการผิวหนังถลอก ถ้าเป็นมากผิวหนังจะหลุดลอกคล้ายโดนน้ำร้อนลวก และผื่นจะขยายขนาดกว้างขึ้น
การรักษา ถ้าเป็นผื่นไม่มากสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวที่เหมาะสมได้ เช่น สารเคลือบผิวที่มีส่วนประกอบของซิงค์ (Zinc) หรือโปรวิตามินบี 5 (Provitamin B5) แต่ถ้าผื่นไม่ดีขึ้นใน 2 – 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับยา และตรวจว่ามีการติดเชื้ออื่นร่วมด้วยหรือไม่
การป้องกัน วิธีที่ดีคือ การทำความสะอาด และรักษาผิวหนังบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมให้แห้งอยู่เสมอ หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อเกิดความเปียกชื้น ควรเลือกผ้าอ้อมที่มีการดูดซับดี และเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ
4.ผดผื่นที่เกิดจากอากาศร้อน หรืออับชื้น
โรคผดผื่นร้อนพบได้บ่อยในเด็กทารก เพราะต่อมเหงื่อและผิวหนังเด็กโดยเฉพาะวัยทารกยังพัฒนาไม่ดีนัก ทำให้ต่อมเหงื่ออุดตัน และมีการรั่วของเหงื่อที่ผิวหนังได้
อาการ ทารกอาจมีผื่นได้ตั้งแต่อายุได้ 1 – 2 สัปดาห์ ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ หน้าผาก คอ รักแร้ ข้อพับแขนและขา
การรักษาและป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อน อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี ใส่เสื้อผ้าโปร่งบางเบาสบาย การเช็ดตัว หรืออาบน้ำบ่อยๆ จะทำให้ผื่นลดลงได้
5.การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
เด็กทารกมีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโต เนื่องจากภูมิคุ้มกันทั้งทางร่างกายและทางผิวหนังยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เชื้อแบคทีเรียบางชนิดเมื่อติดเชื้อแล้ว สามารถปล่อยทอกซินเข้ากระแสเลือดได้ เชื้อบางชนิดอาจเป็นการติดเชื้อที่บริเวณชั้นหนังกำพร้า หรือเกิดตามหลังแมลงสัตว์กัดต่อยได้
อาการ สามารถเป็นได้หลายแบบ ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของเชื้อ เช่น เป็นตุ่มแดงแตกแห้งกลายเป็นสะเก็ดน้ำเหลือง หรืออาจเป็นตุ่มน้ำขนาดใหญ่ทั่วตัว โดยมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้
การรักษา ในเบื้องต้นควรฟอกผิวหนังที่มีการติดเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ใช้ยาปฏิชีวนะทาเฉพาะที่นาน 5 – 7 วัน แต่ถ้ารักษาเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีผื่นเพิ่มมากขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ผิวหนังเด็ก
6.การติดเชื้อราที่ผิวหนัง
ในวัยทารกมักจะพบการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องจากบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมเป็นบริเวณที่ผิวอับชื้น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อรา ส่วนปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ ได้แก่ ความอ้วน อากาศร้อน ทำให้มีเหงื่อออกมาก การได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน เป็นต้น
อาการ ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อราจะเป็นตุ่มนูนแดงหรือตุ่มหนอง และมักมีผื่นเม็ดเล็กๆ กระจายรอบผื่นใหญ่ ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ รักแร้และขาหนีบ อาจพบผื่นที่ผิวหนังร่วมกับการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุช่องปาก เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม หรือเพดานอ่อน
การรักษา ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่