ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี !? หากบ้านไหนกำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ ลูกเบื่ออาหาร ลูกไม่ยอมกินข้าว ทีมแม่ ABK มีคำแนะนำดีๆ จาก คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก มาฝากค่ะ
หมอแนะวิธีแก้ปัญหา? ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี
นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้กล่าวถึงปัญหา เด็กไม่ยอมกินข้าว ว่า…
ลูกไม่กินข้าว เป็นหนึ่งในปัญหาหนักอกที่พบกว่าครึ่งของคุณพ่อคุณแม่ทั่วโลก ซึ่งจะเกิดกับเด็กที่อยู่ในวัยเตาะแตะตั้งแต่เริ่มหัดเดินประมาณ 1 ขวบเศษ ไปจนถึงก่อนเข้าอนุบาล โดยคุณพ่อคุณแม่มักบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า >> หลอกล่อก็แล้ว บังคับขู่เข็ญก็แล้ว ก็ยังมีปัญหา “ลูกไม่กินข้าว” อยู่ดี
วันนี้ผมมีวิธีดีๆ ตั้งแต่จะดูได้อย่างไรว่า “ลูกไม่กินข้าว” นั้นเป็นเรื่องจิ๊บๆที่รับมือได้ไม่ยาก ไปจนถึง “ลูกไม่กินข้าว” ที่มีความรุนแรงจากความเจ็บป่วยซึ่งต้องพบคุณหมอโดยเร็ว มาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน
- ลูกไม่กินข้าว ผิดที่คนกินหรือคนป้อน?
- 7 วิธีแก้ปัญหา ลูกไม่กินข้าว และป้อนอาหารลูกเล็กอย่างไรให้ปลอดภัย ?
- ลูกไม่กินข้าวเช้า เสี่ยงโรคภัยรุม-สมองล้า
สาเหตุของปัญหา “ลูกเบื่อข้าว” ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี
ที่พบบ่อย มักเป็นปัญหาทางพฤติกรรมเลือกกิน ประเภทนั่นก็ไม่กิน นี่ก็ไม่กิน กินเฉพาะบางสิ่งบางอย่างที่พ่อแม่รู้สึกว่าไม่ควรกิน หรือ ปฏิเสธอาหารใหม่ที่ไม่เคยกินโดยเฉพาะอาหารหลักอย่างบ้านเรา ซึ่งก็ คือ ข้าว
ส่วนที่พบน้อยแต่เป็นความรุนแรง เพราะ กินไม่ได้เนื่องจากมีความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น มีปัญหาพัฒนาการด้านการกิน มีปัญหาความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของรสชาติ หรือพฤติกรรมซ้ำของเด็กออทิสติกจนทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ
ซึ่งในกลุ่มที่ “ลูกไม่กินข้าว” อย่างรุนแรงจากความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจนี้พบได้น้อยมาก ไม่ถึง 1 ใน 20 คนของปัญหา ดังนั้น 19 ใน 20 คนของปัญหาเด็กไม่กินข้าว ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจาก ความไม่เข้าใจของพ่อแม่ต่อพฤติกรรมการกินของลูกเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถรับมือและทำให้ลูกกินข้าวได้มากขึ้น จนเป็นปัญหาให้สงสัยอยู่ตลอดว่า ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี ตามมานั่นเอง!!
ขณะเดียวกันก็มีเด็กจำนวนหนึ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่พามาพบคุณหมอด้วยปัญหา “ลูกไม่ยอมกินข้าว” ซึ่งเมื่อประเมินทั้งตัวเด็ก อาหารที่เด็กรับประทานแล้วก็พบว่า ที่จริงลูกกินข้าวได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกกินน้อยเกินไปจึงเป็นที่มาของการพาลูกเข้าพบหมอ ซึ่งในที่นี้หมอขอแบ่งกลุ่ม ปัญหา ลูกไม่กินข้าว แบบง่ายๆ เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
1. มีความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจจนทำให้ส่งผลตามมา คุณพ่อคุณแม่สังเกตกันอย่างนี้ครับ เช่น ใช้เวลากินนานมาก ปฏิเสธอาหารบางประเภทชัดเจนอย่างนมที่เป็นอาหารเหลว ดูลูกเครียดมากเมื่อถึงเวลาอาหาร สำลักอาหาร กลืนแล้วเจ็บ กลืนไม่ลง อาเจียน ท้องเสีย พัฒนาการด้านอื่นล่าช้า มีอาการหอบเหนื่อยระหว่างรับประทานอาหาร การเจริญเติบโตล่าช้าไม่สมวัย หากลูกมีอาการเหล่านี้ร่วมกับปัญหาไม่ยอมกินข้าว หรือ ลูกกินยาก ให้พาลูกไปตรวจ และถ้ายิ่งมีอาการแสดงให้เห็นมากอย่าง ยิ่งบ่งบอกว่าน่าจะมีความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจมากขึ้น
2. ไม่คุ้นเคยความชอบไม่ชอบ หรือ มีความไวต่อรสชาติของอาหารใหม่ หรือ เป็นเด็กที่ต้องการเวลาในการปรับตัวกับอาหารใหม่ กลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาทางร่างกายและจิตใจ แต่อาจเลือกกินเลยทำให้กินได้เฉพาะอาหารบางอย่าง ถ้าเลือกมากกินไม่พอก็อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตได้ แต่ต้องเน้นย้ำว่า เป็นการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมนอกจากตามวัยของเขาแล้ว ก็ยังต้องเหมาะสมตามศักยภาพในการเจริญเติบโตของเขาด้วยครับ เช่น พ่อแม่ตัวเล็กลูกก็จะตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน
3. เกิดจากความเข้าใจผิดของคุณพ่อคุณแม่ ว่า.. ลูกกินน้อย ทั้งที่ปริมาณและอาหารที่ลูกกินอยู่นั้นเพียงพอกับความต้องการของร่างกายแล้ว กลุ่มนี้การเจริญเติบโตของเด็กมักปกติ บางรายน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ปกติตามวัยหรือตามความสูงด้วยครับ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นที่มาที่ไปของปัญหาแล้ว ถึงตรงนี้จะเห็นได้เลยว่า กลุ่มที่ 1 ต้องพบคุณหมอ ส่วนกลุ่มที่ 3 ต้องปรับทัศนคติของตัวเอง และกลุ่มที่ 2 ให้คุณพ่อคุณแม่ลองรับมือไปพร้อมกับการลับสมองไปพร้อมกัน
- นวดกดจุดลูกน้อย เพิ่มสูง-แก้ลูกไม่กินข้าว ตามแพทย์จีน
- วิธีรับมือ ลูกไม่กินข้าว นอกจากนม
- 5 เทคนิคฝึก ลูกกินข้าวเอง ก่อน 2 ขวบ ไม่ต้องตามป้่อนไปจนโต
วิธีรับมือ ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี
โดยมีหลักการง่ายๆ หากลูกไม่ยอมกินข้าว ก็จะกินข้าวได้มากขึ้นได้เอง ถ้าเขา “หิว อาหารชวนกิน และบรรยากาศเป็นใจ” ดังนั้นโจทย์ของคุณพ่อคุณแม่ คือ ทำอย่างไรดีให้ลูกหิว! ทำอย่างไรให้อาหารชวนกิน? และทำอย่างไรบรรยากาศถึงจะเป็นใจ ตามมาดูกันเป็นข้อๆเลย
- กินอาหารเป็นมื้อเป็นคราว กินทั้งวันลูกก็จะไม่หิวเมื่อถึงเวลาที่เราจะกินข้าวกัน ลูกเล็กหน่อย วัยก่อนเข้าป. 1 อาจมีอาหารว่างมื้อเล็กที่ 10 โมงเช้า กับ บ่าย 2 โมง ก็ได้ แต่ต้องมื้อเล็กและมีคุณค่าทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบ
- กำหนดเวลารับประทานอาหารแต่ละมื้อไม่เกิน 30 นาที ฝึกวินัยให้ลูกรู้ว่า เวลาไหนกิน กินนานเท่าไร ถ้าลูกเล่นเพลินไม่กินแล้วแสดงว่าลูกไม่หิว ก็บอกลูกดีๆ ว่า “ลูกคงอิ่มแล้ว แม่เก็บนะคะ เราจะกินกันอีกที ตอน ……(มื้อถัดไป) นะคะ” ระหว่างนี้ถ้าลูกหิว ให้อาหารว่างได้ตามเวลา ถ้าไม่ใช่เวลากิน ให้เบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปสู่กิจกรรมที่ชวนลูกสนุกแทน
- หลีกเลี่ยงอาหารหวาน น้ำหวาน ขนมหวาน โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหารสัก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกได้รู้จักความหิว
- ให้ลูกได้มีกิจกรรมทางร่างกาย เด็กก่อนเข้าป.1 ควรมีกิจกรรมการเคลื่อนไหว เช่น วิ่งเล่นอย่างอิสระอย่างน้อยวันละ 60 นาทีขึ้นไป ยิ่งมากยิ่งดี และจะทำให้ลูกหิวมากขึ้นด้วย… อย่าปล่อยให้ลูกนั่งนิ่งๆนานเกินกว่า 60 นาทีต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะผ่านหน้าจอทั้งหลาย เว้นแต่ทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่
- ลูกอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ควรเริ่มอาหารตามวัย ร่วมกับนมแม่โดยไม่จำเป็นต้องปรุงรสชาติ เพื่อไม่ให้เด็กติดรสชาติเมื่อโตขึ้นและจะทำให้กินยากตามมา อาหารเด็กควรเพิ่มความหยาบมากขึ้นตามวัย จนสามารถรับประทานอาหารเหมือนผู้ใหญ่ที่ไม่แข็งจนเกินไปได้เมื่ออายุ 1 ปี
- ให้ลูกได้หยิบจับอาหารหรือตักอาหารใส่ปากด้วยตัวเอง เมื่อเขาเริ่มทำได้ให้มากที่สุด ความเลอะเทอะ คือ การเรียนรู้ ถ้าพ่อแม่วุ่นวายกับความสะอาดมากจนต้องทำความสะอาดกันตลอดเวลาระหว่างกิน อาจเกิดปัญหาลูกกินยากตามมา
- จัดอาหารให้เหมาะสมกับความชื่นชอบของเด็ก เช่น สีสันที่ลูกชอบ ลักษณะอาหารที่ลูกคุ้นเคย ชนิดของอาหารที่ลูกคุ้นชิน ก่อนขยับขยายไปแนะนำอาหารอื่นโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่ปรับตัวได้ช้ากับอาหารใหม่ อย่างเด็กบางคนกินผักตำลึงได้ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจขยับขยายไปหาผักโขม ที่มีสีเขียวและลักษณะสัมผัสใกล้เคียงกัน หรือ ลูกกินฟักทองนึ่งได้ก็ลองขยับไปเป็นแครอทต้มสุก ลูกจะได้รู้จักอาหารใหม่ได้มากขึ้น
- จัดอาหารแลกเปลี่ยนให้ลูกเป็น เช่น หากลูกไม่ชอบกินข้าว ก็หาอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตให้ลูกได้สลับสับเปลี่ยนบ้าง อย่าง ขนมปัง สปาเก็ตตี้ ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เขาจะได้ไม่เบื่อ
- ให้ลูกได้กินอาหารร่วมกับคนอื่นในบ้าน และทุกคนร่วมสร้างบรรยากาศให้สนุกไปกับการกิน
- เวลากินเป็นกิน ไม่ทำกิจกรรมอื่นไปด้วย เช่น ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ดูวิดีโอ
สุดท้าย หากลูกปฏิบัติดีให้เสริมแรง เช่น ชมเชย ตบมือ ยิ้มให้ แล้วบอกว่า ที่คุณพ่อคุณแม่พอใจ คือ พฤติกรรมอะไร
อย่างไรก็ตามถือว่ามีเทคนิคให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกนำไปประยุกต์เพื่อปฏิบัติกันหลายวิธี ซึ่งก้ควรเลือกไปใช้ให้เหมาะกับบริบทของลูกและครอบครัวกันนะครับ …ได้ผลไม่ได้ผลอย่างไร มาส่งข่าวบอกกันนะครับ ^^ และอย่าลืมว่าปัญหาเด็กไม่กินข้าว ส่วนใหญ่เป็นเด็กปกติ ที่เราเพียงปรับทัศนคติมุมมองของเรา และปรับการตอบสนองต่อพฤติกรรมลูก เพียงแค่นี้ก็รับมือกับปัญหา ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี ได้ไม่ยากแล้วครับ
บทความโดย : นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพได้เลย ⇓
รีวิว “4 วิตามินซีเด็ก วิตามินรวม” อีกหนึ่งตัวช่วยที่แม่ควรรู้จัก!