4 พฤติกรรม "สปอยล์ลูก" สุดเสี่ยงที่พ่อแม่ควรเลี่ยง - Amarin Baby & Kids

4 พฤติกรรม “สปอยล์ลูก” สุดเสี่ยงที่พ่อแม่ควรเลี่ยง

Alternative Textaccount_circle
event

สปอยล์ลูก คือการตามใจลูกมากเกินไป จนทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ อยากรู้ว่าลูกถูกสปอยล์มากไปหรือไม่? เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้โดนสปอยล์ อ่านได้ที่นี่

4 พฤติกรรม “สปอยล์ลูก” สุดเสี่ยงที่พ่อแม่ควรเลี่ยง

พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่การรักลูกโดยการตามใจลูกจนเกินพอดี มักจะมีผลต่อพฤติกรรมของลูกเมื่อโตขึ้น เช่น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตัวเองถูกเสมอ คนอื่นสิผิด หรือ เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรต้องได้ ซึ่งพฤติกรรมผิด ๆ เหล่านี้ ดันเกิดจากพ่อแม่ที่ปลูกฝังให้ลูกเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การ สปอยล์ลูก มากเกินไป ก็อาจทำให้ลูกเสียคนได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ถูกสปอยล์มาตั้งแต่เด็ก ดังนั้น หากไม่อยากให้ลูกเสียคน พ่อแม่ต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้ โดยก่อนอื่นมาดูกันว่าลูกของเรานั้น เข้าข่ายเป็นเด็กที่โดนสปอยล์หรือไม่

เช็กลิสต์อาการลูกถูกสปอยล์

ตามที่ สถาบันกุมารเวชศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นิยาม อาการของเด็กที่ถูกสปอยล์ ไว้ว่า เด็กในกลุ่มนี้ มักจะเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนเอง มีพฤติกรรมที่ถดถอย (ทำในสิ่งที่เด็กในวัยนั้น ๆ ไม่ทำกันแล้ว) แต่พ่อแม่หลายคนอาจสับสนว่าพฤติกรรมที่ลูกกำลังทำนั้น เรียกได้ว่าเป็นเด็กที่ถูกสปอยล์หรือไม่? หรือเป็นเพียงพฤติกรรมที่ปกติในช่วงวัยนั้น ๆ ? มาดู เช็กลิสต์อาการลูกถูกสปอยล์ กัน

  • หลงตัวเอง หมกมุ่นอยู่กับการโอ้อวดตัวตนของตนเอง
  • ไม่มีความเคารพผู้ใหญ่และเด็กคนอื่น ๆ
  • ไม่เชื่อฟังคนอื่น ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
  • มีอารมณ์แปรปรวน
  • ไม่มีแรงจูงใจในการเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ
  • ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้
  • จอมบงการ
  • พยายามดิ้นรนหาเพื่อน

4 พฤติกรรมพ่อแม่จอม “สปอยล์ลูก”

สาเหตุที่พ่อแม่สปอยล์ลูกมากเกินไปนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น ลูกทำเองได้ช้าไม่ทันใจ กลัวลูกไม่อิ่ม กลัวลูกไม่โต กลัวลูกไม่ทันเพื่อน ความหวังดีความกังวลของพ่อแม่เหล่านี้แหละค่ะ ที่เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกถูกสปอยล์มากเกินไปโดยไม่รู้ตัว มาดูกันค่ะ ว่าเราได้เผลอทำพฤติกรรมเหล่านี้กับลูกไปหรือเปล่า

  • ทำให้ลูกเป็น “ทุกลมหายใจของพ่อแม่”

เมื่อมีลูก พ่อแม่หลายคนก็ได้อุทิศชีวิตทั้งชีวิตให้กับลูก เป็นทุกอย่าง ทำทุกอย่าง คิดทุกอย่าง ให้ลูกจนลูกไม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง พ่อแม่กลุ่มนี้ จะไม่อยู่ห่างจากลูก ยอมทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อทำตามสิ่งที่ลูกต้องการ และทำให้ลูกเป็นศูนย์กลางจักรวาล

  • ชดเชยความผิดของพ่อแม่ด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ความรัก

เช่น พ่อแม่ที่ต้องทำงาน มักจะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกได้มากพอ จึงซื้อของเล่นให้ลูกเยอะ ๆ เพื่อชดเชยความผิดนี้ การทำแบบนี้ สอนให้เด็กรู้ว่าเมื่อคนอื่นทำอะไรผิด เขาจะได้รับสิ่งของเป็นการตอบแทน สำหรับพ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ไม่ต้องกังวลใจไปว่าการมีเวลาอยู่กับลูกเพียงเล็กน้อย จะทำให้ลูกมีปัญหา เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาคุณภาพอยู่กับลูก โดยการหากิจกรรมทำร่วมกัน และช่วงเวลาที่อยู่กับลูก ให้คุณพ่อคุณแม่โฟกัสไปที่ลูกเพียงอย่างเดียว ไม่หยิบมือถือ ไม่คิดเรื่องงานหรือเรื่องอื่น ๆ แม้จะเป็นการใช้เวลาร่วมกันเพียงน้อยนิด แต่ก็ช่วยเติมเต็มให้ลูกได้มากกว่าการอยู่กับลูกทั้งวัน แต่พ่อแม่ไม่สนใจลูกอีกค่ะ

  • ใช้ชีวิตแทนลูก

พ่อแม่กลุ่มนี้จะวางแผนชีวิตให้ลูก บงการให้ลูกใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองเลือกไว้เท่านั้น ลูกจะไม่สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองเลือกได้ และพ่อแม่กลุ่มนี้จะเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามที่พ่อแม่ได้วาดฝันไว้ว่าจะให้ลูกเป็นหรือให้ลูกมี การให้ลูกเรียนในสิ่งที่ตัวเองเคยอยากจะเรียน หรือการซื้อของให้ลูกเพราะในวัยเด็กตนเองอยากได้ ก็เป็นหนึ่งในการสปอยล์ลูกอย่างหนึ่ง เพราะการไม่ถามว่าลูกอยากได้หรืออยากเรียนสิ่ง ๆ นั้นหรือไม่ ก็เรียกได้ว่าเป็นการใช้ชีวิตแทนลูก

  • ไม่เคยปล่อยให้ลูกรอ

เมื่อลูกอยากได้อะไร ชี้อะไร สิ่งของเหล่านั้นจะมาอยู่ตรงหน้าลูกทันที พฤติกรรมที่พ่อแม่ทำนี้จะทำให้ลูกไม่รู้จักการรอคอย การอดทน การอดออม เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมาเป็นของตน ลูกจะไม่เห็นสิ่งอื่น ๆ มีค่า เพราะไม่เคยต้องอดทนรอหรือคอยเลย บางครั้งการปล่อยให้ลูกได้หิว ร้อน เหนื่อยบ้าง จะทำให้ลูกรู้ว่า อาหารที่อยู่ตรงหน้าอร่อยเพียงใดก็เป็นได้

ต้องเข้าใจว่า เด็กก็คือเด็ก ในบางครั้งลูกอาจจะงอแง อยากมี อยากได้ ตามวัยของเขา และพ่อแม่ทุกคนก็ไม่อยากเห็นลูกเสียใจหรอกค่ะ เพราะเราทั้งรักและห่วงลูกเป็นที่สุด แต่จะตามใจลูกได้แค่ไหน? เพื่อไม่ให้ลูกโดนสปอยล์จนเสียคน

ตามใจลูก
ตามใจลูก

4 เทคนิคเลี้ยงลูกแบบไม่สปอยล์

  • รับฟังความต้องการของลูก แต่แก้ปัญหาตามแนวทางของพ่อแม่

ให้ลองรับฟังลูกว่าลูกต้องการอะไร รู้สึกเสียใจเพราะอะไร แม้ว่าความต้องการนั้น ๆ จะไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ควรรับฟังไว้ และไม่ควรต่อว่าลูกว่าไร้สาระ หรือไม่มีความจำเป็น การเป็นผู้ฟังที่จะทำให้ลูกเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจพ่อแม่ และเมื่อรับฟังแล้วสิ่งสำคัญหลังจากนั้นคือแนวทางการช่วยแก้ปัญหาให้ลูก พ่อแม่ควรยึดหลักและกฎเกณฑ์ในบ้านเป็นหลัก ไม่ควรแหวกกฎเกณฑ์เพื่อตามใจลูก เช่น เมื่อลูกอยากได้โทรศัพท์มือถือเพราะเพื่อนมีกันหมดแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่รับฟังว่าลูกรู้สึกอย่างไร ต้องการมากแค่ไหน หลังจากนั้นให้ย้ำถึงกฎเกณฑ์ว่าเราได้ตกลงกันแล้วว่าลูกจะมีโทรศัพท์มือถือได้เมื่อลูกอยู่ในวัยที่เหมาะสมเท่านั้น เป็นต้น

  • อย่ากลัวที่จะให้ลูกผิดพลาด

ผิดเป็นครู ถ้าลูกไม่รู้จักผิดพลาด ผิดหวังเลย จะมีแรงจูงใจอะไรให้พยายามทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จได้ และลูกจะรู้จักระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือไม่ถ้าไม่เคยทำผิดเลย ตัวอย่างเช่น เวลาเล่นเกมกับลูก ไม่จำเป็นต้องยอมแพ้และให้ลูกชนะทุกครั้ง การให้ลูกรู้จักแพ้บ้าง เพื่อให้ลูกได้พยายามทำให้ตัวเองชนะ ก็เหมือนกับการที่พ่อแม่ต่อขั้นบันไดให้ลูกได้ปีนผ่านอุปสรรคต่าง ๆ จนทำสิ่งเหล่านั้นได้สำเร็จนั่นเอง และเมื่อลูกทำสำเร็จได้ด้วยตัวเอง ลูกจะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem) ซึ่งความภาคภูมิใจนี้ จะเป็นผลดีกับชีวิตของลูกในอนาคต

  • อย่าสรรเสริญเยินยอลูกจนมากเกินไป

การชื่นชมลูกเพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกเป็นสิ่งสำคัญ แต่การชมจนมากเกินไปจนถึงขั้นสรรเสริญเยินยอ ก็อาจจะเป็นการทำร้ายลูกได้ เพราะเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่หลงตัวเองจนเกินพอดี หรือบางครั้งอาจจะเป็นการกดดันลูกได้ เพราะลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่คาดหวังให้ลูกเป็นแบบนั้น การชมลูกที่ถูกต้อง ควรเน้นที่การชมถึงความพยายามของลูก ว่าการที่ลูกทำสิ่งนั้น ๆ สำเร็จได้ เป็นเพราะลูกพยายาม เช่น เมื่อลูกสอบได้คะแนนดี แทนที่จะชมว่าลูกหัวดี เรียนเก่ง ให้ลองปรับคำพูดเป็น “เป็นเพราะลูกพยายาม ตั้งใจเรียน ตั้งใจทบทวนอ่านหนังสือ เลยทำให้ลูกได้คะแนนดี” เป็นต้น

  • รักษากฎเกณฑ์ภายในบ้าน

อย่าปล่อยให้ลูกแหวกกฎเกณฑ์ภายในบ้านซ้ำ ๆ เพราะจะทำให้ลูกลดความเคารพในสิทธิของคนอื่น ๆ การตั้งกฎเกณฑ์ภายในบ้านของทุกบ้าน เป็นเพราะพ่อแม่ต้องการจำลองสถานการณ์ให้ลูกได้รู้จักกฎของการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ลูกทำตามใจตนเอง เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว เพราะหากลูกทำจนชิน เมื่อลูกต้องออกไปอยู่ร่วมกับสังคม ลูกจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมนั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ พ่อแม่หลายคนอาจจะกลัวจนไม่กล้าตามใจลูกเลย เพราะกลัวจะเป็นการ สปอยล์ลูก อยากบอกว่าเราสามารถตามใจลูกได้นะคะ แต่ควรตามใจแต่พอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ส่วนการจะตามใจมากน้อยแค่ไหนให้พิจารณาตามความเหมาะสมและโอกาส สิ่งที่สำคัญคือ ควรให้มีการรอคอยบ้างตามความเหมาะสม ทั้งเรื่องของเล่น ขนม อย่าให้ทันทีทุกครั้ง

และเมื่อลูกมีอาการร้องไห้งอแง โวยวาย ให้ตั้งสติก่อนปรับพฤติกรรมลูก อย่าใช้อารมณ์ และเน้นใช้ความสม่ำเสมอ นั่นคือ ไม่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่ลูกแสดงออก หากอยู่ในที่สาธารณะให้พาไปในที่เงียบสงบ ใช้การอธิบายที่นิ่งและมั่นคง ไม่แสดงอารมณ์ เมื่อพ่อแม่แสดงออกถึงวุฒิภาวะที่มั่นคง ลูกจะค่อย ๆ อาการงอแง และโวยวายจะค่อย ๆ ลดลงไป แต่ความรู้สึกถึงความรักจากพ่อแม่จะยังคงอยู่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

10 วิธีสร้างวินัยเชิงบวก : เมื่อ ลูกอาละวาด เอาแต่ใจ

ลูกไม่เชื่อฟัง พ่อแม่ต้องรีบสอน 5 อย่างนี้ สร้างให้ได้ก่อน 8 ขวบ!

สอนลูกเรื่องการออมเงิน ควรเริ่มเมื่อไหร่ดี?

ลูก 4 ขวบ เอาแต่ใจ ดราม่าเจ้าน้ำตา แม่ต้องตามใจจริงเหรอ?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thebump.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up