วิธีเลี้ยงดูลูก
การเลี้ยงดูลูกมีอยู่ ๒ ทาง คือ การเลี้ยงดูลูกทางโลกและการเลี้ยงดูลูกทางธรรม ซึ่งพ่อแม่ควรจะเลี้ยงดูลูกให้พร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๒ ทาง
วิธีเลี้ยงดูลูกทางโลก
๑.กันลูกออกจากความชั่ว กัน หมายถึง ป้องกันกีดกัน คือ ไม่เพียงแต่ห้าม หากต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ลูกตกไปสู่ความชั่ว ซึ่งบางครั้งพ่อแม่กับลูกก็พูดกันไม่เข้าใจ สาเหตุของความไม่เข้าใจกันนั้นมักจะเกิดจากการขัดกันอยู่ ๓ ประการ คือ
– ความเห็นขัดกัน
ความเห็นขัดกัน คือ ของสิ่งเดียวกันแต่เห็นกันคนละทาง มองกันคนละแง่ เช่น การเที่ยวเตร่ เด็กวัยรุ่นมักจะเห็นว่าดี เป็นการเข้าสังคม ทำให้กว้างขวางทันสมัย แต่ผู้เป็นพ่อแม่กลับเห็นว่า การเที่ยวเตร่หามรุ่งหามค่ำนั้น มีผลเสียหายหลายประการ เช่น อาจเสียการเรียน อาจประสบภัย อาจใจแตก เพราะถูกเพื่อนชักจูงไปให้เสีย ครั้งห้ามเข้าลูกก็ไม่พอใจ ดูถูกว่าพ่อแม่หัวเก่าล้าสมัย
เรื่องนี้ ถ้าจะพูดด้วยความเป็นธรรมแล้ว ลูกควรจะรับฟังความเห็นของพ่อแม่ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ๒ ประการ คือ พ่อแม่ทุกคนหวังดีต่อลูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และพ่อแม่ย่อมมีประสบการณ์ รู้ทีได้ที่เสียมามากกว่า เราแน่ใจหรือว่าความรักของเพื่อนตั้งร้อยที่ล้อมหน้าล้อมหลังอยู่นั้น รวมกันเข้าทั้งหมดแล้วจะมากและบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เหมือนความรักในดวงใจของพ่อแม่ คนเราทุกคนเคยเห็นผิดเป็นชอบมาก่อน เมื่อยังเป็นเด็กอมมืออยู่นั้น เราเคยเห็นว่าลูกโป่งอัดลมใบเดียวมีค่ามากกว่าธนบัตรใบละร้อยใช่ไหม ? จิตใจที่อยู่ในวัยเยาว์ก็ย่อมเยาตามไปด้วยดังนั้นเชื่อฟังคำกล่าวตักเตือนของพ่อแม่ไว้เถิดไม่เสียหลาย พ่อแม่เองเมื่อจะห้ามหรือบอกให้ลูกทำอะไร ก็ควรบอกเหตุผลด้วย อย่าใช้แต่อารมณ์
– ความต้องการขัดกัน
ความต้องการขัดกัน คือ คนต่างวัยก็มีรสนิยมต่างกัน ความสุขของคนแก่คือ ชอบสงบ หาเวลาพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ความสุขของเด็กหนุ่มสาวมักอยู่ที่ได้แต่งตัวสวย ๆ ไปเที่ยวเตร่นอกบ้าน ข้อนี้ขัดแย้งกันแน่ ลูกกับพ่อแม่จึงต้องเอาใจมาพบกันที่ความรัก ตกลงกันที่มุมรักระหว่างพ่อแม่กับลูก รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวตามสมควร การเลี้ยงลูกที่กำลังโตเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น เหมือนการเล่นว่าวโต้ลม ผ่อนไปนิด ดึงกลับมาหน่อย จึงจะเป็นผลดี
– กิเลส
กิเลส ถ้าทั้ง ๒ ฝ่าย มีความโกรธ มีทิฐิ ดื้อดึง ดื้อด้าน หลงตัวเอง หรือมีกิเลสอื่น ๆ ครองงำอยู่แล้ว ก็ยากที่จะพูดกันให้เข้าใจ ต้องทำใจให้สงบและพูดกันด้วยใจที่เป็นธรรม ด้วยเหตุด้วยผล พ่อแม่ต้องฝึกตนให้เป็นคนมีคุณธรรมและสอนลูกให้เป็นคนดีมีเหตุผลเสียแต่ยังเล็ก ปัญหาข้อนี้ก็จะเบาบางลง
๒.ปลูกฝังลูกในทางดี หมายถึง ให้ลูกประพฤติดี มีศีลธรรมพ่อแม่ต้องพยายามเล็งเข้าหาใจของลูก เพราะใจเป็นตัวควบคุมการกระทำของคน ที่ว่าเลี้ยงลูกให้ดี คือ ทำใจของลูกให้ดีนั่นเอง
สิ่งของนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ ของกินกับของใช้ สำหรับของกินทุกคนต้องกิน ทุกคนต้องกินเหมือนกันหมด เพื่อให้ร่างกายเติบโตคงชีวิตอยู่ได้ ส่วนของใช้นั้นต่างคนต่างมีตามความจำเป็น เช่น ชาวนาก็ต้องมีจอบ มีไถ เสมียนก็ต้องมีปากกา
สมบัติทางใจก็มี ๒ ประการเหมือนกัน ธรรมะ เป็นอาหารใจ / วิชาความรู้ เป็นเครื่องมือของใจ
ตามธรรมดาร่างกายคนถ้าขาดอาหารแล้วก็จะเสียกำลัง ใจคนก็เหมือนกัน ต้องมีธรรมะให้พอเพียง อาหารทางกายกินแทนกันไม่ได้ ไม่เหมือนของใช้ มีดเล่มเดียวใช้กันได้ทั้งบ้าน เรื่องของใจก็เหมือนกัน ใจทุกดวงต้องกินอาหารเอง คือ ทุกคนต้องมีธรรมะไว้ในใจตนเอง จะถือว่าใจพ่อแม่มีธรรมะแล้วใจลูกไม่ต้องมีไม่ได้ ส่วนวิชาความรู้เปรียบเหมือนของใช้ใครจะใช้ความรู้ทางไหนก็หาความรู้เฉพาะทางนั้น ขาดเหลือไปบ้างพออาศัยผู้อื่นได้ ใจที่ขาดธรรมะเหมือนร่างกายที่ขาดอาหาร ใจที่ขาดวิชาความรู้เหมือนคนที่ขาดเครื่องมือทำงาน
พ่อแม่ต้องปลูกใจลูกให้มีทั้ง ๒ อย่าง จึงจะเป็นการปลูกฝังลูกในทางดีซึ่งทำได้โดย
๑.กระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก
๒.เลือกคนดีให้ลูกคบ
๓.หาหนังสือดีให้ลูกอ่าน
๔.พาลูกไปหาบัณฑิต เช่น พระภิกษุ ครูบาอาจารย์ที่ดี