ลูกพูดมาก ทําไงดี เด็กพูดเก่งประสบความสำเร็จมากกว่า - Amarin Baby & Kids
ลูกพูดมาก ทําไงดี

เหตุผลที่เด็กพูดเก่งประสบความสำเร็จมากกว่า แม่จ๋าอย่าเพิ่งเบื่อหนูพูดเลย!

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกพูดมาก ทําไงดี
ลูกพูดมาก ทําไงดี

ลูกพูดมาก ทําไงดี พูดเก่ง แม่เหนื่อยจะฟัง แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งบ่นว่าลูก เพราะเด็กที่พูดเก่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

ลูกพูดมาก ทําไงดี

เมื่อลูกเติบโตขึ้นจากเคยอ้อแอ้ในวัยทารก ก็ค่อย ๆ พัฒนาจดจำคำศัพท์เอ่ยออกมาได้เป็นคำ ๆ จนถึงการสร้างประโยค จากที่เคยลุ้นว่าลูกจะพูดได้ไหม ลูกพูดช้าไปหรือเปล่า จนมาถึงวันที่ลูกพูดเก่งขึ้น ถามเก่งขึ้น พูดมากจนทำให้แม่เบื่อจะฟัง แต่คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งเบื่อลูกไปเลยค่ะ เพราะการที่เด็กพูดเก่ง พูดมากนั้น เป็นสิ่งที่ดีมากกว่าที่คิด

พัฒนาการทางภาษาและการพูดของเด็กแต่ละช่วงวัย

กว่าที่ลูกจะพูดได้ในแต่ละคำ เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เลียนแบบคำพูด เลียนเสียงต่าง ๆ ใช้เวลาจนกว่าจะจำและพูดคำ ๆ หนึ่งได้อย่างถูกต้อง ถูกความหมาย ซึ่งแต่ละช่วงวัยต่างก็มีพัฒนาการทางด้านภาษา ดังนี้

  • 1 เดือน ทารกในวัยหนึ่งเดือนสามารถส่งเสียงร้อง เมื่อหิว ง่วง หรือรู้สึกไม่สบายตัว
  • 2-3 เดือน ลูกเริ่มทำเสียงอ้อแอ้ได้บ้างแล้ว คล้ายการเริ่มชวนพ่อแม่คุย
  • 5-6 เดือน เริ่มเล่นเสียง มามา ปาปา จนเข้าใจได้ว่า ลูกเรียกพ่อหรือเรียกแม่ได้แล้ว แต่จริง ๆ แล้ว ทารกส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ ทั้งยังหัดเปล่งเสียงสูง เสียงต่ำ ได้บ้างแล้ว วัยนี้ทารกจะชอบเล่นน้ำลาย เป่าปาก ส่งเสียงจากลำคอ
  • 9 เดือน การสื่อสารเริ่มรู้เรื่องมากขึ้น เริ่มพูดตาม เลียนแบบการเล่นเสียง พูดคำเดียวพอได้บ้าง
  • 10 เดือนถึง 1 ปี พูดคำที่มีความหมาย เช่น หม่ำ หรือชี้ไปทางแม่ แล้วเรียก แม่
  • 1 ปี 6 เดือน พูดคำ 1 พยางค์ได้มากขึ้น เริ่มพูดคำ 2 พยางค์ที่เอามารวมกัน สื่อสารสิ่งที่ต้องการได้ เวลาไม่ชอบ ไม่เอา ก็เอ่ยคำว่า ไม่ ออกมา
  • 2 ปีขึ้นไป ลูกในวัยนี้จะเริ่มพูดประโยคสั้น ๆ ได้ มีคำศัพท์มากขึ้นไว้ใช้สื่อสาร อาจยังเรียงรูปประโยคไม่ถูกต้องแต่สามารถสื่อสารความต้องการได้แล้ว แต่ถ้าอายุ 2 ขวบแล้ว ยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้ พูดได้แค่คำเดียว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับช่วงวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อายุ 2-5 ปี แม่บางคนถึงกับบ่นว่าลูกสองขวบพูดมากขึ้น พูดทั้งวันได้ไม่หยุด และยิ่งลูกโตขึ้น ลูกจะตั้งคำถามมากมาย อาจถามในเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จนทำให้ปวดหัว โดยเฉพาะเด็กในวัย 4-5 ปี ที่เริ่มเรียงประโยคได้เก่ง พูดจาคล้ายผู้ใหญ่ และพูดให้คนอื่นเข้าใจได้มากขึ้น แต่ก็ช่างซักช่างถามมากไม่แพ้กัน

เหตุผลที่เด็กพูดเก่งประสบความสำเร็จมากกว่า

ลูกพูดมาก พูดเก่ง ไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสียทีเดียว แต่เด็กพูดเก่งยังมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่า

พูดเก่งแสดงว่าสื่อสารได้ดี

การพูดเก่งแสดงถึงความสามารถด้านการสื่อสารของลูก ซึ่งจะส่งผลดีในอนาคต เพราะเด็กกล้าที่จะพูด กล้าแสดงความคิดเห็น การฝึกฝนด้วยการพูดบ่อย ๆ ยังช่วยให้ลูกกล้าพูดมากขึ้น ยิ่งถ้าได้เรียนรู้คำศัพท์มากขึ้น เรียบเรียงประโยคได้เก่งขึ้น อาชีพมากมายก็รอลูกอยู่ในอนาคต

หัวไว ไหวพริบดี

เช่นเดียวกับข้อแรก เด็กที่พูดได้เก่ง จะเข้าใจเรื่องการสื่อสารได้ไว ตอบได้อย่างทันท่วงที เด็กบางคนอาจจะโต้ตอบได้ดีขึ้นเมื่อพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น เด็กที่พูดเก่งมักจะคิดเร็ว สมองไว จึงสื่อสารออกมาได้อย่างรวดเร็ว ถ้าส่งเสริมลูกให้ถูกทาง นอกจากจะประสบความสำเร็จแล้ว ลูกยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ สนุกกับการเรียนรู้ในโลกใบนี้เพิ่มขึ้นด้วย

ขี้สงสัยเท่ากับใฝ่รู้

หากเราอยากรู้เรื่องอะไร ควรถามออกไป เด็กในวัยที่กำลังเรียนรู้ ย่อมอยากรู้อยากเห็น ช่างซักช่างถาม ถ้าได้พูดคุยกับผู้ที่มีความรู้ อยากเล่า เด็กจะยิ่งได้ความรู้มากขึ้นไปอีก พ่อแม่จึงควรพาลูกไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ ซักถามจากผู้เชี่ยวชาญ

ทักษะทางสังคมดีกว่า

เด็กที่พูดเก่งมักจะเข้าสังคมเก่งไปด้วย เพราะชักชวนคนโน้นคนนี้พูดคุยตลอดเวลา อยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเสมอ ทำให้มีเพื่อนใหม่ได้เรื่อย ๆ ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนที่อยู่ หรือเปลี่ยนโรงเรียน เด็กที่พูดเก่งก็จะมีเพื่อนใหม่ได้ไวกว่า

ชอบเข้าไปมีส่วนร่วม

นอกจากการพูดเก่ง พูดมากแล้ว เด็กมักจะมีความชอบเข้าสังคม อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพราะกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวในห้องเรียนและนอกห้องเรียนได้ดี

กล้าพูดกล้าคิด

หากเด็กรู้สึกว่าได้รับการส่งเสริมการพูดอย่างเหมาะสม เด็กจะกล้าคิด กล้าเสนอไอเดีย หรือแสดงออกด้านความคิดและจินตนาการออกมา ทำให้พ่อแม่ต่อยอดพรสวรรค์ของลูกได้ง่ายขึ้น

พูดมาก พลังเยอะ

เด็กพูดเก่งมักจะมาพร้อมพละกำลังที่มากกว่า ชอบวิ่งเล่น ชอบคิด ชอบทำงานอดิเรก ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หากพ่อแม่ผลักดันไปถูกทิศทาง ลูกก็จะมั่นใจในสิ่งที่คิด สิ่งที่พูดออกมา ส่งผลต่อหน้าที่การงานในอนาคตได้

เด็กมองว่าทุกอย่างรอบตัวน่าสนใจ

การพูดเก่งสะท้อนถึงความสนใจ ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมรอบตัว เด็กจึงชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และมักจะตื่นเต้นกับเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้บรรยากาศในบ้านสนุกขึ้น ไม่น่าเบื่อด้วยนะแม่

เด็กที่พูดเก่งมีแนวโน้มเป็นพ่อแม่ที่ดี

ผลการวิจัยจาก Frank Porter Graham Child Development Institute,University of North Carolina บอกว่า พ่อแม่ที่พูดคุยกับลูกจะยิ่งช่วยทักษะด้านภาษาของลูก หากลูกช่างพูดให้คิดเสียว่า ลูกพูดเก่งดีกว่าไม่พูด ทำให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดกัน เมื่อลูกกล้าพูดกับพ่อแม่ พอมีครอบครัวของตัวเอง ก็จะเพิ่มแนวโน้มการเป็นพ่อแม่ที่ดีในอนาคตได้ด้วย

ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดีของลูก

  1. เตรียมตัวให้พร้อมที่จะฟัง ลองจัดช่วงเวลาในการพูดคุยกันแต่ละวันดูก็ได้ เพื่อให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นในช่วงเวลาที่พ่อแม่กำหนดไว้ หากลูกตั้งใจอยากพูดเรื่องสำคัญ หรือลูกมีท่าทีอยากเล่า แต่ดูกังวลในสิ่งที่จะพูดออกไป พ่อแม่ยิ่งต้องตั้งใจฟังและวางทุกอย่างที่ทำลงก่อน หรือถ้ายังไม่พร้อม ให้บอกลูกก่อนว่า ขอเวลาแม่ทำงานสักครึ่งชั่วโมง แม่อยากฟังสิ่งที่ลูกเล่ามากนะจ้ะ ถ้าแม่ทำงานเสร็จแล้ว แม่จะเดินไปหา แล้วเราค่อยคุยกัน
  2. ฟังลูกอย่างตั้งใจ แม่ต้องปล่อยใจให้ว่าง ตั้งใจฟังลูกอย่างจริง ๆ ถ้าบอกว่า พร้อมแล้วที่จะฟัง คล้ายกับการฝึกสมาธิ แต่แม่ต้องพร้อมจริง ๆ ไม่ใช่คิดเรื่องอื่นอยู่ หรือทำอย่างอื่นไป ฟังลูกไปด้วย ลูกจะรู้สึกว่า แม่ไม่ตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาต้องการจะบอก ครั้งต่อไปหากลูกมีอะไรก็ไม่อยากเล่าให้แม่ฟัง ถ้ามีบางช่วงที่สติหลุดลอยไป ก็บอกลูกได้ว่า “ไหนลองพูดประโยคเมื่อกี๊กับแม่อีกทีสิ”
  3. ไม่ใช่ฟังไปเรื่อย ๆ ลองถามกลับไปบ้าง เพื่อให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น เช่น ลูกบอกว่า หนูไม่ชอบออกกำลังกายเลย แม่อาจจะบอกกลับไปว่า การออกกำลังกายบางครั้งก็ไม่สนุกจริง ๆ แล้วลูกชอบทำอะไรล่ะ ลูกชอบเล่นกีฬาไหม แล้วปล่อยให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น พูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แล้วค่อยจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ไปตามสมควร
  4. พูดทวนสิ่งที่ลูกพูดออกมา เพื่อแสดงว่าคุณกำลังฟังลูกอยู่ ลองพูดทวนสิ่งที่ลูกพูดออกมา เพื่อให้เด็กทบทวนสิ่งที่พูดออกไป ตัวแม่เองก็จะได้เข้าใจสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น หรือจะแสดงความเห็นในสิ่งที่ลูกพูดออกมาก็ได้ เช่น ลูกเล่าว่า ต้นบอกว่าไม่ชอบเล่นกับหนู คุณแม่ก็พูดทวนว่า พอต้นบอกว่าไม่ชอบเล่นกับหนู หนูรู้สึกยังไง ลูกคงเสียใจมากใช่ไหมคะ
  5. ฟังลูกด้วยหัวใจ ไม่ใช่แค่ฟังด้วยหู แต่ยังต้องมองดูลูกอย่างเข้าใจ ใช้สมองในการรับฟัง รวมถึงใช้หัวใจในการแสดงออก ถ้าลูกเล่าเรื่องที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี คุณแม่อาจจะทวนสิ่งนั้น แล้วชักชวนลูกมาทำกิจกรรมอื่นด้วยกัน เช่น ลูกพูดว่าทำไมไม่รู้หมาตัวนั้นถึงเห่าผม คุณแม่อาจจะตอบกลับไปว่า แล้วตอนหมาเห่าลูกรู้สึกอย่างไร กลัวมากไหม มานั่งตักแม่แล้วอ่านหนังสือด้วยกันหลังจากนี้ดีไหม

การรับฟังสิ่งที่ลูกพูดอย่างตั้งใจ ช่วยให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เด็กจะสัมผัสได้ว่า ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรพ่อแม่ก็จะรับฟัง ปลอบโยน และเข้าใจเขาอยู่เสมอ

พูดมากแบบไหนพ่อแม่ต้องปรับ

แม้ว่าการที่ลูกพูดมากจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าพูดมากในบางทีก็ไม่เหมาะสม เช่น

ลูกพูดจาไม่เหมาะสม พูดผิดที่ ผิดเวลา

หากลูกพูดคำหยาบ หรือตำหนิผู้อื่น แสดงถึงการเสียมารยาท คุณแม่สามารถอบรมลูกได้ หรือลูกพูดในสถานที่ที่ไม่ควรพูด ก็ควรแนะนำลูกอย่างใจเย็น เช่น ลูกพูดมากในห้องสมุด คุณแม่สามารถสอนเรื่องกฎระเบียบการใช้ห้องสมุดกับลูกได้ บอกลูกด้วยเหตุผลใช้น้ำเสียงนุ่มนวลและใจเย็น หรือลูกชวนคุยในตอนกลางคืน ก็ลองคุยกับลูกว่า แม่อยากฟังเรื่องนี้มากเลย แต่ถึงเวลานอนแล้ว ลูกมาคุยกับแม่ใหม่พรุ่งนี้นะ

พูดมากไปจนรบกวนผู้อื่น

ในร้านอาหารลูกพูดมาก เสียงดัง รบกวนโต๊ะข้าง ๆ ก็สามารถสอนลูกได้ว่า เวลานี้ทุกคนต้องรับประทานอาหาร ไม่ใช่เวลาของการพูดคุย ถ้าลูกอยากคุยเรื่องนี้ เราไปคุยกันต่อที่บ้านนะคะ

ชอบแทรกคนอื่นเวลาพูด

เด็ก ๆ มักจะอยากพูดสิ่งที่คิดออกไปในทันที แม่สามารถบอกได้ว่า ลูกต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย และสอนลูกถึงการเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นเด็กที่น่ารักด้วยการไม่พูดแทรกคนอื่น เพราะลูกเองก็คงไม่อยากให้แม่พูดแทรกเช่นกัน หรือถ้าลูกชอบพูดไปเรื่อย ก็ให้ย้อนกลับมาถึงเรื่องที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่ เพื่อให้เด็กฝึกโฟกัสสิ่งที่กำลังพูดอยู่

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อลูกพูดมาก คือการสั่งห้ามพูด หยุดพูด แม่ไม่อยากฟัง คำเหล่านี้จะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ ทำให้ไม่อยากพูด ไม่อยากเล่าเรื่องอะไรให้พ่อแม่ฟังอีก ลองคิดถึงข้อดีของการพูดเก่ง และคอยให้เหตุผลเมื่อลูกพูดในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมเท่านั้นก็เพียงพอ

 อ้างอิงข้อมูล : lifehack.org, parents, rajanukul.go.th และ  understood.org

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกเก่งรอบด้าน แค่เพียงแม่ชวนลูก “นั่งสมาธิ”

แพ้ ภูมิคุ้มกันความผิดหวังที่แม่สร้างให้ลูกได้

หมอเตือน! พ่อแม่ทะเลาะกัน “ต่อหน้าลูก” เสี่ยงลูกพัฒนาการถดถอย สับสนทางเพศ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up