สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ ดูแลของเล่น รักษาสมบัติส่วนตัว-Amarin Baby & Kids
สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ วิธีสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กให้เป็นเด็กรักษาของ ให้ความสำคัญกับสมบัติส่วนตัว ดูแลของเล่น

สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ ดูแลของเล่นชิ้นโปรด รักษาสมบัติส่วนตัว

Alternative Textaccount_circle
event
สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ วิธีสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กให้เป็นเด็กรักษาของ ให้ความสำคัญกับสมบัติส่วนตัว ดูแลของเล่น
สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ วิธีสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กให้เป็นเด็กรักษาของ ให้ความสำคัญกับสมบัติส่วนตัว ดูแลของเล่น

อยากให้ลูกโตไปมีระเบียบ รักษาของส่วนตัวไม่ให้หาย พ่อแม่เริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ ดูแลของให้ดี ไม่วางทิ้งขว้าง

สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ โตไปรู้คุณค่าการเก็บรักษาสมบัติส่วนตัว

เรื่องระเบียบวินัย เป็นสิ่งที่พ่อแม่ค่อย ๆ สอนลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากจะช่วยให้เจ้าตัวน้อยสามารถดูแลข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้แล้ว การวางของเป็นที่เป็นทาง รู้จักรักษาสมบัติส่วนตัว ยังช่วยให้ของไม่หาย โดยเฉพาะเวลาที่ลูกต้องเข้าโรงเรียน

ฝึกลูกให้มีระเบียบวินัย สู่การเป็นคนรักษาข้าวของในอนาคต

อย่างแรกที่พ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกเคยชินได้ คือการบ่มเพาะเรื่องระเบียบวินัยตั้งแต่ยังเล็กดังนี้

  • พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี การเป็นตัวอย่างที่ดีย่อมทำให้ลูกเห็นต้นแบบที่ดี นำสู่การมีระเบียบวินัย ทั้งยังสามารถสอนลูกในเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ด้วย เช่น เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้ว คุณพ่อเก็บหนังสือในชั้นวางหนังสือ แบ่งตามหมวดหมู่อย่างชัดเจน พร้อมสอนลูกว่า ควรเก็บหนังสือไว้เป็นที่เป็นทาง หากต้องการอ่านหนังสือเล่มเดิมจะได้หาเจอ หรือคุณแม่เก็บของเล่นลูกในกล่องเดิมทุกวันหลังเล่นเสร็จ แล้วนำไปวางที่ชั้นวางของ พร้อมกับสอนลูกทุกวันตั้งแต่ยังเล็กว่า เวลาเล่นของเล่นเสร็จแล้ว ต้องเก็บให้เป็นที่เป็นทาง จะได้เป็นระเบียบ ของเล่นชิ้นโปรดก็จะไม่หายไปไหน
  • ทำซ้ำ ๆ เป็นประจำ สม่ำเสมอ คนเราจะจดจำได้ก็ต่อเมื่อทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ เป็นประจำ เรื่องระเบียบวินัยก็เป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝัง ไม่ใช่แค่สอนเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่พ่อแม่ต้องปฏิบัติให้ลูกเห็นอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกเช้าตื่นนอนให้เก็บที่นอนก่อนทำอย่างอื่น เก็บทุกวันเป็นประจำ ตอนยังเล็กพ่อแม่อาจจะช่วยเก็บ แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้ลูกทำเอง โดยคุณแม่อาจเริ่มไปพร้อม ๆ กับลูกในตอนอายุ 5 ขวบ เมื่อลูกคุ้นเคย พอจะหยิบจับได้เองก็ลดความช่วยเหลือลงและให้ลูกฝึกเก็บที่นอนด้วยตัวเอง
  • สอนลูกไม่ใช่สั่ง หนึ่งในเคล็ดลับสำคัญเพื่อฝึกให้ลูกริเริ่มทำสิ่งใหม่คือการชักจูงใจ ชวนลูกทำไปด้วยกัน ไม่ใช่การออกคำสั่ง ถ้าลูกเริ่มต้นด้วยทัศนคติที่ไม่ดีแล้วจะยากที่จะปลูกฝังให้ลูกทำสิ่งนั้น ค่อย ๆ ทำไปด้วยกัน ให้เด็กรู้สึกสนุก คุ้นเคย จนทำเป็นกิจวัตร ทั้งยังต้องบอกเหตุผลด้วยว่า ทำสิ่งนั้นไปทำไม เช่น ชวนลูกเช็ดโต๊ะก็บอกกับลูกว่า เพราะโต๊ะมีฝุ่นมาเกาะ สกปรกต้องเช็ดเป็นประจำ เมื่อสะอาดลูกก็จะได้ไม่จาม ไม่เจ็บป่วยง่าย ๆ
  • ชมเชยและลงโทษ เมื่อลูกทำดีหรือพยายามทำให้ดี ควรจะชื่นชมในความตั้งใจของลูก แม้ในช่วงแรก ๆ อาจทำได้ไม่ดี เช่น เช็ดโต๊ะยังไม่สะอาดก็ไม่ต้องดุว่า แค่บอกลูกและทำให้ดูว่า น้ำตรงนี้ยังมีอยู่เลยนะคะ ช่วยคุณแม่เช็ดน้ำให้หมดหน่อยนะคะลูก พอลูกช่วยทำเสร็จก็ชื่นชมและขอบคุณที่ช่วยเหลือแม่ในการทำงานบ้าน เด็กจะรู้สึกมีกำลังใจ แม้จะทำผิดก็จะรู้ว่าทำแบบไหนถึงจะถูกต้อง ส่วนการลงโทษนั้นไม่ควรดุด่าว่ากล่าวหากลูกไม่ทำ หรือไม่มีระเบียบวินัย อาจเลือกใช้วิธีลงโทษลูกที่ไม่รุนแรง เช่น ถ้าลูกยังไม่เก็บที่นอน แม่จะไม่ให้ดูการ์ตูนเรื่องโปรดนะวันนี้ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าควรทำอะไรและสิ่งไหนเป็นเรื่องสำคัญ
สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ วิธีสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กให้เป็นเด็กรักษาของ ให้ความสำคัญกับสมบัติส่วนตัว ดูแลของเล่น
สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ

ฝึกลูกให้เป็นคนรักษาของ

ปัญหาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มักจะปวดหัว เมื่อลูกเริ่มไปโรงเรียนแล้วนั่นก็คือ ของหายทุกวัน ดินสอหาย ยางลบไม่อยู่ ของที่พกไปตอนเช้ากลับมาไม่ครบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หากมีการฝึกการรักษาของและเก็บของให้เป็นระเบียบตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยลดปัญหาน่าหนักใจไปได้เยอะ แต่อย่าเพิ่งท้อใจ ถึงแม้ลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ยังสามารถปรับแก้พฤติกรรมให้เด็กรักษาสมบัติส่วนตัว ดูแลของตัวเองได้เช่นกัน เพียงแต่ในเด็กที่โตแล้วอาจต้องใช้เวลา ความอดทน ค่อย ๆ ฝึกฝนกันไป

พญ.วรรณพักตร์ วิวัฒนวงศา จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลเวชธานี แนะนำว่า เด็กในวัยอนุบาลหรือเด็กเล็ก ๆ ความคิดของเด็กยังคงห่วงเล่น สนุกกับเพื่อนจนลืมเวลา ลืมของใช้ส่วนตัวว่าไปเก็บไว้ไหน สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องมีหน้าที่ในการฝึกความรับผิดชอบของเจ้าตัวน้อย โดยเฉพาะวัย 3-5 ปี

3 อย่า เคล็ดลับฝึกให้ลูกรักษาของ ทำได้ดังนี้

  1. อย่าพกของไม่จำเป็นไปโรงเรียน คุณแม่ควรนำสิ่งของเครื่องใช้ให้ลูกไปโรงเรียนเท่าที่จำเป็น เด็กจะได้จำได้ง่าย ๆ ว่าพกอะไรไปโรงเรียนบ้าง พร้อมทั้งสอนลูกจัดของให้เป็นระเบียบ แม่อาจจะสอนว่า เวลาลูกเก็บของกลับบ้านต้องตรวจเช็คอะไรบ้าง เก็บไว้ตรงไหนดี เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบใช้
  2. อย่าปล่อยของไว้ระเกะระกะ ของเล่นถ้าเล่นเสร็จต้องเก็บทันที ถ้าอยู่บ้านให้หมั่นฝึกเก็บของเล่น หากลูกอยู่ในวัยเข้าเรียนแล้ว ก็ค่อย ๆ สอนเรื่องการเก็บของเล่นให้เป็นที่ เริ่มแรกอาจช่วยลูกเก็บไปก่อน แต่พอลูกเริ่มโตขึ้น หยิบจับของเก่งขึ้นก็ค่อย ๆ ปล่อยให้ลูกเก็บของเล่นด้วยตัวเอง
  3. อย่าซื้อของใหม่ให้ทันที หากลูกมีนิสัยหลงลืม ทำของหายที่โรงเรียนเป็นประจำ แม้ว่าจะโตขึ้นแล้ว ก็ควรฝึกความรับผิดชอบในการดูแลสมบัติของลูก ด้วยการหักเงินค่าขนมเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเคยชินว่า ทำของหาย ก็ไม่เห็นเป็นอะไร วิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกหวงแหนและดูแลสิ่งที่เป็นของตัวเอง

ก่อนลูกไปโรงเรียนทุกวัน ควรคุยกับลูกว่า นำอุปกรณ์เครื่องเขียนอะไรไปโรงเรียนบ้าง อาจเก็บกระเป๋าในตอนกลางคืนพร้อมกันกับลูกแล้วบอกด้วยว่าเอาอะไรไว้ตรงไหน เช่น ในกล่องดินสอ คุณแม่ใส่ดินสอ ใส่ยางลบ ใส่ไม้บรรทัด เก็บไว้แบบนี้นะคะ เพื่อฝึกให้ลูกสังเกตว่า ของที่นำไปโรงเรียนมีอะไรบ้าง แม่เก็บไว้ที่ไหน เมื่อลูกกลับบ้าน ก็มาตรวจดูว่า ของที่นำไปโรงเรียนนั้นลูกเอากลับมาครบหรือไม่ เพื่อฝึกให้ลูกตรวจสอบความเรียบร้อยทุกครั้ง ในกรณีที่ลูกเอาของกลับมาไม่ครบ ให้พูดคุยกับคุณครูเพื่อถามหาของสิ่งนั้น แต่หากลูกหยิบของเพื่อนกลับบ้านก็บอกให้ลูกนำไปคืนเพื่อนที่โรงเรียนในวันถัดไป สอนลูกไปด้วยได้ว่า สิ่งที่เป็นของคนอื่นก็ควรนำกลับไปคืน เพราะเวลาของเราหายเราก็อยากได้คืนเช่นกัน

สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ
สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ

ลูกทำของหายบ่อย ๆ พ่อแม่ต้องใส่ใจ

การทำของหายในโรงเรียน ของกลับมาไม่ครบ ถ้าเกิดขึ้นเป็นประจำ ต้องคอยสังเกตและหมั่นสอบถามลูกว่า ทำไมเก็บของมาไม่ครบ พร้อมสังเกตอาการของลูกด้วยว่า มีปัญหาอะไรที่โรงเรียนหรือไม่ เช่น โดนเพื่อนแกล้ง หรือถูกเพื่อนขโมยไป ถ้าหายบ่อยจนผิดสังเกต ร่วมกับลูกมีพฤติกรรมที่ไม่กล้าบอกบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่อาจสอบถามคุณครูโดยตรงให้ช่วยกันเฝ้าสังเกตและหาวิธีป้องกัน

หากลูกไม่รักษาของ ของหายเป็นประจำ แม้จะแก้ไขพฤติกรรมหรือสอนลูกแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะเด็กอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ต้องระวัง อาทิ สมาธิสั้นหรือสมองบกพร่อง เมื่อพบพฤติกรรมที่ผิดสังเกต อย่ารีรอที่จะพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : thaihealth และ mgronline.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

13 ทักษะที่ลูกควรมีก่อนเข้า โรงเรียนอนุบาล

ลูกถนัดซ้าย เปลี่ยนได้ไหม หรือปล่อยให้ลูกใช้เหมือนเดิม

ของเล่น เสริมIQ EQลูกน้อย..ใครว่าอัจฉริยะสร้างไม่ได้!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up