ลูกเก็บของเล่นพัฒนาทักษะ EF ทักษะสำคัญจำเป็นกับชีวิตลูก ฝึกลูกทำกิจกรรมง่าย ๆ พัฒนาได้จากสิ่งใกล้ตัว
ลูกเก็บของเล่นพัฒนาทักษะ EF
ทักษะ EF คืออะไร
Executive Functions หรือทักษะ EF เป็นกระบวนการทางความคิดของสมองส่วนหน้า เกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ จึงเป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิต
รองศาสตราจารย์ ดร. นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สมองส่วนหน้าสุดจะทำงานร่วมกับสมองส่วน อื่น ๆ ทำให้มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ ไม่วอกแวก ยั้งคิดก่อนทำ ไม่หุนหันพลันแล่น ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมตนเองได้ กำกับตนเองได้ทั้งอารมณ์ ความคิด และการกระทำ
EF มักจะใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งจะช่วยให้กำกับตนเองเพื่อบริหารจัดการงานจนสำเร็จได้ เด็กที่มีความบกพร่องของ EF หรือมีปัญหาในการกำกับตนเองมีโอกาสที่จะเรียนสำเร็จน้อยกว่าเด็กที่มี EF กับการกำกับตนเอง (Self-regulation) เพราะเด็กที่มี EF/SR จะมีทักษะทางสังคมที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ๆ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักแบ่งปันอยาก ช่วยเหลือผู้อื่น มักจะไม่มีปัญหาด้านอารมณ์ EF เป็นสิ่งที่ยาก ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดจากการลงมือทำ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง การฝึกฝนทักษะด้าน EF ในวัยเด็กเล็ก จึงเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
องค์ประกอบของทักษะ EF
- Working Memory (ความจำขณะทำงาน) คือการจำข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในใจและขบคิดเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจ เปรียบเทียบ เชื่อมโยงข้อมูลเก่ากับข้อมูลใหม่ จำสิ่งที่เคยพลาดและไม่ทำผิดซ้ำ โดยเริ่มพัฒนาปลายขวบปีแรก ซึ่งต้องอาศัยการจดจ่อใส่ใจ (attention)
- Inhibit Control (การหยุดคิดก่อนทำ) ความสามารถในการยับยั้งอารมณ์ หยุดการกระทำ หยุดความคิด เพื่อให้จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่ทำ การเอาชนะความต้องการความอยากจากภายในหรือเอาชนะสิ่งล่อใจจากภายนอก เพื่อเลือกทำสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อความสำเร็จ โดยพัฒนาช่วงขวบปีที่ 3-3.5 ปี
- Shift/Cognitive flexibility (การยืดหยุ่นของความคิด) คือ ความสามารถในการเปลี่ยนมุมมองความคิด คิดนอกกรอบ ไม่ยึดติดกับความคิดและการทำเดิม ๆ แก้ปัญหาด้วยวิธีที่หลากหลาย เปลี่ยนความสนใจจดจ่อจากกิจกรรมหนึ่งไปยังอีก กิจกรรมหนึ่งได้อย่างอิสระ (Shift พัฒนาช้ากว่า 4-4.5 ปี ต้องอาศัย WM และ Inhibit ที่ดี)
- Focus หรือ Attention (จดจ่อ ใส่ใจ) ใส่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งโดยไม่วอกแวก รู้จักการทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป
- Emotional control (การควบคุมอารมณ์) แสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อโกรธ ผิดหวัง เสียใจ ใช้เวลาไม่นานในการคืนอารมณ์สู่ภาวะปกติ ไม่หุนหันพลันแล่นโต้ตอบกลับทันที โดยไม่คิด (4.5-6 ปี)
- Self monitoring (การประเมินตนเอง) การเฝ้าตามดูและสะท้อนผลจากการกระทำ การตรวจสอบและประเมินตนเอง เพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาแก้ไขและพัฒนา
- Initiate (การเริ่ม) เริ่มต้นลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีคนบอก คิดริเริ่ม คิดนอกกรอบ กล้าคิดกล้าทำ ลงมือทำทันที
- Planning and Organizing (วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ) การวางแผนจัดการตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินการตั้งแต่วางเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม รู้จักจัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล
- Goal – Directed Persistence (มุ่งเป้าหมาย) วางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียรและความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย รู้จักฝ่าฟันอุปสรรค หากล้มต้องรู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
สำหรับข้อ 1-3 เป็นทักษะพื้นฐาน (Basic) 3 ด้าน ส่วนข้อ 4-9 เป็นทักษะสูง (Advance) 6 ด้าน โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF คืออายุ 4 – 6 ขวบ เพราะสมองส่วนหน้าพัฒนาได้มากที่สุด
เก็บของเล่นช่วยลูกพัฒนาทักษะสมอง EF
เพจหมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก แนะนำการสอนลูกเก็บของเล่นช่วยพัฒนา EF โดยโพสต์ว่า การเก็บของให้เป็นระเบียบ โดยแยกหมวดหมู่ชัดเจน จะช่วยกระตุ้นสมองเด็กคิดเป็นระบบและยังช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF เริ่มที่การหากล่องใบใหญ่หลาย ๆ ใบมาติดป้ายแยกหมวดหมู่ของเล่น วาดภาพแทนการเขียนตัวหนังสือ เพื่อให้ลูกเล็กเข้าใจง่าย และชวนลูกเก็บของเล่นแยกตามป้าย จากนั้นปล่อยให้ลูกทำเอง ควรเว้นช่วงให้ลูกคิดเป็นระยะ ทำอย่างสม่ำเสมอและชื่นชมเมื่อลูกพยายามทำหรือทำสำเร็จ
เมื่อฝึกให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะสมอง EF ได้ นอกจากการเก็บของเล่นแล้ว ลองฝึกลูกทำงานบ้านง่าย ๆ ที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย ก็จะยิ่งช่วยให้ลูกได้พัฒนาทักษะ EF ให้ดีขึ้นอีกด้วย
การให้เด็กได้เก็บของเล่นนอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF แล้ว ยังเป็นการช่วยให้ลูกคิดอย่างเป็นระบบติดอาวุธให้ลูกฉลาดรอบด้านตาม Power BQ (Power Baby & Kids Quotients) ส่งเสริมให้ลูกฉลาดคิดเป็นหรือ Thinking Quotient-TQ ทำให้เด็กมีความฉลาดในการคิดดีและมีคุณค่า มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และคิดประยุกต์ ได้อย่างเหมาะสม
แค่ชวนลูกเก็บของเล่นก็มีประโยชน์มากมายต่อลูกน้อย พ่อแม่ควรหมั่นหากิจกรรมทำร่วมกันกับลูกอยู่เสมอ จะช่วยให้ลูกได้พัฒนาทักษะสมอง ส่งเสริมความฉลาดได้ตั้งแต่เด็กจนโต
อ้างอิงข้อมูล : หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก, bangkokhospital และ thaichildhealth
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เมื่อการตีเป็นผู้ร้ายพ่อแม่จะทำอย่างไร
สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว ปูหนทางสู่ความสำเร็จในชีวิต