เมื่อแม่ให้ลูกนั่งคาร์ซีท แต่ลูกสู้กลับ!! ทีมกองบรรณาธิการ ABK ขอแชร์เทคนิกง๊ายง่าย ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ทำอย่างไรให้ลูกไม่ร้องไห้ ยอมนั่งคาร์ซีทตลอดทริป
ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ทำอย่างไร? ให้ลูกแฮปปี้..ดี๊ดีตลอดทริป
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับแม่และเด็ก ดังนี้
คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือ มีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด
ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยพ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับในอีก 120 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สรุปคือเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ ต้องนั่งคาร์ซีท และเด็กที่สูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยไม่ว่าจะนั่งด้านหน้าหรือด้านหลังก็ตาม
อ่านต่อ หมอย้ำ 8 ข้อควรรู้ กฎหมายคาร์ซีท “รักลูกอย่ากอด” นั่งคาร์ซีทปลอดภัยกว่า
เชื่อว่าแม่ ๆ หลายบ้านเห็นด้วยกับข้อบังคับนี้ และสามารถหาซื้อคาร์ซีทได้ไม่ยาก แต่ปัญหาใหญ่คือ ลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีท!!! นั่งปุ๊ปร้องปั๊ป!! จะให้ทำยังไง!! ทีมกองบรรณาธิการ ABK ขอแปะมือค่ะ เพราะเราก็เคยเจอประสบการณ์ลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีทมาก่อน และได้สู้รบปรบมือกับลูกน้อยมาจนยอมนั่งคาร์ซีทแต่โดยดีแล้ว วันนี้เลยขอมาแชร์ประสบการณ์พร้อมเทคนิคดี ๆ ในการ ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท มาให้แม่ ๆ ได้ลองนำไปใช้กันค่ะ
ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ทำอย่างไร? ให้ลูกแฮปปี้..ดี๊ดีตลอดทริป
- ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ยิ่งฝึกเร็ว…ยิ่งดี
จริง ๆ แล้วควรให้ลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่แรกเกิด เพราะเด็กแรกเกิดจะยังไม่รู้เรื่องเท่าเด็กที่โตแล้ว ลูกจะไม่เคยได้นั่งรถโดยไม่มีคนอุ้มมาก่อน ทำให้ไม่มีข้อเปรียบเทียบ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกรู้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ขึ้นรถ ลูกจะต้องนั่งคาร์ซีทเท่านั้น ไม่มีข้อยกเว้น ลูกจะสามารถออกจากคาร์ซีทได้ต่อเมื่อรถจอดเท่านั้น
2. ทำให้การนั่งคาร์ซีทเป็นเรื่องสนุก
ต้องอย่าลืมว่าลูกตัวเล็กเกินกว่าจะมองเห็นวิวนอกกระจก ถึงแม้จะนั่งในคาร์ซีทที่ทำให้ตัวสูงขึ้นก็ตาม ลูกนั่งนาน ๆ ลูกก็เบื่อ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้การนั่งรถเป็นเรื่องสนุก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะร้องเพลงไปพร้อมกับลูก หรือเตรียมของเล่นชิ้นพิเศษเอาไว้ให้ลูก และของเล่นชิ้นนี้จะเล่นได้ต่อเมื่ออยู่ในรถเท่านั้น ทริคนี้จะทำให้ลูกรู้สึกสนุกเมื่อต้องนั่งในรถและคาร์ซีทค่ะ
อ่านต่อ ไขข้อข้องใจ ทำไม ลูกไม่เล่นของเล่น ที่ซื้อให้ เล่นแต่อะไรก็ไม่รู้!?
3. Keep Calm and Drive On
เมื่อลูกร้องไห้ ให้ทำสิ่งที่ทำได้ยากที่สุดคือ ทำใจให้สงบค่ะ ไม่โกรธหรือโมโหตามลูก ให้ทำใจให้เย็น ๆ พูดกับลูกให้อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนข้อที่จะอุ้มลูกออกมาเด็ดขาด พูดซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ค่ะ ว่าอุ้มลูกออกมาไม่ได้จริง ๆ เพราะไม่ปลอดภัย หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกไม่ไหวจริง ๆ ให้จอดรถแล้วค่อยอุ้มลูกออกมาเพื่อให้ลูกสงบและแม่สงบลง และเมื่อต้องการจะขับไปต่อ ให้นำลูกนั่งในคาร์ซีทเหมือนเดิมค่ะ
อ่านต่อ แม่แชร์ 11 วิธีรับมือ “ลูกชอบร้องงอแง” เทคนิคดีจากหมอญี่ปุ่น!
4. ตรวจสอบดูก่อนนั่ง ว่าลูกไม่สบายตัวตรงไหนหรือเปล่า
บางทีสาเหตุที่ลูกร้อง อาจไม่ได้เพราะนั่งคาร์ซีทก็ได้นะคะ อาจเป็นเพราะรู้สึกไม่สบายตัวจากผ้าอ้อม หิว ร้อน แดดส่องมาที่หน้าลูก สายรัดเอวอาจจะแน่นเกินไป หรืออาจจะเป็นเพราะขนาดของคาร์ซีทไม่เหมาะกับตัวลูก ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดก็เป็นได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนให้ลูกนั่งนะคะ
5. คาร์ซีทร้อนกว่าที่คุณคิด!!
อย่าลืมนะคะ ว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน เมื่อรถต้องจอดตากแดด ด้านในที่นั่งก็ย่อมร้อนเป็นธรรมดา แต่ปกติแล้วเมื่อเปิดแอร์ได้ซักพัก ความร้อนก็หายไปแล้ว แต่สำหรับคาร์ซีท ซึ่งกว่าจะระบายความร้อนได้ จะใช้เวลานานกว่าเบาะในรถค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องทำงานกันเป็นทีม โดยให้คุณพ่อสตาร์ทเครื่องและเปิดแอร์ทิ้งไว้ซักพักก่อนแล้วค่อยนำลูกนั่งในคาร์ซีทนะคะ
6. จัดท่านั่งให้ถูกต้อง
คาร์ซีทแต่ละชนิดถูกออกแบบให้เหมาะกับเด็กในช่วงวัยที่ต่างกัน สำหรับวัยทารก – 6 เดือน คาร์ซีทจะเป็นลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน เพราะในวัยนี้ เด็กไม่ควรถูกจัดให้อยู่ในท่านั่งเพราะจะเป็นการกดทับเป็นเวลานาน ส่วนสะโพกของลูกน้อยยังไม่พร้อมรับน้ำหนัก ทำให้เมื่อยล้าได้ สำหรับเด็กวัยที่นั่งได้แล้ว หากต้องนั่งในคาร์ซีทที่เป็นลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน ลูกก็จะไม่ชอบ เพราะมองไม่เห็นวิวนอกหน้าต่างเท่าไหร่
อ่านต่อ รีวิวคาร์ซีท 10 แบรนด์ยอดนิยม แข็งแรง ปลอดภัยทุกการเดินทาง
7. นั่งอยู่ข้าง ๆ ลูก
หากโดยสารกันหลาย ๆ คน ให้คนที่ไปด้วยกันนั่งอยู่ข้าง ๆ คาร์ซีท เพื่อพูดคุยเล่นกับลูกไปด้วย แต่หากเดินทางเพียงลำพังกับลูก ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามพูดคุยกับลูกไปตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงด้วยกัน ฟังนิทาน หรือการพูดคุยกันทั่วไป และสำหรับคาร์ซีทที่เป็นแบบหันหลัง แนะนำให้ติดตั้งกระจกไว้บริเวณคาร์ซีท เพื่อให้สะท้อนกับกระจกมองหลัง วิธีนี้จะทำให้ลูกมองเห็นคุณพ่อคุณแม่ผ่านกระจกได้ตลอดเวลานั่นเอง
อ่านต่อ 10 นิทานสอนใจ!! พร้อมข้อคิดดี ๆ อ่านให้ลูกฟังก่อนนอน
8. ฝึกต่อเนื่อง และสม่ำเสมอให้กลายเป็นกิจวัตร
ต้องทำให้ลูกรู้ว่าทุกครั้งที่ขึ้นรถ จะต้องนั่งคาร์ซีทเสมอ ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระยะใกล้ หรือ ไกล ก็ต้องนั่งในคาร์ซีท และในช่วงแรก คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องพาน้องเดินทางให้บ่อยหน่อย เพื่อให้ลูกคุ้นชินกับการนั่งคาร์ซีทค่ะ เพราะหากนั่งไปได้ 1 วัน และอยู่บ้านยาว ๆ อีกหลายวัน ลูกก็จะไม่ชินกับการนั่งคาร์ซีทอยู่กับที่เป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใจแข็งเมื่อ ลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีท หน่อยนะคะ และลองใช้วิธีรับมือตามข้างต้นดูค่ะ และเมื่อลูกเริ่มชินและปรับตัวกับการนั่งคาร์ซีทได้เอง คราวนี้ไปไหนมาไหนก็ไม่ร้องไห้งอแงแล้วค่ะ แถมยังจะรู้สึกแฮปปี้มากกว่า เมื่อรู้ว่าจะได้ออกไปเที่ยวนอกบ้านอีกแล้วค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท หรือไม่ ทำไมไม่ควรอุ้มเด็กนั่งในรถระหว่างเดินทาง
ไขข้อข้องใจให้คุณแม่ ทารกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่แรกเกิด ปลอดภัยหรือไม่?
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.kindercare.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่